ดูการเลี้ยงชันโรง ที่เทพเสด็จ ดอยสะเก็ด

คุณสิริโชค อารีย์ อยู่ที่หมู่ที่ 7 บ้านปางไฮ ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรได้รับความรู้มาจาก คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงหันมาเลี้ยงชันโรง หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าแมลงพื้นบ้านธรรมดา ที่เดิมชาวบ้านใช้ประโยชน์จากชัน เพื่ออุดรอยรั่วต่างๆ และใช้อุดใต้ฐานพระนั้น จะมีคุณค่าอนันต์มากมาย ผึ้งที่ว่าผสมเกสรเก่งแล้ว ยังไม่เท่า ชันโรง

เพราะ ผึ้ง เมื่อเก็บเกสรจากดอกไม้แล้ว จะปล่อยฟีโรโมนหรือกลิ่นตัวของมัน ทำให้ผึ้งตัวต่อไปไม่มาตอมหรือเก็บเกสร แต่ชันโรงไม่สนใจ ถึงใครจะดอมดมเก็บเกสรแล้ว มันยังคงเข้าเก็บเกสรทุกดอกทุกรวง เพราะนิสัยของชันโรงชอบเก็บเกสรเข้าลังถึง 80% ทำให้สามารถช่วยผสมเกสรให้กับพืชต่างๆ ได้ดีสุดยอด

คุณสิริโชค อารีย์ เกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรง

ในส่วนการเก็บน้ำหวานจะเก็บเข้ารังเพียง 20% จึงทำให้มีราคาสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป 10-20 เท่าตัว ซึ่งน้ำผึ้งชันโรงนั้น จะมีชันผึ้งละลายปะปนอยู่ สีจึงค่อนข้างดำหรือสีเข้ม มีความเป็นกรดค่อนข้างสูง จึงมีรสเปรี้ยว ที่สำคัญมีคุณสมบัติเป็นสารยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ ใช้เป็นสารปฏิชีวนะในการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร โรคผิวหนัง ฆ่าเชื้อโรค ล้างไขมัน บำรุงผิวพรรณ บำรุงสายตา บำรุงประสาท ต้านอนุมูลอิสระ รักษาอาการเจ็บคอและอื่นๆ อีกมากมาย

จากผลการวิจัยของสำนักวิทยาศาสตร์ต่างๆ ในประเทศไทย พบว่า น้ำผึ้งและชันจากชันโรง มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 สารไนอะซิน สารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อโรค เพิ่มภูมิคุ้มกัน ตลอดจนสารยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ผิวหนัง

ชันโรงในรังใหม่

ชันโรง เป็นแมลงจำพวกผึ้งชนิดหนึ่ง ที่ไม่มีเหล็กไน จึงไม่ต่อย แต่กัดได้ พบโดยทั่วไปในเขตร้อน ตลอดจนบริเวณใกล้เคียงที่ติดกับเขตร้อน และมีอยู่ตามท้องถิ่นทั่วไปในประเทศไทยมานานแล้ว ภาคเหนือ เรียกชันโรงตัวเล็กว่า “ขี้ตังนี หรือ ขี้ตึง” ถ้าตัวใหญ่เรียกว่า ขี้ย้าดำ ถ้าเป็นชันโรงยักษ์ เรียกว่า ขี้ย้าแดง ภาคใต้ เรียก แมลงอุ่ง ภาคตะวันออก เรียกว่า ตัวชำมะโรง หรือ อีโลม ภาคอีสาน เรียกว่า ขี้สูด ภาคตะวันตก เรียก ตัวตุ้งติ่ง หรือ ติ้ง

ชันโรงจัดเป็นแมลงสังคมชั้นสูง ภายในรังประกอบด้วยวรรณะ 3 วรรณะ คือ วรรณะนางพญา (Queen) วรรณะชันโรงงาน (Worker) วรรณะเพศผู้ (Drone) โดยแต่ละวรรณะ ทำหน้าที่แตกต่างกันภายในรัง และชันโรงมีวงจรชีวิตเช่นเดียวกับผึ้ง คือ ระยะไข่ (6-7 วัน) ระยะตัวอ่อน/หนอน (6-7 วัน) ระยะดักแด้ (26 วัน) และระยะตัวเต็มวัย (210 วัน)

ชันโรงนางพญา เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัว มีหน้าที่หลักคือ วางไข่และดูแลชันโรงทุกตัวภายในรัง ให้อยู่ด้วยความเรียบร้อย นางพญาจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดชีวิต โดยชันโรงงานภายในรังจะพยายามกันชันโรงตัวผู้ที่เป็นเครือญาติเดียวกัน ไม่ให้ผสมกับนางพญา แต่จะนำชันโรงตัวผู้ที่อยู่รังอื่นเข้ามาผสมพันธุ์กับนางพญา เป็นวิธีการป้องกันเลือดชิด หรือจะผสมพันธุ์กับชันโรงตัวผู้รังอื่นๆ ระหว่างนางพญาบินไปหารังใหม่ ซึ่งอีกประมาณ 2 สัปดาห์ นางพญาชันโรงจะวางไข่ในรังใหม่ต่อไป

นางพญาจะวางตัวอ่อนในหลอดรวง โดยมีชันโรงงานคอยปิดผนึกไข่ จนพัฒนาเป็นดักแด้และตัวเต็มวัยในที่สุด ไข่จะพัฒนาไปเป็นชันโรงวรรณะใด ขึ้นอยู่กับการได้รับการผสมจากน้ำเชื้อหรือไม่ ถ้าไม่ได้รับการผสม ก็จะพัฒนาเป็นชันโรงตัวผู้ แต่ถ้าได้รับการผสม ก็จะพัฒนาไปเป็นชันโรงเพศเมีย คือวรรณะชันโรงงานและนางพญา การพัฒนาจะเป็นชันโรงงานหรือนางพญา ขึ้นอยู่กับขนาดของรวงรังและปริมาณอาหาร รวงรังของตัวอ่อนที่จะเจริญเป็นนางพญาจะต้องมีขนาดใหญ่ และได้รับอาหารที่มากกว่า

คุณรัชนีวรรณ์ เป็งพรม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลเทพเสด็จ

ชันโรงตัวผู้ มีหน้าที่ผสมพันธุ์กับชันโรงนางพญาอย่างเดียว เหมือนกับผึ้งตัวผู้ การสร้างชันโรงเพศผู้ของรัง จะสร้างเฉพาะฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น เมื่อชันโรงตัวผู้บินออกจากรังไปแล้ว จะไม่กลับเข้ารังอีก เนื่องจากชันโรงงานที่ทำหน้าที่รักษารัง ไม่ยอมให้ชันโรงตัวผู้กลับเข้ารัง

ชันโรงงาน เป็นวรรณะที่มีมากที่สุดภายในรัง ทำหน้าที่ซ่อมแซมรัง คอยทำความสะอาดรังและเป็นพี่เลี้ยงช่วงนางพญาวางไข่ ตลอดจนหาอาหารนำมาเลี้ยงสมาชิกในรัง โดยเก็บเกสรและน้ำหวาน

การแยกขยายชันโรง จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ในการขยายรังชันโรง ได้แก่ รังที่จะแยกขยาย เหล็กงัดรังชนิดเดียวกับที่ใช้ในการเลี้ยงผึ้ง หมวกตาข่าย เครื่องพ่นควัน กระบอกพ่นน้ำชนิดพ่นฝอย คัดเลือกรังชันโรงที่สมบูรณ์แข็งแรง มีประชากรชันโรงหนาแน่น มีการสะสมอาหารและน้ำหวานไว้ภายในรังจำนวนมาก มีการสร้างเซลล์นางพญาและเซลล์ตัวอ่อน แบ่งกระเปาะเกสร กระเปาะน้ำหวาน กระเปาะตัวอ่อน ประมาณ 1 ใน 3 ของรังเดิม

รังอีกชนิดทำจากไม้จริง

ถ้าพบเซลล์นางพญาให้ตัดมาด้วย และให้มีตัวเต็มวัยของชันโรงติดมาด้วย เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ ในรังที่แยกใหม่ ควรตรวจเช็กส่วนที่แยกใส่รังใหม่ให้แน่ใจว่า ไม่มีนางพญาชันโรงตัวเดิมติดมาด้วย หลังจากนั้นจะเกิดกระบวนการสร้างนางพญาชันโรงตัวใหม่ขึ้นตามธรรมชาติ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการแยกขยายรังชันโรง ช่วงเวลาที่แยกขยายรังชันโรง คือช่วงฤดูดอกไม้บาน มีการสะสมอาหารไว้ภายในรังเป็นจำนวนมาก และภายในรังได้มีการสร้างชันโรงตัวผู้จำนวนมาก สำหรับการผสมพันธุ์กับนางพญาชันโรงตัวใหม่

ชันโรง หรือ ผึ้งจิ๋ว (Stingless bee) เป็นแมลงที่อยู่รวมกันเป็นสังคม มีการสร้างรวงรัง โดยแบ่งเป็นสัดส่วน เป็นเซลล์หรือกระเปาะ ได้แก่ กระเปาะเก็บเกสร กระเปาะเก็บน้ำหวาน และกระเปาะสำหรับวางไข่ และเลี้ยงดูตัวอ่อน

ชันโรงเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรพืชทุกชนิด ทั้งพืชป่า พืชพื้นบ้าน และพืชสมุนไพร จึงทำให้น้ำผึ้งชันโรงเป็นน้ำผึ้งที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารและยา มากกว่าน้ำหวานจากผึ้งทั่วไป รวมทั้งเข้มข้นกว่า แต่น้ำผึ้งชันโรงจะมีปริมาณจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับน้ำผึ้งจากผึ้งทั่วไป ทำให้มีราคาแพงกว่า (ประมาณ ขวดละ 1,000-1,500 บาท)

เนื่องจากชันโรงจะมีนิสัยเก็บเกสร 80% เก็บน้ำหวาน 20% รวมทั้งเก็บยางไม้หรือชันผึ้ง (propolis) ที่มากกว่าผึ้งทั่วไป เพราะจะใช้สร้างรัง อุดรอยรั่ว ทำทางเข้าออกรังและใช้ป้องกันศัตรูบุกรุก

ชันโรงจะสร้างแตรสำหรับเป็นทางเข้าออกและป้องกันศัตรู

ชันโรง เป็นแมลงเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ปัจจุบันสามารถเลี้ยงเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมได้ เพราะผลิตภัณฑ์จากชันโรงทั้งน้ำหวานและชันผึ้ง ตลาดมีความต้องการสูง เพื่อใช้ในทางการแพทย์ การผลิตอาหารสุขภาพและเครื่องสำอาง อีกทั้งชาวสวนได้มีการเช่าชันโรง เพื่อวางในสวนผลไม้ เพื่อช่วยผสมเกสรเพิ่มผลผลิต คิดราคา 30-50 บาท/วัน/รัง ในพื้นที่สวนลำไย 5 ไร่ ได้ทดลองวางชันโรง 2 รัง ในช่วงออกดอก สามารถช่วยผสมเกสรทำให้ผลผลิตดีมีคุณภาพ ดังนั้น ชันโรง เป็นสุดยอดแมลงช่วยผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิตและเป็นแมลงเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ ผู้ที่สนใจเลี้ยงชันโรงติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือศึกษาเรียนรู้

คุณสิริโชค อารีย์ เกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรง กล่าวว่า พื้นที่ตำบลเทพเสด็จเป็นพื้นที่ป่า บนดอยสูง มีอากาศบริสุทธิ์ คนอาศัยอยู่ร่วมกับป่า จึงมีการเรียนรู้จากธรรมชาติหลายๆ อย่าง เช่น การเลี้ยงผึ้งโพรง (ผึ้งโก๋น) ซึ่งเป็นน้ำผึ้งที่มีเอกลักษณ์ คือ น้ำผึ้งโพรงดอกกาแฟ น้ำผึ้งที่ได้จะมีรสชาติหวานอมขม สีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม ผึ้งเป็นผึ้งที่มีตามธรรมชาติ มีลักษณะตัวเล็กกว่าผึ้งธรรมดาหรือผึ้งพันธุ์ แต่จะหากินในป่า และจะอาศัยโพรงต้นไม้ผุ เกษตรกรจึงดัดแปลงทำรังไม้และล่อให้ผึ้งเข้ามาอยู่ด้วยการล่อด้วยไขผึ้งของรังเก่า

ส่วนชันโรงก็เช่นกัน เป็นชันโรงที่เรียกว่า “ชันโรงปากแตรจิ๋ว” ซึ่งมีในธรรมชาติของตำบลเทพเสด็จ มักจะเห็นผสมเกสรดอกไม้ป่าทั่วไปที่มีในป่า มักจะเห็นอาศัยอยู่ในต้นไม้ผุหรือโพรงไม้ผุ เกษตรกรจึงนำมาเลี้ยงในกล่อง คลุมด้วยพลาสติกใส เพื่อสะดวกในการดูดเอาน้ำหวานที่อยู่ในกระเปาะ เพื่อเก็บผลผลิต รวบรวมและจำหน่าย

รังสำหรับเลี้ยงชันโรงปรับปรุงสามารถเก็บน้ำหวานได้ง่าย

ปัจจุบัน เกษตรกรสามารถเลี้ยงได้เองโดยการนำไขชันโรงไปใส่ในรังใหม่ เพิ่มจำนวนและขยายพันธุ์เพิ่มรังไปเรื่อยๆ หลังจากย้ายรัง 3 เดือน สามารถเริ่มให้ผลผลิตนาน 3-5 เดือน จึงแยกรังเพิ่ม และเริ่มเลี้ยงต่อไป และเก็บผลผลิตหลังเลี้ยงในรังใหม่ 3 เดือน เป็นวัฏจักรต่อไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ การเลี้ยงยังสามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดปี การเก็บ 5 รัง จะได้ผลผลิต 1 ขวด (725 มิลลิลิตร) ในรอบ 3-5 เดือน จำหน่ายขวดละ 1,000 บาท

รังทำได้ไม่ยาก

ตอนนี้เกษตรกรสามารถดัดแปลงต้นไผ่ยักษ์ เป็นรังของชันโรง ด้วยการทำบานพับ ให้ง่ายและสะดวกในการดูดน้ำหวาน น้ำหวานเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้ที่นิยมรับประทานน้ำหวานชันโรงและการแปรรูป เช่น สบู่ สเปรย์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ เนื่องจากมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ได้ และมีฤทธิ์เป็นกรด…

ขอบคุณภาพ/ข้อมูล คุณรัชนีวรรณ์ เป็งพรม

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2563