อัญชัน…ดอกไม้สมุนไพร เก็บตากแดดให้แห้ง มูลค่าสูงขึ้น 7-10 เท่า

แม่บ้านทำความสะอาดสำนักงานที่ผู้เขียนทำงานอยู่ มักจะทำงานเพื่อหารายได้เสริมอยู่เสมอ งานเสริมก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วแต่โอกาส หรือแล้วแต่ใครจะมาเสนองานให้ มาในระยะหลังตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ จะเห็นเธอนำดอกอัญชันใส่ถาดใหญ่ๆ 2-3 ถาด มาตากแดดที่หลังสำนักงานเกือบทุกวัน โดยเฉพาะวันที่แดดจัด สอบถามได้ความว่า เธอทำดอกอัญชันตากแห้งขาย โดยมีคนนำดอกอัญชันสดมาให้ เธอก็นำมาตากให้แห้ง แล้วนำไปขายให้กับผู้รวบรวม โดยดอกอัญชันแห้ง 1 กิโลกรัม ต้องใช้ดอกอัญชันสดประมาณ 10 กิโลกรัม ราคาดอกอัญชันแห้งก็จะสูงกว่าดอกอัญชันสด 7-10 เท่า

เมื่อปลายปีที่แล้วเช่นกัน กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำอัญชันพันธุ์ใหม่ ชื่อ “เทพรัตน์ไพลิน 63” ซึ่งเป็นอัญชันกลีบซ้อนให้ผลผลิตสูง มีสารสำคัญสูง ขณะเดียวกันกรมวิชาการเกษตรยังเปิดตลาดอัญชันแห้งไปยังตลาดอินโดนีเซียด้วย จึงเป็นเหตุการณ์ที่จุดความสนใจเกี่ยวกับดอกอัญชันขึ้นมาให้อยากค้นหา มากกว่า อัญชัน ที่เป็นเพียงไม้เลื้อยริมรั้วบ้านเท่านั้น

สรรพคุณของอัญชัน

อัญชัน (Butterfly pea หรือ Blue pea) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clitoriaternatea L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (LEGUMINOSAE) มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ ปลูกได้ทั่วไปในเขตร้อน เป็นไม้เลื้อย โดยใช้ยอดเลื้อยพัน ลำต้นมีขนปลุกคุม ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 5 – 9 ใบ ใบเป็นรูปไข่ถึงรูปรี ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ มีทั้งกลีบดอกชั้นเดียว และกลีบซ้อน มีหลายสี ทั้งสีขาว ฟ้า น้ำเงิน และม่วง

ในหนังสือ “บันทึกของแผ่นดิน ๙ สมุนไพร ในสภาวะ โลกร้อน” โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร มูลนิธิในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ ได้บันทึกไว้ว่า การใช้ประโยชน์จากอัญชันนี้เป็นภูมิปัญญาของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะการใช้ดอกอัญชันสีม่วงมาปลูกคิ้วปลูกผมนั้น แม้ไม่มีในคัมภีร์ทางการแพทย์ แต่ก็ปรากฏอยู่ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร

“อัญชันเรียกอัญชัน ทาคิ้วมันกันเฉิดปลาย

ชำเลืองเยื้องตาชาย ชายชมนักมักแลตาม…”

อัญชันที่นำมาใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นอัญชันดอกสีขาว และดอกสีม่วง โดยหมอยาจะใช้รากของอัญชันดอกขาวในตำรับยาแก้พิษสุนัขบ้า และพิษงู ส่วนอัญชันดอกสีม่วง เอาไว้เขียนคิ้วและขยี้ทาหัวทารก หรือคั้นน้ำใส่ผมสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งจะทำให้คิ้วและผมขึ้นดกดำเป็นเงางาม นอกจากนี้ อัญชันดอกสีม่วงยังใช้แก้ฟกช้ำ และนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น คั้นน้ำนำไปทำขนม ทำน้ำสมุนไพรแก้ร้อนใน นอกจากนี้ ดอก ยอดอ่อน ฝักอ่อน ของอัญชันทั้งสองสียังนำมารับประทานเป็นผักเครื่องเคียงกับน้ำพริกได้ด้วย

ในตำราอายุรเวชศาสตร์ของอินเดียจัดให้อัญชันอยู่ในกลุ่มพืชที่มีสรรพคุณบำรุงสมอง มีการนำรากและเมล็ดมาเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงสมอง บำรุงความจำ คลายเครียด ช่วยให้นอนหลับ นอกจากนี้ หมอยาพื้นบ้านของไทยนิยมใช้อัญชันในการรักษาอาการอักเสบ บวม ใช้พอกกระดูกหักโดยใช้ใบอย่างเดียว หรือใช้ร่วมกับสมุนไพรตัวอื่นตำพอกก็ได้

มีการพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ว่า อัญชัน มีสารแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ช่วยกำจัดและป้องกันสารพิษไม่ให้ทำความเสียหายต่อเซลล์ และโรคที่เกิดจากความเสื่อมต่างๆ เช่น โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต รวมไปถึงรอยเหี่ยวย่นของผิวพรรณ

การปลูกอัญชัน

อัญชัน ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เมื่อดอกอัญชันโรยจะกลายเป็นฝักคล้ายถั่วลันเตา แต่จะแบนและเมล็ดภายในมีขนาดเล็กกว่า ถ้าเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ก็ปล่อยให้ฝักแก่จนเป็นสีน้ำตาลและแห้ง ในฝักมีเมล็ดกลมรีเล็กๆ สีดำ สามารถนำมาเพาะเพื่อปลูกต่อได้

ในเว็บไซต์ http://millionare-academy.com/archives/1461 ได้เผยแพร่เรื่อง “รวยด้วยการขายอัญชัน พร้อมวิธีปลูกอัญชัน” เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 โดยได้บอกวิธีการปลูกไว้ 2 วิธี ดังนี้

วิธีที่ 1 ปลูกโดยการนำต้นกล้าจากการเพาะเมล็ดมาปลูกลงแปลงที่ผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกไว้ บริเวณแปลงปลูกควรมีแสงแดดพอสมควร แต่ไม่ถึงกับจัดมาก ใกล้ๆ กับแปลงปลูกทำรั้วหรือไม้ระแนงเพื่อให้เถาอัญชันเลื้อยพาด หรือยึดเกาะ เพื่อการทรงตัวได้ รดน้ำแต่พอชุ่ม เพียงวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและช่วงเย็นเท่านั้น อัญชันขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี ส่วนโรคและแมลงมีน้อยมาก แต่ควรระวังพวกสัตว์เลี้ยงมากินใบ และดอกอัญชันเป็นไม้เลื้อยที่ปลูกง่าย ขึ้นง่าย ไม่ต้องดูแลรักษามากนัก ตั้งแต่ปลูกนับไปประมาณ 1 – 2 เดือน ก็จะมีดอกแล้ว

วิธีที่ 2 ปลูกอัญชันในกระถาง ซึ่งการปลูกในกระถางนี้ต้องเตรียมดินให้ดี โดยการหมักดิน ตามส่วนผสมดังนี้ ดินถุง มูลสัตว์ (ปุ๋ยคอก) เศษใบไม้แห้ง เศษอาหารสด ผัก สดไม้ กากกาแฟ เปลือกไข่ หัวเชื้อจุลินทร์ทรี น้ำตาล

วิธีการหมักดิน : นำดินมาคลุกเคล้ากับมูลสัตว์ เศษใบไม้แห้ง เศษอาหาร และหัวเชื้อจุลินทรีย์ ต่อจากนั้นให้เติมน้ำตาลและคลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยกะปริมาณตามความเหมาะสม ที่สำคัญคือ มูลสัตว์ที่นำมาใช้ควรเป็นมูลสัตว์แห้ง เศษใบไม้ควรเลือกใบเล็ก และหากเป็นพืชตระกูลถั่วจะย่อยสลายง่ายขึ้น

เศษอาหารควรใส่ให้หลากหลายชนิด เพื่อให้ได้สารอาหารพืชหลายชนิด น้ำตาลทรายเพิ่มเติมลงไปเพื่อกระตุ้นให้หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่นำมาผสมทำงานย่อยสลายได้ดีมากขึ้น ต่อจากนั้น ให้เติมน้ำพอชุ่ม กะความชื้นให้เหมาะสม โดยสามารถสังเกตได้ด้วยการกำดินที่ผสมแล้ว นำขึ้นมาดู หากจับกันเป็นก้อน ไม่แตก และบีบแล้วไม่มีน้ำไหล จึงนำไปใช้ได้

เมื่อดินที่หมักไว้ใช้ได้แล้ว ให้ตักดินที่ผสมแล้วใส่ลงถุงดินที่เตรียมไว้ โดยถุงใส่ดินควรเป็นถุงกระสอบซึ่งระบายอากาศได้ดี ตั้งทิ้งไว้ในที่ร่ม และให้สังเกตดูว่าดินหายร้อนแล้วหรือยัง ถ้าหายร้อนแล้ว สามารถนำมาปลูกพืชได้

วิธีการปลูก เริ่มจากนำเมล็ดแห้งของอัญชันมาแช่น้ำไว้ 1 คืน จากนั้นนำมาห่อผ้าทิ้งไว้ ประมาณ 3 วัน ให้รากงอก นำดินที่เตรียมไว้มาใส่กระถาง แต่อย่าให้เต็มกระถาง เหลือพื้นที่ไว้สำหรับรับน้ำเวลารดน้ำลงบนดินปกติ เสร็จแล้วให้ขุดหลุมในกระถางตื้นๆ วางเมล็ดอัญชันที่รากงอกแล้ว ประมาณ 3 เมล็ด ต่อ 1 กระถางเพาะ

ถ้าอยากให้ต้นอัญชันงอกเร็ว ให้นำถุงพลาสติดมาครอบกระถางเพื่อให้เกิดความชื้นขึ้น ให้คลุมไว้จนกว่าต้นจะงอก แล้วไปวางให้โดนแสงธรรมชาติ อย่าลืมปักไม้ในกระถางสำหรับให้ต้นอัญชันเลื้อยด้วยประมาณ 2 เดือน อัญชันก็จะเริ่มออกดอกเช่นกัน

อัญชัน ออกดอกตลอดทั้งปี โดยในช่วงฤดูฝนจะให้ผลผลิตมากกว่าช่วงอื่น ช่วงฤดูหนาวอัญชันจะพักต้นจึงให้ผลผลิตน้อย การเก็บผลผลิตดอกอัญชัน ควรเก็บเมื่อดอกบานเต็มที่ และควรเก็บในตอนเช้าตรู่ก่อนที่แมลงจะมาตอมเกสรเพื่อรักษาคุณค่าทางสมุนไพรไว้ให้มากที่สุด

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรปลูกอัญชันในช่วงฤดูแล้งทดแทนการทำนาปรัง เพราะการปลูกอัญชันใช้น้ำน้อย ดูแลรักษาง่าย ใช้พื้นที่น้อย การขยายพันธุ์และการดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก และตลาดยังมีความต้องการอีกมาก เนื่องจากอัญชันเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพหลายประการ นอกจากนี้ ดอกอัญชันยังนำไปคั้นเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ผสมในอาหารหรือขนมเพื่อสีสันสวยงาม ใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางหลากหลายประเภท โดยเฉพาะแชมพูสระผมและครีมนวดผม

กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ข้อมูลว่า ต้นทุนการผลิตอัญชัน 1 ไร่ อยู่ที่ประมาณ 10,000-12,000 บาท เมื่อเทียบกับผลตอบแทนแล้วถือว่าคุ้มค่ามาก เนื่องจาก อัญชัน 1 ต้น สามารถเก็บดอกสดได้ 50-100 กิโลกรัม ต่อวัน 1 ไร่ จะได้ผลผลิตสด วันละ 100 กิโลกรัม

ขายสด กิโลกรัมละ 50-100 บาท ทำให้มีรายได้ 5,000-10,000 บาท ต่อวัน แต่จะใช้แรงงานในเก็บเกี่ยวค่อนข้างมาก จึงนิยมทยอยเก็บ วันละ 5-10 กิโลกรัม และนำไปตากแห้ง เท่ากับ 1 กิโลกรัม ซึ่งดอกแห้งนี้ขายได้กิโลกรัมละ 350-500 บาท และวิธีนี้ยังเป็นการเพิ่มมูลค่า และลดปัญหาเรื่องแรงงานในการเก็บเกี่ยวได้

พันธุ์อัญชัน

จากการสืบค้นข้อมูล อัญชัน ไม่มีชื่อพันธุ์ระบุที่ชัดเจน นอกจากเป็นพันธุ์ที่นักวิจัยปรับปรุงพันธุ์ให้ชื่อเป็นรหัสไว้ สายพันธุ์ 7 – 1 – 16  สายพันธุ์ 14 – 2 – 2 สายพันธุ์ 18 – 2 – 5 เป็นต้น แต่ถ้าจะจำแนกพันธุ์ตามลักษณะของดอกที่ปรากฏ อาจจำแนกได้เป็น พันธุ์กลีบดอกซ้อน และ พันธุ์กลีบดอกชั้นเดียว ซึ่งทั้งสองพันธุ์มีดอกหลายสี เช่นเดียวกันคือ สีขาว สีชมพู สีฟ้า สีน้ำเงิน สีม่วง

ในธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ แม้มีการปรับปรุงพันธุ์อัญชันกลีบซ้อน ดอกใหญ่ สีที่แปลกแตกต่างจากที่เคยเห็นทั่วไป เป็นต้น จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 2562 กรมวิชาการเกษตร ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์อัญชัน พันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า “เทพรัตน์ไพลิน 63  ผลงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร

เหตุผลในการทำการวิจัยปรับปรุงพันธุ์อัญชัน เนื่องมาจากอัญชันเป็นพืชที่ออกดอกเกือบตลอดปี และมักพบว่า มีการผสมข้ามสายพันธุ์โดยแมลงสูงมาก ทำให้เกิดความแปรปรวนทางพันธุ์กรรม ส่งผลให้ลักษณะกลีบดอกไม่สม่ำเสมอ โดยอาจจะมีกลีบดอก ตั้งแต่ 3-5 กลีบ ปะปนในต้นเดียวกัน หรือมีทั้งกลีบซ้อนและไม่ซ้อนกัน ทำให้ได้ผลผลิตและสารแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารสำคัญไม่คงตัวสม่ำเสมอ

ในปี พ.ศ. 2554-2557 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร จึงได้คัดเลือกพันธุ์และเปรียบเทียบพันธุ์อัญชันจากพันธุ์ปลูกทั่วไป ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ในปี พ.ศ. 2559 ทดสอบพันธุ์ในแปลงเกษตรกรที่จังหวัดอ่างทอง และในปี พ.ศ. 2561 ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ให้เป็นพันธุ์แนะนำ โดยได้รับพระราชทานชื่อพันธุ์อัญชันพันธุ์ใหม่ว่า “เทพรัตน์ไพลิน 63″

อัญชันเทพรัตน์ไพลิน 63 มีลักษณะประจำพันธุ์คือ ลำต้น เป็นไม้พันเลื้อย ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่มี 5 และ 7 ใบย่อย ใบรูปรี ดอกรูประฆังสีน้ำเงินเข้ม กลีบดอก 5 กลีบ กลีบซ้อนเวียน ฝักแก่สีน้ำตาลซีด เมล็ดรูปขอบขนาน ผิวเปลือกเมล็ดมีรอยเว้า เมล็ดสีน้ำตาลเกือบดำ มีลายบนเปลือกเมล็ด อายุเก็บเกี่ยวครั้งแรกหลังปลูก 28 วัน

ลักษณะเด่น คือ มีกลีบดอกใหญ่ 5 กลีบ ซ้อนเวียน ผลผลิตดอกสดเฉลี่ย 2,122 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งมากกว่าพันธุ์ทั่วไป เก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกเร็วกกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป 6 วัน ปริมาณแอนโทไซยานินรวมมากกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป 1.5 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักกลีบดอกสด 100 กรัม

อัญชันเทพรัตน์ไพลิน 63 เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ไม่ควรปลูกบนพื้นที่น้ำท่วมขัง กรณีที่จะปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ ควรปลูกห่างจากบริเวณที่มีการปลูกอัญชันพันธุ์อื่น เพื่อรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์และเพื่อให้ได้เมล็ดตรงตามพันธุ์

ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ได้กระจายเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรนำไปปลูกขยายเป็นการค้า โดยส่งออกดอกอัญชันไปประเทศเกาหลี เพื่อนำไปแปรรูปเป็นชา ถือเป็นการสร้างรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อีกทางหนึ่ง และกรมส่งเสริมการเกษตรที่แนะนำให้เกษตรกรปลูกอัญชันแทนข้าวนาปรังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ก็ได้แนะนำให้เกษตรกรนำอัญชันพันธุ์เทพรัตน์ไพลิน 63 นี้ ไปปลูกเช่นกัน โดยกองขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมเกษตร ได้ประสานนำต้นพันธุ์อัญชันเทพรัตน์ไพลิน 63 จัดสรรให้ศูนย์ขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมเกษตร จำนวน 10 ศูนย์ ไปปลูกเป็นแม่พันธุ์ เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ดีที่ได้คุณภาพมาตรฐานกระจายสู่เกษตรกรต่อไป

 

การใช้ประโยขน์อัญชัน

การปลูกอัญชันเพื่อการค้าในปัจจุบัน มี 2 ลักษณะ คือ ขายดอกสด และขายดอกตากแห้งหรืออบแห้ง การขายดอกสดจะมีน้อยกว่าดอกแห้ง ในกรณีของขายดอกสด นอกจากขายเพื่อเป็นผัก หรือดอกไม้ที่นำมารับประทานแบบสดๆ เป็นเครื่องเคียง หรือนำมาคั้นน้ำเพื่อนำน้ำไปผสมทำอาหารอย่างอื่น หรือแปรรูปเป็นเครื่องดื่มแล้ว อาจจะขายสดให้ผู้รับซื้อหรือผู้รวบรวมผลผลิตเพื่อนำไปตากแห้งอีกต่อหนึ่ง

สำหรับดอกสดนั้น มีวิธีเก็บตามคำแนะนำ ดังนี้ นำดอกไม้อัญชันมาล้างน้ำให้สะอาด ทิ้งให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำมาห่อด้วยกระดาษหรือผ้าขาวบาง ใส่ถุงหรือกล่องพลาสติกแล้วนำไปแช่ตู้เย็นจะเก็บไว้ใช้ได้หลายวัน แต่ถ้าแช่แข็งจะเก็บได้นานนับเดือน สีไม่เปลี่ยน และไม่เสียคุณค่า การเก็บแบบแช่แข็ง ให้ดึงกลีบเลี้ยงออกให้หมดล้างน้ำเบาๆ แล้วเก็บอัดให้แน่นในถุงพลาสติก มัดปากถุงแน่น เก็บแช่แข็ง เวลาบริโภคให้แบ่งออกมาเท่าที่ต้องการใช้ ทิ้งไว้สักพักให้อ่อนตัวไม่เป็นเกล็ดน้ำแข็ง ขยี้ด้วยปลายช้อนกับตะแกรงตาถี่ หรือขยี้กับก้นชามหรือใส่ถุงพลาสติกขนาดเล็กใช้นิ้วมือขยี้กับถุง จะได้น้ำอัญชันคั้นสีน้ำเงินเข้ม (กลีบเลี้ยงที่ดึงออกอย่าทิ้ง ตากแห้งเก็บไว้ชงเป็นชาดื่มได้)

นำน้ำดอกอัญชันไปใช้ได้หลายลักษณะ เช่น หุงกับข้าวสวยหรือข้าวมัน เติมน้ำมะนาว เพื่อให้สีนุ่มนวลขึ้น

ทำน้ำอัญชันพร้อมดื่ม นำไปใส่พิมพ์ทำน้ำแข็งสีฟ้า หรือ สีม่วง ทำเป็นสีผสมขนมต่างๆ ผสมกับแชมพูหรือครีมนวดผม เป็นต้น

สำหรับดอกแห้ง นำดอกอัญชันที่ตัดก้านและแยกเกสรออกแล้วมาตากแห้งทั้งดอก โดยตากในตะแกรงตาข่ายหรือมุ้งลวดจะดีกว่าตากในถาด เพราะตะแกรงจะระบายอากาศได้ดี ตากให้โดนแดดจัดสัก 2 วัน จากนั้นเก็บใส่ในถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่น เก็บไว้ชงชา ทำสีผสมอาหารต่างๆ หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอาง ถ้าไม่ตากแดดจะใช้วิธีการอบให้แห้งก็ได้ โดยใช้เครื่องอบ หรือเตาอบลมร้อน ที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ใช้เวลาอบ 5-6 ชั่วโมง ถ้าเป็นดอกแห้งเกรดพรีเมี่ยมที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ความชื้นจะไม่เกิน 3% ขั้วดอกต้องเป็นสีเขียวสด ไม่มีก้านและเกสร รวมทั้งต้องไม่ปนเปื้อนเชื้อรา

 

สำหรับตำรับยานั้น ในหนังสือ  “บันทึกของแผ่นดิน ๙ สมุนไพร ในสภาวะ โลกร้อน”

โดย ภญ.ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ ได้กล่าวถึงตำรับยาที่ใช้อัญชันไว้ดังนี้

  • ใช้ดอกสดขยี้ทาคิ้ว ขยี้หมักผม หรือขยี้ผสมหางกะทิหมักผมทำให้คิ้วดกดำ ผมสลวยดกดำ
  • นำเปลือกมะกรูด 50 ผล ดอกอัญชัน 100 ดอก หรือมากกว่านั้น แยกกันแช่ในเหล้าขาว 28 ดีกรี ให้ท่วม หมักไว้ 1 เดือน เมื่อครบกำหนด นำน้ำหมักทั้งสองชนิดเทใส่ในโถปั่นใส่ว่านหางจระเข้ 1 กาบ (เอาแต่วุ้น) ปั่นรวมกัน กรองกากเก็บไว้ในตู้เย็น เวลาใช้นำมาหมักผมก่อนสระ หมักนานเท่าไรก็ได้ หมักทุกวันยิ่งดี ทำให้ผมดกดำ ไม่ร่วง ไม่คัน
  • อัญชันทั้ง 5 (ลำต้น ราก ดอก ใบ เมล็ด) ต้มกินเป็นประจำ ช่วยบำรุงสมอง บำรุงสายตา เป็นยาระบายพิษ แก้อาการผิดปกติของเลือดลม และเสมหะ แก้ปวดเมื่อย เป็นยาอายุวัฒนะ
  • ใช้ฝางเสนฝานเป็นแผ่นบางๆ 3 ชิ้น เตยหอม 2 ใบ ดอกอัญชัน 10 ดอก กาฝากมะม่วงสับ 1 หยิบมือ นำมาต้มดื่มเป็นประจำ จะช่วยบำรุงโลหิต ผิวพรรณดี
  • ดอกอัญชันต้มน้ำดื่มทุกวัน รักษาเบาหวานขึ้นตา
  • ดอกอัญชันสีม่วงตำประคบบริเวณที่บวม และต้มดื่มด้วย เป็นยาแก้ฟกบวม
  • ใช้ใบและเครือ ผสมเหล้ารักษากระดูกหัก
  • เมล็ดอัญชันสดคั้นน้ำ ทาในรูจมูกบ่อยๆ แก้ปวดศีรษะข้างเดียว
  • รากอัญชันฝนกับน้ำ ทาบริเวณที่เป็นด่างขาวติดต่อกัน ประมาณ 15 วัน อาการด่างขาวจะดีขึ้น แต่ถ้าเป็นมานานอาจใช้เวลาเป็นเดือน
  • ถ้าเป็นกลากเกลื้อน ใช้ใบอัญชันมาขี้บริเวณที่เป็นบ่อยๆ จะช่วยรักษาให้หายได้

อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวัง เนื่องจากมีรายงานว่า ดอกอัญชัน มีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด จึงไม่ควรบริโภคอัญชันร่วมกับผลิตภัณฑ์ด้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน และวาฟาริน เป็นต้น อาจมีผลเสริมฤทธิ์กันจนเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ ไม่ควรบริโภคเข้มข้นเกินไป และผู้ที่แพ้ดอกไม้ชนิดต่างๆ ต้องระวังโดยสังเกตตนเอง ถ้าใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ทำจากอัญชันแล้วเกิดอาการผิดปกติ ให้หยุดใช้ทันที ที่สำคัญคือ ตำรายาอายุรเวทกล่าวว่า อัญชัน สามารถเกิดอันตรกิริยา (interaction) กับยาต้านซึมเศร้า ยาต้านโรคจิต และยากันชักด้วย

ตลาดดอกอัญชัน

ดังกล่าวมาแล้วว่า ดอกอัญชัน ขายได้ทั้งดอกสดและดอกแห้ง ดอกสดนั้นจำหน่ายตลาดท้องถิ่นภายในประเทศ และพบว่ามีการจำหน่ายออนไลน์อยู่บ้างเล็กน้อย มีทั้งขายนับดอก และขายเป็นน้ำหนัก เช่น ดอกอัญชันสด 70 ดอก ราคา 50 บาท ดอกอัญชันสดปลอดสาร 23 ดอก ราคา 20 บาท ดอกอัญชันสด 100 กรัม ราคา 40 บาท เป็นต้น สำหรับตลาดรับซื้อทั่วไป ดอกอัญชันสดที่เกษตรกรขายได้ จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 60-100 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของดอก

ตลาดดอกอัญชันส่วนใหญ่ เป็นตลาดดอกแห้ง ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง สำหรับตลาดออนไลน์ของดอกอัญชันแห้งในปัจจุบัน จะมีสินค้าหลายลักษณะ เช่น ดอกอัญชันแห้ง ดอกอัญชันอบแห้ง ดอกอัญชันออร์แกนิกตากแห้ง ชาดอกอัญชัน ชาอัญชันเกรดพรีเมี่ยม และผงอัญชันสกัด เป็นต้น ราคาแตกต่างกันไปตามขนาดและชนิดของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีทั้งใส่ถุงพลาสติกธรรมดาไปจนถึงซอง หรือถุงฟอยล์ ตัวอย่าง เช่น

ผงอัญชันสกัด 100% 100 กรัม ราคา 135 บาท

ดอกอัญชันอบแห้ง 50 กรัม ราคา 59 บาท

ดอกอัญชันแห้ง 500 กรัม ราคา 130 บาท

ดอกอัญชันออร์แกนิกอบแห้ง 100 กรัม ราคา 108 บาท

ดอกอัญชันออร์แกนิคแห้ง เกรดพรีเมี่ยม 1 กิโลกรัม ราคา 410 บาท

ชาดอกอัญชัน 1 กิโลกรัม ราคา 669 บาท

สำหรับราคาที่เกษตรกรขายได้ ดอกอัญชันตากแห้งหรืออบแห้ง กิโลกรัมละ 300-500 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินค้า

สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2560 กระทรวงพพาณิชย์ พยายามผลักดันการส่งออกสินค้าสมุนไพรไทยตามนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ทั้งการใช้บริโภคแบบสด และการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลายเท่าตัว โดยสามารถทำเป็นเครื่องดื่มสำเร็จรูป อาหารเสริม เครื่องสำอาง และยา เช่น น้ำมันนวด น้ำมันหอมระเหย สบู่ แชมพู ครีมทาผิว ชาสมุนไพร เป็นต้น

แม้ตลาดต่างประเทศจะมีความต้องการสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรของไทยเพิ่มมากขึ้น แต่การส่งออกไปต่างประเทศไม่สามารถทำได้ทันที เพราะสินค้าที่ใช้บริโภค หรือสัมผัสกับผิวจะต้องผ่านการตรวจสอบรับรองและได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศก่อน ว่าไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาข้อมูลในเรื่องนี้ให้ดี และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบให้ถูกต้องด้วย

สำหรับ ดอกอัญชัน ในระยะนี้ได้รับความสนใจจากตลาดฮ่องกงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะวัยรุ่นฮ่องกงยอมรับว่า อัญชัน เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงเส้นผม ทำให้นอนหลับสบาย มีสีน้ำเงินธรรมชาติที่เข้มข้น และเปลี่ยนเป็นสีม่วงเมื่อผสมกับน้ำมะนาว เพื่อใช้เป็นเครื่องดื่มที่เรียกว่า Blue Magic Water และยังได้รับการยอมรับจากนักโภชนาการว่าเป็นสมุนไพรที่ช่วยในการหมุนเวียนโลหิต บำรุงสายตา ลดความอ้วน ลดการสะสมของไขมัน เพราะสารแอนโทไซยานินมากกว่าพืชชนิดอื่นๆ จึงทำให้ยิ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในขณะนั้น เปิดเผยว่า จากการสำรวจในเบื้องต้นพบว่า ในด้านการทำตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ตลาดเอเชีย โดยเฉพาะตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ทำตลาดได้ค่อนข้างง่ายกว่าตลาดยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือ ญี่ปุ่น เพราะกฎระเบียบยังไม่ยุ่งยาก และระยะทางใกล้กว่า ไม่เป็นภาระด้านการขนส่ง แต่ไม่ได้หมายความว่า ตลาดยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ไม่มีโอกาส ยังคงเป็นตลาดที่มีโอกาส หากผู้ประกอบการไทยปฏิบัติตามเงื่อนไขได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายดังกล่าวได้รับการสานต่อหรือไม่ ไม่มีข้อมูลยืนยัน ทราบแต่เพียงว่ามีผู้ประกอบการบางรายหาตลาดต่างประเทศเอง สำหรับดอกอัญชันแห้งบรรจุซองเป็นชาดอกอัญชัน ส่งขายที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น และในปี พ.ศ. 2562 มีสวนผักแห่งหนึ่งในประจวบคีรีขันธ์ปลูกอัญชันเก็บได้ทุกวัน 20% ของผลผลิตขายเป็นดอกสดในตลาดหัวหิน กิโลกรัมละ 400 บาท ที่เหลือ 80% นำมาอบแห้งด้วยตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลีย โดยขายในราคากิโลกรัมละ 4,000 บาท เพื่อนำไปทำน้ำดอกอัญชัน และนำไปบดชงเป็นชาดอกอัญชัน สำหรับร้านอาหารไทยในนครซิดนีย์ ซึ่งมีสาขาถึง 10 ร้าน และเป็นร้านของเจ้าของสวนนั้นเอง

ล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 กรมวิชาการเกษตร ได้ยื่นขอเปิดตลาดดอกอัญชันแห้งต่อกระทรวงเกษตรของประเทศอินโดนิเซีย โดยส่งข้อมูลทางวิชาการเพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของดองอัญชันแห้งของไทยให้กับหน่วยงานกักกันพืชของอินโดนีเซีย ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียมีหนังสือตอบกลับมาแล้วว่า ได้วิเคราะห์ความเสี่ยงของศัตรูพืชของดอกอัญชันแห้งของไทยเสร็จแล้ว และได้ร่างข้อกำหนดด้านสุขอนามัยพืชของดอกอัญชันแห้งที่จะส่งไปจำหน่ายที่อินโดนีเซียมาให้กรมวิชาการเกษตรทราบแล้ว ซึ่งกรมวิชาการเกษตรยอมรับข้อกำหนดดังกล่าว

ซึ่งหมายความว่า นับแต่นี้ ผู้ประกอบการของไทยสามารถส่งดอกอัญชันแห้งไปยังตลาดอินโดนีเซียได้ภายใต้เงื่อนไข จะต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชจากกรมวิชาการเกษตรแนบไปพร้อมกับสินค้า สินค้าต้องไม่มีการปนเปื้อนแมลงที่มีชีวิต ศัตรูพืชชนิดอื่นๆ วัชพืช ดิน ราก หรือวัสดุที่สามารถนำพาศัตรูพืชติดไปได้ ต้องผ่านการทำความสะอาดอบแห้งด้วยความร้อนในเตาอบ ที่อุณหภูมิ 50-60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 8-10 ชั่วโมง และบรรจุภัณฑ์ต้องแสดงฉลากรายละเอียดสินค้า เพื่อใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับได้

นับว่า อินโดนีเซีย เป็นตลาดส่งออกนำร่องอย่างเป็นทางการ สำหรับดอกอัญชันแห้งของไทย คาดว่าจะมีตลาดของประเทศอื่นๆ ตามมาในอีกไม่ช้า เกษตรกรหรือท่านที่สนใจอยากปลูกอัญชัน หรือท่านที่สนใจเป็นผู้รวบรวมผลผลิตดอกอัญชันจากเกษตรกรเพื่อทำดอกอัญชันแห้งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เมื่อทราบข้อมูลต่างๆ นี้แล้ว คงตัดสินใจได้ไม่ยาก

 

แหล่งข้อมูล

  1. ภญ.ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร. 2559. บันทึกของแผ่นดิน ๙ สมุนไพร ในสภาวะ โลกร้อน. มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี. 172 หน้า
  2. www.thaiagrinews.org/uncategoried/article_949 “ปลูกอัญชันเก็บดอกส่งออกออสเตรเลียขาย กก.ละ 4,000 บาท” เผยแพร่เมื่อ 11 เมษายน 2562
  3. แพรจารุ ไชวงษ์แก้ว. “ชาดอกอัญชัน สวยรวยได้” เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ เผยแพร่เมื่อ 12 ตุลาคม 2560
  4. http://millionare-academy.com/archives/1461 “รวยด้วยการขายอัญชันพร้อมวิธีปลูกอัญชัน” เผยแพร่เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2556
  5. www.svppijit.com/“อัญชันเทพรัตน์ไพลิน 63”
  6. blog.arda.or.th/butterfly-pea/หน้าสมุนไพร “ดอกอัญชัน เพชรสีน้ำเงินแห่งสมุนไพรไทย”
  7. http://www.am1386.com/home/1360 “เกษตรแนะนำปลูกอัญชัน” เผยแพร่เมื่อ 26 มีนาคม 2563
  8. http://www.thai-thaifood.com/th/อัญชัน “อัญชัน” เผยแพร่เมื่อ 1 ธันวาคม 2559
  9. http://mgronline.com/business/detail/9600000004914 “พาณิชย์ดันส่งออกสมุนไพรไทยรับกระแสผู้บริโภคหันมาหาวิถีธรรมชาติในการดูแลสุขภาพ” เผยแพร่เมื่อ 15 มกราคม 2560

 

ที่มา : น.ส.พ. กสิกร

 

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564