เกษราญาภัทร์ ธนะวัตต์ มาดามผำ แห่ง “ไร่แสงสกุลรุ่ง” ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน

สวัสดีครับ พบกับ คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย อีกครั้ง ช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือช่วงโควิดต้องปิดประเทศไทย ทำเอาตัวผมเองไม่มีโอกาสได้ออกไปพบปะพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการจนทำให้งานเขียนในคอลัมน์คิดใหญ่แบบรายย่อยต้องห่างหายจาก มติชนบท เทคโนโลยีชาวบ้านไปหลายฉบับ นอกจากนั้น หลังผ่อนคลายมาตรการในประเทศ ผมก็ติดงานเดินสายไปบรรยายให้หลายหน่วยงาน หลายจังหวัด

จนมาถึงตอนนี้ผมมีโอกาสตระเวนไปพบปะพี่น้องเกษตรกรรายย่อยอีกครั้ง จึงมีเรื่องราวข่าวคราวที่น่าสนใจมานำเสนอกันในฉบับนี้ครับ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” ฉบับนี้พาท่านลัดเลาะเลียบท้องทุ่งไปยังไร่ สวน ที่ทำระบบเกษตรผสมผสานมีผลผลิตออกขาย แปรรูปได้หลากหลายทั้งปี ไร่แสงสกุลรุ่ง มีดีอย่างไร ตามผมไปชมกันเลยครับ

2 แม่ลูก สร้างไร่แสงสกุลรุ่ง จาก 2 มือ

พาท่านไปพบกับ คุณเกษราญาภัทร์ ธนะวัตต์ และลูกสาว คือ คุณกมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ ที่บ้านเลขที่ 111 หมู่ที่ 7 ตำบลกลอนโด อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี คุณเกษราญาภัทร์ หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า มาดามผำ เชิญผมเข้าไปนั่งในโรงเรือนที่ใช้เป็นจุดต้อนรับผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงาน ณ ไร่แสงสกุลรุ่ง

“ไร่แห่งนี้ได้สานต่อปณิธานของ ผู้ใหญ่วีระ รุ่งประเสริฐวงศ์ ที่ได้วางพื้นฐานการทำเกษตรเอาไว้เมื่อ 19 ปีที่แล้ว วันนี้มาดามผำและสูกสาวได้สานต่อเจตนารมณ์ของผู้ใหญ่ จนทำให้ไร่แสงสกุลรุ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จากผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่มีหลากหลายและผลิตภัณฑ์แปรรูปที่สร้างชื่อเสียงให้กับไร่แสงสกุลรุ่งได้เป็นอย่างดี”

คุณเกษราญาภัทร์ ธนะวัตต์ หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า มาดามผำ เจ้าของไร่แสงสกุลรุ่ง

สำหรับ คุณกมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ หรือชื่อเล่นว่า น้องแสบ อดีตนักศึกษาทุนของสถาบันการจัดการ ปัญญาภิวัฒน์ เรียนจบปริญญาตรีเกียรตินิยมด้านโลจิสติกส์ ก็กลับมาสานต่องานที่ไร่แสงสกุลรุ่งโดยรับผิดชอบในเรื่องของตลาดออนไลน์ ทั้ง 2 คนแม่ลูก ได้สานต่องานของไร่แสงสกุลรุ่งมาตลอดเกือบ 20 ปี จนทำให้วันนี้ ไร่แสงสกุลรุ่ง เป็นที่รู้จักไปทั่วในฐานะสวนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน

ผลผลิตหลากหลาย ในพื้นที่ 10 ไร่

ไร่แสงสกุลรุ่ง วันนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 10 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำนา บ่อปลา นาผักบุ้ง เลี้ยงผำในร่องสวน มีมะพร้าวน้ำหอม 300 ต้น บนคันดินรอบบ่อปลา มีต้นมะกอกน้ำ 20 ต้น ที่จุดมุ่งหมายเดิมปลูกไว้เพื่อกันตลิ่งพัง แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นพืชทำเงินอีกชนิดหนึ่ง มีกล้วยน้ำว้า มะม่วง ฝรั่ง พืชผักสวนครัวเป็นพืชแซมระหว่างแถวบนท้องร่อง ที่ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด

ทำให้ไร่แสงสกุลรุ่งมีผลผลิตที่หลากหลาย เช่น ผลผลิตของมะกอกน้ำ เป็นรายได้รายปี ที่มีโรงงานรับซื้อ ราคากิโลกรัมละ 10 บาท ขายได้ปีละ 3 ตัน มะกอกน้ำที่เหลือจากขายให้โรงงาน มาดามก็นำมาทำมะกอกน้ำแช่อิ่ม ด้วยสูตรดั้งเดิมของต้นตระกูลที่เป็นชาวมอญ โดยจะดองมะกอกแช่อิ่มใช้น้ำเกลือไม่ใส่สารกันบูด ทำให้มีรสชาติดี ไม่ฝาดไม่เฟื่อน ขายได้ราคากิโลกรัมละ 100 บาท

คุณกมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ เกษตรกรรุ่นใหม่แห่งไร่แสงสกุลรุ่ง

นอกจากนั้น ก็ขายกิ่งพันธุ์มะกอกน้ำ ในราคากิ่งละ 150 บาท จัดส่งทั่วประเทศ ผลิตภัณฑ์ของไร่แสงสกุลรุ่งยังมีปลาส้ม ปลารมควัน จากปลาที่เลี้ยงในร่องสวนของไร่แสงสกุลรุ่งเอง

ใช้หลักการทำน้อยได้เยอะ มีตลาดขายทุกวัน

มาดามผำ เล่าแนวความคิดว่า “ที่ไร่แสงสกุลรุ่ง เราใช้หลักการทำน้อยได้เยอะ เราผลิตพืชแบบหมุนเวียนมีผลผลิตทุกวัน เราจึงต้องหาตลาดขายผลผลิตของเราทุกวัน พืชที่เราปลูก สัตว์ที่เราเลี้ยง ส่วนใหญ่จะใช้พันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิมที่เรามีอยู่ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างแข็งแรง ทนทานต่อโรคแมลง อย่าง กล้วยน้ำว้า เราก็ปลูกเฉพาะพันธุ์พื้นบ้าน ไม่ต้องดูแลใส่ใจมาก แต่ก็มีผลผลิตออกมาสม่ำเสมอ มีหน่อให้เราขุดขายได้ตลอดเวลา จึงทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาไปประคบประหงมดูแล เอาเวลาที่มีไปออกร้าน ไปวางขายผลผลิตของเราได้สม่ำเสมอ

นอกจากนั้น เรายังโชคดีที่มีหน่วยงานราชการในพื้นที่เข้ามาสนับสนุน เช่น ตลาดนัดสีเขียวที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ตลาดนัดเกษตรกรสำนักงานเกษตรจังหวัด ตลาดสำนักงานประมงจังหวัด ตลาดของธนาคาร ธ.ก.ส. สาขากาญจนบุรี รวมไปถึงตลาดในจังหวัดใกล้เคียงและงานออกร้านของหน่วยงานต่างๆ ในกรุงเทพฯ และร่วมออกบู๊ธกับสำนักงานต่างๆ หน่วยงานต่างๆ ของจังหวัด จนทำให้ไร่แสงสกุลรุ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้น”

ผำ พระเอกของไร่แสงสกุลรุ่ง

ผลิตภัณฑ์หลักของไร่แสงสกุลรุ่งอีกอย่างคือ ผำ หรือที่มีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่ เช่น ไข่แหน ไข่น้ำ ไข่ขำ หรือ ผำ (Wolffia globosa) เป็นพืชมีดอกที่มีขนาดเล็กที่สุด อาศัยลอยอยู่บนผิวน้ำ อาจลอยอยู่เป็นกลุ่มล้วนๆ หรือลอยปนกับพืชชนิดอื่นๆ เช่น แหน แหนแดง ก็ได้ มีรูปร่างรีๆ ค่อนข้างกลม มีขนาดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร แต่ละต้นมีสีเขียว ไม่มีราก ไม่มีใบ

ผำอินทรีย์ในร่องสวน
น้ำยาไข่ผำมรกต กินกับขนมจีน เป็นอาหารสูตรพิเศษ พระเอกของไร่แสงสกุลรุ่ง

มาดามผำ เล่าว่า “ในร่องสวนของเรามีผำเติบโตอยู่มากมาย และในชุมชนบางส่วนมีเชื้อสายไทยทรงดำ ลาวโซ่ง หรือ ไทยโซ่ง ที่นิยมกินผำทำแกงกะทิ ในงานบุญต่างๆ เราจึงนำผำมาทำเป็นน้ำยาไข่ผำมรกต กินกับขนมจีน เป็นอาหารสูตรพิเศษที่เรายกให้เป็นพระเอกของไร่แสงสกุลรุ่ง”

ด้วยพื้นที่ของไร่แสงสกุลรุ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช้สารเคมีมานานเกือบ 20 ปี จึงทำให้ภายในพื้นที่ปลอดจากการใช้สารเคมี การนำผำมาแปรรูปจึงได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

มาดามผำ สร้างผลิตภัณฑ์จากผำที่ดังไปทั่วประเทศ

มาดามผำ เผยว่า “วิธีการนำผำมาใช้ประกอบอาหาร จะต้องตักเอาผำจากในร่องสวนมาเพาะเลี้ยงเอาไว้ในวงบ่อซีเมนต์ ใส่น้ำสะอาดเลี้ยงเอาไว้ประมาณ 2 อาทิตย์ โดยต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำ เพื่อให้ผำหมดกลิ่นโคลน กลิ่นคาวต่างๆ หลังจากนั้นจะช้อนผำขึ้นมาใส่รวมกันไว้ในผ้าขาวบาง แล้วแขวนทิ้งไว้ให้น้ำหยดออกไป จึงจะนำไปแปรรูปขั้นตอนต่อไปได้”

ผำที่ช้อนขึ้นมาจากร่องสวน นำมาเลี้ยงต่อในบ่อพัก

มาดาม เล่าต่อไปว่า “น้ำยาไข่ผำมรกต เป็นที่รู้จักทั่วไปในจังหวัดกาญจนบุรี จนวันหนึ่งมีโอกาสนำน้ำยาไข่ผำมรกตไปออกรายการครัวคุณต๋อย จนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ” ปัจจุบัน ไร่แสงสกุลรุ่ง ยังได้แปรรูปผำเป็น ข้าวเกรียบผำ และสบู่ผำ โดยได้รับความรู้เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผำจาก สำนักงานประมงจังหวัด และสำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี มาถ่ายทอดให้

ใช้หลักการตลาด แบบ Push

คุณกมลวรรณ เล่าว่า “ไร่แสงสกุลรุ่ง ของเราได้นำกลยุทธ์การตลาดที่เรียกว่า Push Strategy หรือการส่งเสริมการตลาดแบบผลัก เป็นการผลักสินค้าออกไปขายผ่านช่องทางค้าปลีกต่างๆ เราพยายามไปออกร้านกับหน่วยงานต่างๆ ที่เชิญเราไป ไม่ว่าจะต้องไปไกลแค่ไหน เราก็พยายามไป เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเราสินค้าของเราไปถึงผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ หลังจากที่แม่ได้พยายามทำมาหลายปี วันนี้ก็ได้เห็นแล้วว่า เราทำได้ ผลิตภัณฑ์ของเราเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีลูกค้าถามหามากขึ้น มีสื่อต่างๆ เข้ามาถ่ายทำ มาสัมภาษณ์มากขึ้น แต่เราก็ยังพยายามประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียด้วย เพื่อให้ลูกค้ามีช่องทางเห็นสินค้าของเรามากขึ้น โดยหนูเองที่รับหน้าที่ทำการตลาดออนไลน์ให้กับไร่แสงสกุลรุ่งของเรา”

คุณกมลวรรณ บอกว่า “หลังจากเพียรพยายามมาเกือบ 20 ปีของคุณแม่ วันนี้ไร่แสงสกุลรุ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่เราก็ยังไม่ลืมที่จะพัฒนาชุมชนบ้านเรา โดยเราจะเปิดไร่แสงสกุลรุ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้กัน เช่น กศน. อำเภอด่านมะขามเตี้ย จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ โรงเรียนต่างๆ นำนักเรียนมาเรียนรู้ที่ไร่ อบต. เทศบาลจากหลายแห่งทั่วประเทศพาคนมาเรียนรู้กับเรา เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราภาคภูมิใจกับการเป็นเกษตรกรที่ได้ร่วมรับใช้ชุมชนและสังคม

ใครสนใจอยากสอบถาม พูดคุยกับ คุณกมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ กริ๊งกร๊างกันไปได้ที่ โทร. 091-753-6491 ครับ ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้ว คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ขอลากันไปก่อน สวัสดีครับ

เอกสารอ้างอิง
http://www.brandage.com/article/8529/Marketing-You-Know-Push-&-Pull-Strategy