เปลี่ยนวิถีชีวิตจากเกษตรทุนนิยม สู่ความพอเพียง ด้วยเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ ที่แม่ออน เชียงใหม่

ความสำเร็จในเส้นทางชีวิตเกษตรกรที่เลือกวิถีเศรษฐกิจพอเพียงของ ครูอินสอน สุริยงค์ เริ่มต้นจากความล้มเหลวในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและไม้ผลเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา เมื่อครู ปกศ. เงินเดือน 720 บาท รายนี้ ต้องไปกู้เงินซื้อที่ทำไร่ ซื้อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จนนำไปสู่การขายที่ดินเพื่อใช้หนี้ในที่สุด ความผิดหวังจากสารเคมีทำให้ครูหันหน้ามาเพิ่งภูมิปัญญาชาวบ้าน เลิกใช้สารเคมี ญาติยังหัวเราะไม่ใช้เคมีจะอยู่ได้ไง ครูอินสอน พยายามศึกษาค้นคว้า ภูมิปัญญาเกษตรคือครูคนแรกจริงๆ ครูอินสอน ทุ่มเทให้กับการศึกษาเรื่องจุลินทรีย์อย่างเต็มที่ ลงมือปฏิบัติทันทีเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีต่างๆ ด้วยตัวเอง

“หลักของผมคือ ททท. (ทำทันที) ได้ผลอย่างไรก็จดบันทึกและเพิ่มเติมความคิดของผมเข้าไปด้วย เช่น การเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เราได้แนวคิดมาบ้าง ก็เอามาปรับใช้ให้ดีขึ้นมา ประยุกต์ใช้ รู้แล้วฝึกปฏิบัติทันที ใช้หลัก 3 ท. คือ ทำทันที พอได้ผลเราก็เอาข้อมูลต่างๆ ไปเผยแพร่”

ปัจจุบัน ครูอินสอน เปิดบ้านเป็นศูนย์เกษตรธรรมชาติแม่ออน ในพื้นที่อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2530 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรรมธรรมชาติ เปิดเผยทุกขั้นตอนของการทำเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ ทั้งการผลิตอาหารพืช อาหารสัตว์ เพื่ออยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล ลงมือปฏิบัติเรื่องจุลินทรีย์อย่างลึกซึ้ง รวมถึงการแปรความหมายของเกษตรกรทฤษฎีใหม่สู่เกษตรธรรมชาติจนประสบความสำเร็จ

 

ปุ๋ยหมัก 7 วัน ใช้งานได้

ประชากรในพื้นที่แม่ออนเกือบ ร้อยละ 80 ทำอาชีพเกษตร และเลี้ยงวัวนม จึงมีเศษวัสดุต่างๆ เช่น เศษไม้ เศษหญ้า ข้าวโพดที่โคนมกินไม่หมด ครูอินสอน แนะนำให้เกษตรกรนำไปทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้สูงอายุหรือผู้ว่างงานสามารถเก็บขยะมาขายได้แทนที่จะเอาไปเผา ซึ่งได้ราคากระสอบละ 3 บาท ซากเห็ดต่างๆ เช่น ก้อนเห็ด เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม ก็ยังใช้ทำปุ๋ยหมักได้

ปุ๋ยหมักที่นี่ ไม่ได้ใช้มูลสัตว์อย่างเดียวไม่เช่นนั้นธาตุอาหารจะไม่เพียงพอ ดังนั้น ครูอินสอน จึงใช้วัสดุต่างๆ เกือบ 10 อย่าง ผสมผสานซึ่งก็รวมถึงเปลือกไข่ ซึ่งมีการรับซื้อจากร้านอาหารด้วย ครูบอกว่า เปลือกไข่หรือเปลือกหอยต่างๆ จะมีฟอสฟอรัสกระตุ้นให้เกิดการออกดอก นอกจากนั้นแล้ว หินภูเขาไฟก็ยังถูกนำมาผสมให้ปุ๋ยมีธาตุอาหารสูงขึ้นอีกด้วย

ปกติการทำปุ๋ยหมักมักใช้ยูเรียหรือสารเร่งต่างๆ ซึ่งกว่าปุ๋ยจะหมักได้ที่ ต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน แต่ครูอินสอน สามารถทำปุ๋ยหมักคุณภาพดีที่พร้อมใช้งานได้ภายใน 24 ชั่วโมง หรือ 3 วัน หรือ 7 วัน ก็ใช้ได้แล้ว

ปุ๋ยหมักที่ทำขึ้นนอกจากใช้บำรุงพืชหรือรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถนำไปหว่านลงบ่อปลา เพื่อบำบัดน้ำเสียได้ด้วย ญี่ปุ่น เรียกว่า “โบกาชิ” โดยใช้มูลสัตว์ต่างๆ เช่น มูลเป็ด มูลไก่ มูลวัว มูลควาย 3 ส่วน รำละเอียด 1 ส่วน เป็นตัวช่วยให้จุลินทรีย์เกิด และใช้แกลบหยาบหรือพืช 10 ส่วน ก่อนจะหมักและเอาจุลินทรีย์รดราดหมักออกมาเป็นโบกาชิ

โบกาชิ ที่หว่านลงในกองขยะหรือลำคลองจะไม่มีกลิ่นเน่าเสีย เพราะน้ำเสียถูกบำบัดด้วยจุลินทรีย์ก้อน และเอาโบกาชิ หรือปุ๋ยหมักโยนลงไป จะทำให้น้ำเขียว เกิดแพลงตอน สามารถเลี้ยงปลาได้

นอกจากนั้น พวกผักตบชวา ผักบุ้งอะไรต่างๆ ที่ปลูกไว้ที่ท้องร่องก็ยังนำมาหมักเป็นส่วนเสริมเลี้ยงหมู ไก่ ปลา โดยใช้พืชผักต่างๆ 100 กิโลกรัม กากน้ำตาล 3 กิโลกรัม จุลินทรีย์ 1 ลิตร และเกลือ 1 ลิตร คลุกเข้าด้วยกันหมักไว้สัก 7-10 วัน เอาไปผสมให้สัตว์กินไม่มีกลิ่นเหม็น    นอกจากนี้ มะละกอหรือผลไม้ต่างๆ ที่ปลูกไว้ หากขายไม่หมด ให้นำมาทำน้ำหมัก เร่งราก เร่งผล และยังสามารถเอามาหมักให้สัตว์กินได้ด้วย

ครูอินสอน ใช้พื้นที่ว่างข้างรั้ว ปลูกผักพืชสวนครัว เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ และ กะเพรา นับดูแล้วมีพืชที่มีกลิ่นฉุนกว่า 20 ชนิด ส่วนหนึ่งจะถูกนำมาหมักด้วยจุลินทรีย์ บางอย่างก็เอามาต้ม แล้วผสมกับน้ำส้มควันไม้ซึ่งมีส่วนผสมสำคัญคือ คาร์บอน ที่ได้จากการเผาถ่านเพื่อใช้ไล่แมลง นอกจากนั้น ก็ยังมีสมุนไพรดับกลิ่น ซึ่งทำโดยผสมน้ำส้มสายชู 1 ส่วน กากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายแดงและจุลินทรีย์ 1 ส่วน น้ำ 10 ส่วน หมักไว้ประมาณ 14 วัน เอามาผสมร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะดับกลิ่นได้ดีแล้วยังช่วยขับไล่แมลงและบำบัดน้ำเสียได้อีกด้วย ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด

“ โบกาชิดิน”  ดินพร้อมปลูก สินค้าขายดี

ครูอินสอน ยังรับซื้อขยะใบไม้หรือเห็ดต่างๆ ทำให้เกษตรกรมีรายได้วันละ 300-500 บาท ขณะที่ฟาร์มเห็ดจะรับซื้อในราคาสูงถึง 500 บาท แต่ 1 คันรถปิกอัพ นอกจากนั้น ก็มีใบไม้หรือข้าวโพดต่างๆ ที่สัตว์กินไม่หมดก็รับซื้อเหมือนกันเพื่อจะใช้เป็นส่วนผสมของดินพร้อมปลูก

วิธีการทำง่ายๆ คือ ใช้ดินร่วน 5 ส่วน แกลบดำ 2 ส่วน รำละเอียด 2 ส่วน และมูลสัตว์ 2 ส่วน ผสมเข้าด้วยกัน ใช้จุลินทรีย์รดแล้ว คลุมด้วยกระสอบพลิกทุกวันใช้เวลา 7 วัน หลังจากนั้นก็ใช้อินทรียวัตถุเช่นใบไม้ต่างๆ ทุกอย่าง 10 ส่วน รำละเอียด 1 ส่วน แกลบดำ 1 ส่วน มูลสัตว์ 2 ส่วน แล้วใช้ปุ๋ยหมักหัวเชื้อที่หมักแล้วมาผสมและรดราดด้วยจุลินทรีย์ ความชื้นประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ มาเก็บในกระสอบแล้วก็ทิ้งไว้ ใช้ไม้มากั้นตรงกลางให้อากาศผ่านเพราะจุลินทรีย์บางอย่างต้องการอากาศ ไม่ต้องตากแดด ผ่านไป 5 ชั่วโมง หรือ 1 วัน ก็จะเริ่มร้อน และความร้อนจะสูงถึง 40 องศาเซลเซียส

ในวันที่ 3  มีการระบายความร้อนตลอด โดยกระสอบที่เลือกต้องมีการระบายได้ เมื่อได้อย่างนี้แล้วก็เอามาเป็นส่วนผสมของดินพร้อมปลูกซึ่งขายดีมากเลย ในญี่ปุ่น เรียกว่า โบกาชิดิน ซึ่งประกอบด้วย ดิน หัวเชื้อ แล้วก็แกลบ อินทรีวัตถุที่หมักแล้วผสมกัน

ครูอินสอน ระบุว่า ดินพร้อมปลูกทั่วไปที่วางขายตามท้องตลาดนั้นส่วนมากจะใช้ดินมาผสมสิ่งต่างๆ โดยไม่มีการหมัก ทำให้แก๊ชแอมโมเนีย แก๊ชไข่เน่า ยังมีอยู่ ซึ่งเมื่อนำไปใส่ต้นพืช พืชก็จะเน่าตายในที่สุด

 

ข้าวนอกนา ภูมิปัญญาพอเพียง

ข้าวนอกนา เป็นนวัตกรรมบ้านๆ ที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง ครูอินสอน ยืนยันว่าข้าวปลูกที่ไหนก็ทำได้ แต่ต้องรับแสงแดดได้ครึ่งวัน วิธีการก็คือเอาท่อนไม้หรือซีเมนต์บล็อกมาเรียงไปรองด้วยพลาสติก หนา 200 ไมคอน หน้ากว้าง 3 เมตร ยาว 8 เมตร ลึกไม่เกิน 15 เซนติเมตร ใส่ดินและน้ำลงไปแล้วก็ปลูกเลย ผลผลิตจะแตกต่างจากการปลูกในถังกลม เรียกว่าเป็นการปลูกข้าวนอกนา เป็นข้าวลอยน้ำ ผลผลิตได้น้อยกว่าในบ่อพลาสติก แก้ปัญหาให้คนในพื้นที่ลุ่มได้ ระยะการเก็บเกี่ยวไม่เกิน 100 วัน ระวังอย่าให้วัชพืชขึ้น

การปลูกข้าวในพื้นที่นอกแหล่งชลประทาน สามารถใช้น้ำประปาได้หรือน้ำสุดท้ายของการล้างจานเอามาใส่ก็ได้ โดยใช้ถังกลมกว้าง ประมาณ 80 เซนติเมตร ใช้ฟลินโค้ตทาเพื่อไม่ให้น้ำซึมและใช้ดินร่วน 8 ส่วน ใช้ปุ๋ยหมัก 2 ส่วน ใช้อินทรีวัตถุเก่าๆ ลงไปส่วนหนึ่ง และใส่แกลบดำส่วนหนึ่ง เติมน้ำให้ขลุกขลิกแล้วก็ปลูกข้าวลงไป ใช้ได้ทั้งนาดำและนาหว่าน

หากปลูกข้าวแบบหยอดเมล็ด ให้คัดข้าวพันธุ์เบา เช่น สันป่าตอง สันป่าตอง 1 ปทุม 1หรือ สุพรรณ 1 ปลูกข้าวเหนียวก็ได้ ข้าวเจ้าก็ได้ แต่ละถังซีเมนต์จะได้ผลผลิตข้าวประมาณ 1.3 กิโลกรัม จากต้นข้าวที่ปลูก 10 กว่าต้น หลังจากปลูกข้าว ควรโรยปุ๋ยหมักลงไป พอต้นข้าวเริ่มออกดอก ให้ฉีดสมุนไพรไล่แมลงที่ทำเอง เช่น ขิง ข่า และตะไคร้ เมื่อข้าวเติบโตใกล้ตั้งท้อง ใช้น้ำหมักหอยเชอรี่หรือน้ำหมักผลไม้ฉีดพ่นกระตุ้นให้ข้าวออกรวงสมบูรณ์ ครูอินสอน ยืนยันว่าไม่ต้องใช้เคมีใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแค่นี้จะได้ข้าวอินทรีย์ ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อข้าวออกรวงก็หยุดการให้ปุ๋ย หลังเกี่ยวข้าวแล้ว

หากต้องการปลูกผัก ก็เอาผักไปปลูกต่อไปได้เลย เป็นการทำเกษตรผสมผสานแบบต่อเนื่องที่นี่ปลูกข้าวประมาณ 4 รอบ ต่อปี วันเกี่ยวคือ วันปลูก เกี่ยวเสร็จก็ปลูกซ้ำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเปลี่ยนดิน ไม่เสียค่าไถหรือค่าน้ำมัน ไม่เสียค่าแรง ประหยัดน้ำ ภูมิปัญญาเดิมบอกว่าข้าวไม่ต้องการน้ำมาก หากใส่น้ำน้อยข้าวแตกกอมาก หากใส่น้ำมาก ข้าวแตกกอน้อย เพราะน้ำมากข้าวกลัวจะตาย ก็แทงตัวสูงขึ้นไป จึงไม่มีโอกาสแตกกอ เพื่อไม่ให้ต้นข้าวแย่งอาหารกัน ควรใส่ราว 13-14 กอ

ปลูกไม้สัก เป็นหลักประกันชีวิต

หลายพื้นที่ประสบปัญหาความแห้งแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม ครูอินสอน แนะนำให้ปลูกไม้สักไว้เป็นมรดกยามแก่ เพราะเกษตรกรไม่มีหลักประกันในชีวิตเหมือนข้าราชการไม้สัก หากปลูกได้ 20 ปี ขายได้ราคาต้นละ 5,000-10,000 บาท พื้นที่1 ไร่ สามารถปลูกไม้สักได้หลายพันต้น ปัจจุบัน ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์แม่ออน ปลูกไม้สักเกือบหนึ่งหมื่นต้น ครูอินสอน ปลูกเสริมทุกปี หลังจากไม้สักโตประมาณ 2-3 ปี ไม่ต้องรดน้ำอีก แค่ดูแลตัดแต่งกิ่ง อีก 5 ปีก็ตัดไปใช้สอยหรือขายได้