เทคนิคการปลูกส้มเขียวหวาน ให้ได้ผลผลิตดี มีผลผลิตออกขาย 100,000 กิโลกรัม ต่อปี

หลายคนคงจดจำความอร่อยของตำนาน “ส้มบางมด” ได้ขึ้นใจ ความจริง ส้มบางมดก็คือ ส้มเขียวหวาน อยู่ในตระกูลส้มแมนดาริน นิยมปลูกแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยอดีต มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ส้มกำนันจุล  ส้มเพชรบูรณ์ ส้มสีทองจังหวัดน่าน ส้มศรีสัชนาลัย ส้มบางมด ส้มรังสิต ส้มกลุ่มนี้คือ ส้มเขียวหวานทั้งหมด แต่ปลูกในระดับอุณหภูมิที่ไม่เหมือนกัน ช่วงกลางคืนกับช่วงกลางวัน มีอุณหภูมิแตกต่างกันประมาณ 14 องศาเซลเซียส ผลส้มจะสร้างสีที่เข้มขึ้น สังเกตส้มเขียวหวานที่ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือจะมีสีผิวเข้มกว่าส้มที่ปลูกทางตอนใต้

สาเหตุที่ต้นส้มที่ปลูกในพื้นที่ภาคกลาง ถูกเรียกว่า “ส้มเขียวหวาน” เพราะเป็นผลส้มแก่ที่มีเปลือกสีเขียวและมีรสหวาน เนื่องจากพื้นที่ภาคกลางไม่มีความแตกต่างด้านอุณหภูมิ (ช่วงกลางวัน-กลางคืน) เหมือนกับต้นส้มที่ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือนั่นเอง ส่วนส้มสายน้ำผึ้ง หรือส้มโชกุน ความจริงเป็นต้นส้มเขียวหวานที่กลายพันธุ์ไป เมื่อนำต้นส้มเขียวหวานไปปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ ผลส้มก็กลายเป็นสีเหลือง เมื่อนำต้นส้มไปปลูกที่หาดใหญ่ ชุมพร ซึ่งอุณหภูมิไม่ต่างกัน ผลส้มมีเปลือกเป็นสีเขียว ถูกเรียกว่า ส้มโชกุนเขียว

เยี่ยมชมสวนส้มนายแป๊ะ

คุณสุชาติ ธนะพฤกษ์ หรือ “คุณแป๊ะ” โทร. (081) 374-5226 เจ้าของสวนธนะพฤกษ์ หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า “สวนนายแป๊ะ” เนื้อที่ 70 ไร่ ตั้งอยู่เลขที่ 182 หมู่ที่ 2 ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบันปลูกส้มเขียวหวาน เนื้อที่ 50 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 20 ไร่ ใช้ปลูกฝรั่งพันธุ์หวานพิรุณ และทุเรียน

คุณสุชาติ ธนะพฤกษ์ กับ “ต้นส้ม” แสนรัก

คุณแป๊ะ ได้ประยุกต์ภูมิปัญญาชาวสวนส้มบางมดมาใช้ในการบริหารจัดการสวนส้มแห่งนี้ โดยปลูกส้มเป็นไม้ประธาน ในระยะห่าง 3.5 เมตร พร้อมปลูกทุเรียนหมอนทองเป็นพืชร่วมแปลง ในระยะห่าง 8-12 เมตร พื้นที่ว่างที่เหลือจะใช้ปลูกพืชล้มลุกอายุสั้นคือ มะเขือยาว กล้วย เป็นพืชเสริมรายได้ระหว่างรอเก็บส้มในปีที่ 3

เขาให้ปุ๋ยต้นส้ม ตามหลักเรโชปุ๋ย และสอดคล้องกับความต้องการของพืช เช่น ช่วงเร่งผลจะใช้ เรโชปุ๋ย 3:1:2 ช่วงปรับปรุงผลผลิต ใช้เรโชปุ๋ย 1:1:2 เมื่อต้องการเร่งดอกใช้เรโชปุ๋ย 1:2:2 โดยจะให้ปุ๋ยต่อไร่เพียงบางๆ ตามขนาดทรงพุ่ม   สำหรับพื้นที่ 6×6 เมตร จะให้ไม่เกิน 1 กิโลกรัม รวมทั้งใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือน เพื่อให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าไปช่วยย่อยสารอาหารในดิน กระตุ้นการดูดซึมธาตุอาหารของรากพืชได้ดีขึ้น ช่วยกระตุ้นความหวานแก่ผลส้มอีกทางหนึ่ง

“ต้นหญ้า” เป็นตัวช่วยดีที่สุด ในการปรับปรุงคุณภาพดินภายในสวนส้มแห่งนี้ เพราะรากหญ้าจะทำหน้าที่พรวนดินในแปลงส้มตลอดเวลา ช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน จะปล่อยให้ต้นหญ้าเติบโตตามธรรมชาติ เพื่อทำหน้าที่รักษาความชื้นบนผิวดิน หลังจากนั้นจะตัดหญ้าในสวนส้มให้โล่งเตียนสวยงาม เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นหญ้าอุ้มน้ำในช่วงฤดูฝน

ด้านตลาด

ในปี 2559 ผู้บริโภคสามารถซื้อส้มได้ในราคาต่ำสุด อยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท ราคาสูงสุดอยู่ที่ 150 บาท โดยคุณแป๊ะ ขายส่งส้มเข้าตลาดไทได้ในราคาต่ำสุด อยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท ราคาขายสูงสุด อยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท สวนคุณแป๊ะ สามารถเก็บผลส้มออกขายได้ประมาณ 100,000 กิโลกรัม ต่อปี โดยผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งขายตลาดไท และเริ่มพัฒนาช่องทางการขายใหม่สู่ “ตลาดโลจิสติกส์” โดยเก็บส้มแก่คุณภาพดี เกรดพรีเมี่ยม อายุ 10-11 เดือน ที่มีรสชาติอร่อย ส่งขายผู้บริโภคปลายทาง ผ่านทางระบบไปรษณีย์ขนส่ง

ผลส้มเขียวหวานที่เตรียมเก็บเกี่ยว

“ส้มเขียวหวาน ที่เข้าสู่ตลาดประมาณเดือนธันวาคม ถือว่ามีรสชาติอร่อยสุดในรอบปี เพราะต้นส้มเจริญเติบโตอย่างเต็มที่หลังผ่านฤดูฝน และช่วงฤดูหนาวเป็นระยะที่ต้นไม้พักตัว จะไม่มีการแตกใบอ่อนหรือแตกราก อาหารที่ปรุงได้ทั้งหมดก็จะถูกเก็บสะสมในผลส้ม ทำให้ผลส้มในรุ่นปลายหนาวนี้มีรสชาติอร่อยสุด” คุณแป๊ะ กล่าว

ทุกวันนี้ ผลผลิตส้มที่เกษตรกรไทยปลูกได้ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ จนต้องนำเข้าส้มจากประเทศจีนมาจำหน่าย แต่ส้มจีนไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากลัว เพราะส้มจีนที่แช่เย็นมาขายในไทย มีช่วงระยะเวลาการขายสั้นๆ แค่ปีละ 2 เดือน เท่านั้น (ตุลาคม-พฤศจิกายน)

ส้มเปลือกล่อน รสชาติหวานอร่อย

คุณแป๊ะ กล่าวว่า ปีก่อนส้มจีนช่วงเก็บเกี่ยวโดนฝน ทำให้ผลผลิตคุณภาพไม่ดี เมื่อนำออกจากห้องเย็นมาวางขายในไทย คนซื้อต้องกินให้หมดภายใน 48 ชั่วโมง ก่อนส้มเน่า ทุกวันนี้ จีนเผชิญกับผลกระทบจากภาวะเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ทำให้ส้มจีนส่งเข้ามาขายในไทยไม่เยอะเท่าไร นอกจากนี้ ยังพบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน ผู้นำเข้าผลไม้ของจีนหันมาสั่งซื้อส้มเขียวหวานจากไทยในราคาสูง เพื่อนำมาใช้ไหว้เจ้าจนถึงเทศกาลสารทจีน

แนะนำการลงทุน

สำหรับผู้สนใจลงทุนทำสวนส้มอย่างมืออาชีพ คุณแป๊ะให้คำแนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงปลูกส้มซ้ำในแหล่งเดิมที่มีปัญหาโรคส้ม เช่น โรคกรีนนิ่ง ฯลฯ เพื่อความเสี่ยงจากปัญหาขาดทุน เพราะแหล่งปลูกส้มเดิม แม้เลิกปลูกส้มไปนานแล้วแต่ยังมีเชื้อโรคกรีนนิ่งแฝงอยู่กับต้นไม้กลุ่มอื่น โดยเฉพาะพืชตระกูลแตง ฯลฯ ส่งผลให้ต้นส้มที่ปลูกใหม่ มีโอกาสเสี่ยงรับเชื้อโรคกรีนนิ่งได้ง่ายขึ้น

การปลูกส้มเชิงการค้าให้ประสบความสำเร็จ ปัจจัยสำคัญที่ควรนำมาพิจารณา ได้แก่

  1. ทำเลเหมาะสม ไม่ควรปลูกส้มในแหล่งที่เคยมีการแพร่ระบาดของโรคกรีนนิ่ง
  2. มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับใช้ดูแลสวนส้มได้ตลอดทั้งปี แม้ส้มจะเป็นพืชที่ทนทานความแห้งแล้งได้ดีก็ตาม หากหวังให้ต้นส้มมีผลผลิตที่ดี ก็ต้องใช้น้ำค่อนข้างเยอะ
  3. ปัจจัยเรื่อง “ดิน” พื้นที่รังสิต ที่เคยปลูกส้มนับแสนไร่ในอดีต ก็ไม่ใช่ดินที่ดีสำหรับปลูกส้ม เพราะดินรังสิตมีค่าความเป็นกรดจัด แต่เกษตรกรปรับปรุงคุณภาพดินด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น เติมปูนขาว วิธีการตากดิน เทคนิคการรดน้ำ ฯลฯ จนดินมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการเติบโตของต้นส้มและให้ผลผลิตที่ดี ทุกวันนี้การหาดินที่มีคุณภาพดีสำหรับปลูกส้ม ยังคงเป็นเรื่องยาก เรื่อง “ดิน” เป็นปัญหาด้านการจัดการมากกว่า เมืองไทยมีนักวิชาการด้านดินอยู่มากพอสมควร หากมีปัญหาเรื่องดิน ควรขอคำแนะนำเรื่องการจัดการดินจากนักวิชาการโดยตรงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
  4. สายพันธุ์ส้ม เป็นปัจจัยสำคัญที่คุณแป๊ะเน้นมาก ให้เลือกซื้อต้นพันธุ์ส้มปลอดโรคมาปลูก เพราะหากนำต้นส้มติดเชื้อโรคกรีนนิ่งมาปลูก โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการทำสวนส้มแทบจะไม่มีเลย
  5. มีทุนทรัพย์เพียงพอสำหรับการลงทุน เพราะการบุกเบิกที่ดินเปล่า พัฒนาระบบน้ำ ค่าปุ๋ย ค่ายา สำหรับปลูกดูแลสวนส้มจนได้ผลผลิตออกขาย ต้องใช้เงินลงทุน ประมาณไร่ละ 100,000 บาท หลังจากนั้น ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงจะคืนทุนได้สำเร็จ

แต่สำหรับสวนส้มของคุณแป๊ะใช้เงินลงทุนไม่มาก เพราะใช้วิธีปลูกมะเขือยาว กล้วยน้ำว้า เป็นพืชเสริมรายได้ในแปลงต้นส้ม หลังปลูกประมาณ 40-50 วัน สามารถเก็บมะเขือยาวออกขายต่อเนื่องเป็นเวลา 4 เดือน หลังจากปลูก-เก็บเกี่ยวกล้วยออกขายได้ 4 รุ่น ในระยะเวลา 2 ปี ก็รื้อแปลงกล้วยออก ช่วงนี้ต้นส้มก็พร้อมให้ผลผลิตรุ่นแรกออกขายได้แล้ว

 

ความมหัศจรรย์ ของ “ส้ม”

ทั่วไปตั้งแต่ต้นส้มออกดอก จนพัฒนาเป็นผลส้ม จะใช้เวลาปลูกดูแลประมาณ 7 เดือน ส้มอายุ 7 เดือน จะมีรสเปรี้ยวนำ มีรสหวานปนบ้างนิดหน่อย ส้มอายุ 8 เดือน จะมีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน ส้มอายุ 9 เดือน จะมีรสหวานอมเปรี้ยว  ส้มอายุ 10 เดือน จะมีรสชาติหวานฉ่ำ

คุณแป๊ะ เล่าถึงความมหัศจรรย์ของพืชตระกูลส้ม ได้แก่

  1. เป็นพืชวิเศษชนิดหนึ่ง ที่สามารถเก็บผลผลิตอยู่บนต้นได้นานถึง 4 เดือน เกษตรกรจะเก็บผลผลิตวันไหนก็ได้ในระยะ 4 เดือนนี้ สำหรับผลผลิตในเดือนที่ 1 ส้มจะมีรสชาติเปรี้ยว เดือนที่ 2 ส้มมีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน เดือนที่ 3 หวานอมเปรี้ยว เดือนที่ 4 รสชาติหวานเจี๊ยบ ดังนั้น เกษตรกรจึงมีช่วงเวลาของการขายส้มนานถึง 4 เดือน ไม่ต้องรีบเก็บผลผลิตออกขาย จนโดนพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อเหมือนไม้ผลชนิดอื่น
  2. ส้ม เป็นผลไม้ที่มีโอกาสทางการตลาดตลอดทั้งปี เพราะคนไทยนิยมใช้ผลส้มบูชาพระ เช่นเดียวกับคนจีนที่ใช้ผลส้มไหว้เจ้าเพื่อเสริมสิริมงคล ดังนั้น ตลาดส้ม ไม่มีวันตัน เกษตรกรมีโอกาสขายส้มในช่วงเทศกาลวันพระทุกๆ 15 วัน ไม่รวมกับเทศกาลไหว้เจ้าของคนจีนที่มีตลอดปี
  3. ส้ม เป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตทุกๆ 4 เดือน ประมาณปีละ 2-3 ครั้ง ทุกวันนี้ ส้ม เรียกได้ว่าเป็นผลไม้ที่ไม่มีฤดูกาลตายตัว เพราะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดได้เกือบทั้งปี เกษตรกรสามารถเลือกเก็บส้มออกขายได้ตามต้องการ และสามารถวางแผนจัดการตลาดได้อย่างสม่ำเสมอ

“การปลูกส้ม ก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว เพราะส้มเป็นพืชตระกูลเดียวกับมะนาว มีปัญหาเรื่องโรคแมลง เช่น เพลี้ยไฟ หนอนชอนใบ โรคแคงเกอร์ โรครากเน่าและโคนเน่า โรคผลร่วง ฯลฯ กล่าวโดยสรุป การทำสวนส้มมีเทคนิคดูแลจัดการเหมือนกับต้นมะนาวทั้งหมด หากต้องการประสบความสำเร็จในการทำสวนส้มเชิงการค้า เคล็ดลับสำคัญอยู่ที่การดูแลระบบรากต้นส้มให้มากกว่าต้นมะนาวสักหน่อย เพราะรากต้นส้มอ่อนแอกว่าต้นมะนาว” คุณแป๊ะ กล่าว

 

“ผีเสื้อมวนหวาน” ศัตรูสำคัญในสวนผลไม้

คุณแป๊ะ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา แหล่งปลูกผลไม้ในหลายจังหวัด เช่น สวนส้มจังหวัดปราจีนบุรี สวนมะละกอฮอลแลนด์ในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา สวนลองกองจังหวัดอุตรดิตถ์ ฯลฯ ต่างประสบปัญหาการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช คือ “ผีเสื้อมวนหวาน” ในวงกว้าง สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้สูญเสียรายได้ถึงหลักล้าน

ผีเสื้อมวนหวาน
ผลส้มที่โดนผีเสื้อมวนหวานเจาะกินผล

ความจริง “ผีเสื้อมวนหวาน” ก็คือ ผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง อาศัยตามป่าธรรมชาติ โดยกินผลไม้ป่าเป็นอาหาร ในอดีตพบการแพร่ระบาดของผีเสื้อมวนหวานในสวนผลไม้ที่อยู่ใกล้กับป่าธรรมชาติ เช่น จันทบุรี ตาก เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ฯลฯ แต่ระยะ 1-2 ปีนี้ กลับพบการแพร่ระบาดผีเสื้อมวนหวานในสวนผลไม้ทั่วไปมากขึ้น สันนิษฐานว่าเป็นผลพวงจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีหลัง ทำให้ผลไม้ป่าตามธรรมชาติมีน้อยลง ทำให้ผีเสื้อมวนหวานต้องย้ายถิ่นเข้ามาโจมตีสวนผลไม้ของเกษตรกรมากขึ้น

สวนส้มเขียวหวานของ สวนนายแป๊ะ

ครั้งแรกที่คุณแป๊ะเจอการระบาดของผีเสื้อมวนหวาน ช่วงใกล้เก็บเกี่ยว ตอนแรกเขาคิดว่า ผลส้มเสียหายจากปัญหาแมลงวันทอง จนกระทั่งนำผลส้มมาผ่าดูเนื้อข้างใน จึงรู้ว่าคิดผิด เพราะเนื้อส้มเว้าแหว่งหายไปจำนวนหนึ่ง เพราะถูกผีเสื้อมวนหวานที่อยู่ในช่วงตัวเต็มวัยใช้ปากที่แข็งแรงแทงเข้าไปในผลส้ม เพื่อดูดกินน้ำหวานจากผลไม้นั้น ส้มที่ถูกเจาะจะมีรอยแผลเป็นรูเล็กๆ และมียางไหลออกมา ผลจะเน่าเป็นวง รอยแผลนี้จะเป็นช่องทางการเข้าของแมลงวันผลไม้ต่อไป ทำให้ผลส้มจะร่วงในเวลาต่อมา

ผลงานการประดิษฐ์ “กรงดักผีเสื้อมวนหวานไซซ์ใหญ่” ของคุณแป๊ะ

คุณแป๊ะ ทดลองใช้สารเคมีกำจัดผีเสื้อมวนหวาน ปรากฏว่า ไม่ได้ผล เพราะศัตรูพืชชนิดนี้เป็นผีเสื้อที่หากินในช่วงเวลากลางคืน และวางไข่ในแหล่งพืช เช่น ใบย่านาง ใบข้าวสาร และใบบอระเพ็ด ซึ่งเป็นอาหารของผีเสื้อมวนหวาน ระยะตัวหนอน เมื่อสวนผลไม้ในพื้นที่อำเภอนาดี เจอการระบาดของผีเสื้อมวนหวานเป็นครั้งแรกในปี 2558 สำนักงานเกษตรอำเภอนาดี ได้นำกรงดักผีเสื้อมวนหวานมาแจกจ่ายเกษตรกรในพื้นที่ แต่ใช้ไม่ได้ผล เพราะกรงมีขนาดเล็กไป

“ผมจึงได้ปรับปรุงขนาดกรงดักผีเสื้อมวนหวานให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม 4 เท่าตัว คือ ขนาด 50×50 เซนติเมตร และใช้ผลไม้สุกเป็นเหยื่อล่อ โดยตั้งกรงดักไว้รอบสวน ปรากฏว่าใช้งานได้ดี สามารถดักผีเสื้อมวนหวานได้ ครั้งละ 200-300 ตัว ต่อคืน “คุณสุนันท์ พยัคฆฤทธิ์” เกษตรอำเภอนาดี เล็งเห็นข้อดีของการปรับปรุงกรงดักผีเสื้อมวนหวาน จึงจัดหางบประมาณจากโครงการภัยแล้ง จำนวน 100,000 บาท ผลิตกรงดักไซซ์ใหญ่ จำนวน 200 กรง แจกจ่ายให้เกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ในท้องถิ่นได้นำไปใช้ ก็ได้ผลดีเช่นเดียวกัน ปีนี้ ไม่เจอการแพร่ระบาดผีเสื้อมวนหวานมากเท่าเมื่อปีผ่านมา” คุณแป๊ะ กล่าว