สวนนงนุชพัทยา ครองแชมป์ สะสมพันธุ์ปาล์มมากที่สุดในโลก

สวนปาล์มโลก (Palms of The World) เป็นหนึ่งในแม่เหล็กสำคัญของสวนนงนุชพัทยา ที่ดึงดูดคนรักพรรณไม้ต้องหาเวลาแวะเข้าชมพันธุ์ปาล์มแห่งนี้ ทั้งนี้ ทั่วโลกมีสายพันธุ์ปาล์มอยู่ประมาณ 2,600 ชนิด ปัจจุบัน สวนนงนุชพัทยา เก็บสะสมพันธุ์ปาล์มจากทั่วทุกมุมโลกไว้มากถึง 1,567 ชนิด อยู่ในที่เดียวกัน ทำให้สวนปาล์มแห่งนี้กลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของนักพฤกษศาสตร์จากทั่วโลก

ที่ผ่านมา สวนปาล์มโลก (Palms of The World) ของสวนนงนุชพัทยา เคยใช้เป็นสถานที่รองรับสมาชิกสมาคมปาล์มโลก เข้ามาเยี่ยมชมศึกษาดูงาน ระหว่างการจัดงานประชุมปาล์มนานาชาติ ปี ค.ศ. 1998 และ ปี ค.ศ. 2012

สวนปาล์มโลก (Palms of The World)

นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมสายพันธุ์ปาล์มต่างๆ ด้วยบรรยากาศสบายๆ แล้ว ภายในสวนแห่งนี้ยังมีประติมากรรม หอคอย 4 แบบ (Four Towers) หอคอยทั้ง 4 ได้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมประยุกต์จากศิลปะที่มีความสวยงามแบบตะวันตก จำลองจากประเทศลาว พม่า แบบล้านนา และบาหลีของประเทศอินโดนีเซีย ทำให้นักท่องเที่ยวมีมุมภาพสวยๆ สำหรับถ่ายภาพเก็บไว้ในความทรงจำอีกด้วย

ตื่นตากับสายพันธุ์ปาล์มนานาชนิด

คนไทยจำนวนมากนิยมใช้ปาล์มประดับนานาสายพันธุ์ในการประดับตกแต่งสวนสวย เพราะปาล์มเป็นไม้ยืนต้นอายุยืนยาว ลำต้นใหญ่ ได้ทั้งความสวยงามและใช้ประโยชน์ให้ร่มเงา ทรงพุ่มไม่ใหญ่มาก ไม่ต้องดูแลตัดแต่งทรงพุ่มบ่อย ดูแลรักษาง่าย โตช้า ปุ๋ย ยา ก็ใส่นานๆ ครั้ง หากใครรักและชื่นชอบการปลูกปาล์มประดับ ควรหาเวลาแวะมาชื่นชมได้ที่สวนปาล์มโลก (Palms of The World) ภายในสวนนงนุชพัทยาแห่งนี้ ที่มีอาณาจักรสายพันธุ์ปาล์มให้ศึกษาเรียนรู้อยู่มากมาย เช่น

ภาพมุมสูงสวนปาล์มโลก

ปาล์มอ้ายหมี (Copernicia macroglossa)

มีถิ่นกำเนิดในคิวบา อเมริกากลาง อเมริกาใต้ แคริบเบียน เป็นปาล์มต้นเดี่ยว โตช้า ปาล์มต้นนี้ไม่มีก้านใบ กาบใบจะแผ่คลุมรอบคอ ใบแห้งที่ติดแน่นที่ลำต้นจะหลุดร่วงเองเมื่อต้นสูงเกิน 5 เมตร ใบแห้งเหล่านี้ทำให้ต้นปาล์มมีลักษณะ “กระโปรง” พร้อมกับใบแก่ที่ยังคงอยู่ ซึ่งก่อให้เกิด “กระโปรงชั้นใน” ที่เป็นเอกลักษณ์และมีลักษณะเฉพาะตัว ปาล์มอ้ายหมี เติบโตได้ดีในบริเวณที่มีแสงแดดจัด

ปาล์มหงส์เหิน (Copernicia baileyana)

เป็นปาล์มต้นเดี่ยว สูงได้ 15-20 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 40-60 เซนติเมตร ลำต้นหนาและแข็งแรง มีช่องระบายอากาศ ใบแผ่กางกลม ใต้ใบมีนวล ก้านใบมีหนามที่ขอบ ผลสีดำ ขนาด 1.8-2.3 เซนติเมตร ปาล์มชนิดนี้ชอบดินค่อนข้างด่างหรือเป็นกลาง ทนน้ำท่วมระยะสั้น แสงแดดจัด หรือร่มเงาบางส่วน โตช้า ลำต้นสวย เหมาะสำหรับใช้ประดับสวน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด งอกง่าย แต่ต้นอ่อนโตช้า ใช้เวลาหลายปี

ประติมากรรมหอคอยในสวนปาล์มโลก

ปาล์มแชมเปญ (Hyophorbe lagenicaulis)

เป็นปาล์มต้นเดี่ยวที่โตช้า โตเต็มที่สูงประมาณ 3-4 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 0.6 เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยเป็นรูปตัววีคว่ำ ผลออกเป็นทะลาย ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ผลรูปลูกรักบี้ ขนาด 1-1.5 เซนติเมตร มี 1 เมล็ด ผลอ่อนสีเขียวอ่อน เมื่อแก่สีเขียวเข้ม และเมื่อสุกผิวจะนิ่ม กลิ่นเหมือนกล้วยหอม เปลือกข้างในเป็นสีดำและแข็งคล้ายกะลามะพร้าว นิยมปลูกต้นปาล์มแชมเปญไว้ในกระถาง เพื่อโชว์ทรวดทรงของลำต้นที่ป่องออกคล้ายสะโพก ดูแลง่าย สามารถใช้เป็นไม้ประดับทั้งภายนอกและภายในอาคาร

หมากสง (Areca catechu)

หมาก มีด้วยกันหลายชนิด นักพฤกษศาสตร์เรียกหมากที่ใช้กินกับใบพลูว่า “หมากสง” เป็นพืชจำพวกปาล์ม เป็นชนิดหนึ่งในสกุล Arecaceae นับว่ามีความสำคัญมากทั้งในด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในหลายท้องถิ่น ในทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย การเก็บหมากนั้น ไม่สามารถใช้ไม้สอยได้อย่างมะพร้าว เพราะหมากมีต้นสูง จึงต้องใช้คนปีนขึ้นไปเก็บ แต่การปีนหมากมีความเสี่ยงสูง อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ต้นหมากสงมีลำต้นเล็ก ความสูงปานกลาง ประมาณ 20 เมตร แต่ด้วยขนาดลำต้นที่เล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 20-30 เซนติเมตร ทำให้ดูสูงมาก สามารถใช้เป็นไม้ประดับสวนได้ดี หากปลูกเป็นกลุ่มในพื้นที่กว้าง ใบจะไม่ค่อยเสีย เพราะใช้เป็นแนวกันลมให้กันอยู่

ต้นหมากสง

คุณโต้ง หรือ คุณกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา เล่าว่า เดิมทีต้นหมากสงมีลำต้นสูงมาก ทำให้ยากต่อการเก็บผล จึงเกิดการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้มีลำต้นเตี้ยลง ทำให้เก็บผลได้สะดวก และแนะนำให้คนไทยปลูกหมากสงเป็นไม้ประดับสวน เพราะเป็นปาล์มต้นสวย โตเร็ว ดูแลง่าย

มะพร้าวทะเล พันธุ์พืชหายาก

มะพร้าวทะเล เป็นหนึ่งในพันธุ์พืชหายากที่สวนนงนุชพัทยามีความภาคภูมิใจมาก เพราะเป็นสวนพฤกษศาสตร์แห่งเดียวที่ปลูกและขยายพันธุ์ต้นมะพร้าวทะเลได้มากที่สุดในขณะนี้ มะพร้าวทะเล หรือ มะพร้าวแฝด (LODOICEA MALDIVICA) จัดเป็นปาล์มชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่บนเกาะเล็กๆ ของประเทศเซเชลส์ ในมหาสมุทรอินเดีย เป็นเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และหนักที่สุดในโลก มีความยาวมากถึง 12 นิ้ว และน้ำหนักประมาณ 40 ปอนด์ ลักษณะผลเหมือนมะพร้าว 2 ลูก ติดกัน จนเป็นที่มาของชื่อ มะพร้าวแฝด (Double coconut) หรือมะพร้าวก้นคน หรือมะพร้าวก้นสาว แม้ชื่อสามัญจะมีชื่อว่า มะพร้าวแฝด แต่ก็ไม่ใช่มะพร้าว น่าจะอยู่ในกลุ่มเดียวกับต้นตาลมากกว่า

ป้ายแนะนำ ต้นมะพร้าวทะเล
ก้านใบต้นมะพร้าวทะเล สวยงามมาก เหนียวทนทาน นำไปใช้มุงหลังคาได้

มะพร้าวทะเล เป็นสายปาล์มที่มีการเจริญเติบโตช้ามาก ผลใช้เวลาเป็นปีในการงอก จัดเป็นพืชหายากชนิดหนึ่งของโลก มีลักษณะการเจริญเติบโตเหมือนปาล์มที่มีรูปพัด โดยมีเพศแยกออกไปคนละต้น ต้นเพศเมียจะไม่ให้ผลจนกว่าจะมีอายุ 30 ปีขึ้นไป บางต้นอาจมีระยะเวลาถึง 100 ปี ในอดีตชาวมัลดีฟส์ใช้มะพร้าวทะเลนี้ทำเป็นอาหารและเครื่องดื่ม และเชื่อว่าเป็นยาทิพย์รักษาสารพัดโรค สามารถแก้พิษ และที่สำคัญที่สุดคือเป็นไวอากร้าของคนสมัยนั้น  ปัจจุบัน ราคาของมะพร้าวทะเลค่อนข้างแพง ตกใบละ 1,000-1,500 ดอลลาร์สหรัฐ

หนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ ยกย่อง มะพร้าวทะเล ว่าเป็นเมล็ดผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก น้ำหนักเฉลี่ย ผลละ 20 กิโลกรัม โดยธรรมชาติแล้ว ต้นมะพร้าวทะเล แบ่งออกเป็นต้นเพศผู้และเพศเมีย เมื่อผสมเกสรระหว่างต้นตัวเมียและตัวผู้แล้ว กว่าผลจะสุกต้องใช้เวลาถึง 7 ปี หากนำเมล็ดไปเพาะขยายพันธุ์ ต้องนำผลตั้งบนดินนาน 1 ปี ถึงจะมีรากแก้วงอกออกมา แล้วชอนไชเข้าไปในดิน มีความยาวหลายฟุต ก่อนที่จะเริ่มมีใบออกมาปีละ 1 ใบ เพศผู้มีลำต้นสูงถึง 30 เมตร กว่าจะเติบโตออกดอกออกผลได้ต้องมีอายุ 20-40 ปี

คุณโต้ง หรือ คุณกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา

คุณโต้ง กล่าวว่า ต้นมะพร้าวทะเล เป็นพันธุ์ไม้หายากชนิดหนึ่ง พบที่เกาะเซเชลส์ ในมหาสมุทรอินเดียเพียงแห่งเดียวในโลก ผมเริ่มเก็บมะพร้าวทะเลจากเกาะเซเชลส์ตั้งแต่ 30-40 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นเกาะเซเชลส์อนุญาตให้เก็บผลได้ 2 ผลต่อ 1 คน ผมเดินทางไปเรื่อยๆ เก็บมาปลูกขยายพันธุ์ในสวนนงนุชพัทยาได้กว่า 20 ต้นแล้ว ปัจจุบัน เกาะเซเชลส์ไม่อนุญาตให้นำมะพร้าวทะเลออกนอกประเทศ เพราะถือว่าเป็นสมบัติสำคัญของชาติ กลายเป็นพันธุ์ไม้หายากชนิดหนึ่งที่สวนพฤกษศาสตร์ทุกแห่งต้องมี

สำหรับการปลูกขยายพันธุ์มะพร้าวทะเลไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผสมพันธุ์ด้วยมือ โดยนำเกสรตัวเมียและตัวผู้มาผสมกัน หากผสมติดต้องใช้เวลาประมาณ 7 ปีกว่าผลจะสุก เนื้อในมีสีขาว รสชาติคล้ายลูกตาล สำหรับต้นมะพร้าวทะเลที่เติบโตตามธรรมชาติบนเกาะเซเชลส์ มีอายุประมาณ 60 ปี เพราะหน้าแล้งขาดแคลนน้ำ จึงหยุดการเติบโต แต่เมื่อมาอยู่ในเมืองไทย สวนนงนุชพัทยาดูแลรดน้ำทุกวัน ทำให้ต้นมะพร้าวทะเลเติบโตไว ให้ผลดก บางผลมีขนาดใหญ่ มีเมล็ด 2-3 เมล็ด ก็เคยเจอมาแล้ว

มะพร้าวทะเล อีกชื่อเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า “มะพร้าวก้นสาว”
เนิร์สเซอรี่ ต้นมะพร้าวทะเล

“โชคดี ที่สวนนงนุชพัทยาปลูกและขยายพันธุ์มะพร้าวทะเลมาตลอด ทำให้มีจำนวนต้นที่เก็บสะสมไว้จำนวนมาก สามารถนำไปแลกเปลี่ยนต้นพันธุ์กับสวนพฤกษศาสตร์ทั่วโลกได้ ขณะเดียวกัน หมู่เกาะเซเชลส์ ก็ต้องการพันธุ์ต้นมะพร้าวทะเลกลับไปปลูกเพิ่มบนเกาะ ผมก็ยินดีให้ความร่วมมือ โดยขอแลกเปลี่ยนกับสายพันธุ์ปาล์มที่เกาะเซเชลส์มีอยู่ แม้ที่นั่นจะมีสายพันธุ์ปาล์มไม่มากเท่าไร แต่สวนนงนุชพัทยาเป็นศูนย์รวบรวมพันธุ์ไม้จากทั่วโลกกว่า 18,000 กว่าชนิด และเราตั้งใจเก็บให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในตอนนี้เรียกได้ว่า สวนนงนุชพัทยา ปลูกต้นมะพร้าวทะเลได้มากที่สุดในเอเซีย เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของเรา และในอนาคต สวนนงนุชพัทยา ตั้งเป้าหมายปลูกและขยายพันธุ์ต้นมะพร้าวทะเลให้ได้มากที่สุดในโลก” คุณโต้ง กล่าวในที่สุด