หนุ่มชุมพร ปลูกไม้มีค่าเป็นเงินออม สร้างสุขด้วยผืนป่า

“การปลูกต้นไม้ เมื่อปลูกแล้วต้องให้ได้ประโยชน์ เลือกปลูกไม้โตไว ไม้โตปานกลาง และไม้โตช้า โดยน้อมนำเอาทฤษฎีปลูกป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง ตามแนวพระราชดำริของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้”

การเพิ่มความสุขให้ชีวิตของใครหลายคนในปัจจุบันอาจมีแนวทางที่แตกต่างกันไปตามความสะดวกและโอกาสของแต่ละบุคคล การปลูกต้นไม้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยสามารถสร้างความเพลิดเพลินผ่านสีสันอันสวยงามของต้นไม้ อีกทั้งยังเพิ่มความสดชื่นสบายตาให้แก่ผู้ปลูก นอกจากเป็นกิจกรรมยามว่างที่น่าสนใจแล้ว หากเลือกปลูกไม้เศรษฐกิจก็ยังสามารถเพิ่มเงินออมในอนาคตได้อีกด้วย

คุณเกียรติศักดิ์ ลีสง่า (คุณเอ)

คุณเกียรติศักดิ์ ลีสง่า (คุณเอ) เกษตรกรปลูกไม้มีค่า อาศัยอยู่ที่บ้านนาทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เลือกให้เวลากับชีวิตมากกว่าการให้ความสำคัญกับเงินเดือนตามแบบอย่างที่คนในปัจจุบันยึดถือกัน ภายใต้ปณิธานที่ยึดถือเอาคำสอนของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ “ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง” ทำเท่าที่มี หากได้มาก คือ กำไร ด้วยการเลือกปลูกไม้เศรษฐกิจ ทั้งยางนา พะยอม มะฮอกกานี แต้ว ตำเสา สัก กระถิน และตะเคียนทอง เป็นต้น

คุณเกียรติศักดิ์ บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตอย่างอารมณ์ดีว่า ก่อนที่ตนเองจะมาปลูกไม้เศรษฐกิจนั้น เดิมทีได้ประกอบธุรกิจส่วนตัว (รับเหมาก่อสร้าง) อยู่ในภาคอีสาน กอปรกับในปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างประสบปัญหาขาดทุน จึงตัดสินใจหันหลังให้กับอาชีพดังกล่าว เดินทางกลับจังหวัดชุมพรบ้านเกิด เมื่อกลับมาในช่วงแรกต้องปรับตัวเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง โดยไปเป็นลูกจ้างในบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง ทำหน้าที่รับ-ส่งลูกค้าชาวต่างชาติ ส่งผลทำให้ได้สัมผัสกับมุมมองที่แปลกใหม่มากยิ่งขึ้น

กระทั่งในปี พ.ศ. 2547 เริ่มมีความเบื่อหน่ายกับการทำงานในรูปแบบบริษัท และสนใจในการทำเกษตร จึงได้เข้าร่วมการอบรมทำเกษตรอินทรีย์จาก “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลิน” โดยได้เรียนรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์อย่างถูกต้อง การผลิตพลังงานทดแทน และได้ศึกษาถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการทำเกษตรพอเพียง โดยเฉพาะหลักการ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อให้การปลูกป่าได้รับประโยชน์สูงสุดครอบคลุมถึง 3 ด้าน ทั้งจากการมีไม้ไว้สำหรับนำมาใช้สอยภายในครัวเรือน (สร้างบ้าน) ไม้เศรษฐกิจ และไม้กินได้ ด้วยวิธีการปลูกพันธุ์ไม้อย่างหลากหลาย เพื่อช่วยในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพิ่มความสมดุลของระบบนิเวศอย่างเป็นระบบ

ไม้พะยอม อายุ 10 ปี

เมื่อได้ศึกษาถึงแนวทางการทำเกษตรอย่างถ่องแท้แล้ว จึงเริ่มนำมาปรับประยุกต์ใช้ โดยเลือกเอาการปลูกไม้เศรษฐกิจซึ่งตนเองมีความชื่นชอบในพรรณไม้ชนิดต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว แต่ยังคงขาดความเข้าใจในการปลูกป่า จึงได้ศึกษาความรู้เพิ่มเติมจากหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนกล้าไม้มาส่วนหนึ่ง โดยได้นำมาปลูกในที่ดินของครอบครัว ซึ่งมีเนื้อที่อยู่ประมาณ 14 ไร่ ตั้งอยู่ ณ บ้านทุ่งเบี้ย ตำบลขุนกระทิง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่ปลูกไม้มีค่าก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่พอสมควร ทั้งจาก “ไม้ต้นใหญ่ปลูกเพื่ออะไร เมื่อตัดไปก็ผิดกฎหมาย, ปลูกป่าบ้าหรือเปล่า” เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคำสบประมาทที่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันให้ขับเคลื่อนเพื่อพิสูจน์ตนเองบนวิถีทางของการปลูกป่าต่อไป

 

ฟื้นฟูสวนเก่า เพื่อสร้างสวนป่า

การวางรากฐานที่ดีนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในอนาคตทั้งในเชิงธุรกิจหรือการใช้ชีวิต การปลูกต้นไม้เองก็เช่นเดียวกันหากได้รับการจัดวางแนวแปลงปลูกอย่างถูกต้องก็สามารถช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและไม่เสียเวลาในการปลูกใหม่อีกครั้ง

“ที่ดินแปลงที่ใช้ทำสวนป่า มีเนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ ปลูกไม้มีค่าเอาไว้ประมาณ 500 ต้น มีลักษณะเป็นสวนเก่าปลูกปาล์มและมะพร้าวไว้อยู่ก่อนแล้ว เมื่อปลูกต้นไม้ก็ไม่ได้มีการตัดออกแต่อย่างใด เพียงแต่ปลูกเสริมเข้าไปในลักษณะสวนผสม (สวนสมรม) ตามภาษาถิ่นปักษ์ใต้ แต่เปลี่ยนจากปลูกไม้ผลและไม้กินได้มาเป็นไม้มีค่านั่นเอง เพราะในระหว่างที่รอตัดไม้มีค่า ก็สามารถที่จะมีรายได้จากปาล์มและมะพร้าวเฉลี่ยให้อยู่ได้ทุกเดือน

การปลูกไม้นั้นต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำไม้ไปใช้สอย เมื่อเราตัดไม้จำหน่ายหรือนำไปใช้ก็สามารถที่จะปลูกต่อได้ในทันที หากทำเช่นนี้ไม้ที่ปลูกไว้ในที่ดินก็ไม่มีวันหมด อีกทั้งยังถือเป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนได้อีกด้วย

ไม้พลา หรือ ไม้ลาย

โดยเลือกปลูกไม้โตเร็ว ใช้เวลาประมาณ 10 ปี ก็เริ่มตัดจำหน่ายได้ เช่น กระถินณรงค์ กระถินเทพา ขี้เหล็ก และ มะฮอกกานี เมื่อตัดไม้โตเร็วออกถือเป็นการเปิดแสงให้ไม้โตปานกลาง เช่น ตะเคียนทอง พะยอม ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 15-20 ปี ก็สามารถที่จะตัดขายเนื้อไม้ได้ แต่แท้จริงแล้วไม้โตปานกลางนี้ก็สามารถที่จะมีอายุยืนได้ถึง 100 ปี ส่วนไม้โตช้าจะใช้ระยะเวลา 30 ปีขึ้นไปในการเจริญเติบโต ซึ่งไม้ในกลุ่มนี้จัดเป็นไม้ราคาดี ได้แก่ ยางนา ตำเสา ประดู่ มะค่าโมง พะยูง และ สัก เป็นต้น

โดยส่วนมากแล้วไม้ที่เลือกนำมาปลูกภายในแปลงนี้จะเน้นพันธุ์ไม้ที่ตนเองมีความชื่นชอบ เพราะจะไม่เบื่อหน่ายเมื่อต้องดูแลรักษา และเป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถเติบโตได้ดีในท้องถิ่น ซึ่งมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในบริเวณนี้อยู่แล้ว อาศัยจัดแนวปลูกให้อยู่ระหว่างกลางของทิวแถวมะพร้าวที่มีระยะห่างประมาณ 10×10 เมตร แล้วจึงนำพรรณไม้ลงปลูก เว้นระยะห่างระหว่างกัน ประมาณ 2-3 เมตร เพื่อให้แสงสามารถส่องถึงพื้นดินด้านล่างได้ไม่มืดอับทึบจนเกินไป ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากป่าตามธรรมชาติที่มีระยะห่างระหว่างต้นไม่แน่นอน

ทั้งนี้พันธุ์ไม้ที่ปลูกควรมีความหลากหลาย ไม่เลือกปลูกเฉพาะไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง การปลูกแบบสลับชนิดกันนี้นับเป็นการปลูกเลียนแบบป่าจริง หากเลือกปลูกไม้เพียงชนิดเดียวจะเกิดการแย่งอาหาร เมื่อต่างชนิดจะมีการแลกเปลี่ยนธาตุอาหารระหว่างกัน ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศที่เกื้อกูลคล้ายคลึงกับในผืนป่าธรรมชาติ แต่ก็ต้องเรียนรู้ว่าต้นไม้แม้จะปลูกพร้อมกัน แต่จะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ต่างกัน อาทิ กระถินเทพาโตเร็ว ตะเคียนทองและมะฮอกกานีจะโตตามมา โดยรวมแล้วขึ้นอยู่กับว่าผู้ปลูกต้องการให้ความสำคัญกับไม้ชนิดใด แต่ก็ต้องกำหนดให้มีความสอดคล้องกับระยะเวลาในการเจริญเติบโตและสามารถที่จะนำไม้มาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งไม่ควรเกินระยะเวลา 10 ปีนั่นเอง

ไม้งิ้ว

คัดเลือกพรรณไม้

การคัดเลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นับเป็นหลักการที่เกษตรกรผู้สร้างสวนป่าหลายรายมองข้าม แต่แท้ที่จริงแล้วถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก ด้วยทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยตั้งแต่เล็ก

คุณเอ บอกว่า ช่วงแรกที่ปลูกป่ามีความไม่เข้าใจ มองเห็นอะไรเป็นสีเขียวก็เอามาปลูกทั้งหมด เมื่อปลูกไม้มาระยะหนึ่งก็เริ่มพบว่าต้นไม้ในแต่ละต้นนั้นมีรูปทรงที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะเป็นสายพันธุ์เดียวกันก็ตาม โดยเฉพาะต้นที่มีทรงสวยไม่คดงอล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากต้นพ่อ-ต้นแม่ที่ดี เพราะฉะนั้นจะต้องเลือกพันธุ์ไม้ หรือเมล็ดไม้จากต้นแม่ที่มีลำต้นตรง ไม่คด หรือบิดงอจนเกินไป จัดเป็นไม้ที่สวย จะเลือกกล้าไม้จากแหล่งเพาะทั้งหมดไม่ได้ ส่วนในรายที่ต้องการคัดเลือกต้นกล้าจากในแปลงปลูกก็เริ่มคัดต้นกล้า หรือเมล็ดพันธุ์ ได้ต่อเมื่อต้นแม่มีอายุประมาณ 6 ปีขึ้นไป แต่โดยทั่วไปแล้วเมล็ดไม้ที่งอกออกมาจะไม่ได้มีความสมบูรณ์ทั้งหมด หากต้นแม่ทรงสวย ต้นกล้าที่งอกตามมาก็จะมีความสมบูรณ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ทางด้านกรรมวิธีคัดเลือกกล้าไม้สำหรับผู้ที่คัดต้นพันธุ์จากในแปลงปลูก ควรเลือกต้นที่งอกไกลโคนเป็นลำดับแรกซึ่งจะเติบโตได้ดีกว่าต้นใกล้โคน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแปลงปลูกประกอบด้วย ส่วนผู้ที่ไปซื้อพันธุ์ไม้จากร้านจำหน่าย ควรเลือกต้นกล้าที่มีขนาดเล็กที่สุด หากขอซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกได้ยิ่งดี เพราะสามารถปรับตัวได้ดีและเจริญเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่คุ้นชินตั้งแต่แรกเกิด อีกทั้งรากแก้วก็สามารถยึดเกาะหน้าดินได้เร็วอีกด้วย

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ให้สอบถามข้อมูลจากผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ในท้องถิ่นนั้นๆ ว่า มีไม้เด่น ไม้ประจำถิ่นชนิดใดบ้างที่เติบโตดีอยู่ก่อนแล้ว จึงเลือกปลูกไม้ชนิดนั้น หรือในสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกัน และควรหลีกเลี่ยงการปลูกไม้ตามกระแส เพราะมีความไม่แน่นอนทั้งในแง่ของระดับราคาและอาจไม่มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ปลูก

ไม้แต้ว

ไม้มีค่า ปลูกอย่างไรให้อยู่รอด

ด้วยสภาพอากาศของภาคใต้ที่มีอากาศร้อนชื้นฝนตกชุก เพราะฉะนั้นการดูแลต้นไม้ที่ปลูกก็ต้องให้ความใส่ใจเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ปลูก ถึงแม้ว่าไม้มีค่าส่วนใหญ่แล้วเป็นไม้ป่าที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศอยู่แล้ว แต่เมื่อนำมาปลูกกลางแจ้งก็ย่อมต้องการการดูแลเอาใจใส่ไม่แตกต่างจากการปลูกพืชชนิดอื่น

การปลูกต้นไม้ หรือปลูกป่า หากผู้ปลูกสามารถที่จะวางระบบน้ำได้ย่อมให้ผลดีกว่ามาก เนื่องจากในช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคม ของทุกปีเป็นช่วงที่อากาศเข้าสู่ภาวะแห้งแล้ง ต้นไม้ที่ปลูกเอาไว้ภายในแปลงจะมีการทิ้งใบเพื่อลดการคายน้ำและรักษาลำต้นเอาไว้ ซึ่งในสภาวการณ์ดังกล่าว หากในแปลงปลูกมีการทำระบบน้ำไว้รองรับสามารถให้น้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ต้นไม้ย่อมส่งผลให้กล้าไม้ที่ปลูกเจริญเติบโตได้ดีอย่างไม่ขาดตอน

ขั้นตอนการปลูกนั้นไม่ได้มีความแตกต่างจากการปลูกพืชทั่วไปเท่าไรนัก ขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้ปลูก แต่ที่สวนแห่งนี้จะเลือกใช้วิธีการขุดหลุมปลูกให้กว้าง ประมาณ 30 เซนติเมตร ลึก 20 เซนติเมตร แล้วใช้อินทรียวัตถุที่หาได้จากภายในท้องถิ่น ทั้งมูลวัว เศษฟาง ใบไม้แห้ง และหญ้า นำมารองก้นหลุมเป็นวัสดุปลูก ทิ้งระยะเอาไว้ประมาณ 15 วัน เพื่อให้อินทรียวัตถุย่อยสลายและคลายความร้อนลง หลังจากครบ 15 วัน ให้ลองนำมือเข้าไปสัมผัส หากพบว่าเย็นดีแล้ว จึงนำกล้าไม้ลงปลูก ส่วนผู้ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วก็สามารถที่จะใช้ดินปลูกสำเร็จรูปเข้ามาผสมกับดินในแปลงปลูกเพื่อรองก้นหลุมได้เช่นกัน

บรรยากาศร่มรื่นภายในสวนป่า

อย่างไรก็ตาม กล้าไม้ที่ปลูกควรสังเกตให้ดี หากพบว่ามีขนาดลำต้นโตแล้วให้ตัดรากโดยเว้นระยะห่างจากก้นถุงขึ้นมาประมาณ 2 เซนติเมตร แล้วจึงตัดออก เมื่อปลูกลงดินรากจะงอกออกมาใหม่อีกครั้ง แต่หากไม่ตัดรากออก รากไม้จะอยู่ในลักษณะขด ชะงักการเจริญเติบโต ภายหลังจากลงกล้าไม้แล้วเสร็จให้นำฟางข้าว หรือเศษวัชพืช มาคลุมโคนโดยรอบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้น โดยเว้นระยะห่างจากโคนต้น ประมาณ 4-5 นิ้ว ในเกษตรกรบางรายอาจเลือกใช้วิธีปลูกกล้วยเพื่อกำบังแดดให้กับต้นไม้ ถือเป็นการสร้างรายได้ในระหว่างรอขายไม้มีค่า

ส่วนการบำรุงกล้าไม้ เนื่องจากเป็นพรรณไม้ป่ามีความแข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีมากนัก อาศัยเพียงใส่ปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น โดยส่วนตัวแล้วจะใส่มูลไก่ในทุกๆ 6 เดือน ผสานกับการใส่ปุ๋ยยูเรียสูตรเฉพาะตัว (ปัสสาวะหมักค้างคืน) เทใส่โคนต้นโดยตรง ถือเป็นการนำของเสียที่จะต้องถ่ายเททิ้งไปในแต่ละวันมาปรับเปลี่ยนเป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้อีกทางหนึ่ง เสริมด้วยการตัดหญ้าภายในแปลงปลูกเพื่อกำจัดวัชพืช ซึ่งเศษหญ้าเหล่านี้จะแปรเปลี่ยนไปเป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้ โดยวิธีการดูแลในรูปแบบดังกล่าวจะกินระยะเวลาประมาณ 4 ปี หลังจากนั้นจะเข้าไปดูแลเฉพาะในหน้าร้อนเท่านั้น”

 

ไม้มีค่า เลือกตัดอย่างไร

การตัดไม้ภายในแปลงปลูกนอกจากทำให้ผู้ปลูกจำหน่ายไม้เพื่อเป็นรายได้เสริมได้แล้ว ยังถือเป็นการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศในผืนป่าที่ถูกสร้างขึ้นได้อีกด้วย

คุณเอ บอกว่า เมื่อต้นไม้มีอายุราว 10 ปีขึ้นไปป่าที่สร้างเอาไว้จะเริ่มมีการจัดการตัวเอง ผู้ปลูกอาจเลือกตัดต้นไม้ออกบ้าง โดยใช้วิธีการสังเกตต้นที่มีการเจริญเติบโตไม่ดีแคระแกร็นต้องตัดออกเป็นลำดับแรก ควรตัดให้เหลือแต่โคนต้น หรือกิ่งที่ติดโคนต้น ภายหลังต้นไม้ที่ถูกตัดออกจะมีการงอกขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ และเจริญเติบโตได้ดีกว่าต้นเก่า เพราะมีรากแก้วที่แข็งแรงอยู่ก่อนแล้ว

ส่วนในกรณีที่เป็นไม้ใหญ่ได้ขนาดสามารถตัดจำหน่ายได้ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ปลูกเองว่ามีความต้องการรายได้มากน้อยเพียงใด แต่ไม้จำพวกกระถินเทพา กระถินณรงค์ หรือไม้ในตระกูลถั่ว ซึ่งนำมาปลูกเป็นไม้เบิกนำเมื่อมีอายุเกิน 10 ปีไปแล้ว ลำต้นจะเริ่มเป็นโพรงและค่อยๆ ตายไปในที่สุด เพราะฉะนั้นจะต้องตัดเพื่อใช้ประโยชน์เสียก่อน และถือเป็นการช่วยเปิดแสงให้ไม้ประเภทอื่นที่ปลูกภายในแปลงได้รับแสงแดดมากขึ้น

ไม้กระถินเทพาพร้อมแปรรูป

ปลูกป่าเพิ่มเงินออมในอนาคต

“ปัจจุบัน ตลาดซื้อขายไม้มีค่านั้นนับวันจะยิ่งเติบโตสูงมากขึ้น เนื่องจากกระแสการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากไม้ หรือนำไม้ไปสร้างบ้านได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก กอปรกับไม้ที่ปลูกในประเทศไทยส่วนหนึ่งจะถูกส่งออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนซึ่งนับเป็นตลาดใหญ่ในการใช้ไม้ เพราะฉะนั้นเกษตรกรที่เลือกปลูกไม้มีค่าจึงควรที่จะใช้ประโยชน์จากไม้ที่ปลูกไว้ให้มากที่สุด

เดิมทีการตัดไม้เพื่อจำหน่ายนั้น อาจเลือกตัดเฉพาะต้นตามความต้องการของผู้ซื้อและตัดแบบเหมาสวนจัดส่งไปยังโรงเลื่อยจำหน่ายเป็นไม้แปรรูป แต่หากเกษตรกรเลือกที่จะเลื่อยแปรรูปด้วยตนเองเพื่อผลิตขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ทำจากไม้ก็ย่อมสร้างเม็ดเงินได้มากยิ่งขึ้น

เตาเผาถ่านสร้างพลังงานทดแทน

สำหรับการปลูกไม้มีค่าในลักษณะนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีงานประจำและมีที่ดินอยู่ แต่ไม่สะดวกในการทำเกษตรแปลงใหญ่ก็สามารถนำพันธุ์ไม้มีค่ามาปลูกเพื่อเป็นเงินออมเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณ เมื่อเวลาผ่านไป 10-15 ปี ไม้ที่ปลูกไว้โตได้ขนาดเฉลี่ยตัดเดือนละ 1 ต้น ก็สามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นบาท อีกทั้งเศษไม้ หรือต้นที่แคระแกร็นก็ตัดไปเผาถ่านเป็นพลังงานทดแทนใช้ในครัวเรือน” คุณเอ บอก

คุณเกียรติศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงผู้ที่สนใจปลูกไม้มีค่าว่า การปลูกไม้มีค่านับเป็นการเก็บเงินออมในอนาคต หากไม่ปลูกวันนี้เวลาก็ผ่านไปเรื่อยๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม้ที่ปลูกบางต้นแทบไม่ต้องใช้การดูแลเอาใจใส่ เมื่อต้นโตได้ขนาดก็สามารถตัดจำหน่ายเป็นเงินเลี้ยงชีพได้ นับเป็นคุณค่าที่หลายคนมองข้าม

ติดต่อเกษตรกร คุณเกียรติศักดิ์ ลีสง่า (คุณเอ) 258 หมู่ที่ 5 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 86000 โทร. 088-760-8578