เกษตรกรอุดรฯ แนะปลูกกล้วยหอมทองแบบมืออาชีพ ส่ง 7- ELEVEN ทั่วภาคอีสาน ทำได้อย่างไร

กล้วยหอมทอง พืชมากประโยชน์ และถือเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกสำคัญของประเทศไทยอีกชนิดหนึ่ง ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยสัมภาษณ์ คุณจักรินทร์ โพธิ์พรม ประธานวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทอง อยู่ที่จังหวัดอุดรธานี เกี่ยวกับเทคนิคการปลูกกล้วยหอมทองให้ได้มาตรฐานส่งร้านสะดวกซื้อ รวมถึงการส่งออกต่างประเทศ และมีบางช่วงบางตอนที่ได้พูดคุยกันถึงตลาดกล้วยหอมทองทั้งในและต่างประเทศ คุณจักรินทร์ได้มีการพูดถึงตลาดกล้วยหอมทองว่า

“สำหรับอนาคตการตลาดกล้วยหอมทองภายในประเทศค่อนข้างสดใสเมื่อเทียบกับอดีตที่หลายคนยังไม่รู้ว่าประโยชน์ของกล้วยหอมทองมีมากแค่ไหน แต่ในปัจจุบันแทบไม่ต้องบอกถึงสรรพคุณ คนส่วนใหญ่ก็รู้ถึงคุณประโยชน์ที่มากล้นของกล้วยหอมทองอยู่แล้ว จึงส่งผลไปถึงความต้องการบริโภคกล้วยหอมทองภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น 120-150 ล้านลูก ต่อปี อันนี้คือตลาดภายในประเทศ ส่วนตลาดต่างประเทศถ้าพูดถึงญี่ปุ่น หรือจะดึงจีนและประเทศแทบตะวันออกกลางเข้ามา ความต้องการกล้วยหอมทองในตลาดโลกยังมีความต้องการสูงมาก เฉพาะแค่ญี่ปุ่นประเทศเดียวมีความต้องการบริโภคกล้วยหอมทองปีละกว่าล้านตัน แต่ประเทศไทยสามารถส่งออกกล้วยหอมทองได้เพียงปีละ 5,000 ตัน เท่านั้น ฉะนั้น ส่วนยังเหลืออีกเยอะ นี่จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยที่จะเดินไปตรงนั้นได้ แต่ถ้าถามว่าปลูกเยอะล้นไหม ล้นครับ ถ้าทำตามมาตรฐานและคุณภาพไม่ได้ ดังนั้น ต้องพัฒนาตัวนี้ขึ้นมาด้วย คุณภาพมาตรฐานต้องคู่กัน”

คุณจักรินทร์ โพธิ์พรม ประธานวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองอำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี

คุณจักรินทร์ โพธิ์พรม อยู่ที่ 159 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านโคก อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี ประธานวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองอำเภอสร้างคอม พ่วงด้วยตำแหน่งยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เกษตรกรหัวก้าวหน้า ผู้คิดพัฒนาภาคเกษตรกรรมไทยให้หลุดพ้นจากความยากจน ที่ไม่เพียงแต่ปลูกเป็น แต่ต้องเป็นนักคิด นักพัฒนาด้วย ทดลองปรับเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ควบคู่กับการทำตลาด จนสามารถพาสมาชิกวิสาหกิจชุมชนปลูกกล้วยหอมทองทำมาตรฐานส่งร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่นได้ทั่วภาคอีสาน และยังทำมาตรฐานส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

คุณจักรินทร์ เล่าว่า ก่อนที่จะมาปลูกกล้วยหอมทอง ตนเคยทำงานเป็นพนักงานประจำที่กรุงเทพฯ มาก่อน ส่วนจุดเริ่มต้นที่ทำไมถึงมาเป็นเกษตรกร เนื่องจากคุณพ่อมีอายุมากแล้ว ท่านอยากกลับมาอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดอุดรฯ ดังนั้น ก็ต้องมาคิดแล้วว่า ถ้ากลับไปอยู่อุดรอย่างถาวรจะทำอะไร ถึงจะมีรายได้ ซึ่งในตอนนั้นก็มองดูว่ามีพืชหลายชนิดที่นิยมปลูกกัน คืออ้อย มันสำปะหลัง แต่คิดว่าคนทำเยอะแล้ว แต่สิ่งที่พ่อแนะนำให้ทำคือ ปลูกกล้วยหอม เพราะท่านใช้ประสบการณ์ที่อาศัยอยู่กรุงเทพฯ มานาน และมองว่ากล้วยหอมเป็นพืชสร้างรายได้ดี เมื่อย้อนไปตอนปี’ 37 กล้วยหอมทอง ราคาหวีละ 30-40 บาท 1 เครือ มี 5 หวี ถ้าขายแค่หวีละ 10 บาท ก็ได้ 50 บาท แล้วถ้าค่อยๆ ปลูกวันละ 3 ต้น ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมา จะสามารถอยู่ได้ไหม จึงตัดสินใจพาคุณพ่อกลับบ้านมาเริ่มต้นชีวิตการเป็นเกษตรกรปลูกกล้วยหอมทอง วันละ 3 ต้น

ผลผลิตพร้อมส่ง 7- ELEVEN

เริ่มต้นชีวิตการเป็นเกษตรกร
ลองผิดลองถูกจนประสบความสำเร็จ

เจ้าของบอกว่า หลังจากตัดสินใจกลับมาเป็นเกษตรกรที่บ้าน ความรู้การเกษตรที่มีเท่ากับศูนย์ ต้องหาเวลาว่างไปศึกษาดูงานนอกสถานที่ไกลถึงนนทบุรี เพื่อมาเรียนรู้การปลูก การดูแลกล้วย และก็ได้นำพันธุ์จากที่นนทบุรีกลับมาปลูกด้วย

“เริ่มปลูกกล้วยหอมทอง ปี’38 บนพื้นที่ 4 ไร่ ด้วยความที่ไม่มีความรู้ ก็ไปอาศัยความรู้จากที่ไปเรียนมาก๊อบปี้รูปแบบการปลูกเขามาเกือบทั้งหมด ด้วยการใช้รถแบ๊คโฮขุดลอกคลอง ทำลักษณะคล้ายๆ กับสวนกล้วยที่ปทุมฯ และคิดไว้ว่าจะเอาเรือลงไปวิ่งเหมือนที่นั่น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ลืมคิดไปว่าแหล่งน้ำที่บ้านไม่ได้อุดมสมบูรณ์เหมือนที่ปทุมฯ ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน น้ำที่ขุดลอกไว้ยังมี แต่พอถึงเดือนตุลาคมขึ้นไป น้ำแห้ง จึงต้องกลับมาคิดหาวิธีใหม่ให้เหมาะกับสภาพดิน น้ำ ของที่บ้าน ก็ค้นพบว่า จริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไรมาก แค่ไถแล้วขุดหลุมปลูก มีบ่อบาดาลใช้สายยางรดน้ำแบบธรรมดา หลังจากนั้นเริ่มมีประสบการณ์มากขึ้น ได้มีการขยายพื้นที่ปลูกขึ้นในปีที่ 2 เป็น 12 ไร่ ด้วยการใช้หน่อพันธุ์จากแปลงที่ปลูกไว้มาขยายต่อ และได้มีการพัฒนารูปแบบการปลูกจากหลายตำรา จนสุดท้ายคิดค้นวิธีการปลูกขึ้นมาเป็นระบบน้ำหยด ปูผ้าพลาสติก เพื่อง่ายต่อการควบคุมคุณภาพ มาตรฐาน และให้คุ้มค่ากับที่ลงทุนไป คือ ปลูก 1 รุ่น สามารถเก็บเกี่ยวได้ไม่ต่ำกว่า 5-6 รุ่น ต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องปลูกแบบรุ่นต่อรุ่น จนถึงปัจจุบันรวมแล้วมีพื้นที่การปลูกกว่า 130 ไร่ และกำลังวางแผนขยายพื้นที่ปลูกเป็น 170 ไร่”

แปลงปลูกระบบน้ำหยด คลุมผ้าพลาสติก

เทคนิคการปลูกกล้วยระบบน้ำหยด
ควบคุมคุณภาพ มาตรฐานส่งออก

คุณจักรินทร์ บอกว่า การปลูกกล้วยแยกเป็น 2 แบบ คือ

  1. ปลูกแบบท้องไร่
  2. ปลูกแบบท้องสวน คือแบบที่ปทุมฯ ปลูก แต่ที่สวนนี้จะปลูกแบบท้องไร่ ไถเตรียมดิน แล้วลงปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก 1 แปลง ใช้ปุ๋ยหมักอยู่ที่ประมาณ ไม่ต่ำกว่า 20 ลิตร ต่อต้น แล้วใช้เครื่องปั่นโปรยทั้งแปลง

ระยะการปลูก …ปัจจุบันปลูกอยู่ที่ความห่าง 1 เมตร ระยะแถว 2 เมตร ระยะห่างจากแถวที่สอง มาแถวที่สาม 2 เมตร จะเป็นลักษณะนี้ 1x2x3 1 ไร่ ปลูกได้ 400 ต้น

ขุดหลุมลึก …20 เซนติเมตร แค่วางหัวได้แล้วกลบเสมอ

แปลงปลูกระบบน้ำหยด

ระบบบน้ำหยด …ใช้สายน้ำหยด 3 เส้น ในกล้วยสองแถวมีกลางและริมสองฝั่ง เนื่องจากพื้นที่แถบภาคอีสานไม่มีเขื่อนซัพพอร์ต ต้องขุดน้ำบาดาลกักเก็บน้ำเอง ดังนั้น การทำระบบน้ำหยดเหมาะสมที่สุด สามารถควบคุมและบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ การให้น้ำให้ทุกวัน ถ้าเป็นกล้วยปลูกใหม่จะให้น้ำไม่ต่ำกว่า วันละ 2 ลิตร ต่อต้น จนถึงวันเก็บเกี่ยวปริมาณการให้น้ำไม่ต่ำกว่า 15-20 ลิตร ต่อต้น บางท่านเข้าใจว่ากล้วยหอมทองต้องการน้ำเยอะแล้วเอาเขาไปอยู่ในที่ชุ่มน้ำ ก็อยู่ไม่ได้ เพราะระบบรากเน่าแล้ว

ปุ๋ย …เน้นปุ๋ยคอก เพราะความหอมที่ดีที่สุดมาจากปุ๋ยคอก และเน้นโพแทสเซียมเป็นหลัก ส่วนไนโตรเจนจะเน้นที่มาจากอินทรียวัตถุเป็นหลัก

การป้องกันกำจัดโรค …เน้นใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรคในแปลง เพราะที่สวนคลุมแปลงด้วยผ้าพลาสติก การคลุมด้วยผ้าพลาสติกจะช่วยลดในการควบคุมวัชพืช ควบคุมโรคแมลงได้ดี ถือเป็นเทคนิคตัวหนึ่งที่ทำให้สามารถแข่งขันกับหลายๆ คู่แข่งได้

การเก็บเกี่ยวผลผลิต …ที่สวนจะใช้ปฏิทินการตัดปี บ่งบอกถึงคุณลักษณะของเนื้อ ความแก่อยู่ที่เท่าไรที่เหมาะสม ความแก่ตัวนี้สำคัญมากๆ ก็คือในความแก่จะใช้การตัดปีอยู่ที่ประมาณ 56-63 วัน แก่เนื้อจะอยู่ที่ประมาณ 80-85 เปอร์เซ็นต์ ความแก่ขนาดนี้คนไทยชอบ ความหวาน เนื้อนิ่มพอดีเลย

ผลผลิตคุณภาพส่งออก

ผลผลิตโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4-6 ตัน ต่อไร่ 1 ปี ที่สวนเก็บผลผลิตได้ 2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการวางแผนการจัดการ บางพื้นที่ควบคุมโรคไม่ได้ ก็ต้องปลูกรุ่นต่อรุ่น หรือบางพื้นที่มีต้นทุนน้ำที่ดี มีเขื่อนซัพพอร์ตก็ทำได้ ต่างจากที่สวนที่ต้องพึ่งน้ำบาดาล จึงจำเป็นต้องปลูกหวังผลให้ได้ 2-7 รุ่น ถึงจะคุ้มค่า เพราะว่ามีต้นทุนค่าระบบน้ำเพิ่ม

“ยกตัวอย่าง พื้นที่การปลูกกล้วยหอมทองแหล่งใหญ่ในประเทศไทย อยู่ที่ปทุมธานี เพชรบุรี ชุมพร เช่น ปทุมฯ สามารถปลูกแบบรุ่นต่อรุ่นได้ เพราะระบบการให้น้ำต้นทุนต่ำกว่าเรา ส่วนเพชรบุรีเขามีเขื่อนแก่งกระจานในการให้น้ำ สามารถปลูกเข้าท้องร่องได้ และชุมพร ปริมาณน้ำฝน ปีละ 8-9 เดือน ฝนแปดแดดสี่ แต่ภาคอีสานฝนสี่แดดแปด เราจึงต้องมาทำระบบน้ำหยด ดังนั้น ก็จะมีต้นทุนระบบน้ำหยด ต้นทุนคลุมผ้าพลาสติกควบคุมความชื้นเข้ามา ทีนี้ถ้าเราจะทำระบบปลูกรุ่นต่อรุ่น ก็ไปแข่งกับคนอื่นไม่ได้ เราจึงต้องทำให้แตกต่าง คือหลังจากปลูก 8 เดือน เก็บผลผลิตแล้ว หลังจากนั้นอีก 5-6 เดือน จะเก็บผลผลิตอีกรอบ คือปล่อยหน่อต่อเลย”

ยอดขายต่อวัน …เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ 25,000 ลูก รวมของสมาชิกกลุ่มด้วย คิดเป็นรายได้เข้ากลุ่มปีละ 40 ล้านบาท คำนวณเฉพาะรายได้ของที่สวนเฉลี่ยประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 5-6 ล้านบาท ราคาส่ง ลูกละประมาณ 5.20-5.50 บาท มีผลกระทบช่วงโควิดบ้างในเรื่องของการเคอร์ฟิว เวลาขายน้อยลง เซเว่นเปิดได้ถึง 4 ทุ่ม การขนส่งที่ต้องปรับตัวให้เร็วขึ้น ความผิดพลาดให้น้อยลงมากที่สุด ความแม่นยำต้องมากที่สุด เพราะว่าต้องแข่งกับเวลาเคอร์ฟิวด้วย

 

ลูกค้าชอบกล้วยหอมแบบไหน

คุณจักรินทร์ บอกว่า ณ ปัจจุบันนี้ ทำกล้วยหอมทองส่งเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วภาคอีสานเป็นหลัก ซึ่งหลายคนมีคำถามว่าแล้วต้องทำอย่างไรบ้าง ให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของลูกค้า คือ

ผลผลิตของเราตอบโจทย์ลูกค้าไหม เมื่อก่อนจากเคยขายกล้วยเป็นหวี ลูกค้าชอบแต่ลูกใหญ่ๆ แต่ทุกวันนี้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลง ลูกค้าต้องการแค่ความอร่อย รับประทานแล้วอยากรับประทานอีก และที่สำคัญอายุการขาย อายุการเก็บ อยู่ได้นาน 4-5 วัน ฉะนั้น ต้องเพิ่มเทคนิคเข้าไป คือเรื่องของธาตุอาหารเน้นโพแทสเซียมเป็นหลัก ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จะเน้นให้ไนโตรเจน ทำให้ลูกใหญ่ อวบ ก็จริงแต่อายุการเก็บจะอยู่ได้ไม่นาน บางครั้งเปลือกข้างนอกเหลืองแต่ข้างในเละเป็นน้ำ ลูกค้าก็ไม่ชอบ แต่ของที่สวนลูกจะพอเหมาะ หอม หวาน อร่อย ถึงแม้จะสุกไปแล้วเปลือกดำ แต่เนื้อข้างในยังรับประทานได้อยู่

ล้างทำความสะอาด

ปลูกอย่างไร ให้ขึ้นเชลฟ์ได้

  1. ทำอย่างไรให้ได้คุณภาพตามที่ลูกค้าต้องการ ในกล้วย 1 เครือ สามารถแบ่งตลาดออกได้ 2-3 ที่
  2. มาตรฐานที่ลูกค้าต้องการเป็นอย่างไร เทคนิคคือ ต้องไปดูว่าอะไรที่เราจะแข่งขันต้นทุนกับคุณภาพกับคู่แข่งอื่นๆ ได้ ต้นทุนที่เหมาะสมต้องทำอย่างไร เทคนิคที่เราจะไปแข่งได้คืออะไร การทำกล้วยหอมส่งเซเว่นฯ น้ำหนักกล้วยต่อลูกเฉลี่ยประมาณ 120 กรัม ขึ้นไป นี้คือ ข้อบ่งชี้คุณภาพ คือลูกไม่จำเป็นต้องใหญ่มาก ลูกขนาดกลางๆ แต่รสชาติและการเก็บอยู่ได้นาน จากนั้นก็มาดูเทคนิคว่าจากที่เคยปลูกระยะห่าง 2×2 เมตร เราย่นเข้ามาทำ 1x2x3 แบบนี้ ขนาดไซซ์ลูกก็จะพอดีกับความต้องการของคู่ค้า อย่างเมื่อก่อนปลูกเครือหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 5-6 หวี 1 หวี มี 10-12 ลูก 1 เครือ น้ำหนัก 15 กิโลกรัม มีประมาณ 70 ลูก แต่ทุกวันนี้ต้องไปดูว่าทำอย่างไร ให้ 1 เครือ ได้ประมาณ 80-90 ลูก แต่น้ำหนักอยู่ที่ 15 กิโลกรัม เท่าเดิม เพราะเราขายเป็นลูก ไม่ได้ขายเป็นหวี
ขั้นตอนการคัดคุณภาพ

มีทุกวันนี้เพราะอาชีพเกษตรกรรม

“ทุกวันนี้การเป็นเกษตรกรปลูกกล้วยหอมทองถือเป็นทุกอย่างของชีวิต ผมมาจากคนที่ไม่มีอะไรเลย แต่วันนี้ผมมีทุกอย่างเพราะกล้วย และที่อยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะกล้วย และก็จะอยู่ต่อไปเพราะกล้วยนี้แหละครับ” คุณจักรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามเทคนิคการปลูกกล้วยหอมทองส่งออก หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 084-952-2789

____________________________________________________________________________

เทคโนโลยีชาวบ้านจัดงานใหญ่ประจำปี! “นวัตกรรมใหม่ เพื่อเกษตรกรไทยยุค 5G”  ในวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่ห้องประชุมใหญ่ บริษัท ข่าวสด จำกัด แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนาฟรี โดยผ่านการลงทะเบียน 2 ช่องทาง คือ https://www.eventpassinsight.co/mobile/registration/create/ifn/?code=5g หรือโทรศัพท์แจ้งความจำนงได้ที่ (02) 580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342 และ 2343 ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมการสัมมนาล่วงหน้า จะได้รับกล้ามะละกอเสียบยอดจากคุณทวีศักดิ์ กลิ่งคง และต้นกล้าดอกดาวเรืองจาก บริษัท East-West seed (ศรแดง) ฟรี

ห้องพักกล้วย
ห้องบ่มกล้วย