ต้นหอม หอมแบ่ง ผักปรุงแต่ง ปลูกง่าย สวย และเป็นยา

คนไทยมักนิยมชมชอบการล้อมวงกินข้าว สำรับกับข้าวที่ผสมผสานปนเป ทั้งอาหารไทย อาหารจีน ลาว ฝรั่ง เป็นค่านิยมของคนบ้านเรา กินข้าวร่วมกันไป พูดคุย สรวลเสเฮฮาบ้าง ตลกขบขันบ้าง นินทาบุคคลที่สามบ้าง เพิ่มรสชาติให้อาหารมื้อนั้น ให้ถ่ายเทความอร่อยจากปลายลิ้นสู่ท้อง เข้าถึงก้นบึ้งกลางใจทุกคน และมีค่านิยมหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รับกันได้ทั่วไป คือกินข้าวต้องมีของเคียงกับข้าว หรือมีของแกล้ม ที่ชัดที่สุดคือ “ผัก” ซึ่งมีนับกว่าร้อยอย่าง และหนึ่งในนั้น ต้องรู้จักกันทั่วไป คือ “หอมแบ่ง”

เรารู้จัก “หอมแบ่ง” กันมานาน ปลูกกิน ปลูกขาย ทั่วทุกภาคของไทยเรา แต่เราไม่ค่อยเรียกหอมแบ่ง ซึ่งเป็นชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ เรานักบริโภคส่วนใหญ่เรียกกันว่า “ต้นหอม” เวลาไปตลาดเรามักจะถามแม่ค้าว่า ต้นหอมขายอย่างไร กำละกี่บาท ต้นหอมที่แม่ค้ามัดกำขาย เพราะเขาต้องเอาไปรวมกับ “ผักชี” เรียกกันรวมว่า “ต้นหอมผักชี” ก็ขอให้ทุกท่านได้เข้าใจตามนี้ก็แล้วกันว่า คือ “หอมแบ่ง” ที่กำลังจะพูดถึง อาจจะมีการเรียกสับสลับกัน เป็นหอมแบ่งบ้าง ต้นหอมบ้าง หรือบางทีว่า “ต้นหอมแบ่ง” เลยก็มี คงเข้าใจและอภัยกันได้ เพราะเขาจะเป็นแค่ผักแกล้ม ผักเคียง หรือผักปรุงแต่งให้เกิดสีสัน ทำให้อาหารมีเสน่ห์ดึงดูดผู้บริโภคยิ่งขึ้นเท่านั้น หรือว่ามีคุณค่าทางยาด้วยเช่นไร เป็นพืชระดับพืชเศรษฐกิจ หรือระดับผักพื้นบ้านธรรมดา ตามกันไปรู้จักหอมแบ่ง ไปพร้อมๆ กัน

พืชในตระกูล หอม-กระเทียม ที่รู้จักกันในเวลานี้ มีลูกเรียงพี่เรียงน้องกันมาตั้งแต่ หอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม และหอมแบ่ง เป็นพืชในวงศ์พลับพลึง AMARYLLIDACEAE หอมแบ่ง มีชื่อสามัญว่า Green Shalot หรือเรียกว่า Multiply Onion ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium cepa var.aggregatum ชื่อเรียกอื่นคือ ต้นหอม ต้นหอมขาว หอมต้น หอมนวล มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย ถึงเอเชียตะวันออกกลาง เป็นพืชผักประเภทล้มลุก แต่มีหัวพันธุ์ หน่อพันธุ์ ขยายต่ออายุได้หลายชั่วอายุ เข้ามาปลูกแพร่หลายในไทยเรามานาน ในกลุ่มผักจีน หรืออาจเข้ามาพร้อมกับความนิยมอาหารจีน เป็นผักที่ใช้ปรุงแต่งอาหารประเภทต้มจืด นึ่งปลา ข้าวผัด กินแกล้มข้าวขาหมู ข้าวหมูแดง คนบ้านเราเห็นเป็นผักที่ขยายพันธุ์ง่าย เอามาเป็นผักปรุงแต่ง หรือกับแกล้ม ลาบ ส้า พล่า ก้อย ต้มขม ต้มอ่อมเนื้อ โรยหน้าน้ำพริก หนำซ้ำดอกหอม ผัดเต้าหู้ ผัดหมู นึ่งเป็นผักเคียงน้ำพริกได้ทุกชนิด

มีวิธีง่ายๆ ในการปลูกขยายพันธุ์ต้นหอมแบ่ง ถ้าหากหาหัวแก่ของหอมแบ่งได้ ซึ่งหัวแก่จะโตเป็นตุ้มกลมๆ เล็ก รูปทรงรียาว คล้ายหยดน้ำ ดูคล้ายกับหัวหอมแดงลีบ หรือคล้ายกระเทียมหัวลีบ นำมาปลูกในแปลงผัก กลางแจ้ง เมื่อเตรียมดินปลูกให้ร่วนซุย ผสมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก มากพอสมควร หยอดหรือปักหัวหอมที่ตัดปลายหัวเดิมทิ้งบางส่วน ปลูกลงดินแล้วควรคลุมด้วยฟางแห้ง เพื่อช่วยรักษาความชื้นในแปลงและช่วยพยุงให้ยอดต้นหอมแบ่งตั้งตัวได้เร็ว ช่วยคลุมไม่ให้หญ้าขึ้นแข่ง หมั่นรดน้ำเช้าเย็น ถ้าสภาพอากาศมีความแห้งแล้ง การให้น้ำควรมองถึงความชื้นของสภาพแปลงด้วย ถ้าชื้นแฉะมากเกินไปจะเกิดโรคเน่า และพึงระวังอย่าให้น้ำตอนแดดร้อนจ้ามาก ถ้าให้น้ำ เม็ดน้ำจะทำให้ต้นหอมแบ่ง เกิดบาดแผล หัก ช้ำ เชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย

การปลูกหอมแบ่ง นอกจากจะปลูกลงแปลงแล้ว ที่นิยมอีกแบบคือ ปลูกลงกระถาง กะละมังก้นรั่ว กล่องลังเก่า รางไม้ไผ่ เรือเก่า นอกจากจะปลูกเพื่อแบ่งกินต้นแล้ว ยังประสงค์ที่จะใช้ประดับบ้าน แต่งกระท่อม จัดสวนหย่อม และอีกหลายประการ บริเวณลานที่จัดกินอาหาร มีกระถางต้นหอมแบ่ง แขวนหรือตั้งไว้ให้เด็ดกินกับแกล้ม เด็ดครั้งละต้นครั้งละใบ อาหารมื้อนั้นละมุนละไม เกินกว่าจะหาใดเทียมเทียบ อาจจะมีกระถางต้นพริกขี้หนูสวน กระถางต้นมะเขือเปราะ กระถางผักชีใบยาว เพิ่มสีสันบรรยากาศรสชาติอาหารได้มากมาย ต้นหอมแบ่งเมื่อปลูกแล้ว มีวิธีการเก็บเกี่ยว 2 ประการ คือถ้าเป็นการปลูกเพื่อการค้า จะใช้วิธีขุดถอนทั้งแปลง มัดรวมกัน ชั่งน้ำหนัก พ่อค้ารับซื้อบรรทุกรถไปส่งแผนกรับจ้างแต่งล้าง จะมีการแต่งตัดราก และลอกใบที่แก่ มีตำหนิออกทิ้งด้วยน้ำไหล แล้วจัดการมัดรวมหรือบรรจุตะกร้า เพื่อจัดส่งขายให้แม่ค้าขายปลีก ดำเนินการมัดกำขายตลาดสดต่อไป

Advertisement

แต่สำหรับชาวเรา มุ่งแต่จะปลูกกินอย่างเดียว มีวิธีที่แนะนำให้ง่ายๆ ถ้าหาหัวพันธุ์หอมแบ่งได้ ก็ปลูกลงแปลงเล็กๆ จัดเป็นสวนหย่อม หรือปลูกลงภาชนะเหลือใช้แล้ว หรือถ้าหาหัวพันธุ์หอมแบ่งไม่ได้ ก็เริ่มต้นที่ไปซื้อต้นหอมที่แม่ค้าตลาดสดขายต้นหอมผักชีเป็นกำ เลือกเอากำที่มีต้นหอมที่มีปมรากติดนิดๆ เอามาทำกินก็ใช้วิธีตัดต้นหอมให้สูงจากส่วนหัวสักนิ้วสองนิ้ว เอาต้นและใบส่วนนั้นไปกิน เหลือส่วนหัวที่ยาวนิ้วสองนิ้ว ห่อกระดาษไว้ที่อุณหภูมิปกติ มีเวลาเอาไปปลูกกระถางได้ต้นหอมใหม่ รอให้ต้นหอมแตกกอ เป็น 3-4 ต้น ค่อยฉีกหรือตัดมากิน ตามที่มาของชื่อ “หอมแบ่ง” ถ้าปล่อยให้เจริญเติบโตจนแก่ จะได้หัวเก็บไว้ปลูกต่อได้อีกนานหลายรุ่น การเก็บหัวหอมแบ่ง ต้องเก็บไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเท อย่าให้โดนน้ำ เอาไปปลูกใหม่ ข้อดีของต้นหอมแบ่ง คือไม่แบ่งแยกหรือจำกัดฤดูปลูกด้วย

Advertisement

ต้นหอม หอมแบ่ง มีคุณค่าทางอาหารและสารประกอบสำคัญที่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคภัยคนเราได้มากมาย ต้นหอมแบ่งสดๆ 100 กรัม ให้พลังงาน 32 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใยอาหาร 2.6 กรัม คาร์โบไฮเดรต 7.3 กรัม น้ำตาล 2.3 กรัม โปรตีน 1.8 กรัม ธาตุฟอสฟอรัส 33 กรัม แคลเซียม 47 กรัม โซเดียม 16 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 276 มิลลิกรัม วิตามินซี 22 มิลลิกรัม สารเบต้าแคโรทีน 76.30 ไมโครกรัม และมีสารฟลาโวนอยด์ สารเคอร์ซิติน สารเควซิติน สเปริโอไซด์ เป็นต้น ซึ่งสารอาหารต่างๆ มีสรรพคุณรักษาโรค บำรุงร่างกายได้มากหลายอย่าง เช่น ช่วยดูแลระบบย่อยอาหารแก้ท้องผูก แก้หวัด ไอ จาม น้ำมูกไหล ไข้ หายใจขัดคัดจมูก มีธาตุเหล็กป้องกันโรคโลหิตจาง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัสบำรุงกระดูก ลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน ลดคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงหลอดเลือดอุดตัน ลดอาการอักเสบ แก้อักเสบบวมช้ำ ต่อต้านแบคทีเรีย มีสารต้านอนุมูลอิสระ สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเกิดโรคร้าย เช่น มะเร็ง มีวิตามินเอบำรุงรักษาตา บำรุงสมอง เพิ่มน้ำนมแม่ แก้เลือดกำเดาไหล ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และอีกมายมายหลายสิบนับร้อยอย่าง คือคุณประโยชน์ของต้นหอม หอมแบ่ง

ทุกครั้งที่คิดจะบอกความรู้สึกดีดีแก่ผู้อื่น นึกถึง “หอมแบ่ง” ไว้ให้มั่นเหมาะ กอดกัน หอมกัน ตามสถานการณ์อันเหมาะสม ที่เหมาะที่ควร และขอให้นึกถึงคำว่า แบ่ง คือแบ่งปัน เอื้ออาทร เพื่อความสุขในสังคมครอบครัว เพื่อนพ้องน้องพี่ สังคมชุมชน แล้วความสุขจะแผ่ซ่านกระจายไปทั่วทุกทิศ ปลูกต้นหอมแบ่ง แบ่งมากิน แบ่งปันให้ญาติมิตรสหายหรือผู้มาเยือน จะเป็นของขวัญที่สวยเลิศ เกิดประโยชน์ ประทับใจไปนานแสนนาน

…….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2565