ส้มสายน้ำผึ้ง ปลูกดีขายได้ ที่แม่ใจ พะเยา

ส้ม เป็นพืชที่ปลูกยาก มีปัญหาสารพัด แต่ก็ไม่ได้เหนือความสามารถของเกษตรกรชาวสวนของอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา สามารถแก้ไขและปลูกให้ได้ผลผลิตดีและขายได้

คุณสมคิด คำจันทรา เกษตรกรชาวสวน ซึ่งอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 146 หมู่ที่ 4 ตำบลเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ดีกรีรางวัลเกษตรกรอาชีพทำสวนดีเด่น ระดับเขตภาคเหนือ และรางวัลชมเชย ระดับประเทศ เล่าให้ฟังว่า ตนเองมีอาชีพทำสวนมาตั้งแต่หนุ่ม ทั้งลิ้นจี่ที่เป็นผลไม้มีชื่อของอำเภอแม่ใจ ส้ม และมะม่วง โดยเฉพาะ ส้มตนเองเคยปลูกมาครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2544 หรือเกือบเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องโรคกรีนนิ่ง และราคาไม่จูงใจ จึงล้มต้นส้มไปปลูกมะม่วงแทน จนกระทั่งปัจจุบันมีการทดลอง และแก้ไขปัญหาในเรื่องโรคกรีนนิ่งโดยการใช้ยาปฏิชีวนะเข้ามาแก้ไข และตนเองได้ไปศึกษาเรียนรู้การปลูกส้มสายน้ำผึ้งจากเกษตรกรชาวสวนที่อำเภอฝาง มั่นใจว่า ทำได้ ได้แบ่งพื้นที่มาปลูกส้มสายน้ำผึ้ง โดยซื้อต้นพันธุ์จากอำเภอฝางมาปลูก ตั้งแต่ ปี 2558 โดยปลูกในพื้นที่ 4 ไร่ ระยะห่างระหว่างต้นระหว่างแถว 4×6 เมตร มีจำนวนประมาณเกือบ 300 ต้น

คุณสมคิด คำจันทรา เกษตรกรผู้ปลูกส้มสายน้ำผึ้ง

ปีที่แล้วขายได้เงินประมาณ 400,000 บาท แต่ปีนี้มีปัญหาเรื่องสภาพอากาศ ทำให้เพลี้ยไฟไรแดงระบาด ทำให้ผลผลิตลดลง รายได้ลดลง ปีนี้น่าจะได้ประมาณ 200,000 กว่าบาท สวนส้มสายน้ำผึ้งของตนเองได้เปรียบบางสวนคือ อยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ และที่เลือกปลูกส้มสายน้ำผึ้ง แทนที่จะเลือกปลูกส้มเขียวหวานสายพันธุ์อื่นเพราะรสชาติของสายน้ำผึ้งจะแตกต่างจากเขียวหวาน คือมีรสหวานอมเปรี้ยว ซึ่งตรงกับความชอบของวัยรุ่น และวัยกลางคน ซึ่งเป็นผู้บริโภคส่วนใหญ่ ราคาขายต่ำสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 บาท ส่วนส้มคั้นน้ำยังได้ราคาถึง 15 บาท ถูกกว่าส้มเขียวหวานเกรดบีเพียง 5 บาท ประกอบกับผลผลิตจะออกมาในช่วงเทศกาลสำคัญ ทั้งปีใหม่และตรุษจีน ทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องตลาด มีแต่ผลผลิตจะไม่พอขายเท่านั้น

ลักษณะประจำพันธุ์ของส้มสายน้ำผึ้ง

ทรงพุ่ม ส้มสายน้ำผึ้งมีการเจริญเติบโตได้ดีพอๆ กับส้มเขียวหวาน โดยจะมีทรงพุ่มแน่นกว่าส้มเขียวหวาน ลักษณะกิ่งและใบจะตั้งขึ้น ในขณะที่ส้มเขียวหวานใบจะตก หรือห้อยลงมา

ใบ ของส้มสายน้ำผึ้งเมื่อเทียบกับส้มเขียวหวานจะมีขนาดเล็กและมีสีเขียวเข้มมากกว่า นอกจากนี้ ใบยังมีกลิ่นหอมคล้ายส้มจีนและส้มพองแกน

ผล ส้มสายน้ำผึ้งมีลักษณะผลคล้ายส้มเขียวหวานมาก ขณะที่ผลยังอ่อนจะมีสีคล้ายส้มเขียวหวาน เมื่อแก่จัดผิวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแดง ยกเว้นผลส้มที่ได้จากภาคใต้จะมีสีผิวเหมือนกันกับส้มเขียวหวาน ปอกเปลือกง่าย เปลือกมีกลิ่นหอมคล้ายส้มจีน หรือส้มพองแกน

ผลผลิตส้มสายน้ำผึ้ง

ส้มพันธุ์นี้มีช่วงเวลาการเก็บเกี่ยว 8-8 เดือนครึ่ง ในการปลูกจากกิ่งตอนจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในปีที่ 3 กิ่งตอนส้มสายน้ำผึ้ง ต้นส้มที่เจริญเต็มที่ให้ผลผลิตมาก 80-200 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี แปลงปลูกส้มสายน้ำผึ้งขนาดใหญ่อยู่ในเขตภาคเหนือ

การเลือกพื้นที่ ถ้าเป็นพื้นที่ดอน ให้ขุดตอไม้ออก ไถพรวนให้ลึก 30-40 เซนติเมตร ปรับพื้นที่ให้เรียบ แล้วขึ้นแปลงเป็นรูปลอนลูกฟูกขวางทางแสงอาทิตย์ กว้าง 3 เมตร สูง 40 เซนติเมตร ไม่จำกัดความยาว โดยให้มีพื้นที่ว่างระหว่างแปลง 3 เมตร สำหรับให้เครื่องจักรเข้าทำงานได้โดยสะดวก ทำร่องน้ำ เพื่อระบายน้ำที่ไหลออกจากแปลงลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

ถ้าเป็นพื้นที่ลุ่ม ขุดเป็นร่องหรือยกร่อง โดยมีสันร่องซึ่งจะใช้ปลูก กว้างประมาณ 6 เมตร ร่องน้ำ กว้าง 1.50 เมตร ลึก 1 เมตร ก้นร่องน้ำกว้าง 70 เซนติเมตร การยกร่องควรทำขวางแสงอาทิตย์ เพราะจะทำให้ร่องได้รับแสงสม่ำเสมอทั่วถึง กรณีที่ลุ่มมากต้องทำคันกั้นน้ำรอบสวน มีท่อระบายน้ำเข้า-ออก จากสวนได้

การจัดระยะปลูก การจัดวางแนวปลูกควรทำให้เหมาะสม โดยอาจใช้ระยะปลูก 2×6, 3×6, 3×7 หรือ 4×6 และควรจัดแถวในแนวขวางแสงอาทิตย์ เพื่อไม่ให้ต้นส้มบังแสงกัน การเลือกระยะปลูกมีความสำคัญ ระยะปลูกใกล้จะมีข้อดี คือให้ผลผลิตมาก เช่น ในช่วงปีที่ 3-5 การปลูกในระยะ 2×6 จะให้ผลผลิตในปริมาณมากกว่าการปลูกที่ระยะ 4×6 ถึง 1 เท่าตัว แต่อาจจะเกิดปัญหาเรื่องการสะสมของโรคและแมลง เนื่องจากการเบียดชิดกันของทรงพุ่ม

บริเวณสวนส้ม

การเตรียมดิน ก่อนที่จะลงมือปลูกส้ม สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ การวิเคราะห์สภาพของดิน แล้วปรับปรุงดินไปตามคุณสมบัติของดิน เช่น การเติมอินทรียวัตถุ ปูนโดโลไมท์หรือยิปซัม สำหรับปริมาณที่ใส่นั้นก็ขึ้นอยู่กับผลการตรวจวิเคราะห์สภาพของดินนั่นเอง วิธีการใส่ ควรใส่ในแนวของแถวปลูกที่กำหนดไว้ โดยให้กว้างประมาณ 2 เมตร ยาวไปตามแปลงปลูกแล้วไถกลบให้เข้ากัน แล้วทิ้งไว้ 1 ฤดูฝนก่อนปลูก ตัวอย่างดินที่เก็บมาวิเคราะห์สามารถส่งไปตรวจได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวพ.) ทั้ง 8 เขต

การเตรียมระบบน้ำ การติดตั้งระบบให้น้ำควรใช้หัวสเปรย์ขณะที่ต้นส้มยังเล็ก เมื่อส้มมีขนาดทรงพุ่มที่ใหญ่ขึ้นก็อาจเปลี่ยนเป็นมินิเสปรย์หรือมินิสปริงเกลอร์ที่มีอัตราการจ่ายน้ำ 150-250 ลิตร ต่อชั่วโมง หรือใช้ท่อฉีดน้ำแบบบิ๊กกัน ท่อฉีดน้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ ท่อฉีดน้ำแบบบิ๊กกัน

การเลือกต้นพันธุ์ การปลูกต้นส้มในปัจจุบันนิยมใช้ 2 วิธี คือ การปลูกจากกิ่งตอนและใช้วิธีการติดตากับต้นตอ การปลูกจากกิ่งตอน อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องโรคที่ติดมากับต้นพันธุ์ ต้นโทรม อายุสั้น ผลร่วง ผลด้อยคุณภาพ ดังนั้น ในการเลือกต้นพันธุ์ ควรใช้ความพิถีพิถันในการเลือกโดยซื้อต้นพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้

ต้นส้มที่เจริญจากกิ่งตอน อีกทางเลือกหนึ่งคือ การใช้ต้นติดตาโดยนำตาปลอดโรคมาจากต้นที่แข็งแรงเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูงสม่ำเสมอนำมาติดตาบนต้นตอที่ทนทานต่อโรครากเน่าโคนเน่า ต้นตอที่นิยมใช้มี 3 ชนิด คือ

  1. คลีโอพัตรา
  2. ทรอยเยอร์
  3. สวิงเกิล

แต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป ควรเลือกใช้ต้นตอให้เหมาะกับพื้นที่ ดังนี้

ผลผลิตคุณภาพดี

ต้นตอคลีโอพัตรา ให้ต้นใหญ่ ผลขนาดเล็ก คุณภาพผลสูง โตช้าในระยะแรก ทนทานต่อเกลือได้ดี ทนโรคทริสเตซ่าและความหนาว ได้ผลดีกับสภาพดินเหนียวภาคกลาง แต่อาจอ่อนแอต่อโรคโคนเน่าและรากเน่า ปรับตัวได้ดีกับดินหลายประเภท และต้องการน้ำมาก

ต้นตอทรอยเยอร์ ให้ต้นขนาดมาตรฐาน ผลผลิตสูง ผลใหญ่ ผลมีคุณภาพดี ทนทานต่อโรครากเน่าโคนเน่าและทริสเตซา แต่ไม่ทนต่อโรคกรีนนิ่ง ไม่ทนดินเค็ม อ่อนแอต่อไส้เดือนฝอย ทนหนาวได้ปานกลาง อ่อนแอต่อเอ็กโซคอร์ทิส ปรับตัวเข้ากับชนิดของดินได้หลายประเภท ยกเว้นดินด่าง ดินเค็ม และดินเหนียว ทนต่อโรครากเน่าโคนเน่า ไส้เดือนฝอย ทนเค็มได้ระดับดี ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี ทนสภาพดินน้ำขังได้ดี เป็นต้นตอที่ดีของส้มหลายชนิด แต่อาจจะมีปัญหาการเข้ากันได้ไม่ดีกับส้มเขียวหวานบางชนิด เช่น อิมพีเรียล ไม่ชอบดินด่าง

ขนาดของต้นติดตาโตได้มาตรฐานพร้อมลงปลูกในแปลง คือ มีขนาดเส้นรอบวงที่โคนต้นไม่ต่ำกว่า 1.50 เซนติเมตร และมีความสูงจากโคนต้นถึงเรือนยอดไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร

ต้นตอสวิงเกิล ให้ลำต้นใหญ่ อวบ สีขาว มีหนาม ใบแหลม ใหญ่หนามี 3แฉก เป็นเมล็ดพันธุ์นอก ออกผลนอกฤดูและในฤดูก็ออกผลตามปกติ ผลใหญ่ ผลดก เป็นต้น

ภรรยาคุณสมคิดเป็นกำลังหลักในการทำบัญชีและการตลาด

ขั้นตอนการปลูก วัดระยะปลูกและกำหนดจุดปลูก โดยแถวปลูกควรอยู่บริเวณกึ่งกลางแปลงแต่ละแปลง ขุดหลุมขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกกับดินที่ขุดขึ้นมา อัตราต้นละ 10 กิโลกรัม พร้อมกับปุ๋ยร็อกฟอสเฟต 0.5 กิโลกรัม และปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 ประมาณ 10 กรัม แหวกดินทำหลุมให้มีขนาดโตกว่าถุงหรือกระถางที่เลี้ยงต้นพันธุ์ ฉีกถุงออก โดยก่อนฉีกถุงให้ใช้มือบีบดินในถุงให้แยกออกจากกัน เขย่าวัสดุปลูกที่ติดอยู่กับรากออกให้หมด ใช้กรรไกรตัดรากแก้วส่วนที่ขดงอออก พร้อมทั้งตัดส่วนยอดและใบออกบ้าง เพื่อให้เกิดการสมดุลกับรากที่เหลือ วางต้นพันธุ์ลงในหลุม จัดรากฝอยที่มีอยู่เป็นชั้นๆ แล้วแผ่รากในแต่ละชั้นออกรอบข้าง ใช้ดินกลบรากไล่ขึ้นมาเป็นชั้น โดยให้รากฝอยชั้นบนสุดอยู่ต่ำกว่าระดับดินบน ประมาณ 1 เซนติเมตร ใช้ดินผสมปุ๋ยหมัก อัตราส่วน 1 : 1 กลบโคนเป็นรูปกระทะคว่ำ กว้างประมาณ 1 เมตร และสูงประมาณ 20 เซนติเมตร ผูกต้นติดกับหลักป้องกันการโยกคลอนแล้วรดน้ำให้ชุ่ม

การให้น้ำ ในสวนส้มมีหลักการดังนี้ ควรให้น้ำทันทีประมาณ 5-10 แกลลอน เมื่อปลูกเสร็จ และให้น้ำอีกครั้งภายใน 2-3 วัน หลังจากครั้งแรก หลังจากนั้นให้น้ำทุกๆ 2-5 วัน จนกว่าส้มจะตั้งตัวได้ ข้อสำคัญอย่าปล่อยให้ต้นส้มอดน้ำจนต้นเฉา วิธีการให้น้ำ อาจใช้สายยางระบบน้ำหยด มินิสปริเกลอร์ หรือเรือพ่นน้ำ หรือบิ๊กกัน ตามความเหมาะสม

ผลส้มสายน้ำผึ้งกับนักส่งเสริมการเกษตร

การตัดแต่งกิ่ง ควรทำอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนกระทั่งให้ผล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังเก็บเกี่ยวผลแล้ว ลักษณะของกิ่งที่ควรตัดแต่งออกคือ กิ่งแขนงที่รกทึบด้านล่างและกลางลำต้น กิ่งปลายยอดที่ห้อยลงชิดดิน กิ่งอ่อนแอ ไม่สมบูรณ์ มีใบน้อย กิ่งน้ำค้าง หรือกิ่งกระโดง กิ่งที่มีลักษณะคดงอไขว้หรือพันกัน กิ่งที่เป็นโรค หรือถูกแมลงวันทำลาย ตลอดจนกิ่งแห้งตาย ภายหลังจากการตัดแต่งกิ่งแล้ว ควรทาแผลด้วยคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ ปูนแดง หรือปูนขาว เพื่อป้องกันเชื้อรา

การดูแลรักษาหลังการติดผล ภายหลังจากส้มเขียวหวานติดผลแล้ว ควรปฏิบัติดังนี้ ปลิดผลออกบ้าง ในกิ่งที่ติดผลมากๆ ตัดแต่งผลที่เป็นโรคออก แล้วนำไปฝังกลบหรือเผาเสีย ค้ำยันกิ่ง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักเนื่องจากการรับน้ำหนัก หรือลมแรง สุขลักษณะและความสะอาด ควรรักษาแปลงปลูกให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ กำจัดวัชพืช ควรกำจัดขณะวัชพืชยังเล็ก เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืช หรือติดไปกับผลผลิต ควรเก็บวัชพืช เศษพืชโดยเฉพาะที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูก อุปกรณ์ เช่น กรรไกร เครื่องพ่นสารเคมี ภาชนะที่ใช้เก็บผลผลิต ฯลฯ หลังจากใช้งานแล้วต้องทำความสะอาด และเก็บให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ภาชนะบรรจุสารเคมีที่ใช้หมดแล้ว ให้ล้างทำความสะอาด นำน้ำที่ล้างไปพ่นป้องกันกำจัดศัตรูพืช สำหรับภาชนะบรรจุให้ทำลายอย่างเหมาะสม เช่น ฝังดิน ไม่ควรนำกลับมาใช้อีก

คุณสมคิด คำจันทรา ได้ให้ข้อเสนอแนะกับเกษตรกรรายอื่นว่า การทำการเกษตรคงต้องกระจายความเสี่ยง คือไม่ปลูกพืชชนิดเดียว และศึกษาหาข้อมูลให้รอบด้าน เพื่อนำมาปรับใช้กับสวนของตนเอง เพื่อลดความเสียหายอันอาจเกิดขึ้น

บรรจุถุงพร้อมส่งขาย

…………………………………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2564