ดาวรุ่งแห่งปี

สวัสดีปีใหม่ครับท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกท่าน คงยังไม่ช้าเกินไปสำหรับการกล่าวคำนี้นะครับ ศักราชเปลี่ยนไปแต่หัวใจยังดวงเดิม ชีวิตของคนที่รักในอาชีพเกษตรยังเดินหน้าต่อไป อย่าลืมช่วยกันนะครับ ดูแลตัวเองและคนรอบข้าง โควิด-19 ยังวนเวียนอยู่ไม่ห่างเราเท่าใดนัก สวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ กินร้อน ช้อนเราเอง และไม่ไปในพื้นที่ๆ มีคนอยู่รวมกันมากมาย ที่สำคัญ โรคนี้ยังคงอยู่น่าจะอีกนาน บางอาชีพอาจต้องยุติลงไป บางคนกลายเป็นคนว่างงาน และหลายๆ คนไม่รู้จะทำอะไร

ในแต่ละช่วงที่ผมต้องเดินทางไปหาพี่น้องเกษตรกรนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมหมั่นสังเกตก็คือ การมาถึงของพืชดาวรุ่งที่ดูแล้วมีอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มไม้ผลที่เกษตรกรหัวก้าวหน้าหลายๆ ท่านรวมกลุ่มกันปลูกและจำหน่าย ในเบื้องต้นก็เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม และค่อยขยายตัวออกไปสู่สังคมรอบข้าง บางอย่างอาจดูเป็นไม้กระแส แต่บางอย่างดูแล้วน่าจะมีอนาคตที่ดีแน่นอน ซึ่งวันนี้ผมจะลองนำผลไม้หลายๆ ชนิดมาวิเคราะห์ให้ท่านได้ลองพิจารณา ออกตัวว่าอย่าเพิ่งเชื่อผม ให้พินิจพิเคราะห์ว่าเป็นไปได้ไหม โดยผมจะเรียงลำดับตามสิ่งที่ผมนึกได้นะครับ อาจไม่ครอบคลุมทั้งหมด อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่ถือว่าเรามาร่วมกันพิจารณาครับ

ฝรั่งหงเป่าสือไส้แดงที่แสนอร่อย

ฝรั่งหงเป่าสือ
นี่คือหัวหมู่ทะลวงฟันที่เริ่มนำมาปลูกในเมืองไทยได้ 2-3 ปีแล้ว แม่พันธุ์นำเข้ามาจากไต้หวัน เป็นฝรั่งไส้แดง ขนาดผลประมาณ 200-300 กรัม เมื่อห่อผิวผลจะสวยงาม แก่จัดผิวออกระเรื่อแดง มีความหอม กรอบ หวานอมเปรี้ยว ครบรสมากกว่าฝรั่งสายพันธุ์อื่นที่ผมเคยชิมมา ราคากิ่ง เมื่อแรกจำหน่ายจะสูงเกินกว่ากิ่งละ 1,000 บาท แต่ปัจจุบันก็ลดลงถึง 150-250 บาท

เยี่ยมแปลงปลูกฝรั่งหงเป่าสือ

การขยายพันธุ์ก็มีทั้งตอนกิ่งและทาบกิ่ง ซึ่งความแตกต่างก็แล้วแต่คนชอบจะปลูกแบบไหน ปัจจุบัน ราคาผลผลิตจำหน่ายอยู่ที่ 100-150 บาท/กิโลกรัม ที่สำคัญ ยังไม่มีจำหน่ายแพร่หลายมากนัก เพราะแต่ละสวนยังทำกิ่งจำหน่ายได้ไม่ทันกับยอดจองเลย ในปีนี้ผมเชื่อว่าผลผลิตจะมีออกมาสู่ผู้บริโภคมากขึ้น ไม่แน่นะครับ อาจเป็นพันธุ์ฝรั่งที่คนไทยชอบกินมากที่สุดก็ได้ ยิ่งนำผลแก่จัดหรือสุกมาทำน้ำฝรั่งยิ่งอร่อย และสีสวยงามมาก

ขนาดผล สีสัน และเมล็ดนิ่ม

ทับทิมอินเดียบังวะ
จากข้อมูลทราบว่า ประเทศไทยนำเข้าผลทับทิมปีละหลายร้อยล้านบาท นั่นบอกให้เราทราบว่ามีตลาด มีผู้บริโภครออยู่แน่นอน และส่วนมากคนชอบรับประทานทับทิมเมล็ดนิ่ม ผู้ค้าไทยนำเข้ามาจากหลายที่ ทั้งอินเดีย สเปน ตูนีเซีย จีน กระทั่งลาว

แต่ในช่วงที่ผ่านมา มีเกษตรกรไทยกลุ่มหนึ่งร่วมกันปลูกทับทิมอินเดียสายพันธุ์บังวะ หรือ บังวา ด้วยเป้าหมายจะเป็นกลุ่มผู้ปลูกทับทิมเพื่อจำหน่ายผลทดแทนการนำเข้าต่อไป จากการที่ผมได้ชิมแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับผลนำเข้า บอกเลยว่ารสชาติไม่แตกต่าง

แปลงปลูก ระยะ 3×4 เมตร
ดอกทับทิมอินเดียพันธุ์บังวะ

ด้วยสภาพดิน อากาศไม่ได้แตกต่างกับอินเดียนัก ทำให้ทับทิมให้ผลผลิตที่ดกและรสชาติอร่อย ที่สำคัญ เป็นพันธุ์แท้ที่นำเข้ามาแบบเพาะเนื้อเยื่อ ขณะนี้เท่าที่รวบรวมรายละเอียดจากกลุ่มผู้ผลิต เราน่าจะปลูกกันไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่ แล้ว ปลายปีนี้อาจมีผลผลิตออกมาสู่ตลาดให้ได้ชิมกันต่อไป ราคาไม่เบานะครับ ซื้อหน้าสวน กิโลกรัมละ 150 บาทเชียวนะ แต่ผลผลิตยังมีไม่พอจำหน่าย เพราะแค่ขายออนไลน์ในกลุ่มก็ไม่พอแล้ว

ผลพุทราน้ำอ้อย ดกเป็นพวง

พุทราน้ำอ้อย

อีกหนึ่งผลไม้สายพันธุ์ไต้หวัน ที่นำมาปลูกในเมืองไทยแล้วได้ผลผลิตที่ดกและรสชาติดีไม่แตกต่างจากที่เดิม ผลขนาดใหญ่ ประมาณ 6-8 ผล/กิโลกรัม มีความกรอบ รสหวาน กลิ่นหอม เกษตรกรนำมาปลูกในแปลงแบบกางมุ้ง ทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัยเพราะไม่ได้ใช้ยาฆ่า หรือไล่แมลง ไม่เปลืองแรงงานห่อผล แต่ต้นทุนเมื่อแรกเริ่มจะสูงกว่าปลูกแบบอื่น

แพ็กส่งลูกค้าอย่างดี

ที่สำคัญ ผลผลิตจะออกในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์นี้เท่านั้น ผมเองได้ชิมทั้งผลที่นำเข้ามาจากไต้หวันและที่ปลูกในเมืองไทยแล้ว เชื่อมั่นในรสชาติ และยังเชื่อว่าต่อไปจะทำผลให้โตสมบูรณ์มากกว่านี้ได้ ราคาหน้าสวนตอนนี้เหรอครับ 100-150 บาท/กิโลกรัมเชียวนะ

ความดกของเสาวรสหม่านเทียนซิน

เสาวสหวาน
ขณะนี้วงการเสาวรสมีหลากหลายสายพันธุ์มากที่มีมาปลูกในเมืองไทย ทั้งไต้หวัน ฮาวาย บรูไน ด้วยความที่ใช้เวลาเพียง 6 เดือน ตั้งแต่เริ่มปลูกก็จะเริ่มติดดอกออกผล ทำให้เกษตรกรไม่ต้องรอนาน ทำให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เกษตรกรหันมาปลูกกันไม่น้อย เชื่อว่าภายในปีนี้คงจะมีผลผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น

ผลของเสาวรส สีสวยมาก

ที่ผมเคยชิมมาทุกสายพันธุ์เทใจไปให้สายไต้หวันมากกว่า ชื่อเขาคือ หม่านเทียนซิน เด็ดผลมาสดๆ ก็ผ่ารับประทานได้เลย รสหวานเจอเปรี้ยวนิดๆ แต่กลิ่นหอมมาก ส่วนสายพันธุ์บรูไน จะมีรสหวานซ่อนเปรี้ยวแรงกว่า เปลือกหนากว่า ตรงนี้ก็มองว่าเป็นข้อดี เหมาะสำหรับการขนส่ง ส่วนสายพันธุ์ฮาวาย เนื่องจากผลผลิตยังไม่เยอะมากนัก จึงเพียงแค่ชิมแต่ไม่ได้วัดผลในเรื่องความดก แต่บอกเลยว่ารสหวานแน่นอน

ผลคีเปล

คีเปล
อาจดูแปลกแตกต่างกว่าผลไม้อื่นๆ แต่คีเปล สำหรับในปีที่ผ่านมาและย่างมาสู่ปีนี้ มีลูกค้าซื้อต้นไปปลูกกันมากขึ้น เชื่อว่าอีกไม่เกิน 5 ปี นับจากนี้ ไทยเราจะมีผลคีเปลออกมามากขึ้น ข้อดีของคีเปล ที่เมื่อได้มีศึกษาจะเห็นหลายๆ อย่าง เช่น ไม่มีแมลงรบกวน ใบคีเปลจะสวย ไม่มีรูพรุน หรือรอยกัดจากแมลงใดๆ ที่สำคัญ

ใบแรกผลิของคีเปล
ดอกคีเปล

เมื่อคีเปลผลัดใบ แล้วใบใหม่แตกออกมาจะเป็นสีชมพูทั้งต้นสวยงามมาก ในเมืองไทยตอนนี้เริ่มติดผลแล้ว และปีนี้ทำท่าจะดกไม่น้อยเลย บางท่านอาจไม่ทราบ แต่ผลสุกของคีเปลเมื่อรับประทานลงไปแล้ว จะทำให้เหงื่อหรือกลิ่นตัวมีความหอม รสชาติของผลจะมีรสหวาน มีกลิ่นหอม ส่วนเรื่องราคายังคงแพงมาก เพราะผลผลิตที่มียังน้อยมาก บางส่วนอาจนำเข้าด้วยซ้ำ แต่เป็นอีกหนึ่งไม้ผลหรือไม้ประดับที่น่าปลูกและมาแรงในช่วงโควิด-19 นี้แน่นอน

ยังมีดาวรุ่งอีกหลายชนิดหลากสายพันธุ์ แต่ที่ผมคัดเด่นๆ มาให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณา อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่ผมเชื่อว่าที่ผมคัดมานี้จะเป็นดาวรุ่งที่มีอนาคตสำหรับเกษตรกรแน่นอน หากท่านใดสนใจ หรืออยากทราบรายละเอียดก็โทร.มาสอบถามได้ครับ (099) 254-6542 ยินดีให้คำปรึกษา และแนะนำสวนที่มีผลผลิตให้ได้ทราบกัน สวัสดีครับ