“พนม อศรีโศก” กับเคล็ดลับ การผลิตน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออก

คุณพนม อศรีโศก หรือที่ชาวบ้านแถวโป่งตาลองเรียกติดปากว่า “ป๋าพนม” บ้านเลขที่ 66/1 ม.7 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โทร. 086-2524285 ได้รับการยกย่องจากเกษตรกรชาวสวนมะม่วงในเขตนั้นให้เป็นเซียนมะม่วงคนหนึ่งของเมืองไทย เพราะมีความรอบรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการทำมะม่วง อีกทั้งยังคอยให้คำแนะนำแก่เพื่อนเกษตรกรชาวสวนมะม่วงด้วยกันทั้งในเขตใกล้เคียงหรือแม้แต่เกษตรกรที่เดินทางมาจากที่ต่างๆ คุณพนมจะให้คำแนะนำและข้อคิดอย่างไม่มีการปิดบัง

คุณพนม อศรีโศก

เริ่มปลูกมะม่วงเขียวเสวย แรด และฟ้าลั่น แต่จบที่น้ำดอกไม้

คุณพนม เริ่มต้นอาชีพการทำสวนมะม่วงประมาณพ.ศ. 2527-2528 หรือเมื่อประมาณ 27 ปีที่ผ่านมา ในช่วงนั้นการทำสวนมะม่วงจะนิยมปลูกมะม่วงหลาย ๆ สายพันธุ์ที่ปลูกกันมากก็ได้แก่ เขียวเสวย แรด ฟ้าลั่น หนังกลางวัน น้ำดอกไม้ ฯลฯ โดยเฉพาะเขียวเสวยเป็นที่นิยมกันมากเพราะตลาดมีความต้องการสูง

มะม่วงเขียวเสวย มีข้อเสีย คือ ดึงช่อดอกยาก ออกดอกติดผลได้ปีละ 1 ครั้ง คุณพนมจึงมองหามะม่วงพันธุ์ที่ออกดอกง่ายก็มาพบมะม่วงน้ำดอกไม้ ในช่วงแรกๆ จะมีแต่พันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 และต่อมาก็มีพันธุ์สีทองออกตามมา

ใช้เครื่องฉีดพ่นสารเคมีแบบแอร์บลาส

คุณพนม มองว่า มะม่วงน้ำดอกไม้นั้นเป็นพันธุ์ที่ออกดอกง่าย สามารถทำให้ออกนอกฤดูได้ดีปีหนึ่งสามารถทำผลผลิตได้ 2 รุ่นและที่สำคัญลงทุนน้อยกว่ามะม่วงแรดและเขียวเสวย จึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนพันธุ์มะม่วงในสวนทั้งหมดเป็นพันธุ์น้ำดอกไม้ (มีทั้งน้ำดอกไม้เบอร์ 4 และสีทอง)

เคล็ดลับในการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้คุณภาพดี

สูตรของคุณพนม ในการที่จะผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ให้มีคุณภาพดีนั้นคุณพนมมีเคล็ดลับหลายประการที่จะแนะนำให้ชาวสวนมะม่วงทดลองนำไปศึกษาดังนี้ ศึกษาสภาพอากาศแวดล้อม จะต้องดูว่าในเขตพื้นที่ของเรานั้นฝนจะเริ่มตกเมื่อไร และตกชุกที่สุดช่วงไหน ฝนเว้นช่วงไหน และหยุดตกช่วงไหน เพื่อประกอบการกำหนดเวลาในการผลิตมะม่วง จะต้องพยายามให้ดอกมะม่วงออกมาโดนฝนน้อยที่สุดหรือออกมาในช่วงที่ฝนตกไม่หนาแน่นนัก เพราะหากดอกมะม่วงบานในช่วงที่ฝนตกชุกโอกาสเสียหายจะมากและเกษตรกรจะต้องฉีดพ่นยาเชื้อราบ่อยครั้งทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น

มะม่วงน้ำดอกไม้ติดผล ดกมาก

ที่สวนคุณพนมหรือพื้นที่ใกล้เคียงในเขต ต.โป่งตาลอง จะนิยมตัดแต่งกิ่งมะม่วงตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน เพื่อให้สามารถดึงดอกได้ประมาณกลางเดือนมิถุนายน ดอกมะม่วงจะบานประมาณกลางเดือนกรกฎาคมไปจนถึงสิ้นเดือน ในช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่ฝนตกไม่หนาแน่นนัก

เคล็ดลับการดูแลมะม่วงก่อนแต่งกิ่ง

ก่อนตัดแต่งกิ่งประมาณ 15-20 วัน จะต้องใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 15-0-0 (แคลเซียมไนเตรท) ต้นละประมาณ 1-2 กิโลกรัม โดยใส่แล้วฝังกลบแล้วรดน้ำตามทันทีให้ปุ๋ยละลายจนหมด ข้อนี้คุณพนมย้ำมากเพราะหากใส่ปุ๋ยแล้วไม่รดน้ำให้ปุ๋ยละลาย ปุ๋ยก็จะสูญเสียปุ๋ยไปโดยเปล่าประโยชน์ คุณพนมเคยเห็นเกษตรกรบางคนใช้วิธีหว่านปุ๋ยรอฝน คือเมื่อเห็นฝนทำท่าจะตกก็ใส่ปุ๋ยรอถ้าฝนตกปุ๋ยละลายหมดก็ไม่เป็นไรแต่บางครั้งใส่แล้วฝนก็ไม่ตกปุ๋ยก็สูญเสียเหมือนเราหว่านทิ้งหว่านขว้างเสียมากกว่า

สะสมอาหารดีดอกจะสมบูรณ์

มะม่วงน้ำดอกไม้ ที่ห่อด้วย ถุงคาร์บอน ผิวจะสวย

หลังจากราดสารแล้วจะต้องใส่ปุ๋ยเร่งการสะสมอาหาร สูตรที่ใช้คือ 8-24-24 อัตราต้นละ 1-2 กิโลกรัม(ใส่แบบฝังกลบเหมือนเดิม) ส่วนทางใบนั้นจะใช้สูตรนูตราฟอส ซุปเปอร์-เค อัตรา 40 กรัม ผสมกับ โฟแมกซ์ คัลเซียมโบรอน อัตรา 10 ซีซี. และ น้ำตาลทางด่วน (เกรดดี) 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่นประมาณ 3 ครั้ง ห่างกันประมาณ 10 วัน

ใบมะม่วงจะสมบูรณ์ เขียวเข้ม พร้อมที่จะเปิดตาดอก

เปิดตาดอกในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ปกติแล้วเราจะเปิดตาดอกมะม่วงหลังจากราดสารแล้วประมาณ 45 วัน ในการเปิดตาดอกเกษตรกรหลายรายนิยมใช้สารไทโอยูเรียในปริมาณที่สูงการออกดอกจะเร็วและออกดอกมาก แต่บางครั้งพบว่าแม้จะใช้สารไทโอยูเรียในปริมาณที่สูงดอกมะม่วงก็ยังไม่ออก หรือออกก็พบปัญหาดอกไม่สมบูรณ์ ในส่วนนี้คุณพนมแนะนำให้ใช้โปรแตสเซี่ยมไนเตรท อัตรา 400 กรัม ผสมกับ ไทโอยูเรีย อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง ส่วนเกษตรกรบางท่านอาจจะใส่ฮอร์โมนจำพวกสาหร่ายสกัดก็สามารถใส่เพิ่มได้

มะม่วงน้ำดอกไม้ รอการคัดแยกคุณภาพ

การใช้ปุ๋ยโปแตสเซี่ยมไนเตรทในการเปิดตาดอก จะทำให้ดอกออกเสมอและสมบูรณ์กว่า ถ้าเกษตรกรท่านใดมีปัญหามะม่วงออกดอกยาก ลองใช้วิธีนี้ดูรับรองได้ผล

ระยะช่อดอกต้องดูแลเต็มที่ เมื่อสังเกตเห็นมะม่วงเริ่มแตกตาดอกคุณพนมจะเน้นการฉีดสารเพิ่มความสมบูรณ์ให้ช่อดอกอย่างเต็มที่โดยใช้ โฟแมกซ์ คัลเซี่ยมโบรอน อัตรา 10 ซีซี. ผสมกับ น้ำตาลทางด่วน อัตรา 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น อโรไซด์ หรือ แอนทราโคล สารกลุ่มนี้จะใช้ในกรณีที่ฝนไม่ตก อากาศเปิดแต่ถ้าเป็นช่วงที่ฝนตก อากาศครึ้มจะต้องเปลี่ยนมาใช้สารแซดคลอราชหรือโวเฟ่น หรือสารอมิสตา

การบำรุงช่อดอก

จะต้องฉีดพ่นอย่างน้อย 3 ครั้งก่อนถึงระยะดอกบาน เมื่อดอกบานดอกจะสมบูรณ์ ติดผลง่าย คุณพนมยังย้ำว่าช่วงดอกบานเป็นช่วงที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโรคที่จะมาพร้อมกับน้ำฝน บางครั้งดอกบานฝนตกทุกวันก็ต้องหาเวลาที่ฝนเปิดฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราเพราะหากเราไม่ฉีดพ่นดอกมะม่วงจะเสียหายหมด กรณีฝนตกชุกคุณพนมจะใช้แอนทราโคล 30 กรัมร่วมกับสารแซดคลอราซ 20 ซีซี. ฉีดสลับกับสารอมิสตาอัตรา 5 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ในการฉีดแต่ละครั้งจะเว้นระยะห่างกันประมาณ 3-5 วันแล้วแต่ช่วงเวลาที่ฝนตก ถ้าฝนตกชุกจะฉีดถี่ขึ้น

มะม่วงน้ำดอกไม้ เริ่มทยอยเก็บ เพื่อส่งออกญี่ปุ่น

แมลงศัตรูพืช

คุณพนมจะเน้นการป้องกันเป็นหลัก เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราจะรู้ว่าระยะไหนแมลงชนิดใดจะเข้าทำลาย ยกตัวอย่างเช่นเมื่อช่อดอกแทงยาวประมาณ 2 นิ้ว จะมีหนอนมาทำลายเราก็จะฉีดยาฆ่าหนอน อาจจะใช้ยากลุ่มเมทโทมิล หรือ เซฟวิน-85 ก็ได้ ฉีดพ่นประมาณ 1-2 ครั้ง หนอนก็จะไม่ทำลาย หรือในระยะดอกบานเพลี้ยไฟจะระบาด ทางราชการเขาให้งดการฉีดพ่นสารเคมีเพราะจะไปทำลายแมลงที่มาช่วยผสมเกสรแต่จริงๆ แล้วถ้าเราไม่ฉีดเพลี้ยไฟกินดอกมะม่วงเราหมดก่อนแน่ก็ต้องฉีด

แต่การฉีดจะต้องเน้นใช้ยาที่ไม่ทำลายดอก เช่น กลุ่มยาผงอย่างสารโปรวาโด ส่วนยาน้ำมันที่ลงท้ายด้วย EC ให้พยายามหลีกเลี่ยงเพราะเป็นยาร้อนจะทำให้ดอกแห้ง เวลาฉีดก็ควรฉีดพ่นในช่วงเช้าหรือเย็นห้ามฉีดเวลากลางวันเพราะอากาศร้อนจัด แต่ก็อาศัยประสบการณ์ทั้งลองผิดลองถูกมาโดยตลอดซึ่งประสบการณ์จะสอนเราได้ดีจนมาถึงวันนี้ ทุกคนจะต้องรู้ว่าตัวยาดังกล่าวสามารถฉีดพ่นได้หรือไม่ มีระยะเวลาตกค้างกี่วัน ฉีดแล้วกี่วันจึงจะเก็บผลิตได้ ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้วจะทำให้ชาวสวนมะม่วงไม่ผิดพลาดในการใช้สารเคมี จะได้ไม่เสียโอกาส โดยถ้าส่งออกได้เราจะขายมะม่วงน้ำดอกไม้ได้ถึงกิโลกรัมละ 80-90 บาท แต่ถ้าเราพลาดไม่มี

ระยะดอกบาน ต้องดูแลเรื่องโรค-แมลง ให้มากเป็นพิเศษ

ความรู้ในการใช้สารเคมีมะม่วงถูกตรวจพบสารตกค้าง มะม่วงของเราก็จะเหลือกิโลกรัมละ  40 – 50 บาท ราคานี้เกษตรกรก็ยังพอได้ แต่ปีไหนช่วงไหนราคาไม่ดี มะม่วงราคาถูก มะม่วงชุดดังกล่าวอาจจะเหลือเพียงกิโลกรัมละ 20-30 บาทเท่านั้น

การใช้สารเคมี

มีความสำคัญมาก ยกตัวอย่างการใช้ยาฆ่าแมลง เช่น เซฟวิน-85 สามารถใช้ก่อนเก็บเกี่ยว 14 วัน หรือจะเป็นยาป้องกันเชื้อรา “โพรคลอราซ” ก็ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 14 วันเป็นต้น ต้องทำความเข้าใจในการเลือกใช้สารเคมีต้องดูถึงเปอร์เซ็นต์ของตัวยาด้วยว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยตัวยาเดียวกันแต่ราคาต่างกันถึงเท่ากัน แต่เมื่อพิจารณาถึงเปอร์เซ็นต์ยาแล้วพบว่ายานี้ขายถูกๆ ก็มีเปอร์เซ็นต์ยาเพียง 20–30% เท่านั้นแล้วเขาขายเพียงขวดละ 500-700 บาท แต่ยาที่ขายแพงขวดละ 1,000–1,400 บาทนั้น มีเปอร์เซ็นต์ยาสูงถึง 50%

เมื่อเรานำมาใช้ยาที่มีเปอร์เซ็นต์ตัวยาสูงย่อมใช้ได้ผลดีกว่าแน่นอน อีกประการต้องเลือกใช้สารเคมีจากบริษัทนี่เชื่อถือได้ เท่านั้นไม่มีการผสมตัวยาอื่นต้อง ถูกต้องตามฉลากที่เขาระบุไว้ บางบริษัทข้างขวดเขียนว่า “อะบาเม็กติน” แต่พอเราไปใช้ผลปรากฏว่ามะม่วงของเราตรวจพบ “สารคลอไพริฟอส” นั้นทำให้เกษตรกรเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก เสียโอกาสเป็นอย่างมาก รายได้ของชาวสวนมะม่วงจะหายไปครึ่งหนึ่งทีเดียวแถมเราเองก็เสียชื่อเสียง

มะม่วงน้ำดอกไม้ ระยะที่พร้อมจะห่อผล

ระยะดูแลผล

เมื่อมะม่วงเริ่มติดผลอ่อนจะต้องฉีดปุ๋ยทางใบเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและลดปัญหาผลร่วงแนะนำให้ใช้ปุ๋ยเหลวสูตรเสมอหรือสูตรตัวหน้าสูงร่วมกับน้ำตาลทางด่วน ข้อดีของการใช้ปุ๋ยเหลวคือจะช่วยทำให้ผลมะม่วงโตเร็วและลดปัญหาผลแตกสะเก็ด ซึ่งถ้าใช้ปุ๋ยเกล็ดบางครั้งจะพบปัญหาผลแตกสะเก็ดขายไม่ได้ราคา ส่วนเรื่องเชื้อราในระยะนี้จะใช้สารแอนทราโคลฉีดป้องกันไว้ตลอดจนถึงระยะห่อผลจึงหยุดใช้ยาเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออก

ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ต้องห่อผล

ทุกวันนี้ถ้าเราปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ไม่ว่าจะเป็นน้ำดอกไม้สีทองหรือน้ำดอกไม้เบอร์4 เพื่อการส่งออกหรือขายในประเทศก็ต้องห่อผลให้ผิวมะม่วงมีสีสวย ยกตัวอย่างตลาดในบ้านเราไม่ว่าจะเป็นตลาดไท,ตลาดสี่มุมเมือง ถ้ามะม่วงของเราไม่ห่อผลเขาก็จะไม่รับซื้อ หรือซื้อก็จะถูกตีราคาเป็นมะม่วงยำ ส่วนการห่อมะม่วงก็มีปัญหาที่เกษตรกรพบบ่อย คือ เพลี้ยแป้งที่อยู่ในถุงห่อมะม่วง ซึ่งก่อนนั้นเราก็เจอปัญหาเพลี้ยแป้งมาก่อน แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ พบว่าแก้ไขปัญหาเพลี้ยแป้งนั้นไม่ยากเลย เพียงแต่เราต้องรู้จักการใช้สารเคมีคือใช้ยากลุ่ม “มาลาไธออน” ฉีดสลับกับ “เมทโทมิล” ซึ่งเป็นยาที่ค่อนข้างถูก ไม่แพงแต่อย่างใด

ในช่วงที่เราฉีดพ่นมะม่วงระยะสะสมอาหาร ก็จะเริ่มมีการใช้ยากลุ่มนี้ไปด้วย จะเป็นการกำจัดและป้องกันเพลี้ยแป้งไว้แต่ต้นพบว่าเพลี้ยแป้งจะบางเบาจนเกือบจะไม่มีเลยทีเดียว แต่การป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งให้ได้ผลดีที่สุดก็ต้องย้อนไปกำจัดจุดเริ่มต้นของเพลี้ยแป้งคือกำจัด “มด” โดยเฉพาะมดดำ ที่มันจะคาบเอาเพลี้ยแป้งที่มันอาศัยอยู่บริเวณใต้ใบหญ้าใต้โคนต้นมะม่วงขึ้นไปบนต้นมะม่วงเพื่ออาศัยกินสิ่งขับถ่ายของเพลี้ยแป้ง จึงทำให้เกิดการระบาดของเพลี้ยแป้งในมะม่วงนั้นเอง ดังนั้นชาวสวนต้องเริ่มที่กำจัดมดให้ได้เสียก่อน ก่อนที่มดจะคาบเพลี้ยแป้งขึ้นต้นมะม่วง ตัวยาที่ฉีดได้ผลดีมากคือ ยาเซฟวิน-85 ฉีด ทั้งต้นมะม่วงและบริเวณดินโคนต้นมะม่วง เมื่อมดหมดไปเพลี้ยแป้งก็น้อยมาก ทำให้เราฉีดยากลุ่มมาลาไธออนและเมโทมิลน้อยลง เวลานี้แทบจะไม่เจอปัญหาเพลี้ยแป้งอีกเลย

คุณพนม กล่าวทิ้งท้ายว่า การจะทำสวนะม่วงให้ประสบความสำเร็จเราจะต้องเป็นคนช่างสังเกต ต้องหมั่นดูรายละเอียดทุกระยะว่าเกิดอะไรขึ้นกับมะม่วงของเรา จะต้องรู้ว่าระยะไหนมะม่วงต้องการอะไร ระยะไหนศัตรูอะไรจะมาทำลายแล้วหาวิธีป้องกันถ้าทำได้ก็ประสบความสำเร็จ