ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | บาง เขาแร้ง |
เผยแพร่ |
ถ้าย้อนอดีตไปราว 50-60 ปี ประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาสวนมะม่วงเช่นปัจจุบัน ชาวสวนมะม่วงบางคล้า คือแหล่งนักชาวสวนมะม่วงมืออาชีพ หรือแหล่งเพาะเชื้อเซียนมะม่วงที่มีการปลูกมะม่วงเอามาขายในตลาดจนถึงกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จนใครก็รู้ว่า มะม่วงมาจากอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา คุณภาพยอดเยี่ยม… แม้แต่สวนนงนุช ในสมัยซื้อที่ดินย่านอำเภอบางละมุงนับพันไร่ ยังไม่โด่งดัง การทำอาชีพไม้ดอกไม้ประดับ ที่คุณโต้ง-กัมพล ตันสัจจา ดำเนินการจนเจริญรุ่งเรืองนั้น อดีต คุณนงนุช ตันสัจจา มีวิสัยทัศน์เห็นว่า ที่ดินของตนเองซื้อมาจะมีต้นมะม่วงพื้นเมืองที่ปลูกด้วยเมล็ดมาก่อนมีติดมาด้วย ถ้าหากนับจำนวนต้นคงจะเป็นพันเป็นหมื่นต้น รวมทั้งมะพร้าวด้วย เห็นว่าควรจะบูรณาการให้ได้ผลผลิตออกมา
จึงได้ว่าจ้างเกษตรกรชาวสวนบางคล้า ชื่อ คุณพนัส บุญสว่าง ในฐานะผู้มีความรู้ด้านมะม่วง แทนที่จะว่าจ้างนักวิชาการ หรืออาจารย์ที่มีความรู้ด้านพืชสวนมาดูแล และรักษามะม่วง
หลังตกลงแล้ว คุณพนัส เล่าให้ฟังว่า เข้าไปดูแลด้านผลผลิต โดยคุณนงนุชตั้งให้ในฐานะผู้เชี่ยวชาญมะม่วง ให้ความรู้แก่คนงานที่จ้างไว้ในแปลงที่ดินนับพันไร่
โดยคุณพนัสจะชี้ไปที่ต้นมะม่วงที่ปลูกไว้นานแล้วว่า จะใช้วิธีดูแล ใช้ยา ตัดกิ่ง หรือใส่ปุ๋ยในเวลาใด ต้นไม้จะให้ผลผลิตออกมา โดยแบ่งรายได้เป็นเปอร์เซ็นต์ของผลผลิตมะม่วง หากออกมามากก็จะได้รายได้มากเป็นความยุติธรรม เป็นวิธีที่ชาญฉลาดของคุณนงนุช และเหมาะกับนักล่าเงินรางวัลเซียนมะม่วงแบบคุณพนัส เพื่อจะให้มะม่วงออกมามาก ซึ่งจะมีผลตอบแทนดีแก่ทุกฝ่าย มีประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่
กระทั่งคุณนงนุชต้องบรรทุกมะม่วงใส่รถสิบล้อส่งมาขายในกรุงเทพฯ เพราะต่างจังหวัดหรือท้องถิ่นซื้อไม่หมด นี่คือการเริ่มต้นพัฒนาการปลูกมะม่วงไทย ที่ในอดีตเราสู้ประเทศฟิลิปปินส์ไม่ได้ เพราะเขาเก่งกว่าคนไทย แต่มาปัจจุบันเราไม่แพ้เขาแล้ว เมื่อมีเกษตรกรเก่งๆ และพันธุ์มะม่วงที่ดี ได้คุณภาพ มะม่วงสดสู่ตลาดโลกต้องการ อาทิ น้ำดอกไม้สีทอง มหาชนก ล้วนเป็นที่นิยมทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
เมื่อมีโอกาสได้พบ คุณบรรจง จงพิทักษ์พงศ์ ที่มีถิ่นพำนักอยู่ที่ตลาดอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ในฐานะชาวแปดริ้วมาก่อน แล้วย้ายมาอยู่บ้านฉางถึงปัจจุบัน จนสามารถปลูกมะม่วงนอกฤดูประสบผลสำเร็จ และมีทุนส่งลูกเรียนจบมหาวิทยาลัยหมดทุกคน ด้วยธุรกิจมะม่วง
สามารถสร้างฐานะและชื่อเสียงให้กับวงศ์ตระกูล ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ด้านพืชสวน ปี 2536
ในเวลาต่อมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (บางพระ) ได้มอบปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพืชสวน ในปี 2542 ถือได้ว่าเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลและครอบครัว
ระยะเวลาต่อมา คุณบรรจง ได้เช่าที่ทำสวนมะม่วงในย่านเขตระยอง ราว 300 ไร่ ทำมะม่วงนอกฤดูขาย จนลูกสาว ลูกชาย หันมาเช่าที่สวนมะม่วงรายใหญ่ๆ ที่หยุดกิจการ เพราะขาดความรู้ ความชำนาญ จึงให้ที่ดินและมะม่วงให้เช่าดีกว่าปล่อยทิ้งไว้
แก่นสารของการทำธุรกิจค้ามะม่วงต้องได้คุณภาพดีจึงจะออกผลดี และรู้จักดูแลมะม่วงเป็นอย่างดีด้วย ตลาดต่างประเทศถึงจะยอมรับการผลิต และจะได้ราคาดี
เหตุผลสำคัญของคุณบรรจง กูรูมะม่วงที่แท้จริงที่กล่าวถึงการจะให้ได้ผลผลิตดี ออกสม่ำเสมอ ต้องใช้วิธีตัดแต่งกิ่งมะม่วงให้ถูกต้อง ตรงเวลา เสร็จเร็ว จะออกผลเร็ว และกำหนดตามเป้าหมาย ไม่ใช่ล่าช้า ตัดแต่งกิ่งช้าจะได้ผลตรงข้ามกัน
ผู้เขียนเห็นว่า วิธีนี้น่าจะนำมาถ่ายทอดทั้งนักปลูกมะม่วงรายบ้าน (อาศัย) หรือทำธุรกิจสวนเล็กถึงรายใหญ่มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน น่าจะเหมาะสมยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สินค้าเกษตรหรือการส่งออกสินค้าตกลงมาเยอะ
อาชีพชาวสวนมะม่วงมีโอกาสช่วยเหลือประเทศชาติได้ไม่มากก็น้อย เพราะตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน รัสเซีย ล้วนเป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทยด้านผลไม้ไทยหลายอย่าง
คำอธิบายการตัดแต่งมะม่วงเพื่อให้ออกผลนอกฤดูกาล ที่นักธุรกิจชาวสวนต้องการขายได้ราคาสูงกว่ามะม่วงปี
ก่อนอื่นจุดประสงค์ที่ต้องตัดแต่งกิ่งมะม่วงก็คือ การสร้างทรงพุ่มของมะม่วง ที่มีทั้งทรงฝาชีครอบ กับฝาชีหงาย
หลังปลูกมะม่วงลงดินไปแล้ว ประมาณ 2 ปี ควรมีการแต่งกิ่งย่อยออกไป เพื่อเลี้ยงทรงพุ่ม โดยใช้กรรไกรตัดออกเหมาะกับต้นเล็ก แล้วแต่จะตัดน้อยตัดมากตามแต่ขนาดลำต้น
เมื่อมะม่วงเริ่มโตขึ้นมา ก่อนให้ผลผลิต การตัดแต่งกิ่งควรจะตัดทรงพุ่ม “ฝาชีครอบ” ดีกว่า “ทรงฝาชีหงาย” เหตุผลเพราะต้องตัดทรงพุ่มเพื่อให้กิ่งเหลือฉัตรอยู่สามฉัตร ถ้าทรงฝาชีหงายจะเปลืองกิ่งมาก เหลือฉัตรน้อยลงเพียง 1-2 ฉัตร หากเป็นเช่นนั้น ผลมะม่วงจะออกดอกในฉัตรที่สาม ส่วนฉัตรน้อยจะไม่ออกดอก ผลผลิตก็จะออกน้อยกว่ารูปทรงพุ่มฝาชีครอบ
วิธีการตัดแต่งกิ่ง ต้องทำให้เร็ว เหมือนอาชีพเลี้ยงไก่-เป็ด ต้องทำวัคซีนให้เสร็จเร็ว ไม่ให้สัตว์เครียด
เช่นเดียวกัน ชาวสวนจะจ้างลูกจ้างเหมาคนมาตัดกิ่งมะม่วงปีละครั้ง ราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เฉลี่ยต้นละ 15-25 บาท ตามขนาดอายุลำต้น อย่าไปเสียดายเงิน เพราะคนดูแลบอกวิธีตัดแต่งกิ่งนานไป พวกเขาจะชำนาญและแกร่งกล้าวิชาจนเป็นมืออาชีพตัดกิ่ง
รายได้บางคนอาจได้ร่วมพันบาทต่อวัน เพราะวิธีจ้างเหมาดีกว่ารายวัน เสร็จช้ามะม่วงมีผลผลิตช้า ไม่ออกตามกำหนด ผลเสียตามมาเยอะมาก ขาดทุน ออกผลไม่พร้อมกัน คนเป็นเจ้าของต้องรู้จักถึงความเป็นมืออาชีพ ผลผลิตต่างกัน กำไรมากกว่า ไม่ขาดทุน เพราะไม่เข้าใจวิธีตัดแต่งกิ่ง
ตัวอย่างคนแต่งกิ่ง เหมือนกับอาชีพเลี้ยงสัตว์ปีกที่ต้องทำวัคซีนให้ จะมีขนาดตั้งแต่ 10-15 คน พวกแต่งกิ่งจะใช้มีดตะขอตัดกิ่ง คมและไว รวดเร็ว ต้องใช้เวลาอันสั้น ผลผลิตออกมาตามเป้าหมาย ตรงเวลา
หลังจากตัดกิ่งเสร็จในช่วงเช้า หลังเก็บเกี่ยวในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จนเมื่อใบอ่อนออกมาเป็นเพสลาดจากใบอ่อนเริ่มเปลี่ยนเป็นใบจะแก่ จึงใช้วิธีราดสารฮอร์โมนเพื่อต้องการให้ออกนอกฤดู ใส่ที่โคนต้นเพื่อให้ออกนอกฤดูกาล กิ่งไม้ ใบไม้ เอาหมกไว้ที่โคนต้น หลังราดสารกิ่งใบไม้เป็นปุ๋ยอย่างดี
หลังราดสารมะม่วงไปแล้ว ควรใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 จำนวน 1.5-2 กิโลกรัม ตามรัศมีทรงพุ่ม 3 เมตร ถ้าหากพุ่มเล็กก็ลดจำนวนลง
เวลาใส่ปุ๋ยไปแล้ว รอสังเกตให้ดีก่อนมะม่วงจะออกดอก ควรใส่ปุ๋ยเร่งดอก สูตร 8-24-24 เท่ากับปุ๋ยสูตรเสมอที่ใส่ไปก่อนหน้านี้แล้ว
ในราวเดือนพฤษภาคม ประมาณเดือนกว่าควรฉีดปุ๋ยเร่งตาดอกด้วยไทโอยูเรีย ผสมน้ำพันลิตร ฉีดใบมะม่วงให้ทั่ว ทำ 2 ครั้ง ห่างกันเพียงสัปดาห์ หรือไม่เกิน 10 วัน
ส่วนการใช้ยาฆ่าแมลงต้องฉีดไปตลอด พวกแมลงกับเชื้อรา ควรใส่อาหารเสริม หลังออกดอก การใส่แคลเซียมกับโบรอน ควบกับการใช้ยาฆ่าแมลงป้องกัน
ทำไมต้องตัดแต่งกิ่ง หากมีคำถามมา ก็เพราะว่ามะม่วงมันมีกิ่งก้านสาขาภายในลำต้นมาก ทำให้ต้นทึบ มีแมลงเข้ามาอาศัยง่าย ต้องแต่งกิ่งให้โปร่งเพื่อให้ผลผลิตมะม่วงดก ผิวสวย ไม่เปลืองยาฉีดป้องกันแมลง
ในเวลา 1 ปี มีการตัดแต่งกิ่งมะม่วงเพียงครั้งเดียว หลังเก็บเกี่ยวนอกฤดูเดือนกันยายน-ตุลาคม พอเก็บเกี่ยวแล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้เลยเพื่อผลิตมะม่วงรอบสอง ในราวเดือนธันวาคม-มกราคม หรือจะพักไว้ 10 วันก็ได้ แล้วเร่งไทโอยูเรียใหม่
การเก็บเกี่ยวมะม่วง ใช้เวลา ใช้คนเก็บบนต้นสะดวก รวดเร็ว ยกเว้นผลมะม่วงอยู่ห่างมือ ใช้ตะกร้อติดใบมีดคมสอยขั้วมะม่วง ในกรณีห่างมือ เอื้อมไม่ถึง หรือใช้บันไดปีนไปเก็บตามแต่สถานการณ์
ผลมะม่วงที่เก็บมาต้องไม่ช้ำ หรือตกลงพื้น เมื่อคัดเกรดแล้วควรชุบยาฆ่าเชื้อราก่อนส่งออก บางประเทศอาจจะเข้มงวดเรื่องยาชุบ ต้องใช้ขนาดเบาบางลง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แต่ถ้าหากส่งไปรัสเซีย จีน ไม่เข้มงวดนัก
กรณีการถ่ายทอดวิธีการตัดแต่งกิ่งที่เขียนมานี้ ถ้าท่านใดยังสงสัย หรือต้องการเพิ่มความรู้ให้ละเอียดกว่านี้ โปรดติดต่อไปยัง คุณบรรจง จงพิทักษ์พงศ์ โทร. 081-983-6025
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2563