เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อผักคะน้าเด็ดยอด ปลูกทีเดียวอยู่ได้หลายปี “ยิ่งเด็ดยอด ยิ่งเกิดยอด”

ผักคะน้าเด็ดยอด หรือ ผักคะน้าปูเล่ เป็นพืชผักตระกูลกะหล่ำ ที่สามารถเจริญเติบโตให้ผลผลิตได้ต่อเนื่องยาวนานหลายปี การใช้ประโยชน์ทำได้โดยเด็ดยอดอ่อนไปประกอบอาหารแบบผักคะน้าได้ทุกเมนู         

หลังจากเด็ดยอดอ่อนไปบริโภคแล้ว ตาข้างที่อยู่ส่วนล่างของยอดเดิมจะสามารถพัฒนาเกิดเป็นยอดใหม่เพิ่มขึ้นมาได้อีกประมาณ 2-3 ยอด ต่อการเด็ดยอดเก่า 1 ยอด ยอดใหม่เหล่านี้จะมีขนาดเหมาะสมต่อการเด็ดไปบริโภคในรอบต่อไปได้อีก เมื่อมีอายุประมาณ 24-26 วัน หลักการสำคัญของการเกิดยอดของผักชนิดนี้จึงสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางวิชาการ ที่เรียกว่า หลักการตายอดข่มตาข้าง (apical dominance) พอสรุปได้ว่า ส่วนปลายยอดของพืชจะผลิตฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่า ออกซิน (auxin) ซึ่งจะถูกลำเลียงจากส่วนยอดไปยังส่วนต่างๆ ของพืชที่อยู่ด้านล่าง การเคลื่อนที่ของออกซินจะส่งผลทำให้เกิดการยับยั้งการเจริญเติบโตของตาข้างที่อยู่ด้านล่าง ทําให้ตาข้างไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ ตราบใดที่ยังได้รับออกซินจากส่วนยอด ดังนั้น หากเราตัดหรือเด็ดส่วนยอดออกไป ตาข้างก็จะเจริญเติบโตและพัฒนาเกิดเป็นยอดใหม่ได้ทันที การเกิดยอดใหม่ของผักคะน้าเด็ดยอดก็เป็นไปตามหลักการนี้คือ จำเป็นต้องมีการเด็ดยอดไปบริโภคบ่อยๆ ในลักษณะ “ยิ่งเด็ดยอด ยิ่งเกิดยอด” ตามเหตุผลที่กล่าวมา

ต้นพันธุ์สำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ผักคะน้าเด็ดยอด เป็นผักที่ตอบสนองต่อการดูแลและเจริญเติบโตได้รวดเร็ว ต้องการแสงแดดตลอดวัน สภาพวัสดุปลูกควรมีความชื้นเหมาะสม ไม่ชอบสภาพที่มีน้ำขังแฉะ หรือสภาพฝนตกหนัก ดังนั้น ในช่วงฤดูฝนจึงควรย้ายต้นพันธุ์ลงปลูกในกระถาง หรือเลือกพื้นที่ปลูกตามแนวชายคาบ้านที่รับแสงแดดหรือปลูกเป็นแปลงภายใต้โรงเรือนปลูกพืชแบบต่างๆ ส่วนในฤดูหนาวและฤดูร้อนผักชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในสภาพกลางแจ้งเหมือนพืชผักชนิดอื่นๆ ทั่วไป

เตรียมแปลงปลูก

ศัตรูของผักคะน้าเด็ดยอด

  1. โรค ยังไม่พบโรคสำคัญที่ก่อให้เกิดการระบาดหรือสร้างความเสียหายกับผักชนิดนี้มากนัก แต่ก็มีข้อเสนอแนะบางประการสำหรับการดูแลเพื่อลดโอกาสของการเกิดโรค ดังนี้

1.1 ผักคะน้าเด็ดยอด เป็นผักที่ไม่ชอบน้ำขังหรือวัสดุปลูกเปียกแฉะตลอดเวลา สภาพดังกล่าวจะก่อให้เกิดอาการเหี่ยวเฉาเน่าเสียหาย เชื้อแบคทีเรียเข้าทําลายได้ง่าย ดังนั้น จึงอาจแก้ไขโดยจัดระบบการให้น้ำเฉพาะในช่วงเวลาเช้าที่มีแสงแดด ส่วนช่วงเวลาบ่ายซึ่งเป็นช่วงที่พระอาทิตย์ใกล้ตกดินก็งดการให้น้ำ เป็นต้น

1.2 ควรหมั่นตกแต่งใบหรือกิ่งแก่ที่หมดอายุในส่วนล่างของทรงพุ่มออกบ่อยๆ เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งโล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดสามารถส่องได้ทั่วถึงทั้งทรงพุ่ม และควรกำจัดวัชพืชชนิดต่างๆ ในบริเวณพื้นที่เพาะปลูกอย่างสม่ำเสมอด้วย

  1. แมลง

2.1 เพลี้ยอ่อน เป็นแมลงปากดูดตัวเล็กๆ มักพบดูดน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อน ส่งผลให้ใบหรือยอดชะงักการเจริญเติบโต เพลี้ยอ่อนเคลื่อนที่ได้ช้า แต่จะมีมดชนิดต่างๆ เป็นตัวช่วยขนย้ายลําเลียงไปยังจุดต่างๆ ของทรงพุ่ม ส่วนมดก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นน้ำหวานจากเพลี้ย ดังนั้น จึงต้องคอยสังเกตการระบาด โดยอาจใช้แว่นขยายส่องหาตัวเพลี้ยหรือมดที่ไต่ไปตามลำต้นและใบ

วิธีการแก้ไข ทำได้โดยใช้น้ำแรงๆ ฉีดพ่นบริเวณตำแหน่งที่พบเพลี้ยบ่อยๆ (2-3 วันครั้ง) ความแรงของน้ำจะกระแทกตัวเพลี้ยหรือมดให้กระเด็นหลุดไป อีกวิธีการหนึ่งอาจใช้ยาฉุน (ใบยาสูบหั่นฝอย) มาแช่ในน้ำจนน้ำเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม จากนั้นจึงกรองเอาน้ำไปฉีดพ่นบริเวณที่พบเพลี้ยอ่อนอาศัยอยู่ ก็สามารถกำจัดได้ผลดี

2.2 หนอนใยผัก พืชผักตระกูลกะหล่ำมีศัตรูเป็นหนอนชนิดต่างๆ มากมาย ผู้เขียนใช้เชื้อจุลินทรีย์ ชื่อ เชื้อ บีที (Bacillus thuringiensis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในการป้องกันและกำจัดหนอนได้อย่างดี ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการหลายหน่วยดําเนินการผลิต เชื้อ บีที เพื่อใช้ควบคุมแมลงและหนอนชนิดต่างๆ และสนับสนุนให้มีการใช้ทั่วไป นอกจากนี้ ก็มีภาคเอกชนผลิตเชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าวออกมาจำหน่ายด้วยเช่นกัน

 

ขั้นตอนและวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อผักคะน้าเด็ดยอด

เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการขยายพันธุ์พืชหลายชนิด ซึ่งพอยกตัวอย่างแบ่งเป็นกลุ่มๆตามวัตถุประสงค์ของการขยายพันธุ์ได้ ดังนี้

  1. กลุ่มที่ขยายพันธุ์ได้ยาก เช่น การขยายพันธุ์กล้วยไม้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือการผลิตมะพร้าวกะทิด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเอมบริโอ
  2. กลุ่มที่ผลิตต้นพันธุ์ปลอดโรค เช่น สตรอเบอรี่ กล้วย มันฝรั่ง และอ้อย
  3. กลุ่มที่ต้องการขยายสายพันธุ์จำนวนมาก เช่น การผลิตต้นพันธุ์หน้าวัว เยอร์บีร่า เบญจมาศ และมะละกอ
ปลูกในกระถาง

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ประโยชน์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์พืชผักอีกหลายชนิด เช่น ขิง หน่อไม้ฝรั่ง ปูเล่ (พืชตระกูลกะหล่ำที่มีอายุยืน) และผักคะน้าเด็ดยอด พืชสองชนิดหลังมีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแบบเดียวกัน สรุปเป็นขั้นตอนได้ ดังนี้

  1. การคัดเลือกต้นแม่พันธุ์ดี ต้นแม่พันธุ์ผักคะน้าเด็ดยอดที่คัดเลือกมาจะต้องมีความแข็งแรงเจริญเติบโตรวดเร็วไม่แสดงอาการของโรค เช่น โรคเน่าที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยนำยอดอ่อนที่มีอายุประมาณ 24-26 วัน ซึ่งเป็นยอดที่ไม่แก่เกินไป มาใช้เป็นชิ้นส่วนสำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
  2. การฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ยอดอ่อนของผักคะน้าเด็ดยอดจะถูกนำมาตัดแต่งส่วนใบทิ้งไป จากนั้นจึงนำมาตัดเป็นท่อนสั้นๆ ให้มีส่วนตาข้างติดอยู่ นําไปฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในสารละลาย โซเดียมไฮโปคลอไรด์ (คลอร็อกซ์) ความเข้มข้น 10% เป็นเวลานาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำกลั่นที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว จํานวน 3 ครั้ง นำชิ้นส่วนตาไปวางเลี้ยงบนอาหารสูตรเพิ่มปริมาณ

    เตรียมแปลงปลูก
  3. การเพิ่มปริมาณ อาหารสูตรที่เหมาะสมต่อการเพิ่มปริมาณผักคะน้าเด็ดยอดคือ อาหารสูตร Murashige และ Skoog (1962) ที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโตในกลุ่มไซโตไคนิน โดยใช้สารตัวที่ชื่อว่า BA สารตัวนี้มีอิทธิพลกระตุ้นการแบ่งเซลล์และยังกระตุ้นให้เกิดตาและพัฒนาให้เกิดยอดจำนวนมากได้ด้วย คะน้าเด็ดยอดมีอัตราการเพิ่มปริมาณยอดใหม่ ประมาณ 3-4 เท่า ต่อการเปลี่ยนอาหาร 1 ครั้ง (30 วัน) การเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์ให้ได้จำนวนที่เพียงพอ จึงทำได้โดยการเปลี่ยนย้ายชิ้นส่วนผักคะน้าเด็ดยอดไปเพาะเลี้ยงในอาหารสูตรเพิ่มปริมาณทุกๆ 30 วัน

    ชิ้นส่วนเพิ่มระยะปริมาณ (การเกิดยอด)
  4. การชักนำให้เกิดราก เมื่อเพาะเลี้ยงจนได้จำนวนต้นพันธุ์ผักคะน้าเด็ดยอดเพียงพอตามต้องการ ต้นพันธุ์เหล่านั้นจะถูกนำมาชักนำให้เกิดระบบรากที่สมบูรณ์แข็งแรง บนอาหารเพาะเลี้ยงสูตรที่เหมาะสม คืออาหารสูตร Murashige และ Skoog (1962) ที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโตในกลุ่มออกซิน โดยใช้สารตัวที่ชื่อว่า NAA ที่มีอิทธิพลชักนำให้เกิดระบบรากที่สมบูรณ์
  5. การอนุบาลต้นพันธุ์ ต้นพันธุ์ผักคะน้าเด็ดยอดที่มีระบบรากสมบูรณ์จะถูกนำมาล้างเศษอาหารวุ้นที่ติดมากับระบบรากออก จากนั้นจึงนำไปแช่ในสารป้องกันเชื้อรา และนำไปอนุบาลในวัสดุทรายผสมขี้เถ้าแกลบ ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ปรับสภาพแวดล้อมให้มีความเหมาะสมต่อการอนุบาล โดยควบคุมสภาพความเข้มแสงประมาณ 60% อุณหภูมิที่เหมาะสม ประมาณ 25 ถึง 30 องศาเซลเซียส รักษาความชื้นพอประมาณ ใช้เวลาประมาณ 30 วัน ต้นพันธุ์ที่อนุบาลก็จะมีสภาพแข็งแรง เพียงพอต่อการนำไปปลูกในสภาพธรรมชาติได้ต่อไป

    การตัดแต่งชิ้นส่วนเพื่อเปลี่ยนอาหารใหม่ทุกๆ 30 วัน

เนื่องจากเป็นพืชผักตระกูลกะหล่ำที่อาจเกิดความเสียหายจากเชื้อแบคทีเรียในระหว่างการปลูกเลี้ยงและทําให้เกิดโรคเหี่ยวเน่า ดังนั้น ระบบการผลิตต้นพันธุ์ที่เหมาะสมจึงควรเริ่มจากการผลิตต้นพันธุ์ปลอดโรคจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แล้วจึงนําไปปลูกในพื้นที่เฉพาะเพื่อผลิตยอดสําหรับนำไปใช้ขยายพันธุ์โดยวิธีการปักชํา ต้นพันธุ์ที่ได้จากการปักชําจะถูกใช้เป็นต้นพันธุ์สําหรับปลูกเก็บผลผลิตต่อไป ส่วนการปลูกเพื่อเป็นผักสามัญประจําบ้านอาจปลูกเพียง 10 ต้น ต่อครอบครัว ก็เพียงพอต่อการบริโภค เนื่องจากผักชนิดนี้เมื่อเด็ดยอดไปบริโภคบ่อยๆ ก็จะเกิดยอดใหม่อีกมากมาย จนเด็ดไปบริโภคไม่ทัน สำหรับท่านที่สนใจปลูกแบบธุรกิจ ผู้เขียนขอเสนอให้ลองปลูกจํานวนน้อยๆ ก่อน เพื่อเรียนรู้วิธีการปลูกและดูแลจนชํานาญ จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายพื้นที่ปลูกเพื่อทำธุรกิจต่อไป ผักคะน้าเด็ดยอด จึงอาจเป็นพืชผักที่มีความน่าสนใจเเละมีประโยชน์ในธุรกิจผักสดของบ้านเราเพิ่มขึ้นอีกชนิดหนึ่ง

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 086-084-6362 FB : Woranut Senivongs Na Ayuthaya

ต้นที่เกิดจากการปักชำ
ปลูกเป็นแปลง
ผลผลิตยอดอ่อน