เกษตรกรปราจีนฯ ทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชพื้นบ้าน ผักตามฤดูกาล สร้างรายได้กว่าปีละครึ่งล้าน

คุณสุนทร คมคาย รองประธานกลุ่มสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี อยู่บ้านเลขที่ 69 หมู่ที่ 4 ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เกษตรกรนักสู้ นักพัฒนา และเปรียบเสมือนผู้นำความยั่งยืนมาสู่ชุมชน ด้วยการลด ละ เลิก ใช้สารเคมี หันมาทำเกษตรอินทรีย์เพื่อความยั่งยืนจนประสบผลสำเร็จ สามารถสร้างรายได้จากสวนเกษตรอินทรีย์ได้มากกว่าปีละครึ่งล้าน

คุณสุนทร คมคาย รองประธานกลุ่มสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี

คุณสุนทร คมคาย เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำเกษตรว่า ตนเคยทำงานเป็นพนักงานขายปุ๋ยเคมีมาก่อน เมื่อถึงจุดอิ่มตัวกับการเป็นลูกจ้างก็ได้ลาออกจากงานกลับมาเปิดร้านขายเคมีภัณฑ์เป็นของตัวเอง และมีการทำเกษตรปลูกไม้ผลควบคู่กันไป โดยการนำความรู้เรื่องสารเคมีมาประยุกต์ใช้กับวิชาการเกษตรที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จนกระทั่งในปี 2533 เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อกำลังจะมีโรงงานไฟฟ้ามาตั้งในหมู่บ้าน ตนได้มีส่วนร่วมเป็นแกนนำคัดค้านการก่อสร้างโรงงาน และมีภาคประชาชนจากหลายกลุ่มเข้ามาช่วย จากวิกฤตครั้งนั้นกลายเป็นโอกาสจบเรื่องราวต่างๆ ไป แต่ยังเหลือมิตรภาพดีๆ จากการที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้อาชีพจากเพื่อนๆ หลายกลุ่มที่เข้ามาช่วยกัน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต ที่เข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนให้ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี แล้วหันกลับมาทำเกษตรอินทรีย์แทน ซึ่งในตอนแรกก็ยังไม่เชื่อว่าการทำเกษตรอินทรีย์จะทำได้จริง แต่เมื่อได้เปิดใจทดลองทำเกษตรอินทรีย์ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดไว้ และหลังจากนั้นก็ได้มีการต่อยอดพัฒนารูปแบบการทำมาเรื่อยๆ จนประสบผลสำเร็จ ได้มีการรวมกลุ่มเกิดขึ้น

ร้านจำหน่ายผลผลิตบ้านเขาไม้แก้ว

ในนามกลุ่มสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี จัดตั้งขึ้นเมื่อต้นปี 2562 สถานที่ทำการอยู่ที่ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรที่ทำการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์จากหลากหลายตำบลในจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อร่วมกันขยายพื้นที่และพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ได้รับการรับรองมาตรฐานตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับสากล เช่น PGS, organicthailand, IFOAM, EU, CANADA มีผลผลิตหลักคือ ข้าว พืชผัก ผลไม้ สมุนไพรและผลิตภัณฑ์แปรรูปด้านอาหาร ปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 200 ราย ในแต่ละปีสามารถสร้างเงินเข้ากลุ่มได้ปีละ 2 ล้านกว่าบาท นับเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืนมากๆ

 

ลด ละ เลิก สารเคมี
หันทำเกษตรอินทรีย์
ชีวิตสดใส มีรายได้ที่ยั่งยืน

เจ้าของบอกว่า ตนมีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ประมาณ 60 ไร่ มีการจัดสรรพื้นที่ปลูกแบบเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชไร่ พืชสวน พืชสมุนไพรพื้นบ้าน เลี้ยงสัตว์ โดยมีพืชที่สร้างรายได้หลักอยู่หลายชนิด ทั้งในส่วนของพืชผักตามฤดูกาล และพืชผักพื้นบ้าน เช่น ผักกูด ผักปลัง ที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพขณะนี้ และนอกเหนือจากประโยชน์ที่มีมากมายแล้ว ด้วยเหตุผลส่วนตัวนั้นมีความต้องการที่จะผลักดันและฟื้นฟูภูมิปัญญาการกิน การมีชีวิตที่ผูกพันกับทรัพยากรท้องถิ่น จึงอยากส่งเสริมเรื่องของการปลูกพืชพื้นบ้านให้มากขึ้น และมองเห็นว่าผักพื้นบ้านเป็นผักที่มีพลังที่สุด ชาวบ้านสามารถเข้าถึงเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น จึงเป็นการเริ่มต้นการทำเกษตรอินทรีย์ที่ดีที่สุด

“ผักปลัง” พืชพื้นบ้านมากประโยชน์

“ผักปลัง ผักเก่าแก่ที่มีมาแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันเริ่มมีการแพร่หลายเป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรักสุขภาพ เนื่องจากผักปลังมีสรรพคุณเป็นได้ทั้งอาหารและยา ในตำรายาไทย

ดอก ใช้ทาแก้กลากเกลื้อน แก้โรคเรื้อน ดับพิษฝีดาษ คั้นเอาน้ำทาแก้หัวนมแตกเจ็บ

ต้น แก้อึดอัดแน่นท้อง ระบายท้อง แก้อักเสบบวม ต้มดื่มแก้ไส้ติ่งอักเสบ

ราก แก้รังแค แก้โรคผิวหนัง แก้ท้องผูก แก้พรรดึก ขับปัสสาวะ ใช้ทาถูนวดให้ร้อน เป็นผักที่มีเมือกมาก กินแล้วช่วยระบาย ปลูกง่าย ต้นทุนต่ำ

ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ “เขวี้ยงไปตรงไหน ก็ขึ้นตรงนั้น” เปรียบให้เห็นถึงความเป็นพืชที่ปลูกง่ายมากๆ นั่นเอง”

 

ขั้นตอนการปลูก

วิธีการขยายพันธุ์ …ผักปลัง สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี ดังนี้

  1. การเพาะเมล็ด …เริ่มจากการเก็บผลแก่ตามธรรมชาติ ผลเมื่อแก่เต็มที่แล้วจะมีสีม่วงเข้มเป็นทรงกลม ข้างในมีจำนวน 1 เมล็ด ต่อผล นำมาล้างน้ำตากแดดจนแห้ง ผสมดินใช้ปุ๋ยคอกเก่า แกลบดำ ผสมแล้วกรอกลงไปในถาดเพาะ จากนั้นนำเมล็ดผักปลังที่เตรียมไว้หยอดลงไปในถาดเพาะ ฝังกลบเมล็ดประมาณครึ่งเซนติเมตร แล้วรดน้ำ พอต้นเริ่มมีใบขึ้นสัก 2 ใบ ก็สามารถย้ายไปปลูกในกระถางที่ใหญ่ขึ้น หรือจะปลูกลงดินก็ได้
  2. การปักชำ …จะเลือกเถาที่แก่มาชำ เพราะจะเจริญเติบโตได้ไวกว่าการใช้เถาอ่อน จากนั้นเตรียมการผสมดิน เลือกตัดเถาที่มี 2-3 ข้อ ตัดเป็นปากฉลาม ตัดใบออกให้เหลือครึ่งหนึ่ง หรือจะตัดออกทั้งหมดเลยก็ได้ เพื่อลดการคายน้ำ แล้วปักลงไปในดินที่เตรียมเอาไว้

วิธีการปลูกลงดิน …ผักปลัง เป็นพืชอวบน้ำ ชอบความชุ่มชื้น ชอบดินโปร่ง เหมาะกับปลูกในดินร่วนผสมปุ๋ยคอก เตรียมดินโดยการไถพรวนผสมปุ๋ยคอกเก่า แล้วคลุมด้วยฟางเพื่อกักเก็บความชื้นในดิน จากนั้นนำกล้าที่เตรียมไว้มาลงแปลงปลูก ในระยะห่าง 30×30 เซนติเมตร

กำลังออกดอก

วิธีการดูแลรักษา

การให้น้ำ …การดูแลรักษาผักปลังไม่ต้องมีอะไรมาก เพราะพื้นฐานเป็นพืชที่ปลูกง่ายอยู่แล้ว เพียงมีระบบน้ำให้สักหน่อยในช่วงที่แล้งหรืออากาศหนาวเกินไป ถ้าปล่อยตามระบบธรรมชาติต้นจะออกดอกติดเมล็ด ต้นจะไม่ค่อยงาม  โดยที่สวนจะให้ระบบน้ำมินิสปริงเกลอร์เปิดรดทุกเย็น

ปุ๋ย …ใส่ปุ๋ยหมักธรรมดา ผักปลังเป็นผักกินยอด กินใบ ก็จะต้องการธาตุไนโตรเจนที่สูงหน่อย ปุ๋ยที่ใส่ทางดินเป็นปุ๋ยหมัก ในอัตราส่วนดังนี้

  1. ขี้ไก่ 3 ส่วน
  2. ขี้หมู 1 ส่วน
  3. แกลบ 3 ส่วน
  4. แกลบดำ 1 ส่วน
  5. น้ำหมักรกหมู ปริมาณ 1-2 ลิตร ผสมน้ำแล้วราดลงไปในกองปุ๋ย
  6. พด.1 ในอัตรา 1 ส่วน 3 ของซอง เทผสมผคลุกเคล้าลงไปในกองปุ๋ย 7 วัน กลับกองครั้ง หมักทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน สามารถนำมาใช้ได้

การเก็บเกี่ยวผลผลิต …เมื่อผักปลังมีลำต้นยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร จะเริ่มเด็ดยอด โดยเวลาที่เหมาะสมคือ ในตอนเช้ามืด เพราะจะทำให้ได้ผักปลังที่อวบและสด ผักปลังมีคุณสมบัติคือ เมื่อเด็ดยอดจะทำให้แตกยอดมาก เมื่อเก็บแล้วนำมามัดเป็นกำ สามารถนำไปขายให้กับผู้บริโภคต่อไป

ผลผลิตต่อวัน …พื้นที่ปลูกผักปลังครึ่งงาน เก็บผลผลิตได้วันละประมาณ 10-15 กิโลกรัม ถือเป็นปริมาณที่น่าพอใจ

ราคา …แล้วแต่รูปแบบการขาย ถ้าแพ็กขายเอง จะขายในราคา ขีดละ 15 บาท แต่ถ้าเป็นราคาส่ง ราคากิโลกรัมละ 40 บาท แต่กว่าจะไปถึงผู้บริโภค ราคาผักปลังจะเป็นผักที่มีค่ามาก ราคากิโลกรัมละเกือบร้อยบาท ถือเป็นพืชพื้นบ้านที่ไม่ควรมองข้าม

ผักปลังเอามาทำอะไรได้บ้าง …อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ผักปลัง เป็นพืชมากประโยชน์ เป็นได้ทั้งอาหารและยา ในด้านการประกอบอาหาร จะต้ม ทอด แกง ผัด สามารถทำได้ทั้งนั้น ยกตัวอย่าง แกงอ่อมใส่หอยขมใส่ผักปลัง ผักปลังจะช่วยให้น้ำแกงมีความข้นเหนียวขึ้น หรือจะเป็นแกงส้มผักปลังก็อร่อยไปอีกแบบ เรียกได้ว่าเป็นพืชอาหารและยาจริงๆ

ต้นทุนการผลิตสำหรับมือใหม่ …ต้นทุนไม่ถึง 10 บาท ต่อกิโลกรัม การเพาะขยายพันธุ์ง่าย บางคนเห็นแล้วอยากปลูก แต่หาซื้อพันธุ์ไม่ได้ จะบอกว่าไม่ต้องหาซื้อให้เสียเงิน เกษตรกรสามารถเพาะเมล็ดได้เอง ยกตัวอย่าง ที่สวนที่เริ่มปลูกครั้งแรกมีเมล็ดพันธุ์เพียง 20 เมล็ด แล้วนำมาปลูกขยายพันธุ์ปักชำมาเรื่อยๆ ส่วนการดูแลเพียงหมั่นรดน้ำเป็นประจำ

ตลาดผักปลังมีมากมาย …จริงๆ แล้วผักพื้นบ้านทุกตัวมีความน่าสนใจทุกชนิด วันนี้กระแสเกษตรอินทรีย์กำลังมาแรง ผู้บริโภคต้องการอาหารปลอดภัยกันหมด ถือเป็นโอกาสสำหรับเกษตรกรที่กำลังจะเริ่มปรับเปลี่ยนหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพราะตลาดคนรักสุขภาพมีแต่จะขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาล โรงแรม และร้านขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์

8 มีความสุขกับผลผลิตที่ได้คุณภาพ

สร้างรายได้จากเกษตรอินทรีย์
กว่าปีละครึ่งล้านทำได้ยังไง

คุณสุนทร บอกว่า พูดแล้วจะหาว่าโม้ การทำเกษตรอินทรีย์ที่หลายคนคิดว่าเป็นงานเกษตรของรายย่อย สามารถสร้างรายได้แค่เลี้ยงตัวเองได้ไปวันๆ แต่ใครจะรู้ว่าจริงๆ แล้ว เกษตรอินทรีย์ถ้าทำอย่างเป็นระบบและมีการวางแผนที่ดีสามารถสร้างเงินให้ได้เป็นกอบเป็นกำ ยกตัวอย่าง ที่สวนมีรายได้จากการทำเกษตรกว่าปีละครึ่งล้าน หรือถ้าปีไหนพืชผลราคาดีสามารถสร้างเงินได้ถึงหลักล้านต่อปีเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้ทุกคนมองโลกสวยนัก เพราะภาคการเกษตรไม่มีอะไรแน่นอน บางปีฝน ฟ้า อากาศดี ก็ถือเป็นกำไรของเกษตรกร บางปีฟ้าฝนไม่เข้าข้างก็ต้องทำใจ และที่นอกเหนือจากเรื่องของรายได้แล้ว อยากให้ทุกคนมองถึงโอกาสทางการตลาดและข้อได้เปรียบระหว่างสินค้าอินทรีย์กับเคมี การทำเกษตรอินทรีย์มันแน่นหนาไปข้างหน้า ทุกอย่างมั่นคงไปเรื่อยๆ ชีวิตของเราก็ปลอดภัยมากขึ้น มีอาหารปลอดภัยไว้บริโภคในครอบครัว รวมไปถึงคนในชุมชนได้มีโอกาสบริโภคอาหารปลอดภัยมากขึ้น สภาพแวดล้อมกลับมาอุดมสมบูรณ์ ในขณะที่คนทำเคมีที่แม้แต่ตัวเองยังไม่กล้าพ่นสารเคมีด้วยตนเองเลย

แปลงผักอินทรีย์สวยงามมาก

ฝากถึงเกษตรกรรุ่นใหม่

“อยากจะชักชวนคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในเมือง โดยที่ทิ้งครอบครัวที่เป็นเกษตรกรไว้ด้วยเหตุผลที่สิ้นหวังกับระบบเกษตรของไทย อยากให้ปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ กลับมาอยู่ที่บ้าน แล้วมาพัฒนาจากฐานอาชีพตัวเอง ไม่ต้องปรับอาชีพอะไร แต่ให้พัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น พยายามใช้ข้อได้เปรียบของคนรุ่นใหม่ในการเข้าถึงเทคโนโลยีค่อยๆ ปรับเปลี่ยน เริ่มจากครอบครัว เมื่อครอบครัวมีความมั่นคงแล้ว ก็ให้เริ่มกระจายความรู้สู่ชุมชน ทำให้ภาคเกษตรกรรมสามารถพึ่งพาตนเองให้ได้” คุณสุนทร กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือปรึกษาวิธีการทำเกษตรอินทรีย์ ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 089-895-7978

ออกงานกับหน่วยงานราชการ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564