การปลูก มะคาเดเมีย ให้ได้ผลดี ต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายอย่าง

มะคาเดเมีย มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ออสเตรเลีย แต่มีนักธุรกิจชาวสหรัฐอเมริกา นำไปพัฒนาต่อยอดที่เกาะฮาวาย มะคาเดเมีย ชื่อดั้งเดิมคือ แมคคาเดเมีย ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ แก่ มร. แมคคาดัม ชาวสก๊อตแลนด์ ด้วยท่านได้ทุ่มเทให้กับมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น แห่งออสเตรเลีย อย่างเต็มความสามารถ

สำหรับประเทศไทยนำเข้ามาทดลองปลูกในปี พ.ศ. 2496 จากฮาวาย มีการวิจัยพันธุ์มาอย่างยาวนาน ระยะแรกไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งเมื่อ ปี พ.ศ. 2515 สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เริ่มพัฒนาการวิจัยอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง จนในที่สุด กรมวิชาการเกษตรได้รับรองพันธุ์มะคาเดเมียให้เป็นพันธุ์แนะนำ จำนวน 3 พันธุ์ คือ

พันธุ์เชียงใหม่ 400 เป็นพันธุ์เบา ทรงต้นขนาดเล็ก เปลือกผลบาง มีเนื้อใน 34-42 เปอร์เซ็นต์ เหมาะสำหรับปลูกบนที่สูง 400 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป

พันธุ์เชียงใหม่ 700 ทรงต้นตั้งตรง ขอบใบเป็นหนามมาก ผลใหญ่ กะลาบาง มีเนื้อผล 32-39 เปอร์เซ็นต์ ปลูกให้ผลดีบนที่สูง จากระดับน้ำทะเลปานกลาง 800 เมตร ขึ้นไป

พันธุ์เชียงใหม่ 1000 ทรงต้นเป็นพุ่มกลม ให้เนื้อใน 34-38 เปอร์เซ็นต์ การเจริญเติบโตและให้ผลมีขนาดใหญ่ จึงให้ผลผลิตสูงกว่าอีก 2 พันธุ์ ที่กล่าวมา

การขยายพันธุ์มะคาเดเมีย ด้วยวิธีทาบกิ่ง

ปัจจัยแวดล้อมสำคัญที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อวางแผนการปลูกมะคาเดเมียให้ได้ผลดี ประกอบด้วย หน้าดินต้องลึก ระบายน้ำได้ดี มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 1,000 มิลลิเมตร ต่อปี ต้องการอุณหภูมิ ระหว่าง 10-32 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะต้องผ่านอุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส อย่างน้อยเป็นเวลา 1 เดือน และอุณหภูมิไม่ควรเกิน 32 องศาเซลเซียส เพราะจะมีผลทำให้กะลาแข็งตัวเร็ว ส่งผลให้เนื้อในมีขนาดเล็กลงไปด้วย ประการสำคัญควรให้ได้รับแสงวันละไม่ต่ำกว่า 10-12 ชั่วโมง และต้องปลูกไม้กันลมให้ด้วย เนื่องจากมะคาเดเมียเป็นไม้ที่มีระบบรากตื้น การหักโค่นมักเกิดขึ้นได้ง่าย

เครื่องกะเทาะกะลามะคาเดเมีย

สรุป กาญจนบุรี ยังไม่เหมาะที่จะปลูกมะคาเดเมีย ต้องการพันธุ์ปลูกและรายละเอียดต่างๆ ติดต่อสอบถามที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร เกษตรกลางบางเขน จตุจักร กทม. ในวัน และเวลาราชการ