ส้มจุกจะนะ สงขลา ไม้ผลโบราณ เปลือกหอม หวานอมเปรี้ยว หากินยาก

ไปอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หวนให้คิดถึง “ส้มจุก” ที่เรียกกันติดปากว่า “ส้มจุกจะนะ” ผลไม้ที่จัดว่าเป็นผลไม้โบราณไปแล้ว เพราะหาซื้อกินยาก ไม่ได้มีวางขายตามแผงผลไม้ทั่วไป หากจะซื้อกินให้ได้ก็น่าจะต้องเดินทางไปให้ถึงสวน ในพื้นที่อำเภอจะนะ เพราะผลผลิตที่ออกมาในแต่ละขั้ว ถูกจับจองเกือบหมดตั้งแต่ยังไม่ถึงแผงค้าเสียด้วยซ้ำ และหากเดินทางไปถึงสวน ก็อาจจะต้องรอคิว เพราะแม้แต่คนในพื้นที่เองก็เป็นหนึ่งในลูกค้าเข้าคิวซื้อส้มจุกจะนะด้วยเหมือนกัน

คุณดนกอนี เหลาะหมาน เกษตรกรเจ้าของสวนส้มจุก

สำนักงานเกษตรอำเภอจะนะ นำทีมเทคโนโลยีชาวบ้านเข้าถึงสวนส้มจุกที่ยังมีผลผลิตต่อเนื่อง และเป็นสวนที่ปราศจากเคมี มีการดูแลโดยวิธีธรรมชาติ และได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ

สำนักงานเกษตรอำเภอจะนะ ให้ข้อมูลพื้นที่ปลูกส้มจุกจะนะ ว่า ปัจจุบันในพื้นที่อำเภอจะนะ มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกส้มจุกจะนะไว้ทั้งสิ้น 65 ราย คิดเป็นพื้นที่ 162 ไร่ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่เน้นปลูกส้มจุกจะนะปลอดสารเคมี แต่ยังพบปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง รวมถึงปัญหาแมลง ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงอนุมัติงบประมาณ 200,000 บาท สำหรับขุดบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ถุงห่อส้มจุกป้องกันแมลง ทั้งนี้ ส้มจุกจะนะเป็นผลไม้โบราณที่หากินได้ยาก และมีพื้นที่ปลูกน้อย อีกทั้งรสชาติของส้มจุกที่ปลูกในพื้นที่อำเภอจะนะยังมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ทำให้สำนักงานเกษตรอำเภอ ร่วมกับ จังหวัด ยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา

กิ่งส้มจุก จะมีหนามแหลมคม

ความพิเศษของ “ส้มจุกจะนะ” คือ ผิวส้มมีกลิ่นหอม ผลสุกจะหวานอมเปรี้ยว ไม่หวานจัด สุกจัดด้านในผลจะกลวง ด้านบนของผลเป็นจุกขึ้นไป จึงเรียกตามลักษณะว่า ส้มจุก

คุณดนกอนี เหลาะหมาน เจ้าของสวนส้มจุกจะนะที่เข้าถึงง่ายที่สุด ให้เราเรียกเขาด้วยความสนิทสนมว่า “บังนี” มีสวนส้มจุกอยู่ที่ หมู่ที่ 7 ตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

บังนี มีภูมิลำเนาเป็นชาวอำเภอจะนะ เติบโตมาพร้อมๆ กับต้นส้มจุกที่เขาบอกว่า เห็นมีรายรอบบ้าน ทั้งบ้านตนเอง บ้านญาติ และละแวกใกล้เคียง ขึ้นในลักษณะไม่ใช่สวน แต่เป็นต้นไม้ที่มีไว้ประดับและเก็บผลกินเป็นผลไม้ข้างจานข้าว หลังอิ่มจากมื้อหลัก

เปลือกมีกลิ่นหอม แค่แกะก็ได้กลิ่นแล้ว

บังนี เรียนจบจาก สาขาพืชศาสตร์ (พืชสวน) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพราะรักในการทำสวนมาตั้งแต่เด็ก แต่หลังเรียนจบก็ทำงานตามสาขาที่เรียนมาในบริษัทเอกชน กระทั่งมีเหตุให้ต้องกลับมาอยู่บ้าน ก็ยังทำงานบริษัทเอกชนใกล้บ้าน ส่วนความสนใจด้านการทำสวนที่ยังมีอยู่ก็ยังไม่ทิ้ง

“ภาพที่มีเด็กวิ่งขายส้มจุกจะนะ ร้อยด้วยเส้นลวด หิ้วขายตามสถานีรถไฟจะนะ เป็นภาพที่ติดตา อยากให้มีแบบนี้อีก เลยคิดว่าวันหนึ่งผมจะปลูกส้มและทำแบบนั้นบ้าง”

ปี 2544 บังนี เริ่มคิดจริงจังกับการทำสวน และส้มจุกเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจ

การห่อผล ใช้ถุงพลาสติกก็ได้

พื้นที่เพียง 1 ไร่เศษ บังนี ปรับให้เป็นสวนส้มจุกทั้งหมด ปลูกแบบยกร่อง ระยะห่าง 5×5 เมตร ซึ่งระยะที่เหมาะจริงควรเป็น 5×6 เมตร ติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ หากผู้ปลูกไม่ได้ยกร่อง ก็ควรพูนโคกให้กับต้น เพื่อการระบายน้ำที่ดี เพราะส้มจุก เป็นพืชที่ชอบน้ำ แต่ไม่ชอบแฉะ ดังนั้น หากน้ำมากเกินไป อาจทำให้เกิดโรครากเน่าหรือโคนเน่าได้

พื้นที่ 1 ไร่เศษ ของบังนี ปลูกส้มจุกได้มากถึง 50 ต้น

ในสวนที่ดูแลใกล้ชิด เพียง 4-5 ปี ก็เริ่มติดผล

เมื่อสุกจัด ตรงกลางจะกลวง

แต่ระยะแรกสำหรับบังนี ดูเหมือนจะไม่ได้ผล ทำให้บังนีเริ่มท้อ และนึกถึงเหตุที่คนไม่นิยมปลูกส้มจุกในพื้นที่ ว่าเป็นเพราะการดูแลที่ยุ่งยากและการเอาใจใส่ที่ใกล้ชิด หากปล่อยปละละเลยจะได้ผลผลิตส้มจุกที่ไม่มีคุณภาพ แต่ด้วยใจรักของบังนีที่มีต่อการทำสวนส้มจุก ทำให้สวนส้มจุกไม่ได้ถูกปรับไปปลูกพืชชนิดอื่น และหมั่นดูแลอย่างใกล้ชิดจนส้มจุกให้ผลผลิตออกจำหน่ายได้

ติดผลเป็นพวง

“น้ำ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปลูกส้ม แม้ส้มจะชอบน้ำเยอะ แต่ก็ไม่ควรให้แฉะจนเกินไป เพราะจะเกิดปัญหาโรคตามมา ช่วงที่ฝนตกอย่างต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องรดน้ำเลย ให้สังเกตจากใบ หากใบเหี่ยว ม้วน งอ หมายถึง ขาดน้ำ ควรให้น้ำจนสภาพใบสดชื่น หรือดูจากสภาพดินมีความชุ่มชื้นก็เพียงพอแล้ว”

การดูแลสวนส้มจุกโดยบังนี เน้นการปลูกแบบปลอดสารเคมี จึงใช้ปุ๋ยคอก และ ปุ๋ยชีวภาพ เป็นตัวเสริม

ปุ๋ยคอก เป็นปุ๋ยมูลไก่ ก่อนนำมาใช้ต้องนำมูลไก่ไปหมักก่อนจึงนำมาใช้ ส่วนมูลวัวนำมาใช้ได้ทันที การใส่ปุ๋ยควรให้ช่วงก่อนติดดอก ประมาณเดือนมกราคมของทุกปี จากนั้นงดให้น้ำ ภายใน 60 วัน จะเริ่มแตกยอดใหม่และติดดอก หลังติดดอกประมาณ 30 วัน จะเริ่มติดผล

การติดผลของส้มจุก จะติดช่อละ 2-3 ผล

หลังออกดอกประมาณ 8 เดือน เก็บผลจำหน่ายได้

แมลงและหนอนเจาะผล มักจะเจาะผลก่อนผลสุก ประมาณ 60 วัน ดังนั้น การห่อควรเริ่มตั้งแต่ผลส้มจุกขนาดเท่าผลมะนาว ใช้ถุงกระดาษห่อ หรือจะใช้โฟมก็ได้ ไม่ต่างกัน เพราะแม้จะห่อผลไว้ ก็ไม่สามารถป้องกันแมลงเจาะผลได้ 100 เปอร์เซ็นต์

“แมลงเจาะผล เป็นแมลงปีกแข็งคล้ายบุ้ง จะเจาะเข้าไปในผล ดูดน้ำเลี้ยงในผลและทำลายผล ภายใน 15-20 วัน ผลจะหลุดจากขั้ว ร่วงทิ้ง การกำจัดใช้สมุนไพรฉีดพ่น ช่วยไล่แมลงได้เช่นกัน”

การตัดแต่งกิ่งหลังเก็บผลผลิตเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่สำหรับบังนี มีเวลามากบ้างน้อยบ้าง จึงตัดแต่งบ้างและปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องผิด

การขยายพันธุ์ส้มจุก ทำได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ด และ การตอนกิ่ง ซึ่งทั้ง 2 วิธี แตกต่างกันเพียงแค่การปลูกด้วยการเพาะเมล็ดจะเจริญเติบโตได้ช้ากว่าเท่านั้น

บริเวณสวนจะโล่งเตียน ไม่ให้มีวัชพืช

ต่อข้อสงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงมีชาวสวนปลูกส้มจุกไม่มากนัก บังนี บอกว่า น่าจะเป็นเพราะการดูแลที่ต้องใส่ใจในรายละเอียด มีหลายรายที่คิดปลูก แต่ไม่นานก็ล้มเลิก ต้องมีใจรักการทำสวนผลไม้จริงๆ จึงจะอยู่ได้ โดยเฉพาะเมื่อสำนักงานเกษตรอำเภอ ต้องการให้การปลูกส้มจุกปลอดสารเคมี จึงเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนให้งดใช้สารเคมี แต่เมื่อเกิดโรคและแมลงเข้าทำลาย ชาวสวนส่วนใหญ่ไม่อดทน เพราะเห็นว่าการใช้สารเคมีทำให้ผลผลิตอยู่รอดจากโรคและแมลง ทำให้หลายรายเปลี่ยนปลูกพืชชนิดอื่น เหลือเพียงไม่กี่สิบรายที่ปลูกส้มจุกโดยไม่ใช้สารเคมี

นับจากปีที่เริ่มปลูกมาถึงปัจจุบัน บังนีทำสวนส้มจุกมานาน 16 ปีแล้ว เมื่อได้ผลผลิตก็จำหน่ายให้กับผู้สนใจ เข้ามาซื้อถึงสวน ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ผลผลิตที่ได้ในแต่ละปี แทบไม่เหลือพอจะนำไปร้อยเส้นลวดเดินขายที่สถานีรถไฟจะนะ ตามที่บังนีฝัน ส่วนใหญ่จะถูกจับจองไว้ตั้งแต่เริ่มติดผล และมีมากจนต้องรอคิวกันทีเดียว

“ปี 2558 ผลผลิตได้เยอะมาก มีพ่อค้าคนกลางมารับถึงสวน ส่งไปขายที่มาเลเซีย ก็ได้รับการตอบรับดี เพราะส้มจุกเป็นผลไม้ที่รูปทรงสวย เปลือกมีกลิ่นหอม ทั้งยังถือว่าส้มจุกเป็นผลไม้มงคล นำไปไหว้เจ้าหรือเทพมงคลจะดี ที่ผ่านมาเคยได้ปริมาณผลผลิตมากถึงตันกว่าๆ ต่อพื้นที่ไร่เศษที่ปลูก”

ทุกปี ส้มจุกที่สวนบังนี ถูกจองล่วงหน้าไว้เรียบร้อย ทำให้บังนี เริ่มขยายพื้นที่ปลูก โดยลงปลูกไปแล้วแต่ยังไม่ถึงอายุให้ผลผลิต อีกเกือบ 3 ไร่ แต่ก็ปลูกลองกอง ทุเรียน มังคุด และเงาะร่วมด้วย

ความพิเศษที่มั่นใจได้ว่า สวนส้มจุกของบังนี มีให้ได้มากกว่าคุณภาพ คือ ปลอดสารพิษ และดูแลโดยยึดธรรมชาติเป็นตัวหลัก และมั่นใจได้ว่าเป็นส้มจุกจะนะโดยคนอำเภอจะนะ 100 เปอร์เซ็นต์

ท่านใดสนใจศึกษาวิธีการปลูก การดูแล ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณดนกอนี เหลาะหมาน โทรศัพท์ 098-671-4066 หรือเข้าไปชมถึงสวน ที่ หมู่ที่ 7 ตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

วิธีเก็บส้มจุก