ครูเอกชัย…กับสวนไม้ผล งานใหม่หลังเกษียณ เตรียมไว้ให้พร้อม เมื่อเกษียณจะได้มีงานทำ

วิถีการดำรงชีพหลังเกษียณ มีหลายทางเลือกคือ พักผ่อน มีความสุขอยู่กับลูกหลานเหลน หรือทำงานเบาๆ เช่น ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักหรือปลูกไม้ผล แบบสวนหลังบ้าน เพื่อให้มีผลผลิตเก็บกินหรือแบ่งปันเพื่อนบ้าน

วิถีการดำรงชีพหลังเกษียณ ไม่ควรลงทุน ไม่ว่าจะเป็นงานใดก็ตาม เพราะมีความเสี่ยงสูง ยิ่งถ้าไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ เมื่อเกิดข้อผิดพลาด อาจแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ทันการณ์ ซ้ำยังส่งผลให้บั้นปลายมีวิถีชีวิตไม่มั่นคง

วิถีการดำรงชีพหลังเกษียณด้วยการ การสร้างสวนไม้ผล ก่อนเกษียณ 5 ปี หรือมากกว่า เพื่อให้มีโอกาสปฏิบัติงานจริง ได้ลองผิดลองถูก รู้ข้อดี ข้อด้อย วิธีการแก้ปัญหา ได้พัฒนาการทำงานให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ และเมื่อถึงวันที่เกษียณจริงก็สามารถทำงานต่อยอดได้ทันที เป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ

จากประเด็นดังกล่าว เราจึงขอนำเสนอเรื่องของ ครูเอกชัย…กับสวนไม้ผล งานใหม่หลังเกษียณเพื่อวิถีมั่นคง มาบอกเล่าสู่กัน

คุณเอกชัย ตองอบ ผู้อำนวยการโรงเรียนนาแก้ววิทยา ผู้ปลูกสร้างสวนไม้ผลเล่าให้ฟังว่า โดยพื้นฐานแล้วคุณพ่อ-คุณแม่เป็นชาวไร่ชาวนา เมื่อครั้งเป็นเด็กได้ช่วยท่านทำงานในไร่นา จึงซึมซับความรู้ ประสบการณ์ไว้พอสมควร

ครูเอกชัย ตองอบ ตัดเก็บทุเรียนที่แก่สุกพอดี

ด้านการเรียนก็เรียนจบปริญญาทางด้านการศึกษา ได้เข้ารับราชการเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนนาแก้ววิทยา อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นไปตามความมุ่งหวังของคุณพ่อ-คุณแม่ที่ต้องการให้ช่วยเหลือสังคม

เมื่อคิดถึงวันเวลาที่ต้องปลดระวางตัวเองจากการเป็นครูเพื่อเปลี่ยนเข้าสู่วิถีการดำรงชีพหลังเกษียณ จึงนำเรื่องนี้ไปพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวแล้วก็ได้ข้อสรุปว่า การปลูกสร้างสวนไม้ผลน่าจะเป็นทางเลือกที่ได้ผลดี

เพราะสภาพภูมิอากาศพื้นที่อำเภอขุนหาญมีความเหมาะสม และยังพบว่าเกษตรกรที่นี่ปลูกสร้างสวนไม้ผลประสบความสำเร็จ เมื่อพิจารณาข้อดีข้อด้อยในด้านต่างๆ แล้ว จึงตัดสินใจปลูกสร้างสวนไม้ผล แต่มีเงื่อนไขว่าต้องปลูกสร้างสวนไม้ผลให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นอาชีพใหม่ไว้รองรับเมื่อเกษียณ

จากนั้นจึงได้จัดการวางแผนการปลูกและผลิต จัดการใช้ที่ดิน เลือกชนิดของไม้ผลที่ปลูก การปลูก ปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาหรือเก็บเกี่ยว โดยแบ่งงานทำเป็น 2 ส่วนคือ วันจันทร์-ศุกร์ ภรรยาหรือคุณเบญจลักษณ์ ตองอบ เป็นผู้ทำงานภาคสนาม พร้อมกับจ้างแรงงาน 3-5 คน มาช่วยทำงาน มีทั้งจ้างประจำและครั้งคราว ส่วนตนเองเป็นฝ่ายค้นหาความรู้จากแหล่งวิชาการ หรือจากผู้ที่ประสบความสำเร็จเพื่อนำมาสนับสนุนในการผลิต ได้ช่วยทำงานก่อนไปและหลังกลับมาจากโรงเรียน และทำหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาสวนไม้ผลเป็นประจำในทุกวันหยุด

พื้นที่แห่งนี้เคยปลูกมันสำปะหลังมาก่อน เป็นพื้นที่อยู่ในเขตภูเขาไฟเก่า ดินมีอินทรียวัตถุสูง เมื่อขุดลึกลงไปในดิน 50 เซนติเมตร จะเป็นดินภูเขาไฟที่แข็ง หน้าดินเป็นดินทราย ปลูกไม้ผลทุกชนิดได้คุณภาพดี

ผลไม้ พืชเศรษฐกิจสำคัญ ที่สำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ ส่งเสริมการปลูก

มีพื้นที่ปลูกไม้ผล 30 ไร่ ปลูกทุเรียน 575 ต้น แบ่งปลูกหมอนทอง 550 ต้น ก้านยาว 15 ต้น ชะนี 7 ต้น พวงมณี 2 ต้นและกระดุม 1 ต้น ปลูกเงาะ 32 ต้น ลองกอง 35 ต้น มังคุด 56 ต้น สะตอ 12 ต้น และปาล์มน้ำมัน 889 ต้น

 

กรณีตัวอย่างการปลูกทุเรียน

เมื่อเตรียมดินแล้ว ได้ขุดหลุมปลูกกว้าง ยาว และลึกด้านละ 30-50 เซนติเมตร ปลูกระยะห่างระหว่างต้นและแถว 8×8 เมตร นำต้นพันธุ์ทุเรียนลงปลูกเกลี่ยดินกลบ ให้น้ำแต่พอชุ่ม

การปฏิบัติดูแลบำรุงรักษา ปีที่ 1-7 ได้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เดือนละครั้งรอบทรงพุ่ม ช่วงต้นฝนได้ใส่ปุ๋ยคอกแห้ง 1 ครั้งต่อปี ช่วงหลังดอกบานหรือ 8 สัปดาห์ หรือช่วงติดผลขนาด 1.5 กิโลกรัมได้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ใน

อัตรา ½ กิโลกรัมต่อต้นทุก 15 วัน เพื่อช่วยเพิ่มขนาดและความหวาน และหยุดใส่ปุ๋ยก่อนเก็บเกี่ยว 30 วัน

เมื่อการปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาที่ดีจะทำให้ติดผลดก ได้คุณภาพ

การให้น้ำ ทุเรียนต้องได้รับน้ำเพียงพอจึงจะเจริญเติบโตได้ดี ปีที่ 1-7 ได้ให้น้ำ 1 วัน เว้น 2 วัน เมื่อเริ่มติดผล ได้ให้น้ำวันเว้นวันไปจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว การให้น้ำทุกครั้งจะพิจารณาถึงความชุ่มชื้นในดินด้วย

การตัดแต่งดอก หลังจากดอกบาน 1 เดือน ได้เลือกตัดดอกที่มีจำนวนมากออก เพื่อให้การติดผลบริเวณกิ่งมีจำนวนที่เหมาะสม เช่น ใน 1 กิ่งมี 10 ช่อ ดอกก็อาจตัดแต่งให้เหลือไว้ 5 ดอก หรือได้ 5 ผล วิธีนี้จะช่วยทำให้กิ่งไม่ต้องรับน้ำหนักของผลทุเรียนมากเกินไป ได้ผลทุเรียนมีขนาดเหมาะสม และเนื้อภายในผลดีมีคุณภาพ

ครูเอกชัย ตองอบ ผู้ปลูกสร้างสวนไม้ผลเล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า การเก็บเกี่ยวจะใช้วิธีนับวันคือ เมื่อดอกบานถึงวันที่ผลทุเรียนแก่สุกพอดี ให้เก็บเกี่ยวได้ จะมีอายุ 100-130 วัน วิธีการเก็บ ได้จ้างผู้ที่มีความชำนาญมาตัดเก็บ จ่ายค่าจ้างด้วยการคิดตามน้ำหนักของผลผลิตที่ตัดเก็บลงมาคือ ตันละ 1,000 บาท และใช้วิธีทยอยตัดเก็บ

การตัดเก็บผลทุเรียนที่แก่สุกพอดี จะได้เนื้อทุเรียนแน่น นุ่ม มีกลิ่นหอม หวานกลมกล่อม อร่อย จึงเป็นที่พึงพอใจตลาดผู้บริโภค ผลทุเรียนดีมีคุณภาพส่วนหนึ่งได้วางแผนทำข้อตกลงขายให้กับห้างแมคโคร อีกส่วนจะมีพ่อค้าท้องถิ่นเข้ามารับไปขายต่อ หรือไปเปิดท้ายรถยนต์ขายเองที่ตลาดในอำเภอ ราคาซื้อ-ขายขึ้นอยู่กับฤดูกาล

เงาะพันธุ์โรงเรียน เป็นอีกหนึ่งพืชที่ทยอยปลูก

เนื่องจากเป็นการปลูกสร้างไม้ผลแบบสวนผสม จึงได้จัดการปลูกเงาะ ลองกอง มังคุด สะตอและปาล์มตามสัดส่วนพื้นที่ มีการทยอยปลูกแบบต่อเนื่อง และมีผลผลิตให้ทยอยเก็บได้บ้างแล้ว ทำให้มีรายได้นำมาเป็นทุนหมุนเวียนในการจัดการสวน ทั้งค่าจ้างแรงงาน จัดซื้อปัจจัยการผลิต หรือค่าซ่อมบำรุงเครื่องมือการเกษตร และได้จัดการให้สวนไม้ผลแห่งนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้แบบเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับท่านที่เกษียณอายุหรือทุกท่านที่สนใจ

การที่ได้เตรียมและสร้างสวนไม้ผลมาถึงเวลานี้ทำให้มั่นใจว่า วิถีการดำรงชีพหลังเกษียณด้วยอาชีพทางเลือกใหม่จะช่วยทำให้ครอบครัวมีวิถีที่มั่นคงยั่งยืน

แล้วท่านที่จะเกษียณมีอาชีพใหม่พร้อมให้เลือกทำหรือยัง?

คุณทวี มาสขาว เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ เล่าให้ฟังว่า ประชากรที่นี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีพื้นที่การเกษตรราว 4 ล้านกว่าไร่ ใช้เป็นพื้นที่เพื่อการทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์หรือทำประมง สำหรับพื้นที่ปลูกและผลิตไม้ผลเชิงธุรกิจมีประมาณ 7,128 ไร่ และมีเกษตรกรปลูกไม้ผลประมาณ 1,309 ครัวเรือน

การปลูกไม้ผลทำได้ 2 วิธีคือ วิธีที่หนึ่งปลูกแบบหัวไร่ปลายนาหรือสวนหลังบ้านเพื่อบริโภคในครัวเรือนหรือแบ่งปัน และวิธีที่สองเป็นการปลูกในเชิงธุรกิจ ขายผลผลิตเป็นรายได้หลักเพื่อให้ครอบครัวมีความมั่นคง

พ่อค้าเข้ามารับซื้อทุเรียนไปขายที่ตลาด

ไม้ผล เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีการปลูกและผลิตได้ดีมีคุณภาพ มีแหล่งปลูกมากอยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอคือ กันทรลักษ์ ศรีรัตนะ ขุนหาญ และอำเภอภูสิงห์ ไม้ผลที่ปลูกได้แก่ เงาะ ทุเรียน ลำไย ลองกอง และมังคุด นอกจากนี้ยังมีการปลูกลิ้นจี่ สะตอ สละหรือฝรั่ง และพืชผัก เป็นพืชเสริมแบบผสมผสานในพื้นเดียวกันด้วย

ทุเรียน มีพื้นที่ปลูก 2,485 ไร่ เกษตรกร 496 ครัวเรือน ได้ผลผลิตเฉลี่ย 803.9 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตรวม 1,613.56 ตัน ราคาเฉลี่ย 56.67 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าผลผลิตรวม 91.44 ล้านบาท

เงาะ มีพื้นที่ปลูก 1,878 ไร่ เกษตรกร 340 ครัวเรือน ได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,927 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตรวม

31,815 ตัน ราคาเฉลี่ย 18 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าผลผลิตรวม 31.03 ล้านบาท

ลำไย มีพื้นที่ปลูก 1,730 ไร่ เกษตรกร 212 ครัวเรือน ได้ผลผลิตเฉลี่ย 919 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตรวม 11,076 ตัน ราคาเฉลี่ย 22 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าผลผลิตรวม 49.30 ล้านบาท

ลองกอง มีพื้นที่ปลูก 524 ไร่ เกษตรกร 134 ครัวเรือน ได้ผลผลิตเฉลี่ย 800 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตรวม 419.2 ตัน ราคาเฉลี่ย 45 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าผลผลิตรวม 18.86 ล้านบาท

มังคุด มีพื้นที่ปลูก 511 ไร่ เกษตรกร 127 ครัวเรือน ได้ผลผลิตเฉลี่ย 750 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตรวม 383.25 ตัน ราคาเฉลี่ย 18 บาทต่อกิโลกรัม ราคาเฉลี่ย 35 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าผลผลิตรวม 13.41 ล้านบาท

การส่งเสริมการผลิต ได้ส่งเสริมให้ปลูกสร้างสวนไม้ผลแบบผสมผสานที่ก่อให้เกิดการเกื้อกูลกันในการใช้ปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุน มีการใส่ปุ๋ยและรอน้ำอย่างเพียงพอ ส่งเสริมให้ปลูกพืชอายุสั้นหลังการปลูกสร้างสวนไม้ผลเพื่อให้มีรายได้ระหว่างรอให้ไม้ผลเจริญเติบโต และส่งเสริมการผลิตในระบบเกษตรดีที่เหมาะสมหรือ GAP =Good Agricultural Practice เพื่อให้ได้ผลไม้ดีมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของตลาดผู้บริโภค

ผู้สนใจมาเรียนรู้การปลูกและปฏิบัติดูแลไม้ผลกับครูเอกชัย ตองอบ (ซ้าย)

คุณทวี มาสขาว เกษตรจังหวัดศรีสะเกษเล่าให้ฟังว่า ท่านที่เกษียณจากการทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีข้อแนะนำว่า วิถีการดำรงชีพหลังเกษียณ เมื่อสุขภาพแข็งแรง ไม่ควรใช้ชีวิตอยู่เฉยๆ ปล่อยให้เวลาผ่านไป

ท่านที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ว่าจะสาขาใดก็ตาม เมื่อมีความพร้อมควรใช้โอกาสเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาชุมชนหรือสังคม ด้วยการเป็นที่ปรึกษา หรือวิทยากรถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน หรือทำงานง่ายๆ ได้ด้วยการทำการเกษตรแบบพอเพียง หรือแบบครัวเรือน เช่น ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ หรือขยายพันธุ์พืชด้วยการตอนกิ่ง ปักชำ เสียบยอด เพื่อใช้เป็นพันธุ์ปลูก แบ่งปัน ขายเป็นรายได้เสริม หรือทำการแปรรูปผลผลิตการเกษตร หรือผลิตภัณฑ์อื่นก็ได้เช่นกัน

หรือถ้ามีความพร้อมก็ทำในเชิงการค้าได้ก็จะเป็นหนึ่งวิถีการใช้ชีวิตที่มีคุณค่า เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดำรงชีพอยู่ได้แบบพอเพียงและมั่นคงยั่งยืน

และนี่คือเรื่องของครูเอกชัย…กับสวนไม้ผล งานใหม่หลังเกษียณเพื่อวิถีมั่นคง ผู้สร้างสวนไม้ผลเตรียมไว้ให้พร้อม เมื่อเกษียณจะได้มีงานทำ

สอบถามเพิ่มเติมที่ครูเอกชัย ตองอบ หมู่ 16 บ้านน้ำมุด ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โทร.088-752-7975 หรือคุณสุริยา บุญเย็น สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ โทร.045-616-829