ผักดาดฟ้าบนตึกแถว คนเมืองปลูกตามได้ไม่ยาก

วิถีคนเมือง เป็นวิถีชีวิตที่ต้องใช้เวลาไปกับการเดินทางและการทำงานเกือบ 12 ชั่วโมง ซึ่งทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวและพักผ่อนค่อนข้างน้อย เรื่องทำอาหารกินในบ้านค่อนข้างยาก ถึงแม้จะปรุงอาหารเองก็ต้องซื้อผักจากตลาด ซึ่งหมายถึงผักที่ใช้สารเคมี ยิ่งผักที่มาจากต่างประเทศยิ่งแล้วใหญ่ ผักเหล่านี้ผ่านการขนส่งมาทางรถยนต์มีระยะทางหลายพันกิโลเมตรกว่าจะมาถึงเมืองไทย แต่ยังคงสดอยู่ ไม่รู้ว่าราดสารเคมีมามากเท่าไร ปัจจุบันเราบริโภคผักหลายอย่างจากต่างประเทศ

การปลูกผักกินเองเป็นความฝันสำหรับคนในเมืองที่เคยมีชีวิตเด็กๆ อยู่ในชนบท แต่ต้องมาทำงานในเมืองใหญ่ ผักในสวนที่ปลูกเองและในป่ารอบบ้านที่ธรรมชาติปลูกเป็นผักที่ปลอดจากสารเคมี สามารถนำมา บริโภคได้โดยสนิทใจ ถือว่าเป็นผักปลอดภัยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการยากสำหรับการปลูกผักเองในเมือง แต่ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

คุณครสวรรค์ ประกิ่ง หรือ คุณอั๋น

ยังมีคนส่วนหนึ่งที่มุ่งมั่นที่จะทำการเกษตรในเมืองใหญ่ ถึงแม้จะขาดแคลนปัจจัยต่างๆ เช่น สถานที่ วัสดุปลูก แต่คุณครสวรรค์ ประกิ่ง หรือ คุณอั๋น ไม่ได้คิดแบบนั้น ความมุ่งมั่นจึงทำให้เกิดสวนผักบนดาดฟ้าตึกแถวที่จินตนาการแล้วยังนึกไม่ออกว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

คุณอั๋น ได้เล่าให้ฟังว่า “จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ ได้ทำงานมา 10 ปี ปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าคอมฟิวเตอร์กราฟฟิกของบริษัท วสันต์โฟโต้ ซึ่งประกอบกิจการถ่ายรูปรับปริญญาของบัณฑิตตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งของรัฐบาลและเอกชน ในช่วงโควิดต้นปีที่ผ่านมา กิจกรรมต่างๆ ที่มีคนจำนวนมากได้ถูกยกเลิก ทำให้มีผลกระทบต่อกิจการของบริษัทอย่างมาก แต่ทางเจ้าของบริษัทได้ลดจำนวนคนงานโดยให้สมัครใจลาออก โดยมีเงินชดเชยให้ จึงมีคนสมัครใจลาออกไป 5 คน เหลือพนักงาน 25 คน จำเป็นต้องลดเงินเดือนไป 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อประคองกิจการ”

จากผลกระทบดังกล่าว จึงทำให้ต้องแบ่งพนักงานไปประจำสำนักงานที่สระบุรี ซึ่งเป็นกิจการทำสารสกัดสะเดาเพื่อกำจัดแมลงเสีย 10 คน เหลือพนักงานไม่กี่คน คุณอั๋นจึงได้เสนอแนวคิดว่าควรจะปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อบรรเทาสถานการณ์ พอดีเจ้าของบริษัทได้เปิดร้านอาหารขึ้นที่ถนนประชาธิปไตย ชื่อร้านจงแข็งแรง พืชผักส่วนหนึ่งจึงได้ถูกนำไปประกอบอาหารให้ลูกค้าที่นั่น ตอนแรกที่เริ่มทำคนในบริษัทก็ยังไม่มั่นใจ เนื่องจากดาดฟ้ารับแสงแดดแรงมาก แต่ก็ได้กำลังใจจากทาง คุณวสันต์ มงคลลาภกิจ เจ้าของบริษัทและลูกชาย เนื่องจากชอบทางด้านการเกษตรอยู่แล้ว

ลูกชายคุณวสันต์ มงคลลาภกิจ

ต้องกล้าทำในสิ่งที่คิด

เริ่มแรกจากตึกแถว 4 ชั้น รวม 5 ห้อง ของบริษัท ความกว้างห้องละประมาณ 4.5 คูณ 25 เมตร ใช้พื้นที่อยู่แค่ 2 ห้อง เนื่องจากที่เหลือเป็นพื้นที่หลังคาไว้ใช้ประโยชน์อย่างอื่น จึงเหลือพื้นที่ 9 เมตร คูณ 25 เมตร เริ่มทำความสะอาดแล้วก็ทิ้งให้แห้ง ทาสีกันซึมบนดาดฟ้าทั้ง 2 ห้อง เพื่อไม่ให้น้ำซึมลง ใช้สีสองถังใหญ่สำหรับ 2 ห้อง ทิ้งไว้ 4-5 วัน ก็สามารถนำวัสดุปลูกขึ้นมาบนดาดฟ้า

เนื่องจากดาดฟ้าเป็นปูนทั้งหมด จึงเลือกทำเป็นโต๊ะเตี้ยๆ สำหรับปลูก โดยใช้เหล็กอ๊อกทำเป็นโต๊ะ ขนาดความกว้าง 1.10 เมตร ยาว 3 เมตร สูงจากพื้น 1 เมตร ความสูงของขอบแปลง 30 เซนติเมตร ใช้กระเบื้องลอนคู่เก่าวางตามยาวทั้งหมด 3 คู่ พอดีสำหรับแปลง ขอบข้างที่สูง 30 เซนติเมตร ใช้ตาข่ายแข็งตาถี่ติดรอบ เพื่อกันวัสดุปลูก หลังจากนั้น ก็ใช้ดินสวนจากโรงงานที่หนองแซง โดยบรรจุแค่ครึ่งถุง เนื่องจากมีปัญหาเรื่องน้ำหนักในการยกขึ้นชั้นดาดฟ้า ตอนแรกใช้รอกยก แต่ใช้ได้ไม่นานรอกเสีย จึงต้องช่วยกันแบกขึ้นชั้นดาดฟ้า รอบแรกใช้ดินสวน จำนวน 400 ถุง ทยอยนำมาจากสวนเรื่อยๆ ตอนที่เริ่มปลูกยังไม่ปรุงดิน เพราะดินสวนจะมีธาตุอาหารอยู่ ช่วงแรกปลูก พริก มะเขือ ตะไคร้ เมื่อเห็นว่าพืชเหล่านี้เจริญเติบโตได้ดี ก็เริ่มปลูกผัก ลืมบอกไปว่าบนดาดฟ้าใช้โครงเหล็กอ๊อกขึงด้วยซาแรนสีเขียวเพื่อบังแดด สรุปพื้นที่บนดาดฟ้าสามารถทำโต๊ะแปลงผัก ขนาด 1.1 เมตร คูณ 3 เมตร ได้ห้องละ 5 แปลง รวมเป็น 10 แปลง อีกส่วนหนึ่งใช้กระถางและกระสอบสำหรับปลูกผัก ช่วงแรกที่ทดลองปลูกเป็นเดือนกันยายน 2563

ลูกชายคุณวสันต์ มงคลลาภกิจ

ลองผิดลองถูก

คุณอั๋น จึงมีความคิดต่อมาว่า จะปลูกผักสลัด ได้ศึกษาหาความรู้ในสื่อออนไลน์ ก็ได้ซื้อเมล็ดพันธุ์ผักสลัดมาจำนวนหนึ่งเพาะลงในตะกร้าเพาะและไว้ในร่ม ต้นกล้าก็ขึ้นดี แต่พอหลายวันก็ล้มและตายในที่สุด ครั้งที่สองก็เหมือนกัน ทำให้เริ่มท้อ แต่พอไปซื้อครั้งที่สามได้สอบถามคนขายเมล็ดพันธุ์ จึงทราบสาเหตุว่า ทำไม ต้นถึงตาย เพราะว่าไม่ยอมเอาออกให้ได้รับแสงเลย ต้นกล้าจึงอ่อนแอและตายลง รอบที่สามหลังจากต้นกล้าขึ้นมา 4-5 วัน ก็เริ่มเอาออกให้รับแสง ต้นกล้าผักสลัดจึงเติบโตได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นจึงนำมาลงในถาดเพาะอีกที เมื่อครบ 15 วัน ก็นำลงแปลง แต่ในปัจจุบันนำเมล็ดมาหยอดลงในถาดเพาะเลย ถึงช้าแต่ก็ไม่ต้องทำหลายขั้นตอน ซึ่งอาจทำให้ต้นไม้ช้ำได้ เพราะต้นกล้าค่อนข้างบอบบาง

ในการปลูกครั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงดิน โดยนำขุยมะพร้าวมาผสม เนื่องจากแดดบนดาดฟ้าค่อนข้างจ้า ทำให้ความชื้นต่ำ และนำมูลวัวหมักมาผสมเพื่อเพิ่มธาตุอาหารด้วย หลังจากเบี้ยสลัดมีอายุประมาณ 15 วัน ก็จะนำมาลงในแปลง รดน้ำวันละสองเวลาเช้า-เย็น เนื่องจากผักสลัดไม่มีศัตรูพืช จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาเคมี ประกอบกับพื้นที่ปลูกอยู่บนดาดฟ้าด้วย ส่วนผักอื่นก็จะใช้สารสกัดสะเดาของบริษัท เพื่อป้องกันกำจัดแมลง การจัดการของพืชจึงเป็นไปตามหลักการเกษตรอินทรีย์โดยสภาพ การใช้ปุ๋ยเคมีก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ใช้เวลาประมาณ 35-40 วัน ผักสลัดก็เริ่มตัดมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว

เตรียมแปลง

ผักที่ได้นอกจากนำไปใช้ในร้านอาหารจงแข็งแรงแล้ว ยังนำมาใช้ประกอบอาหารให้พนักงานในออฟฟิศอีกด้วย และตอนเย็นได้นำไปจำหน่ายเป็นกำๆ ราคากำละ 10-20 บาท บริเวณทางเข้าวัดสุทธาวาส มีผลผลิตยังไม่มาก เพียงวันละ 30-40 กำ แต่เป็นกำลังใจให้คุณอั๋นเดินหน้าในการทำการเกษตรบนดาดฟ้านี้อย่างมั่นใจ ปัจจุบัน คุณอั๋น ยังพยายามศึกษาและทดลองปลูกผักเรื่อยๆ ไป หลายๆ ชนิด นอกจากนี้ จะมีโครงการขยายพื้นที่ปลูกให้เต็มพื้นที่และเลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำมูลมาใช้ในแปลงผักอีกด้วย

เรื่องราวนี้ไม่มีเน้นความสำคัญเรื่องการปลูกผัก แต่ต้องการสื่อสารให้รับทราบถึงวิธีการแก้ปัญหาสำหรับสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ซึ่งเป็นการเอาตัวรอดของมนุษย์ การปลูกผักบนดาดฟ้าไม่ใช่เป็นทางออกเดียวของการแก้สถานการณ์โควิด แต่ต้องการสื่อให้เห็นว่าทุกปัญหามีทางออก ถ้ามีสติเพียงพอ ถึงแม้ว่าจะเป็นเวลาเพียงระยะสั้นตั้งแต่เริ่มทำ ก็แสดงให้เห็นถึงความดิ้นรนเพื่อแก้ปัญหา

สวยทุกมุมมอง

คุณวสันต์ เจ้าของบริษัทได้ฝากทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบัน ทั่วโลกประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส  โคโรน่า รวมถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และบริษัทของเราก็เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเลื่อนหรือยกเลิกงานถ่ายรูปจากสถาบันต่างๆ เช่นกัน  ผมจึงได้จัดการประชุมหาทางออกร่วมกับพนักงานทั้งหมด และได้ข้อสรุปว่า เราจะปลูกผักบนดาดฟ้า โดยไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้สารป้องกันแมลงจากสะเดาของเราเอง และเปิดร้านอาหารเพื่อต่อยอดนำผลผลิตออร์แกนิกนี้มาทำอาหาร และเพื่อให้พนักงานของเรามีงานทำ”

ในช่วงที่ปลูกผัก คุณอั๋น ได้ทำเพจขึ้นมา ชื่อ ฟาร์มสุข ปลูกผักดาดฟ้า เผยแพร่การทำงานและแนวความคิดในสื่อออนไลน์ ซึ่งได้รับความสนใจจากคนจำนวนหนึ่งเข้ามาดูงาน เนื่องจากสถานที่อยู่อาศัยของท่านเหล่านั้นเป็นตึกแถวเช่นกัน และต้องการที่จะปลูกผักเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน แต่ไม่มีความรู้ และไม่กล้าลงมือทำ การที่มีคนปลูกผักบนดาดฟ้าแล้วได้ผล จึงเป็นที่น่าสนใจให้เข้ามาดูพื้นที่เกษตร เพื่อนำไปดัดแปลงทำสวนบนดาดฟ้าของตนเช่นกัน

คุณอั๋น บอกว่าการทำเกษตรเหนื่อยยากกว่าทำงานในสำนักงาน เนื่องจากไม่มีความรู้ทางด้านนี้ แต่อาศัยว่าตอนเด็กอยู่ต่างจังหวัด มีโอกาสเห็นการทำเกษตรมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ยังไม่คิดอยากทำเองเลยในสมัยนั้น แต่ปัจจุบันมีความรักในการเกษตรมากขึ้น และมีความสุขในการทำงานกลางแดด และรู้สึกผ่อนคลายกว่าทำงานในสำนักงาน ซึ่งการนำเรื่องราวมาเผยแพร่ครั้งนี้ คุณอั๋นหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการทำเกษตรในเมืองสำหรับผู้ที่รักการเกษตร สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณครสวรรค์ ประกิ่ง หรือ คุณอั๋น โทรศัพท์ 061-429-5414

ผลผลิต
ทำตาแบบที่ฝันไว้
ปราณีตเหมือนงานออฟฟิศ

 

วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2564


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354