เผยแพร่ |
---|
จังหวัดพังงา เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีภูมิประเทศที่สวยงาม ดังฉายา เมืองสวยในหุบเขา เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวปีละกว่า 3 ล้านคน
แต่ที่ผ่านมานั้น อาหารส่วนใหญ่โดยเฉพาะพืชผักและผลไม้ที่ใช้ต้อนรับนักท่องเที่ยว นำเข้ามาจากต่างจังหวัด ดังนั้น สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดและเป็นการสร้างรายได้อันดีให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะในช่วงภาวะพืชเศรษฐกิจราคาตกต่ำ

นายสมชาย บริพันธุ์ เกษตรจังหวัดพังงา กล่าวว่า สำหรับนโยบายการส่งเสริมของสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงาได้เน้นส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืช ในกลุ่มของผักปลอดภัยจากสารพิษ สับปะรดภูงา แตงโม และเมล่อน ซึ่งเป็นพืชทางเลือกใหม่ อนาคตสดใสของเกษตรกรจังหวัดพังงา

ด้าน นายสมบัติ ยกเชื้อ หรือที่รู้จักกันในนาม “ผู้ใหญ่หม้อ” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านนากลาง ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 24/2 หมู่ที่ 9 ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง เป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการปลูกพืชทางเลือกใหม่ในโรงเรือนระบบปิด ซึ่งพืชที่ปลูก ได้แก่ มะเขือเทศ จำนวน 200 ต้น แตงกวาญี่ปุ่น จำนวน 100 ต้น และเลม่อน จำนวน 500 ต้น
ในที่นี้จะขอกล่าวถึง เมล่อน ซึ่งเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง นายสมบัติได้ให้ข้อมูลโดยสรุปดังนี้

สำหรับแนวคิดในการหันมาปลูกผัก ผลไม้ ในโรงเรือนระบบปิด เนื่องจากปัญหาภัยธรรมชาติ ได้แก่ ภัยแล้ง น้ำท่วม วาตภัย ซึ่งเป็นภัยที่ควบคุมไม่ได้ จึงได้มีความคิดที่จะปลูกพืชระบบปิด ซึ่งสามารถควบคุมการผลิตได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม
ที่สำคัญสามารถกำหนดให้ผลผลิตออกสู่ท้องตลาด และกำหนดราคาจำหน่ายเองได้ สำหรับการดำเนินการก็ไม่ยุ่งยาก มีดังนี้

การปลูก ปลูกในโรงเรือนระบบปิด ขนาด 6x24 เมตร ใช้เมล็ดพันธุ์ปลูก หลุมละ 1-2 เมล็ด ปลูกแบบขึ้นค้างทำราว 2 ชั้น ราวห่างจากพื้นดิน 80-100 เซนติเมตร และชั้นสองห่างจากพื้นดิน 150-180 เซนติเมตร ราวชั้นแรกทำเพื่อแขวนผล ส่วนราวชั้นที่สองทำเพื่อพยุงส่วนยอด เมื่อเถายาวประมาณ 40 เซนติเมตร จัดเถาให้เลื้อยขึ้นค้าง โดยใช้เชือก เรียกวิธีการนี้ว่า การผูกยอด
ในส่วนของการดูแลรักษา มีวิธีที่ต้องดำเนินการ ดังนี้
การเตรียมดิน โดยใช้ขุยมะพร้าวละเอียด ขุยมะพร้าวสับ และดินเล็กน้อย อัตราส่วน 3:2:1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน ผสมกับเชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงาและสำนักงานเกษตรอำเภอตะกั่วทุ่งได้ถ่ายทอดวิธีการขยายเชื้อ ทำให้ขณะนี้สามารถทำไว้ใช้เองได้ ซึ่งนอกจากเป็นการป้องกันกำจัดโรคพืชแล้ว เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้ด้วย

การให้ปุ๋ยและน้ำจะให้ปุ๋ยในรูปของสารละลายในน้ำ ให้พร้อมกับให้น้ำซึ่งใช้ระบบให้น้ำแบบน้ำหยด โดยใช้พลังงานจากแผ่นโซลาร์เซลล์ ที่สำคัญต้องหมั่นตรวจสอบระบบหัวน้ำหยดอย่าให้อุดตัน ควบคุมการให้น้ำอัตโนมัติ ระยะเวลาการให้น้ำตามความต้องการของพืชและสภาพภูมิอากาศ
การผูกยอดและการเด็ดยอด เมื่อเมล่อนเริ่มทอดยอด ควรใช้เชือกผูกหลวมๆ บริเวณใต้ข้อปล้องที่ 2-3 จากยอดยึดติดกับค้าง โดยผูกทุกๆ 3 ปล้อง ปกติค้างจะสูงประมาณ 150-180 เซนติเมตร ควรเด็ดยอดทิ้งเมื่อเมล่อนสูงประมาณ 140 เซนติเมตร
การตัดแขนงและไว้ผล เริ่มไว้ผลตั้งแต่ ข้อที่ 9-12 หรือสูงจากพื้นดิน ประมาณ 50 เซนติเมตร เด็ดแขนงที่แตกจากข้อที่ 1-8 ออกให้หมด ผลที่ไว้ให้เหลือใบไว้กับผล 2 ใบ และควรเก็บใบไว้เหนือผล 12-15 ใบ เพื่อไว้เลี้ยงผล เมื่อผลโตเท่าไข่ไก่ ให้เลือกผลที่ดีที่สุดไว้เพียง 1 ผล ที่เหลือเด็ดทิ้งหมด และเด็ดแขนงที่ออกจากข้อออกให้หมด
การป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช ไม่มีโรค แมลงรบกวน เนื่องจากปลูกในโรงเรือนระบบปิด และมีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อรา
ส่วนการเก็บเกี่ยว นายสมบัติ กล่าวว่า เมล่อนมีอายุตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ประมาณ 70-80 วัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ และฤดูปลูก
ทั้งนี้ พันธุ์เบาเก็บเกี่ยวได้เร็วและถ้าปลูกฤดูร้อนผลจะสุกเร็วกว่า
ผู้ปลูกสามารถสังเกตระยะที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวได้จากสีของผลสีนวลรอยนูนของร่างแหแข็งนูนเห็นชัด กลิ่นหอม
สำหรับผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ต่อรุ่น อยู่ที่จำนวน 500 ผล ผลละประมาณ 0.8-1.7 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 150-190 บาท แล้วแต่เกรด สามารถทำรายได้ให้เกษตรกร ประมาณ 75,000-100,000 บาท ต่อรอบการผลิต
การตลาด ได้เปิดให้ลูกค้าสั่งจองทางสื่อออนไลน์ และจำหน่ายที่ร้านค้าชุมชนของหมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจสั่งจองเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผลผลิตมีคุณภาพและปลอดภัย อีกทั้งรสชาติหวาน หอม อร่อย ซึ่งนอกจากจำหน่ายผลผลิตแล้ว ยังเปิดให้บริการแก่ผู้ที่สนใจได้ถ่ายภาพในแปลงเพื่อเป็นที่ระลึก เป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
หากต้องการข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา สำนักงานเกษตรอำเภอตะกั่วทุ่ง หรือติดต่อที่ ผู้ใหญ่สมบัติ ยกเชื้อ โดยตรง ที่หมายเลขโทรศัพท์ (086) 279-5380