พีนัทบัทเตอร์ หรือต้นเนยถั่ว ไม้ประดับกินได้…ไม้ดีที่ทับกวาง

เห็นผลไม้ที่ปลูกประดับสวนและปลูกเรียงรายอย่างเป็นรูปแบบภายในสวนของ คุณสุพัฒนา นิรังกูล ที่สระบุรี เห็นสีสันของผลไม้สุกและดกเต็มต้นแล้วแถมยังกินได้อีก…นั่นแหละ…ใช่เลย คำพูดที่เปื้อนยิ้มนี้อาจจะตรงใจของท่านผู้อ่านหลายท่านที่เห็นภาพแล้วคิดออกเลยว่า อยากนำมาปลูกไว้ที่บ้านประดับสวนสักต้นสองต้น ชื่อพีนัทบัทเตอร์ (peanut butter) ฟังชื่อแล้วแน่นอนต้องมาจากต่างถิ่นที่ไม่ใช่แถบเอเชีย ใช่แล้วมาจากทางอเมริกาใต้ แต่น่าตื่นเต้นที่ปลูกได้ดีในบ้านเรา เพราะพืชชนิดนี้เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน

คุณสุพัฒนา นิรังกูล กับต้นพีนัทบัทเตอร์ อายุ 3 ปี ที่ให้ผลผลิตแล้ว

สวนของ คุณสุพัฒนา นิรังกูล อยู่ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ผู้เขียนขอความรู้เรื่องการปลูกพืชที่เป็นไม้ประดับกินได้อันนี้ ทำเงินได้อย่างไร และขอคำแนะนำเผื่อท่านผู้อ่านที่มองหางานที่สร้างรายได้ โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 นี้ คุณสุพัฒนา กล่าวว่า “ที่สวนพยามหาพืชใหม่ๆ มาปลูกก็เพราะเหตุผลนี้แหละ ได้ปลูกพืชชนิดนี้มาหลายปีแล้ว จนออกตลาดแล้วก็อยากจะแนะนำให้คนนำไปต่อยอดได้ อาชีพเกษตรไม่มีวันตาย การปลูกพืชไม้ประดับกินได้นี้…หนึ่งในพืชที่น่าปลูกก็คือ ต้นพีนัทบัทเตอร์ หรือต้นเนยถั่ว ทางฝรั่งเขาเปรียบเทียบความหนืดข้นของผลไม้ชนิดนี้เหมือนเนยถั่ว ก็อาจสันนิษฐานได้ว่ามาจากความเหมือนแบบนี้ก็นำมาตั้งชื่อผลไม้ชนิดนี้ แต่ถ้าอธิบายให้เห็นภาพก็คล้ายๆ กับผลไม้กวนบ้านเรา แต่ความเหนียวของผลไม้ชนิดนี้น้อยกว่า”

ความข้นเป็นเนื้อครีมของเนื้อในและผลที่พร้อมกิน

คุณสุพัฒนา บอกว่า ที่แนะนำให้นำไปต่อยอดเพาะขาย เพราะว่าสามารถนำเมล็ดไปเพาะได้แล้วยังขายง่าย เป็นที่สะดุดตาของผู้คนที่พบเห็น เพราะว่าสีของผลไม้ที่มีทั้งเขียว ส้ม และแดงสด ทำให้สะดุดตา ผู้คนผ่านไปมาก็แวะมาถาม โดยเฉพาะเวลาไปออกงานขายต้นไม้และขายทางเฟซบุ๊ก ก็พอที่จะทำเงินได้

ผลไม้เนยถั่ว พีนัทบัทเตอร์ ปลูกไว้ประดับบ้านก็สวย เป็นผลไม้จากเขตร้อนของแถบอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นแนวเขตร้อนเหมือนบ้านเรา เป็นผลไม้ปลูกง่าย และการดูแลก็ง่ายๆ ปลูกไว้เป็นร่มเงาหน้าบ้านก็ดี เป็นไม้ทรงพุ่มเตี้ยถึงกลางๆ

เนื้อในที่มีเมล็ด 2 เมล็ด

ต้นไม้พุ่มเตี้ยที่ปลูกได้ทั้งในกระถางและลงดิน เป็นต้นไม้ที่ดึงดูดสายตา ด้วยสีสันของดอกที่มีสีเหลืองกระจุก ตามด้วยผลไม้สีแดงส้มและแดงเข้มเป็นพวง ที่มีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร เนื้อหวานเข้มข้นมีเนื้อสัมผัสคล้ายเนยถั่ว ท่านผู้อ่านคงจะเคยเห็นเนยถั่วที่เป็นขวดคล้ายแยมสำหรับทาขนมปังหรือทาบนแป้งเครปร้อนๆ รูปลักษณ์และความข้นคล้ายเนยถั่ว แต่รสชาติไม่เหมือนเนยถั่ว

เป็นที่น่าตื่นเต้นสำหรับผลไม้แปลก แต่ให้สีสันสวยงามตั้งแต่ใบ รูปทรงของต้น และดอก จนมาถึงผลที่มีสีสวยงามแถมยังกินได้อีกด้วย

ดอกและผลที่สวยงามประดับสวน

โดยความคิดเห็นของคนทั่วไป ส่วนใหญ่ต้องการปลูกต้นไม้หรือไม้ดอกไม้ประดับ ยิ่งถ้ามีลูกกินได้นั่นแหละเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น และทำให้สดชื่น ผ่อนคลาย ไม่น่าเชื่อว่าพีนัทบัทเตอร์นั้นปลูกได้และให้คุณค่าทางด้านจิตใจและสิ่งแวดล้อม

สร้างรายได้อย่างไร

ผลที่สุกไล่เลี่ยกันและเมล็ดใน

ที่สวนคุณสุพัฒนา สระบุรี ได้ปลูกไม้แปลกชนิดนี้ด้วย และสร้างรายได้ให้แก่คุณสุพัฒนาไม่น้อยทีเดียว คุณสุพัฒนาแนะนำว่า ปลูกไม้ดอกไม้ประดับเป็นการค้า อยากให้หลายๆ ท่านที่อ่านบทความนี้นอกจากการอ่านแล้วยังสร้างรายได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำอีกด้วย เพราะปัจจุบันนี้งานก็หายากและยังตกงาน การทำสวนต้นไม้ขายนั้นเป็นการสร้างรายได้ด้วยต้นทุนต่ำ และยังใช้เนื้อที่ไม่มากด้วย การดูแลก็ง่าย การทำสวนไม้ผลนั้นต้องใช้พื้นที่มากเพื่อให้ได้ผลผลิตที่คุ้มค่าทุน แต่ก็มีการทำสวนไม้ประดับนั้นใช้เนื้อที่ไม่มากจึงเหมาะสำหรับสร้างอาชีพอีกแบบหนึ่ง

ผลที่เก็บได้ 2 วัน ในอุณหภูมิห้อง ที่ให้สีแดง

ผลไม้พีนัทบัทเตอร์ ที่มีเนื้อสัมผัสเหมือนเนยถั่ว ผลไม้แปลกใหม่นี้ปลูกง่าย แต่ยังไม่มีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย ถ้ามีการแนะนำที่ดีก็จะเป็นผลไม้ที่มีแนวโน้มการตลาดที่ไปได้ด้วยดี เพราะนำไปแปรรูปได้ สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการรวมกลุ่มกันปลูก

ปัจจุบันในบ้านเรามักจะมีผลไม้แปลกนำเข้ามาปลูก ซึ่งก็ได้ผลดีอาจจะปลูกเป็นไม้ประดับบ้างและปลูกเพื่อบริโภคบ้าง แต่ก็ล้วนสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เป็นรายได้เสริมของสวนผสม ที่เป็นเกษตรพอเพียงไปด้วย ส่วนราคาขายก็จะขายอยู่ที่ 100-200 บาท ส่งทั่วประเทศ 

มารู้จักผลไม้ เนยถั่ว กันเถอะ

ผลดกเป็นพวงเริ่มจะแก่

ผลไม้เนยถั่วหรือพีนัทบัตเตอร์ คือชื่อผลไม้เนยถั่วที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ Bunchosia argentea เป็นไม้พื้นเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของอเมริกาใต้ (โคลัมเบีย เอกวาดอร์ โบลิเวีย เวเนซุเอลา บราซิล และเปรู) ชื่อสามัญ Bunchosia, Green Plum, Monk’s Plum, Peanut Butter Fruit, Peanut Butter Tree ชื่อในภาษาอื่น บราซิล : Ameixa-Do-Peru, Ameixa -Do-Para, Caferana, Cafezinho, Caramel มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ต้นผลบันโชเซีย  เป็นไม้ประดับที่มีดอกสีเหลืองสดใสและผลสีแดงที่ให้ผลผลิตพร้อมกัน ชื่อสามัญยอดนิยมของพืชบางชนิด ได้แก่ Bunchosia, Green Plum, Monk’s Plum, Peanut Butter Fruit และ Peanut Butter Tree ชื่อ Bunchosia มาจากคำภาษาอาหรับคือ bunchos หมายถึง กาแฟ เนื่องจากความคล้ายคลึงของ pyrenes ที่มีเมล็ดของผลไม้กับเนื้อของ Coffea Arabica ชื่อพันธุ์หมายถึงรูปร่างและสีของผลคล้ายกับแอปริคอต ต้นไม้ยังปลูกเพื่อผลไม้ที่กินได้ ลักษณะของผลไม้ที่บอบบางและเน่าเสียง่าย บางคนเชื่อมผลไม้กับมันเทศที่ปรุงสุกแล้วในขณะที่เรียกอีกอย่างว่าผลไม้เนยถั่ว เนื่องจากเนื้อสัมผัส (แต่ไม่ใช่รสชาติที่คล้ายกับเนยถั่ว)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เนื้อในเป็นครีมข้น น่ากิน

ผลไม้เนยถั่ว เป็นไม้ยืนต้นเขตร้อนที่เขียวชอุ่มและบึกบึนขนาดเล็กที่มีความสูงประมาณ 2-4 เมตร (6-13 ฟุต) พบพืชขึ้นในป่าหินปูนที่แห้งและชื้นใกล้ชายฝั่งเป็นที่ราบลุ่มที่มีหินแห้งและโดยปกติชอบดินร่วนชื้นและอุดมสมบูรณ์ที่อุดมด้วยอินทรียวัตถุ ไม่ชอบดินที่เปียกและเป็นโคลน ลำต้นมีลักษณะเป็นซี่ๆ อย่างต่อเนื่อง ลำต้นที่มีอายุมากจะมีลักษณะเกลี้ยงเกลา ต้นไม้มีลักษณะแข็งแผ่กิ่งก้าน ใบย่อยรูปใบหอกสั้นถึงรูปไข่ ใบมีหนาม ความยาวของใบ 10-27 เซนติเมตร และกว้าง 5-10 เซนติเมตร โคนใบมนเป็นรูปลิ่มมีลาย ขอบใบแหลมมีเกล็ดประปรายทั้งสองด้าน เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่หรือต้นไม้ขนาดเล็ก ที่มีการเติบโตปานกลางถึงเร็ว สูงประมาณ 10-15 เมตร ชอบอากาศร้อนแห้ง

ลักษณะผล

ผิวผลบางสีส้มหรือสีแดง ยาว 1 นิ้ว กินได้เนื้อนุ่มเหนียว เนื้อแน่นคล้ายเนยถั่วและเยลลี่ หวานปกติ มีเมล็ด 2 เมล็ด ผลสุกมีรสชาติหวาน ผลดิบจะมันๆ จืดคล้ายกินถั่วลิสง ควรเก็บผลสุกในตอนที่มีสีส้ม เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง 2 วัน ผลจะเริ่มนิ่มและเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม

สีผลสวยงามประดับสวน

เดือนที่ให้ผลผลิต ใน 1 ปี จะเก็บผลผลิตได้ 2-3 ครั้ง ถือว่าให้ผลผลิตทั้งปีก็ว่าได้ เก็บเกี่ยวทันทีที่ผลไม้เปลี่ยนเป็นสีส้มเข้มหรือแดงเข้มและเนื้อยังเต่งตึง รสชาติจะเปลี่ยนไปในวันถัดไป หากผลไม้ถูกทิ้งไว้บนต้นหลังจากสุกจะให้สีที่เข้มขึ้น รสชาติก็จะหวานขึ้น ผลไม้แห้งเปรียบได้กับมะเดื่อแห้งหรือลูกพลับ

การเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว หากเลือกเมื่อเนื้อแข็งสามารถทิ้งไว้บนโต๊ะที่อุณหภูมิห้องเพื่อให้นิ่มได้ เมื่อนิ่มแล้วสามารถนำไปแช่เย็นได้ 2-3 วัน ผลไม้ชนิดนี้เน่าเสียง่ายมาก และควรกินสดหรือปรุงสุก แช่แข็งหรือผ่านกระบวนการทำให้แห้งอย่างรวดเร็ว

ดอกไม้และผลไม้

ช่อดอกที่ซอกใบขนาดกะทัดรัด ยาว 8-15 เซนติเมตร มีดอกกะเทยสีเหลืองจำนวนมากบนก้านใบยาว ผลไม้เกิดเป็นกระจุกทำให้ดูเป็นไม้ดอกที่สวยงาม ผลไม้มีกลิ่นที่ชวนให้นึกถึงเนยถั่วและรสหวาน ซึ่งเทียบได้กับมันเทศและมะเดื่อแห้ง เมื่อสุกแล้วต้องเก็บเกี่ยวผลไม้เนยถั่วทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เน่าเสียบนต้นไม้ เนื่องจากลักษณะของผลไม้ที่บอบบางจึงไม่เหมาะสำหรับการขนส่ง ผลไม้ส่วนใหญ่กินสดและใช้เป็นเยลลี่แยมหรือแยม ต้นเนยถั่วจะบานหลายรอบตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนตุลาคม ฤดูติดผลคือฤดูร้อน

วิธีการปลูก

ลักษณะดอกก็ดูสวยงาม ตัดประดับแจกันได้

ต้นไม้ชนิดนี้  ชอบแสงแดดยามเช้าและร่มเงาในช่วงบ่าย สามารถปลูกได้ในภาชนะขนาดใหญ่ที่ระบายน้ำได้ดี  เช่นกระถาง หรือ วงบ่อ เป็นต้นไม้ที่มีการเจริญเติบโตเร็ว ควรปลูกในที่แดดจัด ความต้องการน้ำปานกลาง เช้า เย็น

ดิน ปลูกได้ในดินทุกชนิด การบำรุงรักษาต่ำ แต่ต้องการการระบายน้ำดี ทนแล้ง ต้นไม้ชนิดนี้มีรากฝอยเยอะมาก  ปลูกเพื่อป้องกันการทลายของดินได้ดี

ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยคอกทุก 2 เดือน เรื่องของการให้น้ำระยะ 2-3 ปีแรก ก็ให้น้ำบ่อยๆ ได้ หลังจาก 3 ปีไปแล้วจะปรับตัวได้ดีกับสภาพแล้งได้ ถือว่าเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี หรือบำรุงด้วยปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือปุ๋ยออสโมโค้ท 3 เดือน ช่วงที่ออกดอก ให้ฉีดฮอร์โมน แคลเซียม โบรอน จะทำให้ติดผลง่าย และเพิ่มปุ๋ยทางราก สูตร 8-24-24

การขยายพันธุ์ การเพาะเมล็ดและการปักชำราก การเพาะเมล็ดจะเริ่มออกผล 2-3 ปี จากกิ่งตอน 1 ปี

ผลสุกส่วนใหญ่กินสด นอกจากนี้ ยังใช้สำหรับเยลลี่แยมมัฟเฟินหรือแยม และเครื่องดื่มมิลค์เชค ผลพีนัทบัทเตอร์สามารถแช่เย็นและแช่แข็งได้ ผลสุกส่วนใหญ่กินสด

สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ คุณสุพัฒนา นิรังกูล 199/7 หมู่ที่ 6 ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เบอร์โทร. 080-661-8899

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563