ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อย่างที่ทราบกันดีว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จัดเป็นแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ เป็นศัตรูตัวร้ายกวนใจชาวนามานาน พูดง่ายๆ ว่ามีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเมื่อไหร่ ก็สร้างความเสียหายกับผลผลิตข้าวเป็นแสนเป็นล้านไร่
ด้วยเหตุนี้ทางศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก จึงได้ทำการวิจัยเชื้อราเมตาไรเซียม เป็นเชื้อราเขียวใช้ในการควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยเฉพาะ ซึ่งทางศูนย์วิจัยใช้เวลาในการวิจัยเป็นระยะ 4-5 ปี ในระยะเวลานี้ทางศูนย์วิจัย ได้ทำการเก็บตัวอย่างจากธรรมชาติ จึงได้เมตาไรเซียมมา เสร็จแล้วนำมาทดสอบกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลว่าจะสามารถทำลายเพลี้ยกระโดดได้ไหม โดยปกติเชื้อทั่วไปใช้เวลาประมาณ 7 วัน ในการฆ่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่เชื้อราเมตาไรเซียมสามารถกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ภายใน 2 วัน เพราะวัตถุประสงค์ต้องการช่วยเกษตรกรให้ได้เร็วที่สุด ให้เกษตรกรรอ 6-7 วัน ก็คงไม่ไหว ตอนนี้สามารถทำได้ฆ่าเพลี้ยกระโดดเพียง 2 วัน เห็นผล100% ซึ่งทางศูนย์วิจัยมั่นใจเพราะได้ทดลองกับเกษตรกรมาแล้ว ขณะนี้ทำอยู่ที่ภาคเหนือตอนล่างหลายพื้นที่ เป็นอินทรีย์ไม่มียาฆ่าแมลง
รศ.ดร.วีรเทพ พงษ์ประเสริฐ กล่าวว่า ทางศูนย์วิจัยคิดถึงเกษตรกร อยากให้เกษตรกรสามารถผลิตเชื้อได้เอง ถ้าจะให้เกษตรกรมาเพาะตัวห้ำ ตัวเบียนเอง ก็คงจะยุ่งยากเกินไป ทางศูนย์วิจัยจึงใช้เวลาคัดเชื้อถึง 4 ปี ซึ่งเชื้อพวกนี้ได้มาแล้วเราจะปล่อยเลยไม่ได้เราต้องดูเรื่องความปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม ขั้นตอนนี้เราต้องทดสอบกับศัตรูธรรมชาติตัวอื่นๆ ว่าไปใช้ในนาข้าวแล้วจะมีผลต่อแมลงชนิดอื่นๆ ที่มีประโยชน์ไหมหรือไม่ มีความจำเพาะเจาะจงแค่ไหนอันนี้ก็ต้องใช้เวลา 1-2 ปีในการคัด แต่ตอนนี้ทางศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ได้ผลิตเชื้อราเมตาไรเซียม มาแจกให้กับเกษตรกร ขวดนึงสามารถขยายเชื้อได้เป็นร้อยถุง แค่เหยาะนิดเดียวเหมือนเหยาะน้ำปลา และเกษตรกรสามรถต่อยอดเชื้อได้เองโดยมีขั้นตอนดังนี้
วิธีเพิ่มปริมาณเชื้อราเมธาไรเซียมลงในข้าว
วัสดุอุปกรณ์ -แม็กเย็บกระดาษ
-ข้าวท่อน -น้ำเปล่า
-หม้อหุงข้าว -ทัพพี
-ถุงร้อนขนาด 7×11 นิ้ว -หัวเชื้อ (เชื้อรา)
-น้ำกลั่นนึ่งฆ่าเชื้อ -แอลกอฮอล์
-ตะเกียงแอลกอฮอล์ -หลอดดูดของเหลว
-กระบอกฉโดน้ำ -แก้วน้ำ 3 ใบ
วิธีการขยายเชื้อรา
วิธีหุงข้าว
หุงข้าวกับหม้อหุงข้าวทั่วไป ใส่ข้าวตามขนาดของหม้อที่ใช้ เติมน้ำสะอาด อัตราส่วน ข้าว:น้ำ คิดเป็น 3:2 โดยประมาณ ข้าวที่หุงได้ลักษณะกึ่งดิบกึ่งสุก เม็ดข้าวยังเป็นไตสีขาวข้างใน ตักใส่ถุง 7×11 นิ้ว ปริมาณ 100-200 กรัมต่อถุง ทิ้งไว้ให้เย็น โดยม้วนปากถุงให้แน่น ปากถุงปิด
วิธีการเตรียมสารแขวนลอยสปอร์เชื้อรา
เตรียมสารแขวนลอยสปอร์ นำเชื้อราที่บริสุทธิ์บนอาหารเลี้ยงเชื้อรา อายุ 7 วัน มาล้างสปอร์ที่อยู่บนอาหารออก ใช้น้ำนึ่งฆ่าเชื้อเติมสารลดแรงตึงผิว (ความเข้มข้น 0.5 มิลลิลิตรต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร) ให้ได้ความเข้มข้น 1×10 สปอร์ต่อมิลลิลิตร เพื่อเป็นหัวเชื้อในการเพาะเลี้ยงเชื้อราในข้าว
การใส่สารแขวนลอยสปอร์เชื้อราลงในถุงข้าว
-ใส่สารแขวนลอยสปอร์เชื้อราปริมาณ 1 มิลลิลิตร ต่อ ข้าว 1 ถุง โดยหลอดดูดสารแขวนลอยใส่ลงในถุงข้าว
-ใช้แม็กเย็บกระดาเย็บปิดปากถุง
-เขย่าถุงเพื่อให้เชื้อรากระจายไปทั่วถุงข้าว
นำถุงข้าวที่ใส่เชื้อราแล้วไปบ่มเลี้ยงไว้ในห้อง
ที่อากาศถ่ายเท มีแสงสว่าง เป็นเวลา 7-14 วัน สามรถนำเชื้อราไปใช้ได้ต่อไป
อัตราการใช้
หัวเชื้อสด 2 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร
รศ.ดร.วีรเทพ พงษ์ประเสริฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้เราพัฒนาคือเป็นหัวเชื้อ ขั้นต่อไปเราจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้ เกษตรกรสามารถทำได้เหมือนยาฆ่าแมลง ใส่น้ำผสม เขย่าๆ ไปฉีดพ่นได้เลย ไม่ต้องมาเลี้ยงในข้าวแล้ว
หากเกษตรกรท่านใดสนใจหัวเชื้อราเมตาไรเซียม สามารถติดต่อขอรับฟรีได้ที่ ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืช
โดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก โทร.055-962233