เผยแพร่ |
---|
เกษตรกร อ.ท่าอุเทน นครพนม สร้างรายได้จากการหันมาปลูกสับปะรด เปรยผลผลิตไม่พอขาย เพราะพื้นที่ปลูกน้อย ช่วงก่อนหน้านี้เกษตรกรส่วนใหญ่เปลี่ยนมาปลูกยางพารา ตั้งเป้าส่งเสริมให้กลับมาปลูกสับปะรดมากขึ้น
นายสุขสันต์ พรรษวงษ์ ผู้ใหญ่บ้านกุดกุมน้อย หมู่ 4 กล่าวว่า ตนมีพื้นที่ปลูกสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย 4 ไร่ แซมในสวนยางพาราที่เพิ่งอายุได้แค่ 3 ปี เริ่มปลูกช่วงต้อนฤดูฝน โดยใช้หน่อ 4,000-5,000 หน่อต่อไร่ ลงทุนเริ่มแรกอยู่ที่ประมาณ 60,000-70,000 บาท ข้อดีของสับปะรดอยู่ที่ให้ผลผลิตติดต่อกันถึง 3 ปี ให้ลูกดก รสหวานฉ่ำ ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. โดยจะมีพ่อค้าจาก มุกดาหาร อุบลฯ ร้อยเอ็ด และยโสธร มารับซื้อถึงสวน ซึ่งผลผลิตในปีนี้แทบไม่พอขาย เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่เปลี่ยนมาปลูกยางพารามากขึ้น ปีนี้ได้ผลผลิต 3-5 ตันต่อไร่ ราคาหน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 20-25 บาทเป็นราคาที่พุ่งสูงในรอบ10 ปี คิดเป็นกำไรไร่ละ 50,000 บาท เตรียมขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 8 ไร่
ด้านนายมานะ บุญระมี กล่าวว่า เดิมทีพื้นที่ปลูกสับปะรดมากที่สุดอยู่ที่ ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน และ ต.นาใน
อ.โพนสวรรค์ มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 7,000 ไร่ แต่เกษตรกรหันมาปลูกยางพารากันเป็นจำนวนมาก ทำให้เหลือพื้นที่ปลูกสับปะรดแค่ 3,000 ไร่ จึงตั้งเป้าส่งเสริมให้โค่นต้นยางพาราที่แก่แล้วและไม่มีน้ำยางทิ้ง และกลับมาปลูกสับปะรดเหมือนเดิม หลังตลาดมีความต้องการสูงไม่เพียงพอต่อผู้บริโภค โดยในปี 2557 ที่ผ่านมา ได้จดลิขสิทธิ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีรสชาติหวานฉ่ำ กลิ่นหอม ไม่กัดลิ้น ตาตื้น ทำให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากกว่า 500 ตันไม่เพียงพอ สร้างรายได้แก่เกษตรกรมากกว่า 10 ล้านบาท
นายศรชัย วิพรรณะ เกษตรกรกล่าวว่า ตนปลูกสับปะรด 2ไร่ ได้ผลผลิต 8-10 ตัน หลังจากที่ราคายางตกต่ำ จึงได้ไปเช่าพื้นที่ของเพื่อนบ้าน 9 ไร่ เพื่อปลูกสับปะรดเพิ่มในช่วงฤดูฝนที่ไม่สามารถกรีดยางพาราได้ เป็นการหมุนเวียนกัน ปีนี้สับปะรดราคาพุ่งสูงลิ่วแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ขายได้กำไรงามไร่ละร่วม 50,000 บาท การดูแลรักษาก็ง่าย เพราะเป็นพืชที่ชอบแสงแดด หากต้นยางใหญ่มีร่มเงาแล้วก็ไม่สามารถปลูกสับปะรดได้ มีพ่อค้าจาก จ.ประจวบฯ นำรถบรรทุก 6 ล้อมาเหมาซื้อถึงสวน เพื่อแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง ทำแยมและใส่ในขนมปี๊บ
ขอบคุณข้อมูล หนังสือพิมพ์ข่าวสด