มะขามป้อม ไม้เนื้อแข็ง เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ตั้งนานมาแล้ว

เช้าวันหนึ่งของเดือนมกราคม พ.ศ. 2539 ช่วงนั้นผู้เขียนยังคงรับราชการอยู่ที่กลุ่มงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและจัดการพันธุ์ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับคำสั่งให้ประสานงานกับทางโรงเรียนโสตศึกษา (ชื่อเดิมคือ โรงเรียนสอนคนหูหนวก) อำเภอเมือง จังหวัดตาก เนื่องจากได้รับแจ้งว่า ในพื้นที่ของทางโรงเรียนมีมะขามป้อมต้นหนึ่ง เจริญเติบโตจากเมล็ด มีผลโต และเป็นผลไม้ของเด็กนักเรียนได้ใช้รับประทานเมื่อติดผล ทางโรงเรียนได้ทดลองขยายพันธุ์ด้วยวิธีการต่างๆ แต่ก็ไม่สำเร็จ หากลองขยายพันธุ์โดยใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะได้หรือไม่

ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 ผู้เขียนจึงเดินทางไปยังจังหวัดตาก สถานที่ที่ต้นมะขามป้อมต้นดังกล่าวขึ้นอยู่ หลังจากเดินสำรวจรอบต้นดูสภาพแวดล้อมต่างๆ แล้ว พบว่า มะขามป้อมต้นดังกล่าว เข้าสู่ระยะการพักตัวในช่วงฤดูแล้ง

ชิ้นส่วนสำคัญคือ ยอดอ่อนที่มีอายุน้อยๆ ที่ต้องการเก็บเป็นชิ้นส่วนเริ่มต้นสําหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่มีเลย หากต้องการให้เกิดยอดอ่อนเราก็ต้องรอให้ถึงช่วงฤดูฝน ซึ่งก็กินเวลาไปอีก 3-4 เดือน ข้างหน้า และการฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ยอดมะขามป้อมในช่วงฤดูฝนก็คงยากมาก เนื่องจากความชื้นในบรรยากาศสูง เชื้อจุลินทรีย์โดยเฉพาะเชื้อราและแบคทีเรียจะเจริญได้ดี การทำงานคงมีอุปสรรคมากพอสมควร

ต้นมะขามป้อมที่โรงเรียนโสตศึกษา ถ่ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2539

ตัดลำต้นเอาไปชำ

มะขามป้อมต้นเป้าหมาย มีความสูงประมาณ 20 เมตร มีกิ่ง (ลำต้น) หลักอยู่ประมาณ 4 กิ่ง ผู้เขียนจึงขออนุญาตท่านอาจารย์บุญเติม ยิ้มแย้ม อดีตรองผู้อำนวยการโรงเรียน ว่าขออนุญาตตัดกิ่งหลักลงมาสัก 1 กิ่ง แล้วทำเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 1.5 เมตร

สำหรับนำไปชําที่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่กรุงเทพฯ อาจเกิดยอดอ่อนให้นำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ต่อไป หลังจากการชำกิ่งผ่านไปประมาณ 45 วัน ปรากฏว่ามะขามป้อมแต่ละท่อนเกิดยอดอ่อนขนาดเล็กจำนวนมาก สมกับความต้องการ ยอดเหล่านี้จึงถูกนำไปฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์เพื่อกำจัดเชื้อราและแบคทีเรียออกไป ซึ่งก็ทําให้ได้ชิ้นส่วนที่ปราศจากเชื้อจุลินทรีย์จำนวนพอสมควร

ปีนตัดกิ่งเพื่อนำไปชำ ที่กรมส่งเสริมการเกษตร
ภายหลังชำไป 45 วัน เริ่มมียอดอ่อนตามที่ต้องการ

ชิ้นส่วนเหล่านั้นถูกนำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อตามขั้นตอนและวิธีการที่เหมาะสม และใช้เวลาอีกประมาณ 3 ปี (ประมาณปี พ.ศ. 2542) กรมส่งเสริมการเกษตร จึงสามารถส่งคืนต้นพันธุ์มะขามป้อมให้กับทางโรงเรียนเพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ได้ต่อไป ส่วนต้นพันธุ์มะขามป้อมอีกส่วนหนึ่งก็กระจายพันธุ์ไปปลูกอยู่ตามพื้นที่ของศูนย์ปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตรตามจังหวัดต่างๆ ด้วยอีกส่วนหนึ่ง

ข้อมูลปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2563

ภายหลังการลาออกจากราชการ ผู้เขียนมิได้กลับไปติดตามแปลงมะขามป้อมดังกล่าวอีกเลย จนกระทั่งเมื่อประมาณเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 หรือผ่านไป 20 ปี จึงได้มีโอกาสประสานงานไปยัง อาจารย์สมาน เขื่อนแก้ว ซึ่งเป็นผู้ปลูกและดูแลแปลงมะขามป้อมของทางโรงเรียนตั้งแต่ได้รับต้นพันธุ์มาจากกรมส่งเสริมการเกษตรจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจารย์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมพอสรุปได้ ดังนี้

ภาพปัจจุบันต้นแม่ อายุประมาณ 35 ปี

1. ต้นแม่พันธุ์ ปัจจุบันมีอายุประมาณ 35 ปี และยังคงเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดกมาก ผลมีขนาดประมาณ เหรียญ 10 บาท

2. ต้นลูกที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ปัจจุบัน มีอายุประมาณ 20 ปี ทางโรงเรียนได้รับต้นพันธุ์มาจากกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 15 ต้น มีชีวิตรอดทุกต้น ปัจจุบันให้ผลผลิตมีผลโตกว่าต้นแม่พันธุ์ แต่ปริมาณผลผลิตน้อยกว่าต้นแม่พันธุ์

ผลมะขามป้อม

3. การใช้ประโยชน์ ทางโรงเรียนโดยฝ่ายคหกรรมจะนำผลมะขามป้อมไปแปรรูป เช่น ทำแช่อิ่ม จำหน่ายให้แก่ผู้สนใจ เป็นการฝึกอาชีพให้แก่เด็กนักเรียนของโรงเรียนอีกทางหนึ่ง

ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมะขามป้อม

1. ขั้นตอนการคัดเลือกต้นแม่พันธุ์

ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานของทางราชการให้ความสนใจรวบรวมและคัดเลือกพันธุ์มะขามป้อมที่มีลักษณะดีเด่นจนได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมต่องานภาคการเกษตรหลายสายพันธุ์ รวมทั้งยังมีมะขามป้อมพันธุ์การค้าที่กล่าวกันว่ามีผลโต ให้ผลผลิตปริมาณมากจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาด ดังนั้น การคัดเลือกแม่พันธุ์ดีจึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าต้องการต้นพันธุ์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมอย่างไร

ลักษณะยอดอ่อนที่มีข้อ
ขั้นตอนฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์

2. ขั้นตอนการฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์

นำชิ้นส่วนปลายยอดอ่อนหรือส่วนข้อที่มีอายุน้อยมาตัดแต่งส่วนใบทิ้งไป ตัดให้เป็นท่อนๆ ขนาดความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร โดยให้แต่ละท่อนมีส่วนข้อติดมาด้วย ประมาณ 1 ถึง 2 ข้อ จากนั้นจึงนำไปฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในสารละลาย โซเดียมไฮโปคลอไรด์ ความเข้มข้น ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลานานประมาณ 10-15 นาที แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำกลั่นที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อจุลินทรีย์แล้ว จำนวน 3 ครั้ง นำชิ้นส่วนมะขามป้อมแต่ละชิ้นไปวางบนผิวอาหารเพาะเลี้ยงสูตรเพิ่มปริมาณยอดต่อไป

3. ขั้นตอนการเพิ่มปริมาณยอด

อาหารสูตรที่เหมาะสมคือ สูตร Murashige และ Skoog (1962) ที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโตในกลุ่มไซโตไคนิน (cytokinin) ตัวที่ชื่อว่า สาร BA ระดับความเข้มข้น 0.8 มิลลิกรัม ต่อลิตร สาร BA มีอิทธิพลกระตุ้นการแบ่งเซลล์และพัฒนาการเกิดยอดมะขามป้อม โดยมีอัตราการเพิ่มปริมาณยอดใหม่ ประมาณ 3-4 เท่า ต่อรอบการเปลี่ยนอาหาร 30 วัน

ชิ้นส่วนข้อมะขามป้อม (ผ่านการฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์แล้ว) ที่ถูกวางบนอาหารสูตรเพิ่มปริมาณ

4. ขั้นตอนการชักนำราก

มะขามป้อม เกิดรากได้ดีในอาหารเพาะเลี้ยง สูตร Murashige และ Skoog (1962) ที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโตในกลุ่มออกซิน (auxin) ตัวที่ชื่อว่า NAA ระดับความเข้มข้น 0.1 มิลลิกรัม ต่อลิตร อาหารสูตรนี้มีอิทธิพลชักนำให้มะขามป้อมเกิดระบบรากที่สมบูรณ์ (เปอร์เซ็นต์การเกิดราก ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์) ในช่วงเวลาประมาณ 30 วัน

5. ขั้นตอนการอนุบาล

นำต้นมะขามป้อมมาล้างวุ้นที่ติดมากับระบบรากออก จากนั้นจึงนำไปแช่ในสารควบคุมเชื้อรา แล้วจึงอนุบาลในวัสดุเพาะชำ เช่น ทรายผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1 ต่อ 1

สภาพบรรยากาศแบบในช่วงฤดูหนาว คือสภาพที่มีความเหมาะสมต่อการอนุบาลต้นพันธุ์มะขามป้อม (และพืชอื่นๆ ด้วย) เนื่องจากมีความชื้นในบรรยากาศต่ำ อุณหภูมิเหมาะสม มีผลทำให้เปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตของต้นพันธุ์มะขามป้อมสูงกว่าการอนุบาลในฤดูอื่นๆ (เช่น ฤดูฝน)

เมื่อมะขามป้อมผ่านการอนุบาล ประมาณ 45-60 วัน ก็สามารถย้ายปลูกในภาชนะที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรอให้ต้นพันธุ์มะขามป้อมแข็งแรงอีกประมาณ 4-6 เดือน จึงสามารถนำไปปลูกในธรรมชาติได้ต่อไป

ปลูกเป็นแถว 3 แถว คูณ 5 เท่ากับ 15 ต้น

พืชที่ไม่ควรมองข้าม

มะขามป้อม เป็นไม้ยืนต้นอายุยืนที่สามารถเจริญเติบโตได้เกือบทุกสภาพพื้นที่ของประเทศไทย ผลของมะขามป้อมมีวิตามินซีสูงมาก สามารถนำมารับประทานผลสดหรือนำมาแปรรูปเป็นอาหาร เช่น ตำน้ำพริก หรือทำเป็นผลไม้แปรรูป ทำเป็นเครื่องดื่ม รวมทั้งถูกใช้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของสูตรตรีผลา (สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม) ที่มีสรรพคุณในการรักษาสมดุลของธาตุทั้ง 4 ของร่างกาย ช่วยในด้านการล้างพิษออกจากร่างกาย โดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร ระบบเลือด และระบบน้ำเหลือง

มะขามป้อม เล่าเรื่อง

มะขามป้อม ที่ปลูกและเจริญเติบโตอยู่ที่โรงเรียนโสตศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดตาก นี้ผู้เขียนเห็นว่ามีคุณค่าในด้านวิชาการมะขามป้อม เช่น มีคุณค่าในด้านความรู้ทางด้านการขยายพันธุ์พืช ด้านพฤกษศาสตร์ และทางด้านพันธุศาสตร์

เนื่องจากอาจเป็นมะขามป้อมเพียงแปลงเดียวที่ต้นแม่พันธุ์และต้นลูกถูกขยายพันธุ์มาจากวิธีการที่แตกต่างกันและถูกปลูกรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ต้นแม่พันธุ์มีอายุมากกว่า 35 ปี ส่วนต้นลูกก็ปลูกและเจริญเติบโตมานานกว่า 20 ปี

ปัจจุบันนี้มะขามป้อมทั้งต้นแม่และต้นลูกก็ยังคงเจริญเติบโตและให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เป็นประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนของโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดตาก วันหนึ่งข้างหน้าเมื่อเวลาผ่านไปอีกสัก 10 ปี หรือ 20 ปี หากมะขามป้อมแม่ลูกนี้ยังคงอยู่อาจมีผู้สนใจในเรื่องราวของมะขามป้อมแปลงนี้กลับมาเล่าเรื่องราวต่างๆ และคุณประโยชน์ที่ผ่านมาให้กับคนรุ่นต่อๆ ไปได้รับรู้รับทราบกันอีกสักครั้งหนึ่ง

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 086-084-6362 FB:Woranut Senivongs Na Ayuthaya

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 28 มกราคม พ.ศ.2564


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354