คนเชียงราย ปลูกอ้อยไข่ ไม่ได้เอาน้ำตาล แต่กินเป็นผัก…แปลกจริง

อ้อยไข่ ท่านผู้อ่านคงจะแปลกใจในชื่อไม่น้อย ที่มาของชื่อ อ้อยไข่ คำว่า “อ้อย” คือลำต้นคล้ายต้นอ้อย หรือต้นหญ้า ต้นอ้อ และ คำว่า “ไข่” คือ สีเหลืองเหมือนไข่แดงของไข่ต้ม และฝักที่เกาะกันคล้ายไข่ปลาสวายหรือไข่ปลาตะเพียนเป็นลิ่มและเกาะกันคล้ายกะหล่ำดอก รสชาติหวานกว่ากะหล่ำดอก จึงทำให้ผู้คนสนใจในพืชชนิดนี้และอยากจะศึกษาเรียนรู้เพื่อที่จะนำมาต่อยอดเป็นพืชผักสวนครัว ที่ให้รสชาติหวาน หอมกลิ่นเฉพาะตัว และอร่อยมาก

คุณอำไพ นันติวงค์ชัย เจ้าของสวนอ้อยไข่

คุณอำไพ นันติวงค์ชัย หลังบ้านของข้าราชเกษียณอายุ จากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ใช้เวลาว่างหลังเกษียณมาทำไร่นาสวนผสม ปลูกต้นไม้ที่คิดว่าปลูกได้และส่งเสริมให้คนมีรายได้นำไปต่อยอดเพื่อทำเป็นผลิตผลการเกษตรขาย

“ปลูกอ้อยไข่ ไว้รับประทาน รสชาติอะร้อย อะหร่อย…ไม่ผิดหวังเลยค่ะ มีความหอม หวาน รวมรสชาติของหลายผักไว้ในตัว เช่น กะหล่ำดอก หน่อไม้ฝรั่ง ยอดมะพร้าวอ่อน…” คุณอำไพ กล่าว

พืชแปลกที่แปลกเฉพาะในเมืองไทย แต่เป็นพืชผักที่เป็นของพื้นบ้านของชาวอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีรสหวานเล็กน้อยเหมือนกะหล่ำดอก รสชาติที่เข้ากันได้ดีกับเมนูอาหารไทย โดยเฉพาะแกงเผ็ดทั้งหลาย ที่มีรสชาติใกล้เคียงกันกับอาหารไทย เพราะฉะนั้นการที่นำอ้อยไข่มาปลูกจึงเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ใครได้ชิมก็อยากที่จะปลูกเป็นพืชผักสวนครัว คาดว่า อ้อยไข่ จะขึ้นอยู่ตามร้านขายผักตามตลาดในเร็วๆ นี้ อย่างแน่นอน

อ้อยไข่เริ่มที่จะออกฝักในระยะเดือนที่สาม

พืชตระกูลหญ้าที่เรียกว่า อ้อยไข่ หรือ เทอรูบุก ในภาษาอินโดนีเซีย ด้วยรสชาติที่หวานหอม คล้ายกะหล่ำดอกบวกกับหน่อไม้ฝรั่ง ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเมนูอาหารพื้นบ้านที่ให้รสชาติหลากหลายนั้น คุณอำไพ กล่าวว่า “ที่สวนชอบเพาะต้นไม้แปลกหลายอย่าง แต่ที่ทำเป็นแปลงขายทั้งผลผลิตและขายทั้งต้นกล้า ยอมรับว่า ต้นอ้อยไข่ มียอดสั่งจองต้นพันธุ์เยอะมาก เพราะโตเร็ว ให้ผลผลิตเร็ว ผู้ที่ซื้อไปปลูกแล้วได้ชิมรสชาติเร็ว ไม่ต้องรอเป็นปีสองปี เพียงแค่ไม่กี่เดือนก็ได้ชิมแล้ว และติดใจในรสชาติจึงมีการขยายการปลูกอย่างรวดเร็ว ความหวานของพืชผักก็มีหลายอย่าง เช่น ยอดมะพร้าวอ่อน ก็หวานและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ จากกลิ่นของมะพร้าว อ้อยไข่ก็เช่นกัน จะได้ความหวานของกลิ่นอ่อนๆ ของอ้อยและหน่อไม้ฝรั่ง และมีลักษณะกระจุกดอกเป็นเม็ดเล็กๆ คล้ายไข่ปลานำมารวมกันก็มีลักษณะคล้ายกะหล่ำดอกอีกด้วย…ตอนแรกไม่คิดที่จะทำต้นขาย แต่คนที่ซื้อไปปลูกและชิมดอกอ้อยไข่แล้วติดใจ บอกต่อๆ กัน ปากต่อปาก ก็กลายเป็นมียอดสั่งซื้อมาก กลายเป็นธุรกิจเล็กๆ แต่ตลาดก็ยังไปได้อีกไกล คำว่า ของกินที่ปลูกง่ายให้ผลผลิตเร็ว ใครๆ ก็อยากจะนำไปปลูก” คุณอำไพ กล่าว

อ้อยไข่ รับประทานเป็นผักได้ และถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ปลูกง่าย โตเร็ว ไม่ใช้สารเคมี บำรุงโดยใช้เพียงปุ๋ยคอกก็เพียงพอแล้ว ใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อย เป็นพืชใช้น้ำน้อย เหมาะที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้น้ำน้อย อ้อยไข่เป็นที่รู้จักอย่างดีจากชาวมาเลเซียและอินโดนีเซีย ขึ้นตามป่าตามเขา ชาวอินโดนีเซีย เรียกว่า เทอรูบุก ชาวบ้านชนบทที่ทำไร่อ้อย เวลาตัดอ้อยส่วนปลายอ้อยมักจะนำมาแกะยอดอ่อน นำไปต้มจิ้มน้ำพริก หรือนำไปแกงตามพื้นบ้านได้ ก็มีรสชาติหวานคล้ายหน่อไม้ แต่อ้อยไข่มีลักษณะต้นคล้ายกัน แต่ออกฝักคล้ายข้าวโพดอ่อน เรียกว่าดอก เรานำส่วนของฝักดอกไปรับประทาน ใน 1 กิ่ง จะให้ดอก 1 ฝัก

ฝักดอกอ้อยไข่จะมีลักษณะมีเม็ดเล็กๆเหมือนไข่ปลาที่อัดกันแน่น

อ้อยไข่ นำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ผัด แกง ทอด เพราะรสชาติที่โดดเด่นมีความหวานในตัว เมนูอ้อยไข่ อ้อยไข่ผัดกุ้ง แกงป่าอ้อยไข่ใส่ปลา แกงกะทิอ้อยไข่ใส่กุ้ง อ้อยไข่ผัดน้ำมันหอย อ้อยไข่ฝานบางๆ ชุบแป้งทอด

ในปัจจุบันนี้ภาวะภัยแล้งและภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยและของโลก ในประเทศไทยเรามีปัญหามากทั้งปัญหาโรคระบาดโควิด-19 และซ้ำเติมด้วยภัยแล้ง เศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่แล้ว ปัญหาปากท้องเป็นปัญหาที่หนักมากในปัจจุบันนี้ พืชที่ใช้น้ำน้อยจึงเหมาะที่จะนำมาพัฒนาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อสร้างรายได้ แต่ต้องคำนึงถึงการเจริญเติบโตเร็ว ระยะการเก็บเกี่ยวไม่นานเกินไป ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมในครัวเรือนได้ดี ต้องเป็นพืชที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย อ้อยไข่จึงเป็นสายพันธุ์ที่น่านำมาปลูกทั้งรับประทานในครัวเรือน และทำเป็นอาชีพได้ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม

ข้อมูลเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการ

มีฟอสฟอรัสและแคลเซียมสูง รวมทั้งวิตามินซีก็สูง

อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร ให้วิตามินและเกลือแร่

มีสารต้านอนุมูลอิสระและแคลอรีต่ำ

ใน 100 กรัม มีแร่ธาตุสำคัญหลายชนิด ดังนี้

มีพลังงาน 25 กิโลแคลอรี โปรตีน 4.6 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3 กรัม ไขมัน 0.4 กรัม แคลเซียม 40 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 80 มิลลิกรัม เหล็ก 2 มิลลิกรัม วิตามินเอ OIU. วิตามินบี1 0.8 มิลลิกรัม และวิตามินซี 50 มิลลิกรัม (ที่มาบรรณานุกรม Renny Sukmawani, Ema Hilma Meilani และ Asep M Ramdan2 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัย Muhammadiyah แห่ง Sukabumi ประเทศอินโดนีเซีย

คุณค่าทางด้านสมุนไพร

ราก ช่วยแก้ปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นยาขับปัสสาวะ ยาชูกำลังและยาโป๊ว รากยังมีความสามารถในการควบคุมและกระตุ้นอาการอาหารไม่ย่อย อาการแสบร้อน และความอ่อนแอทางเพศได้

ลำต้น นำมาต้มแก้ร้อนใน ลดไข้ มีสรรพคุณเป็นยาเย็น คล้ายๆ กับลำต้นอ้อยทั่วไป ถึงแม้ว่าลำต้นจะเล็กกว่าต้นอ้อย แต่ถ้าบำรุงให้ดีลำต้นก็จะมีขนาดใหญ่เกือบเท่าต้นอ้อย

ใบ นำไปเป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย แพะ ได้ ต้นอ้อยไข่ ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ลักษณะใบเหมือนต้นอ้อ ต้นแขมบ้านเรา หรือเหมือนหญ้าบางชนิดที่ใช้เลี้ยงสัตว์ เพราะต้นอ้อยไข่มาจากตระกูลหญ้าเช่นกัน

คุณอำไพ กล่าวว่า ได้ปลูกต้นอ้อยไข่และแนะนำให้เกษตรกรนำไปปลูกกัน ตอนนี้มีเกษตรกรสนใจมากเพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะอ้อยไข่ปลูกง่ายเหมือนอ้อย แต่ก็มีเคล็ดลับการปลูกนิดหน่อยที่จะทำให้อ้อยโตเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมีปลูกแบบเกษตรธรรมชาตินี่แหละ ตอนแรกลองผิดลองถูกก็ตายไปหลายต้น แต่พอศึกษาธรรมชาติของอ้อยไข่แล้ว เดี๋ยวนี้ก็เต็มสวนเลยคะ มีอ้อยไข่ปลูกไว้ที่บ้านเหมือนเรามีผักเพิ่มในเมนูอาหารในครัวเรือนที่อร่อยอีกอย่างหนึ่ง ที่มีให้เรารับประทานทุกฤดูกาล เพราะอ้อยไข่จะให้ดอกตลอดปี มีไว้สักสามสี่กอก็คุ้ม ทำให้มีผักเพิ่มขึ้นอีกชนิดหนึ่งที่นำไปประกอบอาหารได้ทั้งผัดและแกง

อ้อยไข่ นอกจากปลูกง่ายแล้ว เรื่องของโรคพืชแทบจะไม่มี นอกจากว่าบำรุงด้วยปุ๋ยคอกเพื่อให้ได้ขนาดลำต้นอ้อยมีขนาดใหญ่ก็จะได้ดอกที่มีขนาดใหญ่ได้

ให้ดอกที่น่ารับประทาน มีรสชาติหวาน อร่อย

วิธีการปลูก

การปลูกก็ไม่ยาก ท่านที่มีพื้นที่น้อยก็ปลูกหน้าบ้าน หลังบ้านได้ เป็นทั้งไม้ประดับสวนได้ เพราะอ้อยไข่จะขึ้นเป็นกอ อยู่ที่เราตัดแต่งกิ่ง ใช้ข้ออ้อยไข่ตัดเป็นท่อนเลือกข้ออ้อยที่มีตาหรือรากติดอยู่ นำไปปักชำได้เลย รดน้ำบำรุงด้วยปุ๋ยคอก ก็จะแตกใบอ่อน ประมาณ 3 เดือน ก็เริ่มให้ดอกแล้ว ถ้าตัดดอกออกแล้ว สามารถนำโคนต้นที่มีรากไปเพาะหรือปักชำขยายพันธุ์ต่อเพื่อให้เกิดต้นใหม่ต่อไป และสามารถควบคุมความสูงได้โดยการตัดให้สั้น หลังจากตัดยอดเพื่อนำดอกออกมาแล้วก็ตอนได้ นำท่อนอ้อยมาเพาะในถุงสัก 2 สัปดาห์ ก็งอกรากและแตกใบสัก 2 ใบ ก็นำไปปลูกได้เลย

คุณอำไพ ได้ปลูกอ้อยไข่โดยยกแปลงทำเหมือนปลูกผัก ในเดือนกรกฎาคมอ้อยไข่เริ่มตั้งท้องหรือเริ่มที่จะมีดอกตูมขึ้นมา ประมาณปลายเดือนสิงหาคมก็เก็บผลผลิตได้ โดยสังเกตจากปลีดอกมีขนาดใหญ่ จะมีเปลือกหุ้มคล้ายข้าวโพดอ่อน ก็เก็บได้เลย แล้วนำมาแกะเปลือกหุ้มออก คล้ายๆ กับข้าวโพด ก็จะเห็นปลีอ้อยไข่ สีเหลืองไข่ไก่อ่อนๆ  นำมาประกอบอาหารได้ แต่ถ้าจะนำไปย่างไฟ ก็แนะนำให้ย่างทั้งเปลือก แล้วแกะด้านในออกก็จะได้รสชาติอร่อยอีกแบบหนึ่งที่คล้ายกับกลิ่นนมอ่อนๆ

ถ้าสนใจก็สอบถามโดยตรงได้ที่ คุณอำไพ นันติวงค์ชัย 258 หมู่ที่ 8 บ้านป่ายาง ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 57130 โทรศัพท์ 086-672-6999

ตัดเป็นท่อนนำไปปักชำเพื่อขยายพันธุ์
นำมาแกะเปลือกเพื่อประกอบอาหารได้เลย
เพาะชำง่าย ติดรากเร็ว

เผยแพร่ครั้งแรกวันพฤหัสที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2563