สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร แนะวิธีปลูกส้มโอแบบมืออาชีพ

“ส้มโอ” เป็นผลไม้ไทยเพียงชนิดเดียวที่จะมีราคาแพงช่วงในฤดู ถ้าออกนอกฤดูจะมีราคาถูกลง เนื่องจากผลผลิตส้มโอไทยจะมีการส่งออกมากที่สุดในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์และเทศกาลสารทจีน ซึ่งจะตรงกับผลผลิตส้มโอแก่และเก็บเกี่ยวขายได้พอดี ปัจจุบัน ฮ่องกง ยังเป็นประเทศที่สั่งซื้อส้มโอจากประเทศไทยมากที่สุด โดยสายพันธุ์ส้มโอที่นิยมส่งออก ได้แก่ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง พันธุ์ทองดี และพันธุ์ทับทิมสยาม เป็นต้น

ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ เจ้าของสวนคุณลี จังหวัดพิจิตร กล่าวถึง 5 ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกษตรกรประสบความสำเร็จในการทำสวนส้มโอ ได้แก่

1.เงินทุน เพราะเกษตรกรที่ปลูกส้มโอ กว่าจะเริ่มเก็บผลผลิตออกขายได้ ต้องรอจนกระทั่งต้นส้มโออายุได้ 5 ปี ดังนั้น การทำสวนส้มโอ เงินทุนจะจมในช่วง 5 ปีแรก หากใครสนใจทำสวนส้มโอควรลงทุนด้วยเงินในกระเป๋าตัวเอง อย่าลงทุนโดยอาศัยเงินกู้ เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยก้อนโตกว่าในระยะ 5ปีแรก กว่าจะได้เงินสดจากการขายผลผลิต เกษตรกรควรสำรวจว่า ในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้เงินทุนเท่าไร เมื่อถึงปีที่ต้นส้มโอเริ่มออกดอกติดผลแล้ว หากเกษตรกรเกิดขัดสนเงินทุนในช่วงปลายมือบ้าง ก็สามารถกู้จากธนาคารไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเวลาเพียงปีเดียวเท่านั้น เราก็สามารถคืนทุนได้แล้ว

2.แหล่งน้ำ ช่วงที่ต้นส้มโอเริ่มปลูกใหม่อาจจะต้องรดน้ำต้นส้มโอบ้าง หลังจากส้มโอมีลำต้นใหญ่และให้ผลผลิตแล้ว จะต้องการน้ำมากและสม่ำเสมอ หากเกษตรกรปล่อยให้พื้นดินแห้งจัดโดยไม่ให้น้ำ เมื่อมีฝนตกลงมาต้นส้มโอได้น้ำมากเกินไป จะทำให้ผลส้มโอร่วงหรือแตกเสียหายได้ และเสี่ยงเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย อาทิ ใบส้มโอเดี๋ยวเล็ก เดี๋ยวใหญ่ นอกจากนี้ เมื่อต้นส้มโอได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ จะทำให้อายุต้นสั้นลง น้ำที่นำมาใช้รดต้นส้มโอ หากเป็นน้ำบาดาลควรจะตรวจสอบให้ดีว่าน้ำมีสภาพความเป็นกรดสูงหรือไม่ สำหรับการทำสวนส้มโอในที่ลุ่ม เรื่องระบบการระบายน้ำเข้า-ออก มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

3.ดิน ดินเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด สภาพดินที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกส้มโอคือ ดินร่วนปนทราย เกษตรกรควรเตรียมดินให้พร้อมเสียก่อนที่จะตอนกิ่ง หรือหาซื้อกิ่งส้มโอพันธุ์ดีมาปลูก เกษตรกรควรสำรวจว่า ที่ดินที่มีอยู่ ควรใช้กิ่งพันธุ์จำนวนเท่าไร และบวกเพิ่มกิ่งพันธุ์สำรองอย่างน้อย 10% เช่น ต้องการปลูกส้มโอ จำนวน 1,000 ต้น ควรเตรียมกิ่งพันธุ์สำรองไว้อย่างน้อย 1,100 ต้น หากต้นโอที่ปลูกไปในแปลงเกิดมีต้นตาย จะได้มีกิ่งพันธุ์สำรองไว้ปลูกซ่อมได้ทันที

4.กิ่งพันธุ์ กิ่งพันธุ์ส้มโอที่เกษตรกรจะนำมาปลูก ควรเป็นกิ่งที่ขยายพันธุ์มาจากแม่พันธุ์ส้มโอที่มีลักษณะแข็งแรง ให้ผลดก รสชาติดี และไม่เป็นโรคไวรัสทริสเทซ่าหรือโรคกรีนนิ่ง ขนาดของกิ่งพันธุ์ที่ดี ต้องมีความยาวประมาณ 70-80 เซนติเมตร และกิ่งพันธุ์มีกิ่งแตก 2 กิ่ง จึงเหมาะสมที่สุด

ในอดีตที่ผ่านมา เกษตรกรนิยมขยายพันธุ์ส้มโอด้วยวิธีการตอนกิ่ง แต่ปัจจุบัน สามารถขยายพันธุ์ส้มโอโดยวิธีการเสียบยอดหรือการผลิต “กิ่งส้มโอปลอดโรค” ที่ติดตาบนต้นตอส้มต่างประเทศ สำหรับสภาพพื้นที่ดินเหนียวหรือที่ราบลุ่มแม่น้ำนครชัยศรีจนถึงจังหวัดสมุทรสงคราม กิ่งตอนยังมีความเหมาะสมที่สุด แต่ต้องคัดเลือกกิ่งพันธุ์ที่ผลิตจากแม่พันธุ์ส้มโอที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง ติดผลดกสม่ำเสมอทุกปี ปลอดจากโรคไวรัสทริสเทซ่าและโรคกรีนนิ่ง

5.การดูแลรักษา เมื่อเกษตรกรตัดสินใจทำสวนส้มโอ ควรมีการดูแลรักษาที่ดี หากทำสวนส้มโอในพื้นที่ลุ่ม เกษตรกรต้องมีความรู้ความเข้าใจว่า ต้นส้มโอจะต้องอดน้ำอย่างไร จะให้น้ำเมื่อใด ช่วงจังหวะที่มีความเหมาะสมในการให้ปุ๋ยและฉีดพ่นยาปราบศัตรูพืช

ระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับส้มโอ

การปลูกส้มโอในแถบลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี ซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม จำเป็นจะต้องยกร่องน้ำปลูก เกษตรกรโซนนี้ นิยมปลูกต้นส้มโอในระยะ 6×7 เมตร หรือ 6×8 เมตร โดยมีระยะระหว่างต้น 6 เมตร ส่วนระยะระหว่างแถวขึ้นอยู่กับขนาดร่องด้วย บางคนร่องใหญ่ บางคนร่องเล็ก ดังนั้น ระยะระหว่างแถวอาจจะเป็น 7 หรือ 8 เมตร ก็ได้  เกษตรกรนิยมปลูกส้มโอบนกลางร่องเพียงแถวเดียว เพื่อสะดวกต่อการบำรุงรักษา แต่มีเกษตรกรหลายรายนิยมปลูกแบบสลับฟันปลา เพื่อให้มีจำนวนต้นต่อไร่มากที่สุด และประหยัดเนื้อที่ปลูก แต่การบำรุงรักษาค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร

ส่วนสวนส้มโอซึ่งปลูกบนที่ดอน มักปลูกในระยะ 8×8 เมตร เป็นส่วนใหญ่ ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 25 ต้น ถ้าเกษตรกรมีพื้นที่น้อยอาจจะใช้ระยะปลูก 6×8 เมตร ก็ได้ (ระหว่างต้น 6 เมตร และระหว่างแถว 8 เมตร) พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 33 ต้น

ต้นส้มโอตัดแต่งทรงพุ่มให้เตี้ย

การดูแลตัดแต่งกิ่ง

การตัดแต่งกิ่งมีความจำเป็นในการทำสวนส้มโอ เกษตรกรที่ปลูกส้มโอแบบร่องสวน ต้องคอยดูแลแปลงปลูกให้มีสภาพโล่งเตียนอยู่ตลอดเวลา ดูแลตัดแต่งกิ่งต้นส้มโอเพื่อลดการระบาดของโรคและแมลง เกษตรกรที่ปลูกส้มโอขาวน้ำผึ้งแบบมืออาชีพจะเน้นการตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่งอยู่เสมอ โดยตัดแต่งกิ่งอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง การตัดแต่งกิ่งในแต่ละครั้งจะดูความหนาแน่นของกิ่งเป็นหลัก

การจัดการปุ๋ยในสวนส้มโอ

สวนส้มโอที่ปลูกในพื้นที่ลุ่ม จะใส่ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีควบคู่กันไป แนะนำให้ใช้ปุ๋ยขี้ค้างคาวเป็นหลัก โดยใส่ปุ๋ยขี้ค้างคาวปีละ 2 ครั้ง ในช่วงก่อนขึ้นน้ำประมาณเดือนมกราคมและเดือนพฤษภาคม ในอัตราต้นละ 18-20 กิโลกรัม (ต้นส้มโอให้ผลผลิตแล้ว) ส่วนปุ๋ยเคมี นิยมใช้สูตร 16-16-16 ใส่ต้นส้มโอในช่วงก่อนขึ้นน้ำใส่พร้อมกับปุ๋ยขี้ค้างคาว และใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต ประมาณ 30 วัน เน้นใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 เพื่อเร่งความหวานของผลผลิตส้มโอ ในช่วงที่ต้นส้มโอพร้อมให้ผลผลิต ต้นส้มโอพร้อมเก็บเกี่ยวรุ่นใหญ่ๆ 2 รุ่น คือ เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และรุ่นที่ 2 เก็บเกี่ยวผลผลิตเดือนกรกฎาคม-กันยายน สำหรับปุ๋ยเคมี สูตร 12-12-17+2 แมกนีเซียม จะใส่เป็นประจำทุกปี เพื่อฟื้นสภาพต้นส้มโอในเดือนกันยายน

การใส่ปุ๋ยสวนส้มโอที่ให้ผลผลิตแล้วที่ปลูกแบบสภาพไร่ ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 เพื่อสะสมอาหาร เดือนพฤษภาคม ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-16 เพื่อเร่งการแตกใบอ่อนและเร่งการเจริญเติบโตทางต้น เดือนสิงหาคม ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 เพื่อเร่งความหวานและควบคุมการเจริญเติบโตของผลไม่ให้มีผลขนาดใหญ่เกินไป และช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 12-12-17+2 แมกนีเซียม ใส่กระดูกป่นเป็นประจำทุกปีในช่วงต้นฤดูฝน คือ ช่วงเดือนพฤษภาคมใส่ใส่ต้นละ 1-2 กิโลกรัม ช่วยให้ต้นส้มโอมีความสมบูรณ์แข็งแรง และทำให้ผลผลิตส้มโอมีคุณภาพดียิ่งขึ้น

การจัดการโรคและแมลง

ส้มโอต้นเล็กที่เริ่มปลูกจนถึงอายุ 3 ปี (ต้นอายุ 3 ปี ยังไม่ให้ผลผลิต) ต้องเฝ้าระวังหนอนชอนใบและโรคแคงเกอร์ที่มักระบาดมากในช่วงต้นส้มเล็ก หากเกษตรกรควบคุมหนอนชอนใบไม่ได้ ปัญหาโรคแคงเกอร์จะแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้นไปด้วย เมื่อต้นส้มโออายุมากขึ้น ปัญหาเรื่องโรคแคงเกอร์น้อยลง เกษตรกรต้องควบคุมและกำจัดหนอนชอนใบให้ได้ รวมทั้งคอยดูแลจัดการสวนให้สะอาด โล่งเตียน พร้อมตัดแต่งกิ่งเป็นทรงพุ่ม โปร่ง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก

ช่วงที่ส้มโอออกดอกและติดผลอ่อนนั้น เกษตรกรต้องป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟโดยการฉีดพ่นสารฟิโพนิล ในอัตรา 100 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร (10 ปี๊บ) ฉีดพ่นสารฟิโพนิลตั้งแต่ส้มโอเริ่มออกดอก จนถึงระยะของผลส้มโอมีขนาดใหญ่เท่ากับผลมะนาว (ผลมะนาวที่แก่และเก็บเกี่ยวได้แล้ว) ส่วนการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในสวนส้มโอ ควรใช้สารเคมีสลับกันตลอดเวลา เพื่อป้องกันปัญหาโรคแมลงดื้อยา

กรณีปัญหาโรครากเน่าและโคนเน่าที่มักพบในสวนส้มโอนั้น เกษตรกรควรเน้นวิธีป้องกันเป็นหลัก หากปล่อยให้เกิดโรคแล้ว จะแก้ปัญหาได้ยากมาก ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถใช้วิธีการสังเกตการเติบโตของต้นส้มโออย่างต่อเนื่อง หากพบว่า ใบต้นส้มโอเริ่มมีอาการแสดงออกมาทาง โคนต้นและราก แสดงว่า ต้นส้มโอติดโรคหนักมากแล้ว ดูแลรักษาได้ยากมาก

เคล็ดลับสำคัญในการป้องกันการระบาดของโรครากเน่าและโคนเน่าที่ได้ผลดีคือ ปรับสภาพร่องปลูกให้เรียบ อย่าให้มีน้ำขังเฉอะแฉะ หากปล่อยให้ต้นส้มโอมีลูกดก มีส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นส้มโอทรุดโทรม และมีโอกาสเกิดโรคได้ง่าย ดังนั้น เกษตรกรควรไว้ผลส้มโอพอประมาณ โดยปกติต้นส้มโอที่ให้ผลผลิตแล้วมักฉีดพ่นสารอาลีเอท ใน อัตรา 500 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร เฉลี่ยปีละ โดย  2 ครั้ง คือ ช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน สารอาลีเอทจะฆ่าเชื้อราไฟท็อปทอร่า ซึ่งเป็นสาเหตุของโรครากเน่าและโคนเน่าโดยตรง และช่วยกระตุ้นเพิ่มปริมาณของรากส้มโอที่เกิดขึ้นมาใหม่

คาดหวังว่า เคล็ดลับเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนเกษตรกรชาวสวนส้มโอสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ปลูกดูแลสวนส้มโอให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ป้อนเข้าสู่ตลาดได้เพิ่มขึ้นในอนาคต

…………..

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่