สูตรเด็ด… ช่วยให้มะม่วงพันธุ์เขียวเสวยติดผลดก ทำไม่ยากอย่างที่คิด

“ มะม่วงพันธุ์เขียวเสวย ”  หนึ่งในไม้ผลรอบบ้าน ที่คนไทยนิยมปลูกเพื่อรับประทานผลสด เพราะเป็นมะม่วงที่มีรสอร่อย เนื้อกรอบ รสชาติหวาน กลมกล่อม แต่บางรายปลูกมะม่วงเขียวเสวยมา 5-6 ปีแล้ว ดูแลให้ปุ๋ยให้น้ำก็แล้ว แต่กลับติดผลน้อยมากหรือแทบไม่ติดผลเลย  เนื่องจากการพัฒนาของดอกเพศเมียไม่มากพอ หากต้องการให้มะม่วงติดผลดี จำเป็นต้องช่วยผสมเกสรให้ด้วย

ก่อนอื่น ต้องเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของ “ มะม่วงพันธุ์เขียวเสวย ” กันสักหน่อย  ต้นมะม่วงเขียวเสวยที่ให้ผลแล้วจะมีทรงพุ่มโปร่ง ใบเรียวยาวปลายแหลม ผิวใบเรียบ สีเขียวเข้ม ชอบที่โล่งแจ้ง มักติดผลปีเว้นปี ผลกลม ยาวเรียว ปลายก้นงอน มีน้ำหนักผล เฉลี่ย 335 กรัม ความหวาน ประมาณ 19 องศาบริกซ์ มะม่วงเขียวเสวยมีการเจริญเติบโตทางกิ่งก้านช้ากว่ามะม่วงพันธุ์อื่นๆ และเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคยางไหล เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อมีอายุ 105 วัน หลังจากดอกบาน

หากต้องการให้มะม่วงพันธุ์เขียวเสวยติดผลดก ต้องเริ่มจากบำรุงรักษาต้นให้เติบโตสมบูรณ์เสียก่อน ตัดแต่งกิ่งด้วยวิธีตัดแต่งรอบทรงพุ่ม จากปลายยอดลึกเข้าไปในทรงพุ่ม 50-100 เซนติเมตร ตัดกิ่งกระโดง และกิ่งแก่หรือมีโรคแมลงทำลายทิ้งไป ให้ทรงพุ่มโปร่ง ลมพัดผ่านและแสงส่องเข้าในทรงพุ่มได้

และบำรุงต้นให้สมบูรณ์โดยการให้น้ำและใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 หรือ 30-10-10 อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 10-20 กิโลกรัม ต่อต้น หว่านให้ทั่วทรงพุ่มและรดน้ำตาม ให้ปุ๋ยอีกครั้งเมื่อมะม่วงแตกใบชุดที่ 2 ในอัตราเดียวกัน ก่อนมะม่วงออกดอก 2-3 เดือน เป็นระยะสร้างตาดอก ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 8-24-24 อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น และเพิ่มปริมาณปุ๋ยขึ้นเมื่อต้นมะม่วงมีอายุมากขึ้น ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 เดือน ใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 หรือ 14-14-21 อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อไร่ หว่านรอบทรงพุ่มและรดน้ำตาม ทั้งนี้ก่อนใส่ปุ๋ยควรกำจัดวัชพืชรอบโคนต้นให้สะอาด ป้องกันการแย่งปุ๋ยที่ใส่ลงดิน ระยะก่อนออกดอกควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 3 เมตร ควรให้น้ำ 22 ลิตร ต่อต้น ต่อวัน หากมีฝนตกก็ให้เว้นไป และต้องงดการให้น้ำก่อนออกดอก 2 เดือน เพื่อกระตุ้นให้ต้นมะม่วงสร้างตาดอก มะม่วงเริ่มแทงช่อแล้วจึงเพิ่มการให้น้ำมากขึ้น หมั่นกำจัดวัชพืช และโรคแมลงศัตรูอย่างสม่ำเสมอ

เคล็ดลับ “ การช่วยผสมเกสร” ของเกษตรกรชาวสวนจังหวัดนครปฐมที่ใช้แล้วได้ผลดี ที่อยากนำมาบอกต่อ คือ  เมื่อต้นมะม่วงออกดอก ในเวลายามเช้า เกษตรกรจะปีนขึ้นบนต้นมะม่วงไปเขย่าต้นและกิ่งเบาๆ เพื่อให้ละอองเกสรตัวผู้ปลิวฟุ้งกระจายจากส่วนยอดไปทั่วทรงพุ่ม เปิดโอกาสให้มีการผสมเกสรมากขึ้น ช่วงนี้ควรลดการใช้สารเคมีในสวนลง เพื่อเพิ่มจำนวนแมลงภู่ ผึ้ง มิ้ม ชันโรง ให้บินมากินน้ำหวานและช่วยผสมเกสรไปพร้อมกัน

“ แมลงวันหัวเขียว ”เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่ช่วยผสมเกสรได้ อาศัยเทคนิคเพิ่มปริมาณแมลงวันหัวเขียว โดยนำเศษเนื้อหรือเศษปลาที่มีกลิ่นคาวจัดมาแขวนไว้ใต้ทรงพุ่มของต้นมะม่วง ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงแมลงวันหัวเขียวจะยกขบวนมาตอมเศษเนื้อและเศษปลาดังกล่าว แมลงวันตอมจนพอใจแล้วจะบินไปกินน้ำหวานที่เกสรเพศเมีย จากดอกหนึ่งไปยังอีกดอกหนึ่ง เป็นการช่วยผสมเกสรให้ดอกมะม่วงเป็นอย่างดี น้ำหวานจากดอกมะม่วง หรือไม้ดอกชนิดต่างๆ  จะทำหน้าที่ช่วยพัฒนารังไข่ของแมลงทุกชนิดให้แข็งแรงสมบูรณ์ ทำให้การผสมพันธุ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ช่วงที่ต้นมะม่วงติดดอก ต้องระวัง “โรคแอนแทรกโนส ”เป็นกรณีพิเศษ  โรคแอนแทรกโนส เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราชนิดหนึ่ง หากเข้าทำลายในระยะออกดอก จะมีจุดสีแดงเกิดขึ้นที่ก้านดอกก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ทำให้ดอกหรือผลอ่อนฝ่อและร่วง ช่วงการระบาดมักเกิดขึ้นในฤดูฝนที่มีความชื้นสูง

วิธีป้องกัน “โรคแอนแทรกโนส ” คือ ต้องตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ลมพัดผ่าน แสงแดดส่องเข้าไปในทรงพุ่มได้ การระบาดรุนแรงให้ใช้แมนโคเซบ 80 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 40-50 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่น 2 ครั้ง ทุกสัปดาห์ และ งดใช้สารเคมีก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 7 วัน หรือใช้เบโนมิล 50 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 6-12 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่น 2 ครั้ง ทุกสัปดาห์ และต้องงดการใช้สารเคมีก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 14 วัน ส่วนแมลงที่ทำให้ผลมะม่วงร่วง ได้แก่ เพลี้ยจักจั่นมะม่วง แมลงชนิดนี้มีขนาดลำตัวยาว 1-2 มิลลิเมตร อาศัยอยู่บนต้นมะม่วงเป็นกลุ่ม ที่โคนก้านช่อดอกและก้านใบ ดูดกินน้ำเลี้ยงที่ก้านช่อดอก ทำให้ติดผลน้อย หรือไม่ติดผลเลยก็พบได้ ระบาดตั้งแต่ระยะแทงช่อจนกระทั่งติดผล มูลที่เพลี้ยขับถ่ายออกมามีรสหวาน กลายเป็นแหล่งอาหารของเชื้อราที่ปลิวอยู่ในอากาศ เกิดมีราสีดำขึ้นปกคลุมผิวใบ ทำให้ประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงด้อยลง วิธีลดความรุนแรงของราดำให้ฉีดพ่นน้ำสะอาดล้างในยามเช้า นับว่าได้ผลดี

หากต้นมะม่วงโชคร้าย เจอ “เพลี้ยจักจั่นมะม่วง” ควรแก้ไขโดยใช้วิธีสุมไฟรมควันไล่ วิธีนี้ต้องทำบ่อยๆ หากเจอการระบาดรุนแรง ควรใช้แลมป์ดาไซฮาโลทริน 2.5 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา 10 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นให้ทั่ว 1-2 ครั้ง ทุกสัปดาห์ การระบาดของเพลี้ยจักจั่นจะหมดไปและให้งดใช้สารเคมีก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อยเป็นเวลา 8 วัน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

ดร.สุขุม อัศน์เวศ อดีตคณบดี คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แนะนำเคล็ดลับ การเก็บผลมะม่วงให้มีรสหวานแหลมและไม่เฝื่อน โดยใช้กรรไกร ตัดขั้วให้มีความยาว 5-10 เซนติเมตร ป้องกันยางไหลเปื้อนผลมะม่วง อย่าให้ผลมีรอยตำหนิ นำผลวางลงในตะกร้าที่มีวัสดุรองพื้น รีบนำเข้าโรงเรือนที่มีร่มเงา จากนั้นตัดขั้วผลให้เหลือความยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร นำไปวางคว่ำลงบนตระกร้าเพื่อให้ยางไหลออกจากผลจนหมดใช้เวลาประมาณ 30 นาที หลังยางแห้งแล้วให้นำผลมะม่วงไปล้างน้ำให้สะอาด นำขึ้นผึ่งลมจนแห้ง ผลมะม่วงที่ได้จะมีรสหวานแหลม ทั้งชนิดรับประทานผลสดและชนิดรับประทานผลสุก ใครชิมรสชาติแล้วต้องติดใจทุกราย