กว่าจะมาเป็น สวนนงนุชพัทยา 1 ใน 10 สวนสวยที่สุดในโลก

“สวนนงนุชพัทยา” ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รวบรวมพืชพันธุ์เขตร้อนที่งดงาม มีสวนสวย (Beautiful Garden) ประเภทสวนกระบองเพชร สวนลอยฟ้า สวนสับปะรดสี สวนปาล์มโลก สวนปรง สวนเฟื่องฟ้า สวนเฮลิโคเนีย ฯลฯ ภายในสวนตระการตาไปด้วยดอกไม้ประดับกว่าร้อยชนิด จนได้รับความนิยมระดับแนวหน้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระดับโลก มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมวันละกว่า 5,000 คน นอกจากจะเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับประชาชนในท้องถิ่นแล้ว สวนนงนุชพัทยา ยังเปรียบเสมือนแม่เหล็กตัวใหญ่ที่ดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ปีละมหาศาล

คุณพานิชย์ ยศปัญญา บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน นำทีมผู้สื่อข่าวไปสัมภาษณ์พิเศษ คุณโต้ง หรือ คุณกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา เกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการสร้างอาณาจักรพรรณไม้อย่างยิ่งใหญ่อลังการ เปรียบเสมือน “สวรรค์บนดิน” สำหรับคนรักธรรมชาติ และ ติด 1 ใน 10 “สวนพฤกษศาสตร์” ที่สวยที่สุดของโลกในวันนี้

พื้นฐานครอบครัวตันสัจจา

คุณโต้ง เล่าว่า  ครอบครัวผมทำกิจการโรงภาพยนตร์มาก่อน ที่รู้จักกันดี ได้แก่ สกาล่า สยาม ลิโด้ เฉลิมไทย อินทรา และมีธุรกิจห้องอาหารสกาล่าและมาเรีย สมัยนั้นกิจการเจริญรุ่งเรืองมาก ครอบครัวส่งผมไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาที่ St. Stephen’s College ฮ่องกง ผมเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรไฟฟ้า จาก University of Arkansas สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นกลับมาช่วยครอบครัวทำธุรกิจด้านภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์ระยะหนึ่ง ต่อมาคุณแม่ (คุณนงนุช ตันสัจจา) ดึงตัวมาช่วยดูแลกิจการสวนนงนุชพัทยาจนถึงทุกวันนี้

คุณโต้ง หรือ คุณกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา

จุดเริ่มต้น สวนนงนุชพัทยา

เมื่อ 65 ปีก่อน ครอบครัวผมมาซื้อที่ดินแปลงใหญ่ 1,700 ไร่ ซึ่งเป็นสวนผลไม้ ในพื้นที่ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี คุณแม่ผมมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวสวนสวยที่สิงคโปร์และอินโดนีเซียแล้วเกิดความประทับใจ เพราะคุณแม่ชื่นชอบไม้ดอกไม้ประดับและธรรมชาติที่สวยงามอยู่แล้ว จึงจุดประกายความคิด อยากให้เมืองไทยมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทนี้บ้าง จึงปรับพื้นที่สวนผลไม้เก่าให้กลายเป็นสวนนงนุชพัทยา เมื่อ 40 ปีที่แล้ว

ตอนนั้น ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดของคุณแม่ที่จะสร้างสวนเพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและแหล่งเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติ เพราะมันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือมูลนิธิที่มีเงินทุนเยอะ ที่ลงทุนสร้างสวนเพื่อสังคม ผมบอกแม่ว่า มันไม่คุ้มค่าหรอก เพราะไม่มีเงินอยู่ในนี้ แต่คุณแม่ก็ตัดสินใจสร้างสวนนงนุชขึ้นมา เน้นสร้างสวนสวย โชว์รำไทย แสดงวัฒนธรรมไทยและการแสดงช้างแสนรู้ หลังจากนั้น 5 ปีต่อมา คุณแม่ก็เลือกให้ผมมารับช่วงสืบทอดกิจการสวนนงนุช จนถึงทุกวันนี้ เป็นระยะเวลา 35 ปีแล้ว

ตั้งใจพัฒนาสวนนงนุชพัทยาให้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ไหม

ไม่เลย ตอนแรกที่คุณแม่มอบให้ผมเข้ามาดูแลกิจการ ผมไม่รู้เรื่องสวนเลย ต้องมาเรียนรู้ว่า สวนคืออะไร พยายามประคองกิจการอยู่รอดก่อน ตอนนั้น สวนนงนุชขาดทุนมาก แม้อยู่ใกล้เมืองพัทยาแต่แทบไม่มีนักท่องเที่ยวเลย

ช่วงนั้น ผมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ พอมีกำลังทรัพย์มากขึ้น ก็ลงทุนปรับปรุง “สวนนงนุช” ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านพฤกษศาสตร์อีกแห่งของโลก นำไม้ดอกไม้ประดับทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาประดับตกแต่งสวนตามจินตนาการ รวมทั้งจำลองรูปแบบแหล่งท่องเที่ยวสำคัญซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกมาจัดแสดงที่สวนนงนุชพัทยาเพื่อสร้างจุดขายดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

ผมค่อยๆ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสวนไปทีละนิด เก็บสะสมพันธุ์ไม้ไม่หยุด ทำตามโปรแกรมของสวนพฤกษศาสตร์ที่ต้องสะสมพันธุ์ไม้ไปเรื่อยๆ ทั้งพันธุ์ไม้ในประเทศและต่างประเทศ ซื้อเก็บเข้ามามาก บางครั้งซื้อซ้ำพันธุ์เดิมก็มีบ่อย หน่วยงานภาครัฐก็เก็บสะสมพันธุ์ไม้ แต่โครงการหมด ต้นไม้ก็หมดไปด้วย ผมเคยไปขอคอลเล็กชั่นมะม่วงของกรมวิชาการเกษตร อย่างละ 1-2 ต้น มาเก็บสะสมที่สวนนงนุช

เราเก็บสะสมพันธุ์ไม้ต่อเนื่อง ทำให้มีพันธุ์ไม้เพิ่มขึ้นทุกวัน อย่างงานแสดงพรรณไม้ สวนหลวง ร.9 ผมสั่งลูกน้องไปไล่ซื้อพันธุ์ไม้ที่ยังไม่มี ซื้อเก็บให้หมด บางครั้งคนที่เดินทางไปต่างประเทศ เจอพันธุ์ไม้สวย ไม้แปลกหายากมาเสนอขายผมก็รับซื้อ ตอนนี้ผมมีคอลเล็กชั่นมณฑาที่ใหญ่ที่สุด ปลูกบนดอยที่เชียงใหม่ ซึ่งมีผู้นำมามอบให้ผมดูแลกว่า 200 สายพันธุ์

สวนนงนุช เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนพันธุ์ไม้กับเครือข่ายพันธมิตร หากพันธุ์ไม้ชนิดไหนตายก็สามารถไปเอาจากอีกที่หนึ่งได้ ทำให้มีพันธุ์ไม้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เก็บพันธุ์ไม้จำนวนมาก เลี้ยงตายไปก็เยอะ กว่าต้นไม้จะอยู่รอดได้ ต้องเก็บซ้ำเป็นครั้งที่ 2 หรือ 3 สาเหตุสำคัญคือ ความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ว่าไม้ชนิดนี้ชอบแดด ไม่ชอบน้ำ ต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติของพันธุ์ไม้แต่ละชนิดตลอดเวลา

ปัจจุบัน สวนนงนุชพัทยา เก็บสะสมพันธุ์ไม้มากที่สุด จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ เฮลิโคเนีย เก็บได้ 508 ชนิด ซึ่งทั่วโลกมีอยู่ 600 ชนิด ส่วน โฮย่า เก็บได้ 1,093 ชนิด ซึ่งทั่วโลกมีอยู่ 1,500 ชนิด สายพันธุ์ปาล์ม เก็บได้ 1,567 ชนิด ซึ่งทั่วโลกมีอยู่ 2,600 ชนิด สายพันธุ์ปรง เก็บได้ 348 ชนิด ซึ่งทั่วโลกมี 352 ชนิด เพื่องฟ้า เก็บได้ 196 ชนิด ซึ่งทั่วโลกมี 300 ชนิด พันธุ์ไม้ที่มีอยู่ในสวนนงนุชไม่เคยประเมินมูลค่า ผมไม่ใช่พ่อค้าร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมทำเพื่อเพิ่มแม่เหล็ก ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กับสวนนงนุช

ได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุนไหม

ผมเสียเงินค่าต้นไม้ไปกว่าร้อยล้านแล้ว ถามว่าผมได้เงินคืนสักบาทไหม คำตอบคือ ไม่ได้เลย แถมเสียค่าดูแลต้นไม้ทุกวัน หาเงินได้ ก็ใส่เข้าไป การสร้างสวยลอยฟ้า ถามว่า คุ้มหรือไม่คุ้ม ผมไม่รู้ ถือเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสวนพฤกษศาสตร์สำคัญของโลกที่เมืองไทยต้องมี คนทั่วไปจะไล่ซื้อต้นไม้ที่เก็บแล้วได้ตังค์ ไม่ได้ตังค์ก็ทิ้งไป แต่ผมเก็บพันธุ์ไม้ทุกอย่าง พันธุ์ไม้เหล่านี้ ขายได้หรือไม่ได้ ผมไม่รู้ ผมเก็บหมด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายมหาศาลในการปลูกดูแล  ผมทำทุกอย่างตอนนี้ ไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง หากเอาเงินเป็นตัวตั้ง ผมไม่ทำแล้ว เก็บเงินในธนาคารไม่ดีกว่าเหรอ ปิดสวนนงนุชไม่ดีกว่าเหรอ ทุกวันนี้ผมขาดทุน วันละ 1,000,000 กว่าบาท ซึ่งเป็นค่าจ้างแรงงาน

ก่อนหน้านี้ผมมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 80% และคนไทย 20% หลังเกิดวิกฤตโควิด รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นศูนย์ ผมหากินแทบตาย มีรายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทยแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ โชคดีที่มีโครงการไทยเที่ยวไทย ทำให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 30% เท่ากับผมมีค่าใช้จ่าย 70% ถามว่า ผมจะอยู่ได้ไง ผมอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะมีรายได้จากธุรกิจรับจ้างจัดสวน เข้ามาสนับสนุนกิจการสวนนงนุชให้อยู่รอดได้

ผมติดป้ายโปรโมตว่า สวนนงนุช ติด 1 ใน 10 สวนสวยที่สุดในโลก เพื่อดึงดูดให้คนอยากมาดู ผมเปิดให้คนเข้าชมสวนฟรี หลังผมเปิดให้นักท่องเที่ยวมาชมฟรี เขาจะกลายเป็นกระบอกเสียง ไปบอกญาติพี่น้องในหมู่บ้าน ทำให้คนอยากมาเที่ยวสวนนงนุชบ้าง ผมคิดว่า ผมคุ้มนะ แต่ก่อนคนไทยมาเที่ยวสวนนงนุชในช่วงวันหยุด อย่างมากก็แค่วันละ 2,000-3,000 คน แต่ตอนนี้ ช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ผมได้นักท่องเที่ยวคนไทยถึง 9,000 คน

ผมจัดสวนผมตามความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ต้องการ มาถ่ายรูป ผมวางทุกอย่างให้เขาได้ถ่ายรูป ทำให้สวนนงนุช เป็นหน้าต่างของต้นไม้ นักท่องเที่ยวหลายคนได้ไอเดียในการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ และไอเดียในการจัดสวน นี่คือสิ่งที่เราทำสำเร็จ

สวนลอยฟ้า

สิ่งสำคัญที่เป็นความภาคภูมิใจที่สุดของสวนนงนุช คือได้เด็กเยาวชนจำนวนมากเข้ามาเยี่ยมชมสวนนงนุชกันมากขึ้น เด็กเดินถ่ายรูป ไปเหยียบต้นไม้ ตุ๊กตาแตก เดินมาขอโทษ ผมก็ไม่ว่า ถือว่าเป็นอุบัติเหตุ ไม่คิดตังค์ ผมอยากให้สวนนงนุชเป็นจุดเรียนรู้เรื่องธรรมชาติของเด็กเยาวชนไทยทั่วประเทศ ฝรั่งมาดูงาน ถามว่า รัฐบาลช่วยอะไรบ้าง ผมบอกว่าไม่รู้สิ ฝรั่งบอกว่าคุณทำหน้าที่ให้ประเทศแล้วนะ และทำได้ดีด้วย ทุกประเทศควรมีสวนพฤกษศาสตร์แบบนี้

เสริมจุดขายในสวนนงนุชพัทยา

ผมกำลังทำสวนนงนุช 2 เพื่อเป็นจุดเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรโดยเฉพาะ เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมัก เตาเผาถ่าน การทำน้ำส้มควันไม้ ตอนแรกที่ทำจุดเรียนรู้ทางการเกษตร ก็รู้ว่าขาดทุนแน่นอน แต่ทำไปทำมามีคนมาดูงานเยอะ ก็เริ่มมีกำไรเหมือนกัน ผมสร้างจุดเรียนรู้นี้เพื่อดึงคนมาดูงานโดยเฉพาะ

ตอนนี้กำลังให้ลูกน้องปั้นโอ่งขนาด 12 ปี๊บ สำหรับปลูกไม้ผล ไม่ต้องลงดิน แสดงให้นักท่องเที่ยวเห็น สามารถเอาต้นไม้ไว้ในบ้านได้หรือปลูกผักในภาชนะ ปลูกผักในโรงเรือนอีแว้ป นี่คือ แหล่งเรียนรู้เพื่อพึ่งพาตัวเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ผมพยายามสร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อเด็ก ผมคิดว่าผมทำไปได้เยอะแล้วนะ ต้องดูว่าเด็กต้องการเรียนรู้อะไรอีก ผมคิดจะจัดโซนปลูกต้นไม้นานาชนิดอยู่ในจุดเดียวกัน เช่น ต้นหมากผู้หมากเมีย ต้นชวนชม ต้นลิ้นแม่ยาย ฯลฯ มีป้ายแสดงข้อมูลพันธุ์ไม้ เพื่อสอนให้เด็กได้เรียนรู้อย่างรวดเร็ว

อย่างแปลงปลูกกัญชา ผมลงทุนไป 20 กว่าล้านบาท ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่า ทุกบาททุกสตางค์ที่ลงทุนผมไม่ได้คืนแน่ แต่ไม่เสียดายเงิน เพราะปลูกได้เท่าไรก็เป็นทรัพย์สินของหลวงหมด แต่ผมได้รับอนุญาตให้ทำแนวรั้วกระจกให้เด็กได้เรียนรู้ว่า ต้นกัญชาหน้าตาเป็นอย่างไร

หลักการบริหารงาน

การบริหารสวนนงนุช ผมใช้ทฤษฎีฝรั่ง “2 นาที” คือทำเดี๋ยวนี้เลย ช่วยให้ดูแลบริหารงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังใช้ทฤษฎี “อีกนิดหนึ่ง” ในการบริหารงาน ผมดูสวนตะบองเพชร ยังไม่มีอะไรแปลก เห็นสวนถาดเด็กนักเรียนทำ ก็คิดว่า เราทำตะบองเพชรสวนถาดได้ แต่ทำให้ดีอย่างไร เรียกนักปั้นให้ช่วยคิด เขาออกแบบสวนถาดให้มีรูปแบบสวยงามแปลกตา มีลูกค้ามาบ่นว่า อยากดูบัว ผมก็ให้คนงานนำบัวใส่กระถางไปวางริมถนน ก็ได้เสียงบ่นกลับมาอีกว่า รถไม่หยุด ถ่ายรูปไม่ได้ ก็เอาใหม่ จัดสวนบัวหน้าสวนไดโนเสาร์เลย นักท่องเที่ยวก็ชอบใจ

นี่คือ คำว่า “อีกนิดหนึ่ง” ของผม เป็นการทำงานต่อยอด ไม่หยุดนิ่ง คนส่วนใหญ่คิดแค่ว่าทำเสร็จสิ้นแล้วคือจบเลย ซึ่งมันไม่ใช่ ต้องคิดปรับปรุงให้งานที่ทำอยู่ มันดีขึ้นกว่าเดิม คนรุ่นใหม่ที่จบปริญญาตรี เวลาสั่งงานไป มักไม่ฟัง มักทำตามทฤษฎีที่เรียนมา ซึ่งเป็นรากฐานที่ผิดพลาดมาก เพราะการไม่ฟัง ไม่เชื่อ ไม่ถาม คิดเอาเอง เป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก ทำให้การบริหารงานล้มเหลวได้

ปัจจุบัน สวนนงนุช เป็นหนึ่งในแม่เหล็กสำคัญของเมืองพัทยา เป็นอาณาจักรพรรณไม้นานาชนิด ที่รวบรวมธรรมชาติที่บริสุทธิ์และงดงามไว้มากมาย เป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้ตัวคนไทยที่รอให้นักท่องเที่ยวมาเยือน หากใครมาเที่ยวพัทยาแล้วไม่แวะสวนนงนุชพัทยาถือว่าพลาดแล้ว

…………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ.2564