เมล่อนในโรงเรือน สร้างงานทำเงิน ที่แม่ใจ พะเยา

อำเภอแม่ใจ เป็นหนึ่งในเก้าอำเภอของจังหวัดพะเยา มีคำขวัญเพื่อการท่องเที่ยวว่า “พระเจ้าทองทิพย์คู่ถิ่น แหล่งทำกินหนองเล็งทราย มากมายสวนลิ้นจี่ รสดีมะพร้าวเผา” จะเห็นได้ว่ามีพืชผลทางด้านการเกษตรถึง 2 ชนิด อยู่ในนั้น ซึ่งผู้เขียนเขียนถึงมาแล้ว 1 ชนิด คือ ลิ้นจี่ วันนี้จะมาเขียนถึงเมล่อน พืชใหม่ที่ทำได้ และทำเงิน

วันก่อนผู้เขียนลงพื้นที่ผ่านโรงเรือนปลูกเมล่อน น้องๆ ที่สำนักงานบอกว่าเป็นแปลงปลูกเมล่อนของประธานวิสาหกิจชุมชนปลูกเมล่อนของอำเภอแม่ใจ เมื่อมีเวลาจึงลงไปพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเจ้าของแปลง คือ คุณธวัชชัย ใจมิภักดิ์ บ้านเลขที่ 77 หมู่ที่ 9 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เดิมคุณธวัชชัยประกอบอาชีพทางช่าง มีบุตร 2 คน ส่งให้เรียนหนังสือจนจบและมีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ จึงหันมาทำการเกษตร โดยปลูกพืชผักขาย ลองผิดลองถูกมาพอสมควร ในที่สุดหันมาผลิตแบบปลอดภัยจากสารพิษ

ผู้เขียน กับ คุณธวัชชัย ใจมิภักดิ์

รวมทั้งการปลูกแคนตาลูป ที่เกษตรกรอำเภอแม่ใจมีการปลูกกันมาก และมีโอกาสได้รับการส่งเสริมจากมหาวิทยาลัยพะเยา ในเรื่องของแคนตาลูป และพัฒนาไปถึงเมล่อน ซึ่งทางอาจารย์ของมหาวิทยาลัยพะเยาได้ให้ความรู้ และนำไปศึกษาดูงานจากหลายแห่ง จึงทดลองปลูกในโรงเรือน

ด้วยเคยเป็นช่างมาก่อน จึงสามารถที่จะสร้างโรงเรือนด้วยตนเอง ตาข่ายที่สามารถป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ดีคือ ตาข่าย ขนาด 40 ช่อง ต่อตารางนิ้ว ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง ผลผลิตที่ได้จึงปลอดภัยจากสารพิษ โดยทางอาจารย์จากมหาวิทยาลัยพะเยาได้นำผลเมล่อนไปตรวจสอบสารพิษตกค้างที่ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย ไม่พบสารตกค้างที่เป็นอันตราย การขายนอกจากจะให้ภรรยานำไปจำหน่ายบริเวณริมถนนตรงข้ามสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ใจขาเข้าจังหวัดพะเยาแล้ว ยังให้ลูกสาวจำหน่ายทางออนไลน์ และส่งขึ้นห้างสรรพสินค้าโมเดิร์นเทรดอีกด้วย

เมล่อน เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบร้อนของทวีปแอฟริกา จึงไม่ชอบอากาศหนาวเย็นจัด แต่ชอบอากาศอบอุ่น แต่ไม่ร้อนจัด อุณหภูมิที่เหมาะสำหรับการปลูกแตง อยู่ที่ 25-35 องศา แต่ไม่เกิน 43 องศาเซลเซียส ในเวลากลางวัน และ 18-20 องศาเซลเซียส ในเวลากลางคืน ดังนั้น ฤดูกาลที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกเมล่อนในประเทศไทยจึงเป็นปลายฤดูฝนหรือฤดูฝนต้นหนาว สำหรับฤดูกาลอื่นๆ นั้นเราก็สามารถปลูกเมล่อนญี่ปุ่นได้เช่นกัน แต่จะต้องดูแลมากกว่าปกติซักเล็กน้อย หากเมล่อนเจอกับอากาศหนาวเย็นจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโตได้ตั้งแต่ระยะต้นกล้า การออกดอกติดผลจะล่าช้า และถ้าอากาศยิ่งหนาวจัด ต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ต้นเมล่อนอาจจะหยุดการเจริญเติบโตได้ ในทางกลับกันต้นเมล่อนก็ไม่ชอบอากาศที่ร้อนจัดจนเกินไป ถ้าอุณหภูมิเกินกว่า 40-43 องศาเซลเซียส เมล่อนมักจะสร้างแต่ดอกตัวผู้ ไม่มีดอกตัวเมีย หรือถ้ามีดอกตัวเมียก็จะร่วงง่ายไม่ติดผล

ต้นเมล่อนสมบูรณ์มาก

ปัญหาจากสภาพแวดล้อมของอากาศที่สำคัญสำหรับการปลูกเมล่อนอีกประการหนึ่งคือ ฝน ถ้าต้นเมล่อนถูกน้ำฝนบ่อย หรือสภาพในโรงเรือนมีความชื้นสูง อาจทำให้เกิดโรคราน้ำค้างได้ เนื่องจากเมล่อนเป็นพืชที่มีใบกว้าง ใหญ่และมีขน เมื่อสัมผัสกับน้ำฝนจะเกิดหยดน้ำค้างบนใบอยู่เสมอ แห้งยาก จึงเป็นสภาพที่อำนวยให้เกิดการเข้าทำลายของเชื้อราน้ำค้างบนใบได้ ร่วมกับสภาพอากาศที่เย็นและชื้นหลังฝนตก โรคนี้จึงระบาดมากในฤดูฝน เป็นโรคสำคัญที่ทำความเสียหายมากสำหรับพืชในวงศ์แตง จึงต้องดูแลควบคุมมิให้เกิดการระบาดตั้งแต่เนิ่นๆ และหากสามารถควบคุมได้ ทั้งโรคจากเชื้อราและจากแมลงต่างๆ โดยการวางแผนการปลูก (เว้นระยะห่างให้มากกว่าฤดูอื่นๆ) และการมีวินัยในการป้องกันที่ดีแล้ว ก็จะสามารถสร้างผลผลิตได้ไม่ต่างจากฤดูกาลอื่นๆ

แนวทางการปลูกเมล่อนพื้นฐาน… ดินหรือวัสดุปลูกที่เหมาะสำหรับการปลูกเมล่อน ควรเป็นดินร่วนปนทราย ที่มีการระบายน้ำได้ดี ควรหลีกเลี่ยงการปลูกเมล่อนในพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวจัด ที่มีการระบายที่ไม่ดี ทำให้มีโอกาสเกิดโรคเน่าในระบบรากได้ง่าย และยังเป็นที่สะสมของโรคทางดิน ติดต่อไปยังฤดูต่อไป รวมทั้งยากต่อการลดความชื้นในดินก่อนเก็บเกี่ยว หรือปลูกในวัสดุปลูกแบบซับสเตรตคัลเจอร์ เป็นอีกแนวทางการปลูกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการปลูกเมล่อนของประเทศไทย เนื่องจากสามารถควบคุมการให้สารอาหาร ปริมาณน้ำ คุณสมบัติของวัสดุปลูกได้อย่างแม่นยำ

ขั้นตอนในการปลูกเมล่อนการเพาะเมล็ด เพาะในกระบะเพาะหรือถุงเพาะเมล็ดก่อน ถ้าอยากให้เมล็ดงอกได้ดีและเร็วขึ้น ให้แช่ในน้ำหรือน้ำอุ่น 3-4 เซนติเมตร หุ้มด้วยผ้าเปียกหมาดๆ ต่ออีก 1 คืน แล้วจึงค่อยนำไปเพาะต่อในวัสดุเพาะ การเตรียมแปลงปลูกและย้ายกล้า เมล่อนเป็นพืชที่มีราคาแพง โดยเฉพาะพันธุ์ที่มีรสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาด จึงคุ้มค่ากับการปลูกทั้งในแปลงเปิดที่ลงทุนต่ำและในโรงเรือนที่ลงทุนสูง

การดูแลรักษาระหว่างการพัฒนาของผล… การดูแลที่ถูกต้องจึงจะให้ผลผลิตที่ดี ทั้งวิธีการขึ้นค้าง การแต่งกิ่งแขนง การผสมเกสรและการไว้ผล ล้วนต้องรู้วิธีการดูแลให้เหมาะสม ในต้นเมล่อน 1 ต้น จะปล่อยให้ติดลูกเพียง 1 ผล เพื่อต้องการผลผลิตที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด หรืออย่างมากไม่เกิน 2 ผล ดังนั้น หากมีการดูแลรักษาที่ไม่ถูกวิธี อาจทำให้ไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตจากต้นเมล่อนนั้นเลย ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง

ในโรงเรือน

การปลูกในโรงเรือน…การปลูกเมล่อนในโรงเรือนช่วยให้สามารถปลูกเมล่อนได้ในฤดูฝนโดยที่ไม่ต้องกลัวการระบาดของโรคทางใบ แต่ก็ต้องใช้การลงทุนที่สูงกว่า จึงควรใช้เป็นวิธีการปลูกเมล่อนพันธุ์ที่มีราคาแพง เพื่อผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน วิธีการปลูกในโรงเรือนนั้นสามารถปลูกลงในดินหรือปลูกในวัสดุปลูกที่อยู่ในภาชนะหรือกระถางได้

แต่การปลูกลงในกระถางจะมีข้อดีกว่า ตรงที่สามารถใช้ระยะปลูกที่ชิดกว่าการปลูกลงดิน และวิธีนี้ยังช่วยให้สามารถปลูกเมล่อนต่อเนื่องในฤดูติดกัน เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องการระบาดของโรคทางดิน เนื่องจากปลูกในกระถางจะใช้วัสดุปลูกที่มีความสะอาดหรือผ่านการฆ่าเชื้อให้ปลอดภัยมาแล้ว ในกรณีที่ปลูกในกระถาง ขนาด 12 นิ้ว ให้วางกระถางแบบแถวคู่ ภายในแถวคู่ที่ระยะห่างระหว่างกระถางในแถว 50 เซนติเมตร ระยะห่างภายในแถวคู่ 80 เซนติเมตร และระยะระหว่างแถวคู่ เท่ากับ 1.5 เมตร ในโรงเรือนที่มีพื้นที่ 360 ตารางเมตร จะปลูกได้ 1,000 ต้น วัสดุปลูกที่ใช้สามารถใช้ได้หลายชนิด ถ้าใช้วัสดุจากต่างประเทศ ได้แก่ พีทมอสส์ หรือ ภูมิส สามารถใช้วัสดุชนิดใดชนิดหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว หรือถ้าใช้วัสดุภายในประเทศ เช่น ขุยมะพร้าว ถ่านแกลบ ทราย ให้นำมาผสมกันเสียก่อน ในอัตรา เช่น ขุยมะพร้าว : ถ่านแกลบ : ทราย : ในอัตรา 1 : 1 : 1 เป็นต้น ไม่ควรใช้ขุยมะพร้าว แกลบดิบ ทราย หรือถ่านแกลบ เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะวัสดุภายในประเทศเหล่านี้โดยตัวเองเพียงอย่างเดียว ยังไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืช เมื่อเตรียมแปลงและหลุมปลูก หรือกระถางบรรจุวัสดุปลูกเรียบร้อยแล้ว ให้ย้ายต้นกล้าเมล่อนที่เตรียมไว้ลงปลูก หลังปลูกรดน้ำให้ชุ่มเพื่อให้ความชื้นแก่ต้นกล้าและให้ดินกระชับรากต้นกล้า กรณีของการปลูกในโรงเรือนต้องวางระบบน้ำหยดและติดตั้งหัวน้ำหยดที่แต่ละกระถางปลูก การปฏิบัติดูแลรักษา เมล่อนเป็นพืชที่ต้องการปฏิบัติเป็นพิเศษ แตกต่างจากพืชอื่นๆ ในหลายขั้นตอน นับตั้งแต่การให้น้ำและใส่ปุ๋ย การขึ้นค้าง การตัดแต่งกิ่ง

การดูแลรักษาระหว่างการพัฒนาของผลการขึ้นค้าง… เมล่อน เป็นพืชที่มีลำต้นเป็นเถาเลื้อย ในการใช้ระยะปลูกชิดแบบปัจจุบันจึงต้องบังคับให้เถาเมล่อนเลื้อยขึ้นด้านบน โดยการจัดค้างให้เถาเมล่อนได้เกาะ โดยหลังจากปลูกได้ประมาณ 14 วัน ต้องมีการปักค้างให้กับต้นเมล่อน ไม้ค้างควรมีความสูงจากผิวดินหลังการปักลงดินแล้วไม่น้อยกว่า 1.80 เซนติเมตร ในกรณีปลูก 2 แถว อาจผูกไม้ค้าง 2 ฝั่ง เข้าหาเป็นกระโจมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้มากขึ้นก็ได้ และระหว่างไม้ค้างที่ปักในแนวตั้งให้ยึดด้วยไม้ค้างตามแนวนอนทั้งบนและล่างอีกตลอดความยาวของแปลง

ไม้ค้างที่ใช้อาจเป็นไม้ไผ่รวก ไม้กระถิน หรืออื่นๆ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นและมีราคาถูก ต้นเมล่อนทุกต้นต้องมีที่ยึดเกาะให้ลำต้นเลื้อย หากไม่สามารถลงทุนซื้อไม้ค้างให้กับต้นแตงทุกต้นได้ สามารถลดต้นทุนโดยการปักไม้ค้างเป็นช่วง ห่างกัน 2-2.5 เมตร และหาเชือกไนล่อน หรือเชือกอื่นที่มีความแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักต้นเมล่อนได้ โดยจะแนะนำให้ใช้เชือกฝ้าย เพราะจะไม่ทำให้บาดกับลำต้นของต้นเมล่อนจนเกิดแผล ซึ่งอาจเป็นสาเหตุการเกิดเชื้อราเข้าสู่ลำต้น

เจ้าของต้องแต่งกิ่งแขนงโดยการตัดปลายยอดทิ้งให้เหลือใบเพียง 2 ใบ เท่านั้น คือใบที่ใกล้กับข้อแรกที่จะเกิดดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศ และใบที่ข้อถัดขึ้นไป ปล่อยให้มีดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เกิดขึ้นเพียงแขนงละ 1 ดอก เท่านั้น และเมื่อต้นเมล่อนเจริญเติบโตจนถึง 25 ข้อ ให้ตัดปลายยอดของต้นออกเสีย เพื่อหยุดการเจริญเติบโตทางด้านลำต้น นอกจากนี้ให้เด็ดใบล่างสุดออกอีก 3-5 ใบ ที่ไม่ค่อยได้รับแสงแดดออกไป เพื่อทำให้ต้นโปร่งเพิ่มการถ่ายเทของอากาศ ไม่ให้เกิดการสะสมของความชื้นที่ชักนำให้เกิดโรคราต่างๆ

ผลเมล่อนคุณภาพดี ปลอดสารพิษ

การผสมเกสรและการไว้ผล… เมล่อน เป็นพืชที่มีดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่กันคนละดอกแต่เกิดอยู่บนต้นเดียวกัน หรือบางพันธุ์มีดอกเพศผู้และดอกสมบูรณ์เพศอยู่บนต้นเดียวกันก็มี โดยดอกเพศผู้จะเกิดก่อนและเกิดเป็นช่อที่มุมระหว่างก้านใบกับลำต้น หรือลำต้นกับกิ่งแขนง ส่วนเพศเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศจะเกิดทีหลังและเกิดเป็นดอกเดี่ยว ที่ข้อแรกหรือข้อที่สองของกิ่งแขนง

โดยปกติเมล่อนเป็นพืชผสมข้าม จำเป็นที่ต้องมีการผสมเกสรจากภายนอกโดยแมลงหรือมนุษย์จึงจะติดเป็นผลได้ ดังนั้น ในการปลูกเมล่อนจึงจำเป็นต้องมีการช่วยผสมเกสรให้กับดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศ การผสมเกสรต้องกระทำเมื่อดอกบาน ในตอนเช้า ตั้งแต่เวลา 06.00-10.00 น. ในขณะที่อากาศยังมีอุณหภูมิไม่ขึ้นสูง หลังจากนั้นดอกตัวเมียจะหุบไม่รับการผสมอีกต่อไป

วิธีการผสมเกสรทำโดย เด็ดดอกตัวผู้ที่บานในวันนั้นจากต้นใดก็ได้ นำมาปลิดกลีบดอกออกให้หมดเหลือแต่ละอองเกสรตัวผู้ ที่สังเกตเห็นว่ามีละอองเกสรตัวผู้เกาะติดอยู่เต็มไปหมด แล้วนำมาคว่ำและแตะลงที่ยอดของดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศที่บานในวันนั้นให้ทั่วโดยรอบดอก ทยอยผสมเกสรให้ดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศที่เกิดอยู่บนกิ่งแขนงที่เกิดบนข้อที่ 8-12 ซึ่งจะบานไม่พร้อมกัน จึงต้องใช้เวลาหลายวัน ถึงจะผสมครบทั้ง 5 ดอก

เมื่อเริ่มติดเป็นผลอ่อนขนาดเท่าไข่ไก่ จึงเลือกผลที่สมบูรณ์ที่สุดไว้เพียงผลเดียว โดยดูจากผลที่รูปร่างสมบูรณ์ ไม่บิดเบี้ยว และมีขั้วผลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่เหลือให้ปลิดทิ้งหลังติดผล 2 สัปดาห์ ให้เริ่มใช้เชือกผูกที่ขั้วผลโยงไว้กับค้างเพื่อช่วยพยุงและรับน้ำหนักผลที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อไปจากนั้นให้รีบห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ให้มิดชิดเพื่อป้องกันการเข้าทำลายของแมลงวันทอง

การให้น้ำ ต้นเมล่อนเป็นพืชที่มีใบใหญ่ คายน้ำมาก จึงต้องการน้ำมากในแต่ละวัน นับหลังจากย้ายปลูกแล้ว ความต้องการน้ำของต้นเมล่อนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมล่อนเริ่มออกดอกและติดผล จะเป็นช่วงที่เมล่อนมีปริมาณความต้องการน้ำสูงที่สุด การให้น้ำแก่เมล่อนจึงต้องเพิ่มปริมาณการให้น้ำแก่ต้นเพิ่มมากขึ้นทุกสัปดาห์ จนถึงระยะออกดอกและติดผลจึงให้น้ำในปริมาณที่คงที่ได้ ปริมาณน้ำที่ต้องให้แก่ต้นเมล่อนนั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ถ้าปลูกเมล่อนในช่วงที่อากาศร้อนจัด ในฤดูร้อนจัดและอากาศแห้งแล้ง ความต้องการน้ำของต้นเมล่อนในช่วงเริ่มต้นหลังย้ายกล้า อาจอยู่ในช่วง 0.5-1 ลิตร/ต้น/วัน และในช่วงที่กำลังออกดอกและติดผลอาจสูงถึงวันละ 2-3 ลิตร/ต้น/วัน

เนื้อภายในมีทั้งสีเขียวและเหลือง

อย่างไรก็ตาม ความต้องการน้ำของเมล่อนสามารถเปลี่ยนแปลงไป ในฤดูกาลเดียวกัน ยังแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ สำหรับวิธีการให้น้ำแก่เมล่อน สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การปล่อยน้ำเข้าข้างร่องปลูก และปล่อยให้น้ำซึมเข้าสู่แปลงจากด้านข้าง ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมที่สิ้นเปลืองน้ำและแรงงาน

การเก็บเกี่ยว… เมื่อผลเมล่อนสุกแก่ จะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะภายนอก คือ ในพันธุ์ที่ผิวมีร่างแหจะพบว่าร่างแหเกิดขึ้นเต็มที่ครอบคลุมทั้งผล ผิวเริ่มเปลี่ยนสีและอ่อนนุ่นลง และในบางพันธุ์เริ่มมีกลิ่นหอมเกิดขึ้น เกิดรอยแยกที่ขั้วจนในที่สุดผลจะหลุดออกจากขั้ว ในการเก็บเกี่ยวผลเมล่อนเพื่อการจำหน่ายจึงต้องเก็บเกี่ยวในระยะที่พอดี หากเก็บเร็วเกินไปจะได้ผลเมล่อนที่อ่อนเกินไป รสชาติยังไม่หวานและมีน้ำหนักน้อย หากเก็บเกี่ยวล่าช้าไป ผิวและเนื้อภายในจะอ่อนนุ่มเกินไปไม่เหมาะสำหรับการเก็บรักษาและการจำหน่าย

อายุเก็บเกี่ยวของเมล่อนที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับพันธุ์ ซึ่งมีทั้งพันธุ์เบา ที่มีอายุการเก็บเกี่ยว 60-65 วัน หลังหยอดเมล็ด หรือ 30-35 วัน หลังดอกบาน, พันธุ์ปานกลางมีอายุเก็บเกี่ยว 70-75 วัน หลังหยอดเมล็ด หรือ 40-45 วัน หลังดอกบาน พันธุ์หนักที่มีอายุเก็บเกี่ยวเกินกว่า 80-85 วัน หลังเพาะเมล็ด หรือ 50- 55 วัน หลังดอกบาน

นอกจากการนับจำนวนวันแล้ว การเก็บเกี่ยวเมล่อนยังสามารถดูจากลักษณะภายนอกได้ด้วย เมล่อนที่เริ่มสุกแก่เก็บเกี่ยวได้จะเริ่มมีกลิ่นหอมในพันธุ์ที่มีกลิ่มหอมและมีรอยแยกที่ขั้วผลเกิดขึ้นแสดงว่าผลแตงกำลังจะหลุดร่วงจากต้น โดยทั่วไปมักจะเก็บเกี่ยวเมื่อเกิดรอยแยกประมาณ 50% หรือครึ่งหนึ่งของรอบขั้วผล ซึ่งเป็นระยะที่ผิวของผลแตงยังไม่อ่อนนุ่มจนเกินไป สามารถเก็บรักษาหรือขนส่งไปจำหน่ายในตลาดได้โดยไม่กระทบกระเทือน และอยู่ในตลาดได้อีกระยะหนึ่ง

เมล่อน เป็นพืชทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ทำได้ และได้เงิน สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 095-676-4905

วางขายริมถนน
ใบรับรองสินค้าปลอดภัยจากห้องปฏิบัติการกลาง