จันทบุรี-ตราด สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เตือนภัยแล้งเกษตรกรปลูกทุเรียนต้องขุดสระน้ำ

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 2 ได้จัดประชุม “จัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ 2565 ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับลุ่มน้ำ และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม” โดยมี คุณไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งตะวันออก คุณธรรมพงศ์ เนาวบุตร ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งตะวันออก คุณธารทิพย์ จันทร์พิทักษ์ นักวิเคราะห์และแผน ชี้แจงแนวทางการจัดทำแผน และ ผศ.ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์และรักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตจันทบุรี มหาวิทยาลัยบูรพาและคณะเป็นวิทยากรจัดทำแผน กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย กรรมการลุ่มน้ำ อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดจันทบุรี ตราด

คุณพงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี

อ่างเก็บน้ำจันทบุรีเก็บไม่ถึง 50% หวั่นภัยแล้งรุนแรง
เสนอโมเดล 10 ไร่ : 1.5 ไร่

คุณไพฑูรย์ เก่งการช่าง กล่าวว่า สภาพแหล่งน้ำในจังหวัดจันทบุรีปีนี้และปี 2564 มีแนวโน้มจะขาดแคลนน้ำอย่างน่าเป็นห่วง ประเมินจาก อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธความจุ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร เดือนกันยายนเก็บน้ำได้ไม่ถึง 7 ล้านลูกบาศก์เมตร ชาวสวนลำไยจะทำอย่างไรกับการราดสารหรือจะเพียงเยียวยาต้นไว้ เขื่อนคีรีธาร ความจุ 76 ล้านลูกบาศก์เมตร เก็บน้ำ 40-42 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องปล่อยน้ำทั้งจันทบุรี ตราด และต้องสะสมน้ำไว้ปั่นไฟฟ้าในเดือนธันวาคม-มกราคม อ่างเก็บน้ำพลวงความจุ 77 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องรอน้ำจากทุ่งเพลมาเติม น้ำประปาในจันทบุรีไม่เพียงพอ ทุกวันพุธงดจ่ายน้ำประปา ชาวสวนต้องหยุดสูบน้ำในแม่น้ำจันทบุรี ส่วนจังหวัดตราด ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 อ่าง คลองโสน เขาระกำ ห้วยแร้ง ยังเก็บกักน้ำได้แตะๆ 50%

คุณไพฑูรย์ เก่งการช่าง

“จันทบุรี ตราด ภาคเกษตรกรรมใช้น้ำ 90% อุปโภค บริโภค 10% พื้นที่เพาะปลูกทุเรียนจันทบุรี ตราดขยายตัวเร็วมาก ปีนี้จันทบุรีเกษตรกรโค่นยางพาราไปปลูกทุเรียน 80% ประมาณ 500,000 ต้น หมายถึงพื้นที่เพาะปลูกขยายขึ้น 20,000 ไร่ รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ปริมาณใช้น้ำต่อทุเรียน 1 ไร่ ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำปี 2564 ควรดำเนินการ 3 อย่าง คือ 1. เกษตรกรเตรียมแหล่งน้ำในสวน 2. การเสริมฝาย ให้คันฝายสูงขึ้นก่อนหมดฝน และถ้าติดทะเลให้กั้นทำนบดินก่อนเก็บน้ำหรือสูบน้ำจากแม่น้ำมาเก็บไว้ในสระ และ 3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปี 2565 การรับถ่ายโอนทรัพย์สินจากหน่วยงานต่างๆ เตรียมของบประมาณโดยตรงเพื่อทำงานได้คล่องตัวขึ้น” คุณไพฑูรย์ กล่าว

คุณไพฑูรย์กล่าวถึงโมเดล พื้นที่ปลูกทุเรียน 10 ไร่ ต่อแหล่งน้ำ 1.5 ไร่ คือ การเตรียมแหล่งน้ำในสวนทุเรียนให้เพียงพอและช่วยทำให้ทุเรียนมีคุณภาพเพิ่มมูลค่าผลผลิตระยะยาว จากการวิจัยของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 (สศท.6) เรื่อง water footprint ทุเรียนแปลงใหญ่ไว้ ดังนี้ ปริมาณน้ำ มาจากน้ำฝน 48% การเก็บกักน้ำ 52% ทุเรียน 1 ไร่ ใช้น้ำปริมาณ 1,525.86 ลูกบาศก์เมตร หรือ 1 ตัน ต่อ 868.45 ลูกบาศก์เมตร การแบ่งพื้นที่เก็บกักน้ำในสวนทุเรียน 10 ไร่ ให้มีสระเก็บน้ำ 1.5 ไร่ ความลึก 6 เมตร จะเก็บกักน้ำได้ 14,400 ลูกบาศก์เมตร และจากการประเมินมูลค่าน้ำทางเศรษฐกิจเป็นระยะเวลา 30 ปี การลงทุนเก็บน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ทำให้ได้ทุเรียนคุณภาพดีไร่ละ 43.89 บาท ถ้าเก็บน้ำ 14,400 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่ปลูกทุเรียน 10 ไร่ ระยะเวลา 30 ปี มูลค่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้น 6,320,160 บาท

ผศ.ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์

จันทบุรี ตราด เร่งแก้ปัญหา
น้ำเพื่อเกษตรกรรม น้ำท่วม

ผศ.ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำ และเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ ปี 2565 จำแนกโครงการตามแผนแม่บท 6 ด้าน คือ ด้านการจัดการน้ำอุปโภค บริโภค ด้านการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ด้านการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดินและด้านการบริหารจัดการ จังหวัดจันทบุรี ตราดมีสภาพปัญหาไม่ต่างกัน ปัญหาเร่งด่วน 2 ด้าน คือ อันดับ 1. การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต คือ ความต้องการเร่งด่วนใช้น้ำภาคการเกษตร 2. การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ส่วนอันดับ 3 จันทบุรีคือการจัดการน้ำบริโภค อุปโภค ส่วนจังหวัดตราด อันดับ 3 คือการบริหารจัดการ ซึ่งได้นำเสนอปัญหาพร้อมทั้งแนวทางแก้ไขด้วย

“จันทบุรีมีปัญหาเร่งด่วน 3 อันดับแรก เพราะปริมาณการปลูกทุเรียนได้เพิ่มขึ้นหลายเท่า ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บกักน้ำยังเก็บได้น้อยและต้องใช้ทั้งภาคเกษตรและอุปโภคบริโภค ขาดแคลนแหล่งน้ำทำน้ำประปาในชุมชนเมือง ขณะที่ตุลาคมอีกเดือนเดียวจะหมดพายุฝนที่ช่วยเติมน้ำในอ่าง และช่วงปลายปียังอยู่ในช่วงฤดูกาลผลิตลำไย ความต้องการน้ำยังมีสูง โดยที่ปัญหาเรื่องน้ำท่วมยังคงเกิดขึ้นเป็นประจำ ส่วนจังหวัดตราดแม้ว่าพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมน้อยกว่าจันทบุรีแต่เกือบ 100% เห็นว่าน้ำภาคการผลิตมีปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน เพราะพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น รวมทั้งการจัดการเรื่องน้ำท่วมและอุทกภัย ด้านการบริหารจัดการน้ำที่ควรออกกฎ ระเบียบส่งเสริมการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความขัดแย้งการใช้น้ำ” ดร.วศิน สรุปเบื้องต้น

 

จันทบุรี เสนอขุดสระ บ่อน้ำตื้น
รับปริมาณทุเรียน
ทำรายได้ 100,000 ล้านบาท

รศ.พิชัย สราญรมณ์ อนุกรรมการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัดจันทบุรี และผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก กล่าวว่า ปัจจุบันจันทบุรีมีรายได้จากทุเรียน 65,000 ล้านบาท ระยะเวลา 5-6 ปี รายได้น่าจะเพิ่มประมาณ 100,000 ล้านบาท ถ้าภาคการผลิตกับความมั่นคงของน้ำสอดคล้องกัน มีการพัฒนาลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำจันทบุรี ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำเวฬุ ลุ่มน้ำสาขาโตนเลสาบ เพื่อมีการขุดลอกแม่น้ำลำคลอง เพื่อจะได้ลดปัญหาน้ำท่วมและเก็บสะสมน้ำดิบใช้ทำน้ำประปา การจัดทำผังน้ำ โดยสำรวจและขึ้นทะเบียนแหล่งน้ำ จุดที่ห้ามบุกรุก และท้องถิ่นสนับสนุนเกษตรกรขุดบ่อ สระเก็บกักน้ำ เพื่อเก็บไว้ในพื้นที่เกษตรและเติมลงบ่อน้ำบาดาล

รศ.พิชัย สราญรมณ์

“ขณะนี้ อ่างเก็บน้ำต่างๆ ในจังหวัดจันทบุรีเก็บกักน้ำได้เพียง 50% น้อยกว่าปีก่อนๆ ควรจะเพิ่มยุทธศาสตร์ที่ 7 ด้านการเก็บกักน้ำ คณะกรรมการลุ่มแม่น้ำชายทะเลฝั่งตะวันออกควรสนับสนุนการสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมในลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำจันทบุรี สาขาแม่น้ำเวฬุ อ่างเก็บน้ำทุ่งเพล รวมทั้งอ่างเก็บน้ำเครือหวาย ในเขตอำเภอโป่งน้ำร้อน และลุ่มน้ำสาขาโตนเลสาบควรมีอ่างเก็บน้ำก่อนการผันน้ำไหลลงทะเลหรือไหลสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผ่านมายังมุ่งพัฒนาลุ่มแม่น้ำวังโตนดเพื่อจะส่งน้ำไปเขตพัฒนาเศรษฐกิจ EEC” รศ.ดร.พิชัย กล่าว

ทางด้าน คุณศิริชัย ชีวชูเกียรติ รองนายกเทศบาลตำบลพวา เสนอว่า พื้นที่ตำบลพวา มีอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง คือ อ่างประแกตความจุ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างเสร็จเปิดใช้มา 2 ปีแล้ว ตำบลพวา ทำการเกษตร 80-90% ไม่มีโอกาสได้ใช้น้ำ เพราะไม่มีระบบกระจายน้ำ เทศบาลตำบลพวาต้องขุดฝังท่อส่งน้ำเอง ยังส่งน้ำใช้ได้โซนเดียวเหลือ 5-6 หมู่บ้านเป็นภูเขา ขอตั้งเครื่องสูบน้ำแต่น้ำในอ่างมีไม่พอ เพราะต้องสูบน้ำไปช่วยทำน้ำประปาด้วย และ คุณฉลาด สายแก้ว ประธานสภาเทศบาลตำบลโป่งน้ำร้อน คณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโตนเลสาบ เห็นว่าการปล่อยให้น้ำไหลทิ้งไปทางกัมพูชาปีละ 10-100 ล้านลูกบาศก์เมตร น่าเสียดายมาก การสร้างอ่างเก็บน้ำเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในพื้นที่ที่แล้งจัด เช่น อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอสอยดาว แต่การสร้างอ่างทำได้ยากแม้ว่ากรมชลประทานออกแบบไว้แล้ว 2 แห่ง คือ อ่างคลองโป่งน้ำร้อน อ่างคลองเครือหวาย เพราะเป็นพื้นที่กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชและติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตอนนี้ใช้น้ำจากอ่างคลองพระพุทธแห่งเดียวซึ่งปริมาณน้ำไม่เพียงพอ เกบน 2 csj’ 8nvง้ะะ

คุณฉลาด สายแก้ว

ตราดเกษตรกร
ต้องมีแหล่งน้ำในสวน

ด้าน คุณสังคม นิลฉวี นายก อบต.เทพนิมิต อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด กล่าวว่า พื้นที่ อบต.ประณีต 70,000 ไร่ ปลูกทุเรียน 24,000 ไร่ สร้างรายได้ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท ไม่มีน้ำจากอ่างเก็บน้ำ เดิมตอนแล้งต้องซื้อน้ำรถบรรทุกมาในสวน ปีนี้มีแหล่งน้ำจากขุดสระน้ำขนาดใหญ่ แก้มลิง ที่ชลประทานและหน่วยงานภาครัฐช่วยขุดกักเก็บไว้เพียงพอ อบต.จัดทำข้อตกลงกับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนแปลงใหญ่ให้แบ่งพื้นที่ปลูกและแหล่งน้ำ อัตราส่วน 80 : 20 ส่วนเกษตรกรแปลงเล็ก 5-10 ไร่ ให้เริ่มมีแหล่งเก็บกักน้ำปีที่ 5 ที่มีรายได้จากผลผลิตแล้ว ซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดีและรอดจากปัญหาภัยแล้งมาได้

รศ.พิชัย สราญรมณ์

คุณสว่าง ชื่นอารมณ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด จังหวัดตราดมีฝนตกปริมาณมากปีละ 3,000-4,000 ลูกบาศก์เมตร ต้องเร่งรัดการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสะตอและคลองแอ่ง ถ้ามี 2 อ่างนี้จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมได้ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอเขาสมิงที่เป็นแหล่งเกษตรกรรรมที่สำคัญ อนาคต…หากปัญหาภัยแล้งแก้ไขไม่ได้ อนาคตเกษตรกรไทยอาจต้องเสียค่าน้ำเช่นเดียวกับน้ำประปากระมัง

คุณธารทิพย์ จันทร์พิทักษ์

 

____________________________________________________________________________

เทคโนโลยีชาวบ้านจัดงานใหญ่ประจำปี! “นวัตกรรมใหม่ เพื่อเกษตรกรไทยยุค 5G”  ในวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่ห้องประชุมใหญ่ บริษัท ข่าวสด จำกัด แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนาฟรี โดยผ่านการลงทะเบียน 2 ช่องทาง คือ https://www.eventpassinsight.co/mobile/registration/create/ifn/?code=5g หรือโทรศัพท์แจ้งความจำนงได้ที่ (02) 580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342 และ 2343 ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมการสัมมนาล่วงหน้า จะได้รับกล้ามะละกอเสียบยอดจากคุณทวีศักดิ์ กลิ่งคง และต้นกล้าดอกดาวเรืองจาก บริษัท East-West seed (ศรแดง) ฟรี