เกษตรกรตาก ทำเกษตรผสมผสาน มีเงินใช้-เก็บ ก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19

จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รู้ว่าอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการกักตัวอยู่บ้าน เพราะช่วงที่มีประกาศจากภาครัฐให้ลดการออกจากบ้าน เพื่อช่วยหยุดเชื้อลดการติดต่อของโรคโควิด-19 ทำให้ช่วงเวลานั้นเกษตรกรหลายท่านที่ทำเกษตรแบบผสมผสานในบริเวณบ้านของตนเอง สามารถมีแหล่งอาหารที่สามารถนำมาประกอบอาหารเองได้ พร้อมกับส่วนที่เหลือนอกจากแจกจ่ายให้กับญาติแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้เป็นเงินนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอีกด้วย ทำให้แม้ในช่วงนี้สภาพเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ผู้ที่ทำเกษตรรอบบ้านยังสามารถมีผลผลิตกินเองและสร้างรายได้อีกด้วย

คุณเชษฐา แก้วทับคำ

คุณเชษฐา แก้วทับคำ อยู่บ้านเลขที่ 226 หมู่ที่ 6 ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จงหวัดตาก ทำเกษตรแบบผสมผสาน บนเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ พร้อมทั้งมีการสร้างปุ๋ยหมักและน้ำหมักใช้เอง จึงทำให้ผลผลิตที่ปลูกสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี และนอกจากมีผลผลิตไว้ใช้บริโภคเองภายในครัวเรือนแล้ว ส่วนที่มีมากก็นำมาจำหน่ายสร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทาง ทำให้ผู้คนในหมู่บ้านเกิดความสนใจและอยากที่จะเรียนรู้การทำเกษตรผสมผสานตามวิถีของเขา จึงส่งผลให้บ้านของเขาเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตร

บ่อน้ำสำหรับเลี้ยงปลา และใช้ภายในสวน

คุณเชษฐา เล่าว่า ช่วงแรกทำการเกษตรแบบเน้นพืชไร่เพียงอย่างเดียว เมื่อราคาผลผลิตที่ได้บ้าง ช่วงได้ราคาที่น้อยลงทำให้เงินที่ได้ไม่เพียงพอกับต้นทุนที่ลงไป ทำให้เมื่อทำไปเป็นระยะเวลานานเกิดหนี้สินมากขึ้น ประมาณปี 2558 จึงได้ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรในพื้นที่ของตนเอง ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ เน้นปลูกพืชแบบผสมผสานด้วยการทำพืชผักสวนครัว การเลี้ยงสัตว์ และการทำประมง แบ่งเป็นสัดส่วนอย่างมีระบบในพื้นที่ทั้งหมด 6 ไร่

น้ำหมักที่ทำเอง

“พอเรานำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ การทำเกษตรของเราก็เริ่มมีระบบมากขึ้น เพราะไม่ต้องใช้สารเคมีมากนัก เราเน้นทำเกษตรที่เน้นความปลอดภัย มีการใช้น้ำหมัก ปุ๋ยพืชสดที่กรมพัฒนาที่ดินมาช่วยอบรม เราก็นำมาดำเนินการปลูกพืชผักสวนของเรา พร้อมทั้งผมได้ไปอบรมตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ ทำให้สิ่งที่เราเรียนรู้มาสามารถนำกลับมาใช้ได้อย่างลงตัว และเกิดประโยชน์กับการทำเกษตรบริเวณรอบบ้านของเราได้อย่างลงตัว” คุณเชษฐา เล่าถึงการปรับปลี่ยนการทำเกษตร

โซนพืชผักสวนครัว

โดยเนื้อที่รอบบ้านทั้งหมด คุณเชษฐา บอกว่า แบ่งปลูกไม้ยืนต้นหลายชนิด เช่น พะยูง สัก ส่วนไม้ผลหลักๆ ก็จะเป็นอะโวกาโด ลองกอง และพืชผักสวนครัวอีกมากมายที่ต้องใช้ภายในครัวเรือนเพื่อประกอบอาหาร จึงทำให้รายได้ประจำรายวันส่วนใหญ่เกิดจากการจำหน่ายพืชผักสวนครัว รายได้ประจำสัปดาห์เกิดจากการจำหน่ายปลานิลที่เลี้ยงภายในบ่อที่ขุดไว้ และสัตว์ปีกอื่นๆ และรายได้ประจำปีเกิดจากการจำหน่ายข้าวโพดที่ปลูกไว้บ้างบางส่วน แต่หลักๆ แล้วที่บ้านของเขาจะเน้นในเรื่องของการทำเกษตรผสมผสานมากกว่าการทำเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยว จึงทำให้เวลานี้ครอบครัวเริ่มมีเงินเก็บมากขึ้น เมื่อเทียบกับสมัยก่อนแล้วมีหนี้สินเป็นหลักแสนบาท และมองไม่เห็นถึงความยั่งยืนของการทำเกษตรของตนเอง

โซนพืชผักสวนครัว

ซึ่งการยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อนำมาปฏิบัติอยู่เสมอพร้อมกับทำบัญชีรายรับรายจ่ายอยู่เป็นประจำ ช่วยให้รู้ว่า แต่ละช่วงเสียเงินไปกับเรื่องใดบ้าง จากนั้นนำมาปรับเปลี่ยนในเรื่องต่างๆ จึงทำให้มีเงินเก็บสะสมอยู่เสมอ จึงไม่มีหนี้สินเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต และที่สำคัญการทำเกษตรให้ประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น คุณเชษฐา บอกว่า ต้องหมั่นเรียนรู้และเข้ารับการอบรมอยู่เสมอ จะทำให้เพิ่มองค์ความรู้ใหม่ๆ รอบรู้เท่าทัน ว่าการเกษตรช่วงเวลานี้มีเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ หรือการตลาดไปในทิศทางใด ก็จะยิ่งช่วยให้ผลผลิตที่จะปลูกออกมานั้นตลาดต้องการแบบไหน

สัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้

“ผลผลิตที่อยู่ภายในสวน ใน 1 อาทิตย์ เราก็จะเอาผลผลิตไปขาย 4-5 วัน ตามตลาดนัดชุมชน จะไม่ขายทุกวัน เพราะบางช่วงพืชผักออกไม่ทัน เราก็จะมีเวลาพักบ้าง เฉลี่ยแล้ว 1 อาทิตย์ สามารถขายผลผลิตได้ประมาณ 3,000-5,000 บาท ไม่ต้องกังวลในเรื่องของราคาสินค้าตกต่ำ เพราะเรามีสินค้าทางการเกษตรหลายตัว สมมุติบางตัวราคาตกต่ำ เราก็ยังมีสินค้าอย่างอื่นที่สร้างรายได้อีกทาง เพราะฉะนั้นเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ที่ยั่งยืน” คุณเชษฐา บอก

ผลผลิตที่ปลูกเองกับมือ

นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ช่วงที่วิกฤตสุดๆ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คุณเชษฐา บอกว่า สินค้าเกษตรในสวนของเขายังสามารถจำหน่ายได้ปกติ พร้อมทั้งมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการต้องถูกเลิกจ้างงาน หรือผู้ที่ต้องกลับมาอยู่บ้านเป็นระยะเวลานาน ได้ติดต่อเข้ามาเรียนรู้การทำเกษตรในพื้นที่บ้านเขาอีกด้วย จึงทำให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า อาหารเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต

พื้นที่ภายในสวน

แม้ช่วงที่รัฐบาลมีคำสั่งให้หยุดอยู่บ้านเพื่อลดเชื้อ แต่ด้วยบ้านของเขามีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย จึงสามารถนำมาประกอบอาหารได้อย่างสบายโดยที่ไม่ต้องออกจากบ้าน จึงเป็นทางรอดที่ทำให้สามารถรอดพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ ไปได้ รวมถึงสภาเศรษฐกิจตกต่ำด้วย

พื้นที่ภายในสวน

“ช่วงโควิดช่วงที่เราไม่ต้องออกจากบ้าน แต่เรามีทุกอย่าง พืชผัก และสัตว์เลี้ยง ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า การเกษตรเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างก็ต้องกลับมาสู่ธรรมชาติ กลับมาอยู่ในวิถีของเกษตร จากช่วงโควิดที่ผ่านมา มีคนเข้ามาศึกษาการทำเกษตรจากผมค่อนข้างเยอะ เพราะด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ทำให้ต้องกลับมาอยู่บ้านเกิด เพราะฉะนั้นอย่าได้ท้อ ค่อยๆ เรียนรู้ และทำด้วยใจรัก รายได้จะเกิด และช่วยให้เรามีเงินเก็บได้ไม่ยาก” คุณเชษฐา บอก

มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานอยู่เสมอ

สนใจเรื่องการทำเกษตรผสมผสาน เพื่อก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19 โดยใช้วิถีทางการเกษตรเป็นทางออก สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเชษฐา แก้วทับคำ หมายเลขโทรศัพท์ (085) 269-9708

เผยแพร่ครั้งแรกวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2563