ศ.ดร.สุจินต์ จินายน ผู้สร้างข้าวโพดลูกผสมสุวรรณ 1 ดังทั่วอาเซียน ผลิตลูกศิษย์เป็นจอมยุทธ์ปรับปรุงพันธุ์ไว้มากมาย

วันนี้ ผู้เขียนจะพาไปรู้จักนักปรับปรุงพันธุ์พืชระดับปรมาจารย์ขนานแท้และดั้งเดิม มีลูกศิษย์ลูกหาปั้นขึ้นมาเป็นระดับแนวหน้าไปทั้งประเทศ หรือจอมยุทธ์ข้าวโพดพันธุ์ลูกผสม (Hybrid) ด้านปรับปรุงพันธุ์ประจำอยู่หลายองค์กร ทั้งภาคเอกชนและภาคราชการที่เกี่ยวข้อง ท่านคือ ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน

ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร มาช่วยงานแปลงวิจัย

วงการข้าวโพดทุกชนิดในระดับโลกต้องทราบชื่อนี้ดี ฝีมือที่ใครๆ มาเรียนรู้แล้วต้องยกระดับเป็นท่านอ๋อง เลยทีเดียว

แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ได้เป็นลูกศิษย์โดยตรง แต่ก็เคยร่วมงานกับท่าน ในคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภาสมัยท่านเป็นสมาชิกวุฒิสภา ปี 2539-2543 ชุดแต่งตั้ง

เพราะผู้เขียนเป็นตำแหน่งเลขานุการประจำคณะและได้รับใช้ท่านอาจารย์ผู้นี้ สมัยนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เป็นครั้งแรก ราวปี 2536

ต่อมาภายหลังท่านได้กลับมาเป็นอธิการบดีที่เดิมอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2 เรียกว่า “เชน คัมแบ็ค” ปี 2552-2560 ทำนองนั้น

อดีตแม้ว่าท่านจะผิดหวังในการที่ท่านจะก้าวขึ้นสู่อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปแล้ว แต่สวรรค์มีตา ท่านโด่งดังไปทุกแห่ง ไม่ว่าจะไปดำรงตำแหน่งอะไร

ผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตา โดยเฉพาะชาวไร่ข้าวโพด ในยุคที่ท่านเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ที่ปากช่อง ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ท่านสร้างพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเพื่อไว้เลี้ยงสัตว์ และพันธุ์ข้าวโพดหวานที่ท่านผสมพันธุ์ไว้ เป็นฝีมือท่านที่คนบริโภคน้ำข้าวโพดเกษตรที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ที่ปากช่อง จำกันได้

ใครแวะผ่านไป หากเสาร์-อาทิตย์ น้ำข้าวโพดก็จะหมดเร็ว สร้างความผิดหวังให้คนมาหาซื้อต้องบ่นเสียดายกลับบ้านไปมือเปล่า

แปลงข้าวโพดพันธุ์สุวรรณลูกผสม ในศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ที่ปากช่อง

ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ที่ปากช่อง พื้นที่ 3,000 ไร่ ท่านบุกเบิกและสร้างวีรกรรมไว้มากมาย ดินแดนแห่งนี้โดยเฉพาะบริเวณที่ทำไร่ข้าวโพด เป็นสุสานนักรบเก่า มีคนตายมากมายในสมัยโบราณ เป็นไข้ป่า และมาเสียชีวิตไว้มาก ภูตผีปีศาจไม่มีมาหลอกหลอน แพ้ทางอาจารย์หมด คนรุ่นเก่าที่เคยอยู่มาเขาว่ามาอย่างนี้ครับ และผู้เขียนเคยไปดูงานมาเมื่อปีที่แล้ว คนรุ่นเก่าเล่าให้ฟัง ผลงานท่านฝากไว้ให้ผู้อำนวยการที่เป็นลูกศิษย์เก่าสืบสานเจตนารมณ์ให้ท่านที่เป็นผู้มีคุณูปการกับวงการพืชไร่มาช้านาน จนมีฉายาว่า บิดาแห่งข้าวโพดสุวรรณ 1

ท่านเป็นแบบอย่างของผู้เป็นอาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ และไปสอนหลายสถาบัน ในวิชาปรับปรุงพันธุ์พืช ก่อเกิดลูกศิษย์ที่เติบโตก้าวหน้าจนก้าวเป็นระดับขั้นเทพแห่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลายคน

สิ่งจำเป็นที่ผู้เขียนต้องขอสดุดีถึงประวัติความเป็นมาที่ท่านสร้างผลงานไว้มากมาย โดยเฉพาะผลผลิตและเมล็ดพันธุ์พืชไร่ได้สูงมาก ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนลง ผลกำไรมากนั้น บริษัทเอกชนถึงกับเชื้อเชิญให้ไปเป็นที่ปรึกษา ท่านตอบปฏิเสธหมด เพราะท่านกล่าวทิ้งทวนไว้ว่า

“ครูจะเสียความเป็นกลางนะสิ” ทำให้ไม่แปลก ลูกศิษย์ที่ผลิตออกมาต่างให้ความเคารพรักท่านทุกคน

ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน ศาสตราจารย์สาขาพันธุศาสตร์และการปรับปรุงพืช ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา เมื่อปี พ.ศ. 2533 เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อปี พ.ศ. 2536-2544 และในปี 2552-2560

เกิดเมื่อปี 2478 เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร วันที่ 12 เมษายน จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามความต้องการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2496-2498

– B.S (Plant Genetics) University of California at Berkeley พ.ศ. 2498-2501

– M.S (Ginetics) Lowa State University พ.ศ. 2501-2503

– Ph.D. (Plant Breeding) Lowa State University พ.ศ. 2506-2509

ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน และภรรยา สมัยดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก รอบ 2

สมรสกับ คุณสิริวรรณ จินายน (วิมลโนธ) มีบุตรชาย 1 คน

ผลงานและตำแหน่งต่างๆ ที่ท่านได้รับในขณะยังดำรงตำแหน่งมีมากมาย คงกล่าวให้ไม่หมด

ศ.ดร.สุจินต์ เป็นผู้ที่มีความสามารถในหลายๆ ด้าน เป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติควบคู่กันไป ดังที่ได้ตั้งชื่อหนังสือที่ระลึก อายุ 60 ปี ไว้ว่า

“คิดแล้ว ต้องทำ ให้เกิดผล”

ในด้านการเรียนการสอน มีงานเด่นในเรื่องการปรับปรุงพันธุศาสตร์ และวิชาการปรับปรุงพันธุ์พืช อาจารย์สุจินต์ มีความเห็นว่า วิชาพันธุศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐานที่สำคัญ นิสิตทุกคนจะต้องเรียนเพื่อให้มีความเข้าใจถึงวิวัฒนาการต่างๆ ของธรรมชาติ อันจะนำไปสู่กระบวนทางความคิดในการปรับปรุงพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์

วิชาพันธุศาสตร์ เป็นวิชาที่นิสิตในสมัยนั้นกลัวกันมาก เพราะถือว่ายาก เพราะต้องรอบรู้ในวิชาที่เกี่ยวข้องหลายๆ เรื่อง วิชาชีววิทยา วิชาสถิติ คณิตศาสตร์ เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน ได้พยายามอย่างมากให้นิสิตมีความเข้าใจและรักวิชานี้ ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี มีลูกศิษย์ลูกหาหลายคน ที่ต่อมาได้กลายเป็นนักปรับปรุงมือดีของประเทศ

ด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน เป็นผู้มีจิตใจอ่อนโยน และมีเมตตาต่อศิษย์ทุกคน เป็นอาจารย์ที่ลูกศิษย์รักใคร่และให้ความเคารพนับถือมาก

ตำราพันธุศาสตร์ ที่อาจารย์เขียนขึ้นนั้น เป็นตำราภาษาไทยเล่มแรกของประเทศไทย นอกจากการสอนแล้วยังมีนิสิตมาทำวิทยานิพนธ์ด้วยจำนวนมาก

แปลงข้าวโพดทดลอง ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ที่ปากช่อง

นอกจากนั้นแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ ก็ยังให้ความเอาใจใส่ใกล้ชิด คอยช่วยเหลือ แนะนำ แก้ปัญหา และตรากตรำทำงานร่วมกับลูกศิษย์อย่างไม่ลดละ นับว่าเป็นแบบอย่างที่ดีที่ลูกศิษย์ถือเอาเป็นแบบอย่าง

สำหรับงานวิจัย ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นอย่างยิ่งของศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน

เล่ากันว่า เมื่อเรียนจบกลับมาใหม่ๆ นั้น อาจารย์มีความสนใจที่จะทำเรื่องพันธุศาสตร์ของข้าว ให้ต้านทานโรคและแมลง และต่อมา อธิการบดี (ศาสตราจารย์อินทรี จันทรสถิตย์) ได้แนะนำให้ทำการวิจัยเรื่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในระยะนั้นยังไม่ค่อยจะมีการทำวิจัยเลย ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ เห็นว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์น่าจะมีอนาคตที่ดีกว่า จะสามารถเป็นสินค้าส่งออกได้ จึงได้ลงมือวิจัยในเรื่องนี้

โดยมีหลักการและเป้าหมายของงานวิจัย ต้องให้สอดคล้องกับสภาพของเกษตรกร ถ้าทำลูกผสมที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงเกินไป เมื่อทำการปลูก เกษตรกรก็จะรับไม่ได้

ในระยะนั้น ได้เกิดโครงการประสานงานปรับปรุงการผลิตข้าวโพดขึ้น ด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทุนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ทำให้งานวิจัยเป็นไปด้วยดี

บรรดาอนุกรรมาธิการข้าวโพด ปี 2562 รัฐสภามาดูงานกันที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ที่ปากช่อง ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในที่สุดก็ได้ข้าวโพดที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทยคือ พันธุ์สุวรรณ 1 เมื่อปี 2518 อันเป็นพันธุ์หลักที่เกษตรกรใช้ปลูกกันทั่วประเทศ ทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้นอย่างมาก

ต่อมา ข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 1 ได้ใช้เป็นพันธุ์หลักในการทำข้าวโพดลูกผสมอีกหลายสายพันธุ์ และหลายประเทศในโลกก็ได้นำไปใช้ด้วย และผลงานในวิจัยนี้ ทำให้ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ ได้รับผลงานดีเด่นจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปี 2517 ในนามของฉายาที่เรียกกันว่า บิดาแห่งข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 1 ทำให้นานาชาติรู้จักชื่อเสียงของ ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน เป็นอย่างดี

เรื่องราวและงานค้นคว้าและวิจัย ของศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ มีมากมายผลงาน เป็นที่รู้จักกันมาก ที่ผู้เขียนตั้งให้ว่าเจ้าของ “คัมภีร์ข้าวโพดลูกผสม” ของผู้มีคุณูปการในวงการข้าวโพดไทยและในโลก จนมีลูกศิษย์ลูกหาสืบสานเจตนารมณ์ต่อไปไม่หยุดยั้ง ว่างั้นเถอะ

ผู้เขียนยังรำลึกถึงท่านอาจารย์ผู้นี้ แม้ด้วยวัย 85 ปี ท่านคงยังแข็งแรง เป็นที่เคารพนับถือของลูกศิษย์ลูกหาและผู้คุ้นเคยที่ได้มีโอกาสทำงานด้วยกันมาก่อน ขออวยพรให้ท่านอาจารย์จงมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขตลอดกาลครับ