“ละมุดไข่ห่าน” ของ ไพฑูรย์ ทีปบวร ชาวเกาะยอ สงขลา ผลใหญ่ หวาน กรอบ

ละมุด เป็นผลไม้ที่ขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด เจริญเติบโตเร็ว การดูแลบำรุงรักษาไม่ยุ่งยาก จึงปลูกทั่วไปในทุกภาค มีทั้งพันธุ์พื้นบ้านและพันธุ์ต่างประเทศ จึงเรียกกันว่าละมุดไทยกับละมุดฝรั่ง แต่ที่นิยมปลูกมากจะเป็นพันธุ์ต่างประเทศ เนื่องจากให้ผลดก ผลมีขนาดใหญ่ มีรสหวาน และกรอบมากกว่าพันธุ์พื้นบ้าน

คุณไพฑูรย์ ทีปบวร

“ละมุดพันธุ์ไข่ห่าน” เป็นพันธุ์จากต่างประเทศ ที่ถูกเปรียบให้เหมือนไข่ห่านเพราะมีขนาด 6.4-7.3 เซนติเมตร มีผลรูปทรงผลกลม ยาวเล็กน้อย ขนาดใหญ่ ไหล่ผลกว้าง ก้นผลมน ขั้วผลบุ๋มเล็กน้อย เปลือกบาง เวลาสุกเนื้อในมีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อค่อนข้างหยาบ กรอบ มีรสหวาน

ละมุดไข่ห่านเป็นไม้ผลเก่าแก่ของชาวเกาะยอ สงขลา ที่ปลูกกันไว้หลายครัวเรือน จนนับว่าเป็นไม้ผลอัตลักษณ์ ด้วยคุณภาพดินบนเกาะยอที่อุดมไปด้วยความสมบูรณ์ของธาตุอาหารพืชจึงทำให้ละมุดไข่ห่านยังคงคุณลักษณะเดิมได้อย่างสมบูรณ์

คุณไพฑูรย์ ทีปบวร บ้านเลขที่ 32 หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เดิมเคยมีอาชีพเลี้ยงปลากะพงกระชัง แต่ประสบปัญหาธรรมชาติทำให้น้ำไม่สมบูรณ์ไม่คุ้มการลงทุน จึงวางมือแล้วเปลี่ยนไปปลูกละมุดเป็นรายได้หลักมานานกว่า 12 ปี เป็นสวนที่ปลูกละมุดอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐาน ทั้งยังคิดค้นเครื่องล้างผลละมุดช่วยทำให้ลดต้นทุน ทุ่นแรงงาน เพิ่มความรวดเร็ว จนได้การยอมรับให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ และแปลงสาธิตตัวอย่าง

แปลงเรียนรู้ปลูกไม้ผลอัตตลักษณ์

คุณไพฑูรย์ เล่าว่า ละมุดไข่ห่าน หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “สะหวา” ปลูกกันมานานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ที่ปลูกไว้ตามบ้าน ด้วยความสมบูรณ์ของดินบนเกาะยอที่มีแหล่งอาหารมาจากน้ำทะเล น้ำจืด และน้ำกร่อย พัดพาธาตุอาหารสำคัญหลายชนิดมาทับถมจึงทำให้ผลละมุดที่ปลูกบนเกาะยอมีความสมบูรณ์มาก ทั้งขนาด รสชาติ และน้ำหนัก

ก่อนปลูกละมุดพันธุ์นี้คุณไพฑูรย์ไปเสาะหาต้นที่ให้ผลใหญ่ เนื้อสวย และรสชาติอร่อย ตามสวนหลายแห่งเพื่อตอนกิ่งมาปลูกในสวนตัวเอง แล้วในสวนเดียวกันนี้ยังคัดเลือกต้นที่ให้ผลสมบูรณ์ที่สุด ให้ผลผลิตดีที่สุด เพื่อตอนกิ่งนำไปปลูกอีกแปลงเนื่องจากได้โครงการมาจากเกษตรอำเภอ ส่วนแปลงเดิมได้จัดทำเป็นแปลงสาธิตระบบน้ำอัจฉริยะ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการวางท่อ ติดตั้งถังเก็บน้ำ

ต้องใช้ไม้ค้ำยันเพื่อพยุงกิ่ง

สวนละมุดคุณไพฑูรย์มีเนื้อที่ 1 ไร่ ใช้ระยะปลูก 6 คูณ 6 เมตร ปลูกได้ 40 ต้น ขนาดหลุมต้องพิจารณาจากคุณภาพดินก่อน เพราะถ้าเป็นดินตามธรรมชาติใช้ระยะกว้าง/ยาว/ลึก 50 เซนติเมตร แต่ในกรณีเป็นดินถมซึ่งเนื้อดินอาจแข็งก็ต้องใช้ขนาดกว้าง/ยาว/ลึก 100 เซนติเมตร แล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกมูลวัว แต่ไม่แนะนำมูลไก่ ให้ใส่ปริมาณไม่มาก ถ้าหากมีน้ำหมักชีวภาพให้ใส่ด้วยก็ได้เพื่อช่วยสะสมความหวาน

สวนต้องโปร่ง สะอาด โล่งเตียน ให้แดดส่องผ่าน

ให้กลบดินสูงจากระดับพื้นสัก 2 นิ้ว แล้วใช้ไม้ปักรอบต้น 3 ด้านเพื่อพยุงไม่ให้ต้นล้มในระหว่างรากกำลังงอก หลังจากปลูกแล้วยังไม่ต้องใส่ปุ๋ยอะไร ให้รดน้ำเล็กน้อย รอจนยอดอ่อนแตกแล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มจึงใส่ปุ๋ยคอกมูลวัวหรือมูลไก่รอบต้น ห่างสัก 1 คืบ และปุ๋ยคอกควรใส่ปีละ 3 ครั้ง

เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้มีฝนตกอยู่เป็นประจำ ดังนั้น การรดน้ำอาจต้องดูสภาพความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ละมุดเป็นไม้ผลที่ทนแล้ง สามารถขาดน้ำได้ จึงอาจไม่มีความจำเป็นต้องรดบ่อย

ฐานการเรียนรู้เครื่องล้างละมุดอัตโนมัติ

แมลงศัตรู ได้แก่ หนอนกินใบอ่อน จึงต้องหมั่นสังเกตในช่วงแตกใบอ่อนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งควรพ่นยาป้องกันด้วย ศัตรูอีกตัวคือ หนอนเจาะต้น เป็นชนิดเดียวกับที่เจาะต้นมะม่วง ป้องกันด้วยการอย่าให้โคนต้นและบริเวณโดยรอบสกปรก รก หากพบเจอต้องรีบกำจัดทันที ปัญหาการโจมตีของหนอนชนิดนี้จะหมดไปเมื่อลำต้นละมุดมีขนาดใหญ่เปลือกหนา สำหรับศัตรูผลละมุดคือ แมลงวันทองกับหนอนผีเสื้อ ในช่วงเริ่มมีดอกคือปลายเดือนสิงหาคมควรใส่ปุ๋ยคอกเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เพื่อช่วยบำรุงต้น ใบ และดอกให้สมบูรณ์ ช่วยสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพตามมาในเวลาอีกประมาณ 4 เดือน จึงถึงช่วงเก็บผลผลิต

พิสูจน์ว่าใหญ่และหนักจริง

ละมุดเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3 ช่วงที่เริ่มมีผลผลิตหากมองดูว่าดกมากจะต้องหาไม้มาค้ำยันกิ่งทันทีเพื่อต้านน้ำหนักและลมที่พัดป้องกันไม่ให้กิ่งหักเสียหาย ผลผลิตทยอยเก็บได้ภายในเวลา 2 เดือนไม่พร้อมกัน ตั้งแต่กลางเดือนมกราคมไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม หลังจากนั้น ถ้าดูแลให้ปุ๋ย/น้ำอย่างเหมาะสมก็ยังสามารถมีผลผลิตได้ต่อไปอีก เพียงแต่จำนวนและความสวยจะลดลง อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตในแต่ละฤดูกาลจะมากหรือน้อยไม่อาจควบคุมได้เนื่องจากขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงติดดอกถ้ามีฝนตกหนักแล้วลมแรงเกิดขึ้นก็ส่งผลให้ได้ปริมาณผลผลิตลดลง

ล้างละมุดได้ถุงละ25 กิโลกรัม2 ถุง ตั้งเวลาล้างอัตโนมัติเพียง5นาที

คุณไพฑูรย์คิดค้นอุปกรณ์ที่ใช้สอยละมุดจากต้นด้วยการใช้ไม้ไผ่มาสานเป็นตะกร้อแบ่ง 3 ขนาด เพื่อให้สะดวกรวดเร็วโดยไม่ทำให้ผลเสียหาย โดยเจ้าของสวนจะต้องสังเกตดูผลแก่ที่มีสีเขียวก่อน ด้วยการใช้ประสบการณ์และความชำนาญ ขณะเดียวกัน บางรายมองว่าเป็นเรื่องยากจึงใช้วิธีสวมถุงมือผ้าชุบน้ำให้เปียกแล้วไปถูที่เปลือกเพื่อเช็ดคราบออกแล้วจะพบเห็นสีเปลือกที่ชัดเจนมากขึ้น ผลที่เก็บได้มีสีเหลืองอมน้ำตาล ดังนั้น วิธีนี้ช่วยให้สะดวก รวดเร็ว แม่นยำ อย่างไรก็ตาม หากพบว่าผลมีขนาดใหญ่แต่ยังไม่สุกแก่ก็จำเป็นต้องเก็บมาเพื่อนำมาบ่มต่ออีก 2 วัน โดยแม่ค้าที่รับซื้อจะนำไปบ่มเอง

เนื้อละเอียด หวาน กรอบ

เมื่อเก็บมาจากต้นแล้วจะต้องใส่ลงในถัง 20 ลิตรที่ใส่น้ำไว้ 1 ใน 4 ของถังเพื่อให้ยางที่เกาะติดผลหลุดร่วงออกไป ต่อจากนั้นนำผลผลิตที่เก็บได้ในแต่ละวันมาล้างด้วยน้ำ ซึ่งขั้นตอนนี้แต่เดิมใช้แรงงานคน มีต้นทุนแล้วเปลืองเวลา ดังนั้น คุณไพฑูรย์จึงหาทางออกด้วยการคิดประดิษฐ์เครื่องล้างผลละมุดขึ้น โดยใช้อุปกรณ์และวัสดุจากสิ่งเหลือใช้ อะไหล่จากเครื่องไฟฟ้ามาประกอบเป็นเครื่องล้างละมุดที่ตั้งเวลาได้โดยไม่ต้องใช้คน สามารถล้างละมุดได้ถุงละ 25 กิโลกรัม 2 ถุง โดยตั้งเวลาอัตโนมัติใช้เวลาล้างเพียง 5 นาที จึงนับเป็นนวัตกรรมเครื่องล้างผลละมุดที่ให้ประโยชน์อย่างแท้จริง

ติดตั้งแท้งค์และวางท่อเพื่อใช้สำหรับระบบรดน้ำอัจฉริยะ

เมื่อล้างเสร็จนำมาผึ่งลมให้แห้ง แล้วจึงคัดแยกคุณภาพและขนาด ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ไซต์ตามขนาด โดยรุ่นที่เริ่มมีผลผลิตครั้งแรกจะมีขนาดใหญ่มาก จึงเรียกว่าจัมโบ้ ประมาณ 6 ลูก ต่อกิโลกรัม ขายผลดิบราคากิโลกรัมละ 50 บาท จากนั้นผลจะมีขนาดเล็ก เรียกว่าเบอร์ 1 ได้ 7 ลูก ต่อกิโลกรัม ขายผลดิบกิโลกรัมละ 45 บาท แล้วเป็นเบอร์ 2 ได้ประมาณ 8-9 ลูก ต่อกิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 40 บาท และเบอร์ 3 ได้ประมาณ 11 ลูก ต่อกิโลกรัม ขายราคากิโลกรัมละ 35 บาท

ละมุดเป็นไม้ผลที่ชอบแสง ฉะนั้น จึงต้องหมั่นคอยตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง เพื่อทำให้ต้น ใบ มีความสมบูรณ์ช่วยให้ผลผลิตดี ไม่มีโรค อย่างไรก็ตาม กิ่งแขนงที่ตัดออกคุณไพฑูรย์ยังตอนเป็นกิ่งพันธุ์ไว้ขายต่อไป มี 2 แบบ คือขายเป็นกิ่งกับชำใส่ถุง ถ้าเป็นแบบกิ่งราคา 200 บาท ส่วนชำใส่ถุงที่มีรากงอกพร้อมลงดินขายถุงละ 240 บาท

ห่อเพื่อป้องกันผิวเสียหายใส่กล่องให้ลูกค้า

คุณไพฑูรย์ไม่เพียงเป็นชาวสวนที่ใส่ใจกับอาชีพของเขา แต่ยังทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้านคอยดูแลความทุกข์สุขของลูกบ้านด้วย ที่บ้านคุณไพฑูรย์เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกละมุดและกิจกรรมเกษตรอื่น แล้วยังเป็นสวนสาธิตการใช้ระบบน้ำอัจฉริยะที่สามารถตั้งเปิด-ปิดน้ำได้ตามสภาวะอากาศ ถือเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับสวนเกษตรซึ่งมีเพียง 2 แห่งบนเกาะยอ จึงนับเป็นเทคโนโลยีที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท้จริง

คัดแยกคุณภาพและขนาด

หากมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวจังหวัดสงขลา อย่าลืมแวะไปเยี่ยมเยียนสวนละมุดไข่ห่านของคุณไพฑูรย์ที่เกาะยอ สอบถามรายละเอียดได้ที่โทรศัพท์ (093) 575-6704