สุพงษ์ คัมภีรกิจ ปลูกสะละสุมาลีที่ชุมพร คงความสดใหม่ จำหน่ายได้ตลอดปี

“สวนสะละ สามารถดูแลเพียงคนเดียวได้ แต่ไม่ควรปลูกเกิน 50 ต้น ทำเท่านี้ก็แทบไม่ได้หยุด เป็นงานพื้นดินที่ไม่หนัก ไม่เหนื่อย แต่ต้องใส่ใจคอยดูแล อาศัยระวังหนามเพียงอย่างเดียว เมื่อทำจนชำนาญก็ง่ายแล้ว”

โยงเชือกรับน้ำหนักผลสะละ

คุณสุพงษ์ คัมภีรกิจ (คุณแดง) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เจ้าของ “สวนสละคุณเก๋” นับเป็นอีกหนึ่งในเกษตรกรที่เลือกปลูกสะละสุมาลี (พันธุ์ต้นบน) ในเนื้อที่กว่า 16 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว จำนวน 750 ต้น โดยนำองค์ความรู้จากแหล่งต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้กับสวนตนเอง ผลิตสะละพรีเมี่ยมเต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพ จนได้รับคำชื่นชมถึงรสชาติอันหอมหวานถูกปาก จนมีลูกค้าทั้งในจังหวัดชุมพรและจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาอุดหนุนอย่างไม่ขาดสาย

ดอกสะละตัวผู้

คุณสุพงษ์ เล่าว่า ก่อนปลูกสะละได้ปลูกทุเรียนอยู่ก่อนแล้ว แต่ประสบปัญหาเชื้อราเข้าทำลายต้นทุเรียนต้องตัดทิ้งทั้งหมด ผนวกกับในช่วงเวลานั้น ภรรยา คุณสินีรัตน์ คัมภีรกิจ (คุณเก๋) ได้มีโอกาสไปช่วยเพื่อนบ้านทำสวนสะละแล้วเกิดแรงบันดาลใจว่า เขาปลูกเพียงแค่ 50-100 ต้น ก็สามารถสร้างรายได้ให้วันละไม่ต่ำกว่า 5,000-10,000 บาท นับเป็นการจุดประกายไฟฝันให้เริ่มหันมาศึกษาแนวทางการปลูกสะละ พร้อมกับตัดสินใจปลูกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2558 จำนวน 50 ต้น โดยซื้อสะละสายพันธุ์สุมาลีมาปลูก ในราคาต้นละ 400 บาท จาก “สวนสละอาทิตย์” ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี

สะละพร้อมจำหน่าย

ภายใต้แนวคิด “ปลูกสะละไม่ใช่เรื่องยาก” เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับระกำ (ส้มกำ) ตามภาษาถิ่นปักษ์ใต้ซึ่งถือเป็นพืชพื้นถิ่นในบริเวณนี้ที่มีความทนทานต่อโรคมาก โดยช่วงแรกที่ปลูกนั้นไม่ได้มีการวางแนวปลูกแต่อย่างใด อาศัยเพียงพื้นที่ว่างภายในแปลงแล้วปลูกเสริมเข้าไป เมื่อปลูกในจำนวนที่มากขึ้นจึงมีการจัดวางแนวปลูกอย่างถูกต้อง โดยใช้ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 5×5 เมตร แต่หากปลูกในจำนวนที่น้อยก็สามารถปรับใช้ระยะ 6×6 เมตร ได้เช่นเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติของสะละ คือ “ยิ่งร่ม ยิ่งดี” เพราะผลสะละในช่วงระยะตัดจำหน่ายไม่ควรโดนแสงแดดจัด จะทำให้ผิวดำไม่สวยและจำหน่ายไม่ได้ราคา อีกทั้งเนื้อจะเสีย ดังนั้น จึงควรปลูกในระยะชิดเพื่อให้ปลายสุดของใบในแต่ละต้นปกคลุมพื้นดินถึงกันพอดี

ดอกสะละติดลูก

ส่วนระบบน้ำ เนื่องจากเป็นสวนทุเรียนเก่าใช้ระบบการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ถูกวางแนวไว้ระหว่างโคนต้นทุเรียนจึงใช้รูปแบบดังกล่าวไปก่อน แล้วต่อมาได้ปรับปรุงเว้นระยะห่าง ประมาณ 2.5 เมตร ซึ่งจะอยู่ระหว่างต้นพอดี โดยใช้หัวสปริงเกลอร์ขนาดเล็ก สำหรับการให้น้ำในแต่ละครั้งหากเป็นช่วงหน้าแล้งที่มีสภาพอากาศร้อนจัดจะให้น้ำเช้า-เย็น เพราะสะละเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ต้องพยายามรดน้ำให้ชื้นแต่อย่าแฉะ แล้วปรับปริมาณการให้น้ำตามสภาพอากาศ ซึ่งบ่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีลักษณะเป็นบ่อน้ำตื้น (บ่อขุดมือ)

คัดเลือกต้นพันธุ์สะละสุมาลี

นอกจากการวางแนวปลูกและระบบน้ำซึ่งมีความสำคัญต่อการปลูกสะละแล้ว การคัดเลือกต้นพันธุ์สะละที่จะนำมาปลูกจากแหล่งจำหน่ายที่มาตรฐานก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังคำกล่าวที่ว่า จะปลูกพืชให้ได้ดี ต้องเริ่มจากต้นพันธุ์ที่ดี

เจ้าของเล่าว่า เมื่อมีความมั่นใจจากการปลูกสะละสุมาลี 50 ต้นแรกแล้ว จึงตัดสินใจปลูกเพิ่มอีกครั้ง แต่เปลี่ยนไปซื้อต้นพันธุ์โดยตรงจากแหล่งปลูกในจังหวัดจันทบุรี โดยได้คัดเลือกและสั่งซื้อด้วยตนเองทั้งหมด จำนวน 700 ต้น อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกต้นพันธุ์สะละสุมาลีนั้นควรเลือกซื้อจากแหล่งปลูกที่มีมาตรฐาน เนื่องจากการเพาะพันธุ์สะละสุมาลีในแต่ละครั้งจะต้องมีการล้มต้นแม่ที่มีอายุแก่จัด เพื่อตัดเอาลำต้นมาเปิดหาตาราก แล้วจึงนำมาผ่าเป็นแว่นขนาดเท่ากำปั้นก่อนนำมาเพาะขยายพันธุ์ต่อในถุงเพาะชำ

สำหรับการขยายพันธุ์ในลักษณะดังกล่าว จะป้องกันสะละกลายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในกรณีที่เกษตรกรไม่ใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากต้นแม่โดยตรง แต่ใช้ต้นพันธุ์ที่เกิดจากการเพาะเมล็ดจะมีความเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์สูง ซึ่งจุดนี้จะทราบได้ว่าสะละมีการกลายพันธุ์หรือไม่ ก็ต่อเมื่อได้รับผลแล้วเท่านั้น ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาถึง 3 ปี เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ต้นพันธุ์จากแหล่งจำหน่ายที่ไว้ใจกัน และมีต้นแม่ที่เป็นสะละสุมาลีสายพันธุ์แท้

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ สะละสุมาลีมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ต้นบน และ พันธุ์ต้นล่าง ซึ่งในทั้ง 2 สายพันธุ์จะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน แต่เมื่อให้ผลผลิตแล้วจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเทคนิคการเพาะขยายพันธุ์ว่าได้นำส่วนใดของลำต้นมาเพาะ โดยสะละสุมาลีที่สวนแห่งนี้เลือกใช้จะเป็นพันธุ์ต้นบนทั้งหมด ซึ่งมีสีผิวแดงสด กลิ่นหอม เนื้อหวานฉ่ำ ส่วนพันธุ์ต้นล่างผลสดมีขนาดใหญ่สีดำ รสชาติไม่หอมหวานเท่าพันธุ์ต้นบน

สวนสะละคุณเก๋
ดอกสะละตัวเมีย

ส่วนสาเหตุที่เลือกปลูกสะละพันธุ์สุมาลีนั้นก็เพราะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก แม้ว่าสะละพันธุ์เนินวงจะมีราคาต้นพันธุ์ที่ถูกกว่า แต่ให้รสชาติที่ไม่หวานและไม่หอม อีกทั้งราคาจำหน่ายผลสดยังถูกกว่า แต่ต้องทำงานเท่ากัน โดยราคาจำหน่ายสะละสุมาลีในปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 50 บาท ส่วนสะละเนินวงจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 20-30 บาท นับเป็นข้อแตกต่างให้เลือกปลูกสะละสายพันธุ์นี้

ปลูกสะละ เน้นขุดหลุมเป็นแอ่งกระทะ

คุณสุพงษ์ คัมภีรกิจ (คุณแดง)

ปัจจุบัน “สวนสละคุณเก๋” มีสะละที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว จำนวน 750 ต้น เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากการบ่มเพาะสั่งสมประสบการณ์ทดลองทำจริง ไม่เว้นแม้แต่ในขั้นตอนการนำลงปลูก ซึ่งถือเป็นใบเบิกทางไปสู่ความสำเร็จ

เจ้าของบอธิบายว่า เมื่อได้ต้นพันธุ์สะละสุมาลีมาแล้ว ก็ต้องนำมาวางพักแดดให้อยู่ในที่มีแสงแดดรำไร ประมาณ 15 วัน เนื่องจากต้นพันธุ์สะละขณะอยู่ในแปลงเพาะพันธุ์จะถูกเก็บไว้ในที่ร่ม ผู้ปลูกจะต้องสร้างความคุ้นชินให้ต้นพันธุ์ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศในพื้นที่ก่อน หากนำลงปลูกในทันทีใบจะไหม้และเสี่ยงต่อการยืนต้นตาย เมื่อครบระยะพักแดดก็สามารถปลูกได้ โดยใช้วิธีการขุดหลุมให้มีความลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วนำต้นพันธุ์ลงปลูกก่อนกลบด้วยดินให้มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ เพื่อช่วยให้ในขณะรดน้ำดินบริเวณรอบๆ ปากหลุมปลูกได้รับความชุ่มชื้นอย่างเต็มที่ และรักษาต้นพันธุ์ให้อยู่รอดได้ในช่วงฤดูร้อน ภายหลังจากครบระยะ 1 ปี ไปแล้วจึงพูนดินเพื่อป้องกันต้นล้มต่อไป

ส่วนการรองก้นหลุมปลูกนั้น ที่สวนแห่งนี้ไม่ได้มีการรองแต่อย่างใด เนื่องจากดินในบริเวณแปลงปลูกมีสภาพดินดีอยู่แล้ว (ดินแดง) หากจะรองก้นหลุมก็สามารถรองได้เช่นกัน อาจเลือกใช้มูลไก่อัดเม็ด หรืออินทรียวัตถุจำพวกมูลวัวรองพื้น แต่ด้วยสะละเป็นพืชตระกูลปาล์ม จึงมีความทนทานต่อสภาพอากาศสูง ตายยาก จึงไม่ต้องใช้การดูแลพิเศษมากนักก็สวยงามได้ เน้นให้น้ำมากเป็นพิเศษในช่วงต้นเล็กเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น

นอกจากนี้แล้ว ในช่วงแรกที่ปลูกแนะนำให้เกษตรกรปลูกสะละต้นตัวผู้เอาไว้ด้วย เพื่อนำเกสรมาผสมกับดอกสะละตัวเมียภายในแปลง เพราะผู้ปลูกหลายรายจะประสบปัญหาเมื่อดอกตัวเมียบานแล้วไม่มีดอกตัวผู้ไปผสมเกสร เนื่องจากไม่ได้ปลูกสะละต้นตัวผู้เอาไว้ สำหรับสวนสะละแปลงนี้ปลูกสะละต้นตัวผู้เอาไว้ จำนวน 50 ต้น สามารถเก็บดอกมาผสมได้แล้ว จำนวน 11 ต้น

ปลูกสะละ ดูแลอย่างไร

ไหลสะละ

ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตสะละจะเริ่มได้ตั้งแต่ต้นพันธุ์มีอายุ 2 ปีครึ่งเป็นต้นไป แต่ลักษณะของลูกอาจยังไม่สวยมากนัก ดังนั้น เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ปลูกควรบำรุงต้นสะละตั้งแต่ต้นเล็กอย่างสม่ำเสมอ

การดูแลสะละในช่วงต้นเล็ก จะต้องใส่ปุ๋ยเคมี สูตรเสมอ 15-15-15 หว่านในลักษณะโรยรอบทรงพุ่ม ต้นละประมาณ 1 กำมือ ใส่ในทุกๆ 1 เดือน เพราะยังไม่มีดอก หรือติดผล ผสานกับการใส่มูลไก่อัดเม็ดในทุกๆ 3 เดือน ควบคู่กันไปด้วย โดยวิธีการดูแลในรูปแบบดังกล่าว จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง จึงเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 21-0-0 เพื่อบำรุงต้น สลับกับปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 เพื่อบำรุงลูก

ด้วยธรรมชาติของสะละต้นตัวเมีย เมื่อมีอายุครบ 1 ปีครึ่ง จะเริ่มแทงไหลออกมาคล้ายคลึงกับจั่นมะพร้าวพร้อมที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการผสมเกสรเพื่อติดลูก มีความแตกต่างออกไปจากพืชชนิดอื่น คือมีการแทงไหลออกมาคราวละ 2-3 ไหล ในขณะเดียวกันกับที่ต้นพันธุ์ยังคงติดลูกอยู่ ผู้ปลูกจึงต้องผสมเกสรควบคู่ไปกับการบำรุงต้นพันธุ์อยู่ตลอด โดยใช้วิธีการสังเกตเมื่อดอกบานจึงผสม ซึ่งดอกที่อยู่ปลายสุดจะเริ่มบานก่อนเป็นลำดับแรกไล่มาถึงดอกที่อยู่ติดกับโคนต้น

ส่วนหน้าร้อนจะนำขุยมะพร้าวมาโรยรอบทรงพุ่ม โดยเว้นระยะห่างจากโคนต้นประมาณ 1 เมตร ผ่านไป 1 สัปดาห์ รากของสะละจะค่อยๆ งอกออกมาภายใต้ขุยมะพร้าวแล้วใส่ปุ๋ยด้านบนตามด้วยรดน้ำให้ชุ่ม โดยปุ๋ยที่ใส่จะใช้สูตร 13-13-21 สลับกับ 21-0-0 เพราะต้องการให้ติดลูกจึงเร่งรากให้ออกมาเพื่อดูดซับแร่ธาตุได้เร็วยิ่งขึ้น ถือเป็นวิธีการเร่งรากในช่วงหน้าร้อน เรียกกรรมวิธีนี้ว่า “ล่อราก” โดยอาศัยธรรมชาติของต้นไม้เมื่อนำใบไม้หรืออินทรียวัตถุต่างๆ มาทับถมที่โคนต้น รากก็จะงอกตามมา

เผยเทคนิคผสมเกสร

การผสมเกสรสะละนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความถนัดและความสะดวกของเกษตรกรแต่ละราย โดยจุดประสงค์หลักก็เพื่อให้สะละติดลูกได้รับผลมากที่สุด

เจ้าของบอกว่า กรรมวิธีผสมเกสรสะละโดยทั่วไป ผู้ปลูกจะนำดอกตัวผู้ที่บานแล้วมาเคาะผสมลงไปบนดอกตัวเมียที่บานแล้วโดยตรง แต่ที่สวนแห่งนี้ไม่ได้ใช้วิธีการดังกล่าว โดยเลือกเก็บดอกตัวผู้ที่บานแล้ว หรือใกล้บาน นำมาพักเอาไว้ให้แห้ง แล้วทุบให้แตก เมื่อทุบดอกสะละตัวผู้จนแตกดีแล้วจึงนำมาฝนบนตะแกรงเพื่อกรองเอาแต่เกสรตัวผู้เพียงอย่างเดียว จากนั้นจึงนำมาผสมกับแป้งทาหน้า (แป้งเด็กที่ไม่มีสารทำให้เย็น) เพื่อให้เกสรมีความเจือจางลง หากใช้ไม่หมดก็สามารถเก็บเกสรตัวผู้แช่เย็นเพื่อใช้ในคราวต่อไปได้ อีกทั้งการใช้เกสรตัวผู้ผสมกับแป้งเมื่อนำไปใช้จะทำให้ทราบได้ว่าดอกตัวเมียต้นที่มีแป้งติดอยู่ได้รับการผสมเกสรแล้วนั่นเอง ส่วนในกรณีที่ใช้เกสรตัวผู้ผสมมากเกินไป จะส่งผลให้ติดลูกแน่นและผลมีขนาดเล็ก

สำหรับเทคนิคในการผสมเกสรจะต้องเลือกวันที่มีอากาศปลอดโปร่ง ฝนไม่ตก แล้วผสมในช่วงบ่าย เพราะดอกสะละตัวเมียจะบานทั้งหมด จากนั้นจึงนำพู่กัน หรือแปรง มาแต้มเกสรตัวผู้ที่ผสมกับแป้งเอาไว้แล้วทาลงไปบนดอกสะละตัวเมีย ผสมเสร็จแล้วทิ้งระยะเอาไว้ประมาณ 1 เดือน สังเกตดูว่าผสมติดหรือไม่ หากผสมไม่ติดเมื่อนำมือไปสัมผัสดอกตัวเมียจะร่วงหล่นพร้อมก้านที่แห้งลงต้องตัดทิ้ง ถ้าผสมติดจะมีลูกพร้อมหนามขนาดเล็กออกมาให้เห็น หลังจากนั้น จึงฉีดยาป้องกันมอดและหนอนกัดกินผล ส่วนในกรณีที่ผลสะละติดเชื้อราสามารถแก้ไขได้ ด้วยการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือยาป้องกันเชื้อราทั่วไปผสมน้ำฉีดพ่น

นอกจากนี้แล้ว หากต้องการผสมเกสรในช่วงที่มีฝนตกชุกอาจเลี่ยงมาใช้วิธีการนำด้ามแปรงที่ใช้ผสมเกสรกรีดลงไปที่ดอกเกสรตัวเมียโดยตรง เพื่อให้ดอกตัวเมียที่ยังไม่บานแตกออกแล้วจึงผสม แต่ก็ต้องคำนึงว่าวิธีการนี้จะใช้ได้กับดอกตัวเมียที่แก่จัด หรือดอกที่บานไม่เต็มที่เท่านั้น

โยงเชือกป้องกันผลสัมผัสดิน

ผลสะละเริ่มใหญ่ย่อมส่งผลให้มีน้ำหนักมาก เกษตรกรควรโยงเชือกเพื่อช่วยรับน้ำหนักไม่ให้ผลสะละสัมผัสดินเพราะจะทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย และผลจะมีลักษณะสีดำคล้ำจำหน่ายไม่ได้ราคา

การโยงเชือกจะช่วยป้องกันไม่ให้ไหลที่ติดลูกลงไปสัมผัสกับดิน โดยใช้คานเหล็กเป็นตัวรองรับน้ำหนักของผลสะละ อีกทั้งวิธีการนี้ยังช่วยป้องกันต้นสะละเอนล้มเนื่องจากผลที่ดก ส่วนเสาที่ใช้นั้นเป็นเสาคอนกรีตอัดแรงหน้า 3 นิ้ว ความสูง 2.5 เมตร ใช้จำนวน 4 เสา ฝังลงดินในรูปแบบสี่เหลี่ยม ให้มีความสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร วางคานด้านบน 4 ด้าน ด้วยเหล็กแป๊บกลม ความยาว 3 เมตร หรืออาจใช้เชือกผูกล้อมรอบลำต้นเอาไว้แล้วโยงเชือกผูกยึดโยงอยู่กับไม้ไผ่ใช้แทนคานเหล็กเพื่อรับน้ำหนักได้เช่นเดียวกัน

การโยงเชือกในลักษณะนี้สามารถที่จะทำได้ทันทีเมื่อพบว่าดอกติดผลแล้ว โดยเริ่มต้นโยงจากไหลด้านปลายสุดไปหาส่วนโคนไหลที่ติดกับลำต้น เลือกผูกเชือกโยงในจุดที่มีช่อลูก ระวังอย่าให้ลูกในช่อเบียดกัน เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อรา ด้วยธรรมชาติของสะละพันธุ์สุมาลี ไหลจะมีลักษณะม้วนคดงอเข้าหาลำต้น จึงต้องโยงไหลให้ตรงอยู่เสมอ เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว

เมื่อโยงเชือกเสร็จจึงฉีดปุ๋ยบำรุงให้ผลมีความสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยสูตรเสมอ จำพวก 20-20-20, 21-21-21 เดือนละ 1 ครั้ง แต่หากต้องการให้ผลสะละมีรสชาติที่หวาน ให้ใช้ปุ๋ยสูตรที่มีโพแทสเซียมสูง เพื่อเร่งน้ำตาล เช่น 0-0-30, 0-0-50 ฉีดพ่นในช่วงเช้า หลังจากนี้เราจะสังเกตเห็นได้ว่าผลสะละจะเริ่มมีสีแดงสด ใช้นิ้วกดลงไปผิวจะยุบ แสดงว่าผลเริ่มสุกพร้อมที่จะตัดจำหน่าย หากไม่แน่ใจอาจใช้วิธีลองชิม โดยเลือกชิมช่อด้านในสุด หากพบว่าหวาน ช่อด้านนอกก็จะหวานทั้งหมดเช่นเดียวกัน

ผลิตสะละคุณภาพ ตอบโจทย์ลูกค้า

ปัจจุบัน “สวนสละคุณเก๋” ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ด้วยมาตรฐานในการผลิตที่มีความสม่ำเสมอ คัดเฉพาะสะละผลแดงสด ผิวสวย เนื้อในหวานฉ่ำ ไม่ช้ำ ไม่เสีย จึงเป็นที่ถูกใจของลูกค้า

การจำหน่ายสะละมีแม่ค้าเข้ามารับซื้อถึงสวนเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ โดยกลุ่มลูกค้าหลักมีทั้งในจังหวัดชุมพรและใกล้เคียงนิยมนำไปบริโภคผลสด มีออเดอร์สั่งซื้อเข้ามาอยู่ทุกวัน แต่ต้องสั่งล่วงหน้า 1-2 วัน หากไม่ทำเช่นนั้นจะตัดสะละจากต้นให้ไม่ทัน ราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท ถือเป็นราคามาตรฐาน เนื่องจากสะละพันธุ์สุมาลียังมีผู้ปลูกน้อย ตลาดยังคงเปิดกว้างอยู่ แต่ต้องใช้แรงงานในการจัดการแปลงมากพอสมควร

ตลาดสะละในปัจจุบันถือว่าดีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่สวนแห่งนี้มีการตัดจำหน่ายอยู่ทุกวัน แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งสะละยังจำหน่ายได้ตลอดปี ไม่ใช่พืชที่เก็บเกี่ยวตามฤดูกาล ราคาจึงดีอยู่ตลอด โดยสะละ 1 ต้น มีอายุ 3-4 ปี จะสร้างรายได้เฉลี่ยประมาณ 15,000 บาท/ปี แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นพันธุ์และการจัดการภายในแปลงปลูกของตัวเกษตรกรเองด้วย ส่วนอายุในการเก็บเกี่ยวอยู่ได้ถึง 10 ปี เรียกได้ว่าเป็นการปลูกพืชระยะยาวได้เลยทีเดียว

คุณสุพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงผู้สนใจปลูกสะละว่า สะละเป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่ยากแต่ต้องขยัน เป็นงานที่มีความจุกจิกพอสมควร ส่วนสำคัญแปลงปลูกจะต้องมีระบบน้ำที่ดี เพราะสะละต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยงอยู่โดยตลอด

ติดต่อเกษตรกร คุณสุพงษ์ คัมภีรกิจ (คุณแดง) “สวนสละคุณเก๋” 70/1 หมู่ที่ 3 ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 86100 โทร. 081-272-0020, 085-654-8968

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพฤหัสที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2563