ผู้เขียน | การุณย์ มะโนใจ |
---|---|
เผยแพร่ |
พืชผักที่คนไทยกินกันมีอยู่มากมาย เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป และบางคนอาจไม่รู้จัก มีบางคนตั้งคำถาม กินได้ด้วยเหรอ เช่น ผักพาย เผอิญวันก่อนลงพื้นที่ไปกับน้องที่สำนักงานเพื่อมอบซองบรรจุเมล็ดพันธุ์ผัก ตามโครงการตู้เย็นข้างบ้านต้านโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรที่กำชับลงมาว่า ต้องไปมอบให้ถึงมือเกษตรกร ห้ามโทรศัพท์ให้มารับที่สำนักงาน
ผ่านไปเจอเกษตรกรกำลังกำจัดวัชพืชแปลงปลูกผักพายที่ว่า จึงลงไปหาข้อมูล สอบถาม คุณปิยะมาศ ทองอาสา บ้านเลขที่ 253 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เจ้าของแปลง เล่าให้ฟังว่า ปลูกผักพายมานานแล้ว ขายทั้งดอกและต้น โดยจะเก็บผลผลิตวันเว้นวัน ส่งขายที่ตลาดสดในอำเภอพาน ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับอำเภอแม่ใจ โดยจะเริ่มเพาะปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนเป็นช่วงหน้าฝน โดยจะใช้เมล็ดหว่านแล้วจึงแยกต้นไปปลูกคล้ายกับการปลูกข้าว แปลงปลูกก็เตรียมแบบเดียวกับนาข้าว แต่รายได้แตกต่างจากนาข้าวแน่นอน ราคาขายส่งจะตกมัดละ 6 บาท (มัดหนึ่งน้ำหนักประมาณ 1 ขีด) กิโลกรัมละ 60 บาท

ผู้เขียนเลยหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต พบว่า ผักก้านจอง/ตาลปัตรฤๅษี และผักพายเล็ก จัดเป็นพืชน้ำชนิดขึ้นริมน้ำ และเป็นผักสมุนไพรชนิดหนึ่งที่นิยมกินลำต้นและใบ ทั้งกินสดและลวกจิ้มน้ำพริก เนื่องจากมีความกรอบและให้รสหวาน ทั้งนี้ ปัจจุบัน ผักทั้ง 2 ชนิด กำลังเป็นที่นิยมของคนทุกภาค และในบางพื้นที่มีการเพาะปลูกเพื่อส่งจำหน่ายสร้างรายได้งามทีเดียว
ตาลปัตรฤๅษี/ผักก้านจอง
ตาลปัตรฤๅษี/ผักก้านจอง เป็นผักสมุนไพรพื้นบ้านที่นิยมนำยอดอ่อนทั้งส่วนก้านและใบอ่อนมากินสดหรือลวกจิ้มน้ำพริก รวมถึงนิยมใช้เป็นผักคู่ส้มตำ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Limnocharis flava (L.) Buch ชื่อท้องถิ่น
ภาคกลาง เรียก ตาลปัตรฤๅษี ผักพาย ผักพายใหญ่ ตาลปัตรยายชี ผักตะบัน นางกวัก บัวลอย
ภาคอีสาน เรียก ผักก้านจอง ผักคันจอง
ภาคเหนือ ผักก้านจอง ผักคันจอง ผักพาย
การแพร่กระจายและการเติบโต ตาลปัตรฤๅษี/ผักก้านจอง/ผักพาย เป็นพืชที่พบได้ในทุกภาค มักพบเติบโตในพื้นที่น้ำขังบริเวณชายน้ำหรือริมขอบแหล่งน้ำขัง หนอง บึง หรือบ่อน้ำ ที่ระดับน้ำตื้น ประมาณ 30-50 เซนติเมตร แต่ไม่สามารถเติบโตได้ในแหล่งน้ำลึก เพราะลำต้นจะต้องโผล่พ้นน้ำสำหรับการสังเคราะห์แสง ทั้งนี้ ลำต้นสามารถแตกหน่อเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ แต่หากน้ำแห้งและดินไม่มีความชื้น ผักก้านจองก็จะตายทันที

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น …ลำต้นของตาลปัตรฤๅษี/ผักก้านจอง เป็นเหง้าที่เติบโตอยู่ในดินใต้น้ำ สามารถแตกออกเป็นไหลสั้นๆ และแตกเหง้าหรือลำต้นใหม่ได้
ใบ …ใบตาลปัตรฤๅษี/ผักก้านจอง ออกเป็นใบเดี่ยว ประกอบด้วยก้านใบและแผ่นใบ ซึ่งเป็นส่วนที่เรามองเห็นเหนือดิน หรือเหนือน้ำ
ก้านใบ เป็นส่วนที่แทงออกจากเหง้า 3-5 ก้าน แต่ละก้านจะมีรูปทรงสามเหลี่ยม โดยขอบแต่ละด้านเป็นสันบาง และสั้นๆ ที่เป็นลูกคลื่นยื่นออกมาเล็กน้อย ภายในประกอบด้วยเหยื่อที่เป็นร่างแหของโพรงอากาศ เมื่อจับบีบจะยุบตัวได้ง่าย โดยก้านใบมีความยาวถึงปลายก้านประมาณ 40-60 เซนติเมตร ขนาดลำก้านประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งเติบโต โคนก้านมีสีน้ำตาลอมม่วงและค่อยเป็นสีเขียวสดขึ้นมาจนถึงปลายก้าน

แผ่นใบ เป็นส่วนที่ต่อกับก้านใบ มีรูปไข่ โคนใบสอบ กลางใบกว้าง และสอบแหลมที่ปลาย ใบยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร กว้างมากสุดบริเวณกลางใบ ประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ มีสีเขียวสด แผ่นใบด้านล่างมองเห็นเส้นใบนูนเด่นที่มีสีเดียวกันกับแผ่นใบตามแนวยาวของใบ ทั้งนี้ ทั้งส่วนก้านใบและแผ่นใบเมื่อฉีกขาดจะพบยางสีขาวไหลออกมา
ดอก …ดอกของตาลปัตรฤๅษี/ผักก้านจอง แทงออกเป็นช่อ ประกอบด้วยก้านดอกหลักที่แทงออกจากกลางลำต้น ก้านดอกหลักมีรูปสามเหลี่ยมคล้ายกับก้านใบ และมีความยาวน้อยกว่าก้านใบเล็กน้อย โดยส่วนปลายสุดของก้านดอกหลักจะประกอบด้วยดอกย่อย 8-12 ดอก เรียงเป็นชั้น ประมาณ 3 ชั้น ชั้นแรกมีประมาณ 5 ดอก ชั้นที่ 2 และ 3 มีประมาณ 2-3 ดอก แต่ละดอกย่อยจะมีก้านดอกที่คล้ายกับดอกหลัก แต่จะสั้นกว่ามากที่ประมาณ 5-10 เซนติเมตร โดยปลายสุดของก้านดอกย่อยจะเป็นตัวดอก

ดอกตูม ของตาลปัตรฤๅษี/ผักก้านจอง มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมปลายแหลมที่หุ้มด้วยกลีบรองดอกสีเขียว เมื่อบานกลีบรองดอกจะกางออก แล้วกลีบดอกจะแผ่ออกมา โดยแต่ละดอกจะมีกลีบดอก 3 กลีบ แต่ละกลีบมีลักษณะคล้ายเกล็ดปลา สีเหลืองสด ขอบกลีบย่นเป็นลูกคลื่น ถัดมาตรงกลางเป็นส่วนของก้านเกสรสีเหลืองสดที่เรียงกันเป็นวงกลม โดยตรงกลางล่างสุดจะเป็นรังไข่ ทั้งนี้ ตาลปัตรฤๅษี/ผักก้านจอง จะออกดอกในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน
ผล และเมล็ด …ผลมีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม ที่ประกอบด้วยผลย่อยจำนวนมาก กว้าง 1.2-2 เซนติเมตร ยาว 1-1.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และแก่เต็มที่เป็นสีดำ ภายในผลประกอบด้วยเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีรูปเกือกม้า เปลือกมีสีน้ำตาลเข้ม ยาว 1.2-1.5 มิลลิเมตร
สนใจรายละเอียดติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ คุณปิยะมาศ ทองอาสา โทรศัพท์ 084-610-5477 ที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา หรือติดต่อผ่าน สำนักงานเกษตรอำเภอแม่ใจ ที่เบอร์โทร. 095-676-4905 ก็ยินดีประสานให้ครับ

