“สักแตกหน่อ” เติบโตดีกว่าการปลูกใหม่ หนึ่งในทางเลือก “ลดต้นทุน” กิจการสวนป่าสัก

“สัก” เป็นไม้เศรษฐกิจที่มีความสำคัญ นิยมปลูกในรูปแบบสวนป่ามากที่สุดชนิดหนึ่งของประเทศไทย สวนป่าสักแห่งแรกของประเทศไทยมีขึ้นที่จังหวัดแพร่ เริ่มปลูกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2449 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ไม้สักในประเทศและส่งออก ปัจจุบันมีการปลูกสักกันอย่างกว้างขวาง ในอดีต ภาครัฐเป็นหน่วยงานหลักที่ปลูกสัก ได้แก่ กรมป่าไม้ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ต่อมาได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปปลูกสร้างสวนป่าสักกันในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในรูปแบบ “สวนป่า” การปลูกผสมกับพืชเกษตร การปลูกหัวไร่ปลายนา และปลูกเป็นแนวขอบเขตพื้นที่  

“สัก” เป็นต้นไม้ที่มีศักยภาพในการแตกหน่อหลังจากตัด ความสามารถในการแตกหน่อจะดีมากหลังจากการตัดสักออกจากพื้นที่ทั้งหมดหรือการตัดหมด (clear cut) และการเติบโตของหน่อสักจะมีค่าสูงกว่าการแตกหน่อในสวนป่าที่ตัดขยายระยะ (thinning) ด้วยเช่นกัน เนื่องจากอาหารที่สะสมอยู่ในรากเดิม ความสามารถในการแตกหน่อจะแตกต่างกันตามอายุ สภาพแวดล้อม และฤดูกาลในการตัดฟัน

การสืบพันธุ์ด้วยการแตกหน่อ นอกจากจะทำให้สักโตเร็วแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายในเรื่อง ค่ากล้าไม้ การเตรียมพื้นที่ รวมถึงการกำจัดวัชพืชในระยะแรกอีกด้วย ลักษณะการเติบโตของสักที่แตกหน่อยังไม่มีการศึกษามากนักในประเทศไทย และในหลายพื้นที่ได้เริ่มใช้วิธีการนี้หลังการตัดหมด การศึกษาเรื่องการแตกหน่อของสักจะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเจ้าของสวนป่าในการดำรงไว้ ซึ่งสวนป่าไม้สักให้ได้ผลผลิตคุ้มค่ากับการลงทุน

คุณวรพรรณ หิมพานต์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ และคณะ ฝ่ายวิจัยการปลูกสร้างสวนป่า ส่วนวนวัฒนวิจัย สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ (2560) ได้ดำเนินโครงการวิจัย เทคนิคการเพิ่มผลผลิตสำหรับการปลูกสร้างสวนป่าไม้สัก และแผนงานการจัดการสวนป่าสักอย่างยั่งยืนเพื่อเกษตรกร โดยเน้นศึกษาวิจัยเรื่องการเติบโตของสักแตกหน่อ พบว่า “การแตกหน่อสัก” เป็นหนึ่งในทางเลือกลดต้นทุนธุรกิจสวนป่าสักให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพราะสักแตกหน่อมีอัตราการเติบโตดีกว่าการปลูกใหม่ ควรดูแลจัดการให้เหลือแค่หน่อเดียว หน่อสักที่เกิดจากตอหลังการตัดหมดจะเติบโตสูงกว่าหน่อสักที่เกิดจากตอหลังการตัดขยายระยะ

กรมป่าไม้ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยในสวนป่าสักที่มีการจัดการให้แตกหน่อ ทั้งในสวนป่าสักของเกษตรกร องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และบริษัทเอกชน เพื่อศึกษาการเติบโตของหน่อสักเปรียบเทียบสักที่ปลูกใหม่ เปรียบเทียบการเติบโตของสักในสวนป่าที่มีการจัดการแตกต่างกัน ได้แก่ การแตกหน่อจากตอหลังการตัดขยายระยะหรือตอที่ตัดหมด การจัดการให้เหลือ 1 หน่อ หรือ 2 หน่อ

ผลการศึกษาพบว่า หน่อสักจะมีการเติบโตดีกว่าการปลูกใหม่ โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดการให้แตกหน่อและปลูกใหม่ในพื้นที่เดียวกัน โดยความแตกต่างจะลดลงเมื่อสักอายุมากขึ้น ส่วนเมื่อเปรียบเทียบหน่อสักกับสักที่ปลูกใหม่ที่ดำเนินการคนละพื้นที่จะพบว่ามีความแตกต่างเฉพาะในด้านความสูงเท่านั้น

ด้านการดูแลจัดการควรให้เหลือเพียงหน่อเดียว เพราะจะให้ค่าการเติบโตที่สูงกว่าการเหลือ 2 หน่อ หน่อสักที่เกิดจากตอหลังการตัดหมดจะให้ค่าการเติบโตสูงกว่าหน่อสักที่เกิดจากตอหลังการตัดขยายระยะ เนื่องจากขนาดของตอมีผลต่อค่าการเติบโต การแตกหน่อสามารถลดค่าใช้จ่ายในการปลูกและการดูแลรักษาโดยเฉพาะในปีที่ 1-2

การสืบต่อพันธุ์ไม้สักโดยการแตกหน่อ เป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดการสวนป่าสักที่ทำให้ต้นสักสามารถเติบโตได้สูงกว่าการปลูกใหม่ สักที่แตกหน่อจะเติบโตได้ดีในกรณีที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับการปลูกใหม่เสริมในพื้นที่ ส่วนการแตกหน่อที่แยกพื้นที่ออกจากการปลูกใหม่ทั้งแปลงการเติบโตจะไม่แตกต่างกันมากนัก

การจัดการหน่อที่เกิดขึ้นโดยให้มีจำนวน 1 หน่อ จะมีการเติบโตที่ดีกว่าการให้มีจำนวน 2 หน่อ ซึ่งเมื่อสักโตมากขึ้น การมี 2 หน่อ นอกจากจะเติบโตน้อยกว่าแล้ว อาจทำให้รูปทรงของต้นสักไม่ดี เนื่องจากการแก่งแย่งแสงสว่างกัน หน่อสักที่เกิดหลังการตัดหมดจะมีการเติบโตดีกว่าหลังการตัดขยายระยะ เนื่องจากตอสักหลังการตัดหมดจะมีอายุมากกว่า มีขนาดตอที่โตกว่า และระบบรากได้มีการพัฒนาและสะสมอาหารไว้แล้ว โดยขนาดของตอจะมีผลต่อการเติบโตของสักทั้งด้านความโตและความสูง เมื่ออายุ 10 ปี สักที่แตกหน่อจะมีมวลชีวภาพและการเก็บกักคาร์บอนได้สูงกว่าสักที่ปลูกใหม่อีกด้วย แม้ว่าจะมีขนาดความโตและความสูงไม่แตกต่างกัน แต่จะมีส่วนรากที่แตกต่างกันเนื่องจากมีระบบรากจากตอเดิมอยู่ด้วย

การแตกหน่อจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเตรียมพื้นที่ การปลูก ค่ากล้าไม้และค่าปุ๋ย ในปีแรก และการเติบโตที่เร็วกว่าทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืชด้วย จากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงิน การแตกหน่อสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึงร้อยละ 60 ในขณะที่จากการดำเนินการโดยบริษัทเอกชน ค่าใช้จ่ายในปีที่ 1 ลดลงถึงร้อยละ 87 การแตกหน่อจึงเป็นแนวทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรในการลดต้นทุนการปลูก

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเพื่อจะให้มีการสืบต่อพันธุ์โดยการแตกหน่อ จะต้องพิจารณาถึงต้นเดิม หากต้นเดิมมีพันธุกรรมที่ไม่ดี มีรูปทรงและการเติบโตที่ไม่ดี การปลูกใหม่โดยการใช้กล้าจากสักจากแหล่งที่คัดเลือกพันธุ์ดีหรือกล้าที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จะให้ผลผลิตที่ดีกว่าและให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุนมากกว่า ซึ่งหลังจากรอบตัดฟันสักพันธุ์ดีแล้ว การสืบต่อพันธุ์โดยวิธีการแตกหน่อจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ควรแนะนำให้แก่เกษตรกรเพื่อลดต้นทุน ให้ผลผลิตที่ดี คุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังจะทำให้สวนป่าสักมีความยั่งยืนตลอดไป