เกษตรกรยุคโควิด จบโทจากออสเตรเลีย นำความรู้กลับมาพัฒนาสวน “มะยงชิด” ที่บ้านนครนายก ได้ผลผลิตคุณภาพ มีเท่าไรไม่พอขาย

“มะยงชิด” ผลไม้มากคุณค่า ถูกจัดให้อยู่ในประเภทของฝากที่คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ทรงคุณค่า คนส่วนใหญ่มักจะนิยมซื้อเป็นของฝากญาติผู้ใหญ่ที่เคารพรัก เป็น ผลไม้ที่มีราคาสูง มีสรรพคุณเหมือนยาอายุวัฒนะ ช่วยให้ร่างกายกลับคืนความอ่อนเยาว์ชะลอแก่ได้ บวกกับรสชาติที่มีความอร่อยเฉพาะตัว จึงส่งผลให้มะยงชิดกลายเป็นของฝากยอดนิยม หากใครบุกมาถึงถิ่นแล้วไม่ซื้อติดไม้ติดมือกลับ ถือว่าพลาดด้วยประการทั้งปวง มะยงชิด จึงกลายเป็นไม้ผลเศรษฐกิจหลักสร้างรายได้ที่ดีมากให้กับเกษตรกรนครนายกมาอย่างช้านาน

คุณจตุพงษ์ บุญประกอบ อยู่บ้านเลขที่ 18 หมู่ที่ 8 ตำบลศรีนาวา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ดีกรีหนุ่มนักเรียนนอก เป็นทั้งคุณครู นักธุรกิจ และอาชีพล่าสุดที่เจ้าตัวกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่า ตนเองนั้นเป็นเกษตรกรยุคโควิดด้วย ส่วนเรื่องราวที่มาที่ไปจากนักเรียนนอกพลิกผันมาสู่การเป็นเกษตรกรบ้านนาได้อย่างไร ตามมาหาคำตอบกัน

คุณจตุพงษ์ บุญประกอบ

คุณจตุพงษ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรว่า ด้วยพื้นฐานเดิมครอบครัวเป็นเกษตรกร พ่อแม่มีอาชีพทำสวนผลไม้อยู่ที่จังหวัดนครนายกมาตั้งแต่เกิด ตนจึงได้คลุกคลีกับอาชีพเกษตรกรรมมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ แต่พอโตขึ้นได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาตรีที่กรุงเทพฯ ในภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ ที่ประเทศออสเตรเลีย เพื่อต้องการฝึกภาษาและเพื่อจะนำความรู้ด้านบริหารธุรกิจมาต่อยอดสวนผลไม้ที่บ้าน จึงตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อ ซึ่งหลังจากเรียนจบกลับมาแล้วก็ยังไม่ได้เข้าไปช่วยที่บ้านทำสวนอย่างจริงจัง เพราะตนได้งานประจำเป็นคุณครูสอนภาษาอังกฤษ และเป็นทั้งนักธุรกิจเปิดบริษัทยานยนต์ไฟฟ้ากับเพื่อนด้วย ส่วนในด้านการเกษตรนั้นได้มีการวางแผนไว้ว่า อีก 5 ปีข้างหน้าถึงจะกลับมาทำสวนอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่วางแผนไว้ก็เร็วเกินคาด จากที่เคยวางแผนไว้อีก 5 ปี กลายเป็นว่าตอนนี้ได้กลายเป็นเกษตรกรตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้ธุรกิจทุกอย่างชะงัก นี่จึงเป็นที่มาของเกษตรกรยุคโควิดนั่นเอง

ใช้ความรู้ที่เรียนกลับมาพัฒนา
สวนไม้ผลของที่บ้าน สร้างยอดขายสุดปัง

เจ้าของบอกว่า ด้วยความที่พื้นฐานเดิมพ่อแม่เป็นเกษตรกรอยู่แล้ว จึงนับว่าตนเองโชคดีในด้านของการประหยัดเวลาลองผิดลองถูกด้วยตนเอง จึงใช้ความรู้ที่เรียนมาและโอกาสที่มีมากกว่าคนอื่นเข้ามาพัฒนาระบบจัดการสวนผสมผสานของครอบครัวให้ง่ายยิ่งขึ้น ด้วยการนำระบบ IOT มาประยุกต์ใช้ภายในสวน รวมถึงด้านการตลาดและการแปรรูปด้วย

โดยที่สวนเป็นลักษณะของเกษตรผสมผสาน แบ่งเป็น กระท้อน 500 ต้น มะยงชิดทูลเกล้า 500 ต้น ทุเรียน 500 ต้น มะม่วง 500 ต้น นอกจากนี้ยังมี มะดัน กล้วย มังคุด เงาะ และสะเดา อีกพอประมาณ บนพื้นที่กว่า 70 ไร่ สิ่งแรกที่ได้เข้ามาบริหารจัดการคือ ระบบน้ำ จากเดิมใช้ปั๊มแล้วเดินรดน้ำ เปลี่ยนมาใช้ระบบไทม์เมอร์แบ่งโซนตั้งเวลารดน้ำ และล่าสุดได้มีการพัฒนาใช้ระบบโซล่าร์เซลล์ปั๊มน้ำจากบ่อขึ้นมา แล้วตั้งเวลารดน้ำอัตโนมัติไว้ ลำดับถัดมาจะเป็นเรื่องของดิน พยายามใช้ IOT เข้ามาตรวจสอบสภาวะแวดล้อมภายในฟาร์มเพื่อควบคุมบริหารจัดการในเรื่องของสภาพดินว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่ รวมถึงการลดใช้สารเคมี หันกลับมาใช้อินทรีย์มากขึ้น และในส่วนของการกำจัดศัตรูพืช มีการใช้สารสกัดจากธรรมชาติเข้ามาช่วยในการกำจัดศัตรูพืช ลำดับสุดท้าย เข้ามาพัฒนาในเรื่องของการตลาด จากเดิมขายเพียงผลสดอย่างเดียว พอหมดฤดูกาลก็ขาดรายได้ ตนจึงคิดเรื่องของการแปรรูปขึ้นมาเพื่อให้มีผลผลิตขายได้ตลอดทั้งปี

สภาพแปลงมะยงชิด

เทคนิคปลูกมะยงชิดอย่างไร
ให้ขายได้ทั้งผลผลิตและกิ่งพันธุ์

ก่อนที่จะไปทราบถึงเทคนิคการปลูกมะยงชิด คุณจตุพงษ์ เล่าถึงจุดเด่นมะยงชิดทูลเกล้าว่า แน่นอนว่าหนึ่งคือ มะยงชิดนครนายกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI มีลักษณะเด่น คือ ผลใหญ่ รูปไข่ มีสีเหลืองส้ม เนื้อแน่น กรอบ มีกลิ่นหอม เมล็ดลีบสีน้ำตาลอ่อน รสชาติหวานอมเปรี้ยว มีค่าความหวาน 18-22 องศาบริกซ์ มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนมะยงชิดที่ปลูกจากจังหวัดอื่น รวมถึงข้อได้เปรียบของพื้นที่เป็นหินภูเขาไฟที่เหมาะกับการปลูกพืชมากๆ จึงยิ่งส่งผลให้มะยงชิดที่นครนายกมีความโดดเด่นมาก

ส่วนเทคนิคการปลูกนั้น เริ่มต้นที่ขุดหลุมกว้าง 1 ฟุต ลึก 1 ฟุต รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หลังจากลงดินเสร็จ ประมาณ 1-2 เดือน นำปุ๋ยคอกมาโรยรอบทรงพุ่ม

ระยะห่างระหว่างต้น 3×3 เมตร ซึ่งหลายคนคงสงสัยว่า ทำไมจึงปลูกในระยะห่างเพียงเท่านี้ ก็เพื่อขายกิ่งพันธุ์ด้วยนั่นเอง มะยงชิดเมื่อปลูกได้ระยะเวลา 5-6 ปี หากปลูกในระยะ 3×3 เมตร พอพุ่มชนกันจะเอาไปทำกิ่งพันธุ์ขายได้ กิ่งละ 200-500 บาท แล้วตัดเว้นระยะ โดยวางแผนไว้ว่า จะทำประมาณ 10,000 กิ่ง เพื่อให้มีกิ่งพันธุ์ขายตลอดทั้งปี

ปัญหาและอุปสรรค สำหรับต้นมะยงชิดถือเป็นพืชชั้นครู เพราะปลูกและบังคับยากในเรื่องของการออกดอก เทคนิคสำคัญคือ ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของฤดูกาล อุณหภูมิ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการแทงช่อดอก การติดผล ถ้าอุณหภูมิต่ำและมีระยะช่วงที่อุณหภูมิต่ำนานพอสมควร จะทำให้มะยงชิดออกดอกติดผลได้ดีขึ้น หรือถ้าปีไหนไม่ติดดอก ก็จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการติดหลอดไฟในทรงพุ่มเพื่อช่วยในการติดดอก ซึ่งในตอนแรกก็ยังไม่เชื่อว่าการติดไฟจะช่วยติดดอกได้จริงๆ แต่ก็ได้มีการทดลองทำและสังเกตมาแล้วว่า ถ้าติดดอกโดยธรรมชาติดอกจะติดนอกทรงพุ่มมองเห็นได้จากด้านนอก แต่ถ้าใช้ไฟช่วย ดอกจะติดในทรงพุ่ม นั่นก็หมายความว่า การติดหลอดไฟมีส่วนช่วยในการติดดอกจริงๆ

และนอกจากนี้ยังต้องระวังในเรื่องของฝน หากฝนตกมาก ก็ให้ระวังเรื่องของเชื้อรา ข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะเคยมีปีหนึ่งที่จังหวัดนครนายกฝนตกหนัก มะยงชิดไม่ออกดอก ส่งผลให้สวนมะยงชิดเสียหายกันทั้งจังหวัด จนไม่สามารถจัดงานมะยงชิดประจำปีได้

ห่อผลด้วยตาข่ายโฟม

ระยะปลูกถึงเก็บเกี่ยว ใช้เวลาประมาณ 5 ปี ฤดูกาลของมะยงชิดคือ ช่วงฤดูหนาว และถ้าหากปีไหนฤดูหนาวมาเร็วก็จะมีผลผลิตออกมาให้ได้ลิ้มรสกันเร็ว แต่ถ้าปีไหนฤดูหนาวมาช้า ผลผลิตอาจคลาดเคลื่อนไปเล็กน้อย

การฟื้ฟูต้นหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว เข้าสู่การบำรุงฟื้นฟูต้น ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งเพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของโรคพืช บำรุงต้นด้วยปุ๋ยคอกโรยรอบทรงพุ่ม ต้นละ 1 กระสอบ จากนั้นรดน้ำ พอเข้าหน้าฝนก็ใส่ปุ๋ยอีกครั้ง จากนั้นรอให้เข้าฤดูหนาว อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 20-24 องศา ติดกัน 4 วัน ให้เริ่มติดหลอดไฟ แนะนำว่าก่อนที่จะติดหลอดไฟให้สังเกตที่ใบ หากต้นไหนใบยังอ่อนอยู่แสดงว่าต้นนั้นยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่พร้อมให้ผลผลิต ให้เลือกติดหลอดไฟต้นที่ใบแก่ ต้นจะมีความสมบูรณ์พร้อมให้ผลผลิตแล้วค่อยติดหลอดไฟ จึงจะได้ผล ซึ่งการติดหลอดไฟนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของทรงพุ่ม ถ้าต้นอายุ 5 ปี ให้ติดตรงกลางเพียง 1 หลอด ก็ได้ แต่ถ้าต้น 10 ปี อาจจะติดสัก 3 หลอด แล้วแต่ความเหมาะสม หรืออาจจะแบ่งโซนติดก็ยิ่งดี เลือกเฉพาะโซนที่ดูแล้วว่าไม่สามารถติดดอกเองได้ ก็จะช่วยประหยัดต้นทุน ประหยัดแรงงานไปได้อีกทางหนึ่ง

ปริมาณผลผลิต ประมาณ 100 กิโลกรัม ต่อต้น ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ขนาดของผลมีทั้ง 12 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม สามารถผลิตได้ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตทั้งหมด ที่เหลือจะเป็นเบอร์รอง แต่ก็ยังเป็นขนาดที่ใหญ่อยู่ที่ประมาณ 15-16 ลูก ต่อ 1 กิโลกรัม

ราคาขาย กิโลกรัมละ 250 บาท เป็นราคารับซื้อหน้าสวน แต่ถ้านำไปขายที่กรุงเทพฯ ราคาจะพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 500 บาท ถือว่ามะยงชิดเป็นผลไม้อีกหนึ่งชนิดที่ราคาดีมาตลอด

ผลผลิตคุณภาพ ลูกใหญ่ ผิวสวย รสชาติดี

ใช้ข้อได้เปรียบในการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่
ทำตลาดมะยงชิดให้มีขายตลอดทั้งปี

เจ้าของบอกว่า จากเดิมการตลาดของที่บ้านจะเน้นขายผลสดทั้งหมด ส่วนตนนั้นอาศัยความกว้างขวางที่ทำหลากหลายอาชีพ มีเพื่อนหลายกลุ่มก็จะนำผลผลิตไปขายให้กับผู้ปกครองของเด็กนักเรียน และมีเพื่อนรับไปขายด้วยอันนี้เป็นการตลาดเมื่อก่อน แต่ในปัจจุบันที่สวนเริ่มมีการพัฒนาการตลาดมากขึ้น ประจวบเหมาะกับที่ตนได้เข้าไปเป็นหนึ่งในเครือข่ายยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ของจังหวัดนครนายกด้วย ทำให้มีเครือข่ายและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้มากขึ้น จึงได้เริ่มมีการพัฒนาทำมะยงชิดแช่แข็ง ถือเป็นการถนอมอาหารเพื่อให้มีผลผลิตขายตลอดทั้งปี ซึ่งในส่วนตรงนี้ได้มีตลาดรองรับไว้อยู่แล้วจากการที่ได้เข้าไปพูดคุยและเสนอผลิตภัณฑ์มะยงชิดแปรรูปกับผู้ประกอบการโรงแรม และร้านค้าในจังหวัดนครนายกถือเป็นการเพิ่มรายได้และช่วยเกษตรกรรายอื่นให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการรับซื้อผลผลิตของเราเพื่อนำมาแปรรูป

ลูกค้าสั่งตลอดไม่เคยว่าง

โดยวิธีการทำมะยงชิดแปรรูปก็ไม่ยุ่งยาก เพียงนำมะยงชิดมาล้างทำความสะอาด แล้วปอกเปลือก นำไปล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง จากนั้นนำมาแพ็กถุงแล้วฟรีซส่งขายได้เลย ซึ่งถือเป็นวิธีการแปรรูปสร้างมูลค่าที่ง่ายมาก อยากให้มีการส่งเสริมและรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ให้มาร่วมทำด้วยกัน เพราะปัญหาตอนนี้ของเกษตรกรนครนายกจะมีชาวสวนที่อายุมากที่ปลูกเก่ง ทำเก่ง แต่ขายไม่เป็น ตนจึงอยากใช้มุมมองของนักบริหารการตลาดเข้ามาช่วย รวมกลุ่มเกษตรกรที่มีปัญหาเหล่านี้มาเป็นสมาชิก แล้วมาช่วยทำตลาดไปด้วยกัน เพราะตลาดมะยงชิดยังมีผู้ประกอบการที่ต้องการอีกมาก แต่ไม่รู้จะไปซื้อผลผลิตที่ไหน ตรงนี้คือข้อมูลจากการที่ได้เข้าไปพูดคุยกับผู้ประกอบการจากหลายๆ ที่

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจสั่งซื้อมะยงชิดคุณภาพ สามารถติดต่อ คุณจตุพงษ์ บุญประกอบ  ได้ที่เบอร์โทร. 089-811-7264

ผลไม้หลากหลายชนิดภายในสวนผสมผสาน

 

เผยแพร่ครั้งแรก วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ.2564