ทำสวนผสมผสาน สไตล์วิศวกรไฟฟ้า ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ด้วยระบบ IoT

คุณอรรถพล ไชยจักร อยู่บ้านเลขที่ 176 หมู่ที่ 10 ตำบลดอนอะราง อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง อดีตวิศวกรไฟฟ้า ผันตัวเป็นเกษตรกร ใช้เวลาศึกษา ล้มลุกคลุกคลาน ทดลองทำเกษตรมาหลายรูปแบบกว่าจะค้นพบรูปแบบที่ใช่ มาดูกันว่าเส้นทางในสายอาชีพการเกษตรของคุณอรรถพล จะผ่านอะไรมาบ้าง แล้วเขามีวิธีจัดการสวนอย่างไร ความรู้จากอาชีพเดิมวิศวกรไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทช่วยในการจัดการสวน ลดต้นทุนได้อย่างไรบ้าง

คุณอรรถพล ไชยจักร

คุณอรรถพล ไชยจักร เล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่จะผันตัวเป็นเกษตรกรว่า เดิมตนมีภูมิลำเนาเป็นคนจังหวัดบุรีรัมย์โดยกำเนิด แต่พอตอนอายุ 10 ขวบ มีโอกาสได้เข้ามาศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ ยาวจนถึงเรียนจบปริญญาตรี และได้ทำงานเป็นวิศวกรไฟฟ้าที่กรุงเทพฯ ต่ออีกนานหลายปี จนเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ได้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น คิดทบทวนสิ่งที่ลูกคนหนึ่งควรจะทำคือ การได้กลับไปดูแลพ่อและแม่ที่ต่างจังหวัด จึงคิดอยากกลับมาหางานทำที่บ้านเกิด โดยเลือกที่จะเป็นเกษตรกรวันหยุดก่อน คือทำงานประจำควบคู่กับการบุกเบิกพื้นที่ทำสวนไปด้วย ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมากเพราะพื้นฐานครอบครัวไม่มีใครทำเกษตรมาก่อน คุณพ่อรับราชการครู คุณแม่เป็นแม่บ้าน จึงไม่มีพื้นฐานด้านการเกษตรเลย อาศัยเพียงข้อได้เปรียบจากการที่เคยเป็นคนเมืองมาก่อน ตรงที่สามารถศึกษาเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตได้ไวและคล่องแคล่ว ประกอบกับการที่ได้นำความรู้ด้านวิศวกรมาใช้จัดการระบบภายในสวนให้ง่ายยิ่งขึ้น แต่กว่าจะค้นพบรูปแบบการทำเกษตรที่ใช่ ก็ต้องใช้เวลามากพอสมควร

ทดลองทำเกษตรมาหลายรูปแบบ
ลงเอยที่เกษตรผสมผสาน ตอบโจทย์ชีวิตทุกด้าน

เจ้าของบอกว่า ก่อนที่จะมาลงเอ่ยกับรูปแบบเกษตรผสมผสาน ต้องลองผิดลองถูกมาเยอะเช่นกัน เริ่มต้นล้มลุกคลุกคลานในรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยวก่อน ปลูกหน่อไม้ฝรั่งอย่างเดียว บนพื้นที่ 2 ไร่ แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากต้องใช้แรงงานมาก ถึงแม้ว่าในแต่ละวันจะมีรายได้เข้ามามาก วันละหลายหมื่นบาท แต่ก็ยังไม่คุ้มต้นทุนต่างๆ อีกทั้งเมื่อปลูกซ้ำที่เดิมมากๆ ยิ่งทำให้เกิดปัญหาโรคสะสมที่ดิน เป็นเชื้อรา จึงรู้ตัวแล้วว่าเกษตรเชิงเดี่ยวคงยังไม่เหมาะกับตนเอง ระหว่างนั้นจึงได้ศึกษาการทำเกษตรในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น จนได้ไปเจอกับรูปแบบการทำเกษตรที่ชอบ ใช้ประสบการณ์ค่อยๆ เปลี่ยน เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จนเกิดความลงตัว เปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวมาทำในรูปแบบเกษตรผสมผสาน เลือกปลูกพืชระยะยาว ดูแลง่าย ใช้แรงงานน้อย มีการหมักปุ๋ยไว้ใช้เอง เลี้ยงไส้เดือน ทำหลากหลายบนที่กว่า 6 ไร่ มี      มัลเบอร์รี่เป็นพืชบุกเบิกสร้างรายได้

ปลูกผักสลัดพืชหมุนเวียนสร้างรายได้

มัลเบอร์รี่ พืชบุกเบิกสร้างรายได้ของสวน
ปลูกง่าย ต้นทุนต่ำ แปรรูปได้หลากหลาย

หลังจากล้มเลิกการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหันมาทำเกษตรผสมผสาน คุณอรรพล บอกว่า ก็เริ่มจับเทรนด์การตลาดในอนาคต ว่าจะเป็นไปในแนวทางไหน จนได้ไปเจอกับมัลเบอร์รี่พันธุ์เชียงใหม่ 60 ที่มีจุดเด่นของพันธุ์ที่ค่อนข้างให้ผลผลิตสูง ใบเล็ก ประกอบกับที่ช่วงนั้นเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ยังมีคนปลูกน้อย สวนตนเรียกได้ว่าเป็นสวนแรกในจังหวัดบุรีรัมย์ที่ปลูกมัลเบอร์รี่แบบจริงจังเชิงการค้า แต่ก็ต้องยอมรับว่าด้วยในขณะนั้นมัลเบอร์รี่เป็นพืชที่ค่อนข้างใหม่ ในเรื่องของการทำตลาดหรือการแปรรูปต่างๆ จะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก จำเป็นต้องศึกษาชุดข้อมูลหลายๆ ด้าน ทั้งของไทยและต่างประเทศ เพื่อศึกษาว่ามัลเบอร์รี่สามารถนำมาสร้างมูลค่าได้อย่างไรบ้าง นอกจากการขายผลสด เมื่อได้มีการศึกษาไปเรื่อยๆ จนค้นพบว่า มัลเบอร์รี่ เป็นพืชมากประโยชน์และสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัลเบอร์รี่เพื่อสุขภาพ แยมมัลเบอร์รี่ เค้กมัลเบอร์รี่ รวมถึงการนำมาเป็นส่วนประกอบในการตกแต่งบนจานอาหารเมนูต่างๆ ได้หลากหลาย ดูแลง่ายมาก ต้นทุนต่ำ ไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ย ค่าน้ำ ค่าแรงงาน ถ้าทำตลาดได้ดี มีตลาดรองรับ ไม่ว่าจะผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์แปรรูป จะทำกำไรได้ดีมาก

มัลเบอร์รี่เชียงใหม่ 60

ในส่วนของพื้นที่การปลูกนั้น ที่สวนเริ่มต้นปลูกมัลเบอร์รี่บนพื้นที่ประมาณ 2 ไร่กว่า โดยพันธุ์ที่เลือกปลูกคือ พันธุ์เชียงใหม่ 60 คุณสมบัติอย่างที่กล่าวไปข้างต้นคือ ให้ผลผลิตดก ใบเล็ก สารอาหารไปเลี้ยงผลได้เยอะ รสชาติของผลหวานอมเปรี้ยว เหมาะสำหรับการแปรรูป เมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์กำแพงแสน ที่เคยชิมมาแล้วจะแตกต่างกันตรงที่พันธุ์กำแพงแสนรสชาติจะเปรี้ยวน้อยแต่หวานสูง จึงยังไม่เหมาะที่จะนำมาแปรรูปด้วยความคิดเห็นส่วนตัว

ขั้นตอนการปลูก

ทำครั้งแรกใส่ปุ๋ยพืชสดช่วยลดต้นทุนก่อน หลังจากนั้นค่อยๆ ใช้มูลวัว มูลไส้เดือน ที่เลี้ยงไว้เองผสมลงไปไม่ต้องมาก มัลเบอร์รี่เป็นไม้ยืนต้น ปลูกครั้งแรกไม่ต้องดูแลอะไรมาก เป็นพืชที่ปลูกง่าย ดูแลรายเดือน รายปี

ระยะห่างระหว่างต้นระหว่างแถว… 2×2 เมตร เหมาะสำหรับเน้นปลูกไปนานๆ เพื่อให้ต้นได้มีพื้นที่ขยายออกข้างได้เรื่อยๆ และข้อดีของมัลเบอร์รี่คือ สามารถดัดโค้งได้ตามความต้องการ แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละสวน บางสวนดัดเป็นซุ้มโค้ง หรือบางสวนดัดระหว่างแถวเข้าหากัน ขึ้นอยู่กับว่าต้องการดัดให้คลุมพื้นที่อย่างไร ซึ่งการดัดจะช่วยให้แตกตาได้เยอะขึ้น และในช่วงจังหวะนี้ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ปุ๋ย… ให้น้อย เพียงปีละ 2-3 ครั้ง ขอแค่มีระบบน้ำที่ดี ปุ๋ยที่ใช้เป็นปุ๋ยมูลวัวกับมูลไส้เดือน เพราะเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ช่วยประหยัดค่าขนส่งได้มาก

น้ำ… ในช่วงแรกของการปลูก ให้รดน้ำวันเว้นวัน หลังจากนั้นลดลงมาเหลือสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แนะนำว่า 1 ปี ควรเก็บผลผลิตไม่เกิน 2-3 ครั้ง เพื่อไม่ให้ต้นโทรมเร็วเกินไป

ข้อดีของการแปรรูป… เป็นการเก็บรักษาผลผลิตให้อยู่ได้นานโดยที่ไม่ต้องลด แลก แจก แถม สามารถเก็บแช่ฟรีซแล้วทยอยนำออกมาแปรรูปได้เรื่อยๆ ที่เห็นได้ชัดคือ ที่สวนทำแยมมัลเบอร์รี่ขายได้ราคาสูง ถึงกระปุกละ 180 บาท เกิดจากกระบวนการคิดต่อยอดมัลเบอร์รี่ที่ปลูกโดยไม่พึ่งสารเคมี ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ใช้มัลเบอร์รี่เป็นส่วนผสมมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช้สารกันเสีย ไม่ใช้เจลลาตินหรือเพกตินที่เป็นการสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อเพิ่มปริมาณ และผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจมาก ในช่วงเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว มัลเบอร์รี่กำลังเป็นที่นิยม สามารถขายได้มากถึงเดือนละ 150-200 กระปุก นอกจากการขายแยมแล้ว ยังขายน้ำมัลเบอร์รี่และกิ่งพันธุ์ได้อีกมากมายเป็นหลักแสนต่อเดือน ถือเป็นพืชที่ทำรายได้ดีมากๆ ในช่วงนั้น แต่ในปัจจุบันเมื่อมีคนปลูกมากขึ้น ราคาก็ลดลงมาบ้าง อาศัยความไม่หยุดนิ่งพัฒนาของตนเองในการไปต่อบนเส้นทางสายเกษตร

มือใหม่อยากปลูกเวิร์กไหม…จากประสบการณ์ทำเกษตรมา พืชมีทั้งที่ปลูกง่ายและยาก พืชระยะสั้นโดยส่วนใหญ่จะเป็นพืชนำเข้า ค่อนข้างเซนซิทีฟต่ออากาศ ปลูกได้ยาก ความต้านทานโรคต่ำกว่าพืชยืนต้นระยะยาว มัลเบอร์รี่เป็นพืชยืนต้นระยะยาว ปลูกง่าย ถ้าจะปลูกเป็นอาชีพปริมาณที่สูงจำเป็นต้องคิดถึงปลายทาง เช่น หน้าร้าน การแปรรูป จนถึงปลายทางใครจะซื้อ ในราคาเท่าไร ถ้าทำอย่างนี้ได้ มัลเบอร์รี่ถือเป็นพืชที่คุ้มค่ามาก

เลี้ยงไส้เดือน สร้างรายได้เสริม

อาศัยความรู้เดิมจากอาชีพวิศวกร
ต่อยอดพัฒนาระบบ ลดต้นทุนภายในสวน

คุณอรรถพล บอกว่า สำหรับประสบการณ์จากที่เคยเป็นวิศวกรไฟฟ้ามาก่อน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ทำอะไรในสวนได้บ้าง ตอบได้เลยว่ามีหลายข้อมาก ที่เห็นได้ชัดเลยคือ

  1. แน่นอนว่าต้องได้เรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยี IoT คือ การใช้เทคโนโลยี “เซ็นเซอร์” ในการวัดข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจและการบริหารจัดการการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบ ให้ทำงานได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น ชุดโซล่าร์เซลล์ควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT รวมถึงการเลี้ยงไส้เดือนที่ไม่ต้องใช้คนคอยให้น้ำ แต่จะเป็นการใช้ระบบพ่นหมอก โดยใช้ไทมเมอร์เป็นตัวกำหนดตั้งเวลาเปิด-ปิด เหล่านี้คือส่วนด้านเทคนิคจากพื้นฐานด้านวิศวะ

    เปลี่ยนระบบให้น้ำอัตโนมัติสำหรับไส้เดือน
  2. วิศวะไม่ได้สอนแค่เรื่องเทคนิค แต่ยังสอนไปถึงเรื่องของกระบวนการคิดและแก้ปัญหา อย่างเช่น เมื่อเจอปัญหาโรคพืช จะมีกระบวนการคิดขั้นแรกคือ โรคเกิดจากอะไร จากนั้นไปในขั้นตอนหาตัวแปรว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากตัวแปรอะไรได้บ้าง แล้วจึงค่อยๆ ทดลองว่า ตัวแปรไหนที่ทำให้เกิดปัญหา หรือพูดง่ายๆ คือ สอนให้เข้าใจปัญหา รู้จักวิธีแก้ปัญหา เมื่อแก้ปัญหาได้ ก็เข้าสู่กระบวนการพัฒนาต่อไปได้
ระบบให้น้ำหมักหรือปุ๋ย ช่วยให้ไม่ต้องไปรดหรือไปฉีดพ่น เทคโนโลยีการเกษตรที่ดี เลือกให้เหมาะกับเรา

อาชีพเกษตรกรรม ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร

“อาชีพเกษตรกรรม แน่นอนตามชื่อคือ ควรจะมั่นคงทางด้านอาหารก่อน เมื่อเราผ่านการทำเกษตรมาสักพักใหญ่ มีการเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ได้รู้ว่าอาชีพเกษตรกรรมเหมาะกับการทำอยู่ ทำกินมากกว่า แต่การที่จะทำให้ได้ปริมาณสูง จะต้องมีการวางแผนที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการผลิตหรือการตลาด อาจจะต้องมีพื้นที่ที่มากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น ความมั่นคงนั้นจะเป็นเบื้องต้นของความมั่นคงคือ ด้านอาหาร มีอาหารที่ดีกิน มีที่อยู่ที่ดี มีไม้ใช้เอง มีอาหารปลอดสารพิษไว้กินเอง นี่คือความมั่นคงขั้นแรก ความมั่นคงขั้นที่สอง คือ สิ่งไหนคือตัวที่เราจะดึงมาเป็นตัวทำเงินได้ เป็นอาชีพได้ คราวนี้มาดูถึงการทำปริมาณ ผมเชื่อว่าอาชีพเกษตรเป็นความมั่นคงได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าตัวคนทำเองอาจจะต้องมีการวางแผนที่ดี และมีประสิทธิภาพที่ดีในการงาน” คุณอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ เบอร์โทร. 095-121-0111

ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมัลเบอร์รี่

แยมมัลเบอร์รี่รับประทานคู่กับอะไรก็อร่อย

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2563