หมอดินอาสา ปราจีนบุรี แหกคอก! เปลี่ยนที่นาดอนทำ “สวนทุเรียน”

ถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ฤดูทุเรียนเวียนมา ทางภาคตะวันออกอย่างจังหวัดจันทบุรี ก็ยังเป็นเจ้าแห่งวงการทุเรียนเหมือนเดิม ด้วยเป็นพื้นที่ปลูกมานาน จนกลายเป็นแหล่งที่มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในประเทศไทย มาช่วงหลายปีหลัง ทุเรียนเริ่มได้รับกระแสนิยมจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก เกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วประเทศหันมาสนใจปลูกทุเรียนกันอย่างหนาแน่น รวมถึงจังหวัดปราจีนบุรี นับเป็นภาคตะวันออกที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ แต่ก็สามารถปลูกทุเรียนได้อร่อยไม่แพ้ทางจันทบุรี

คุณวันเพ็ญ สนลอย เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน พ่วงด้วยตำแหน่งหมอดินอาสาประจำจังหวัดปราจีนบุรี อยู่บ้านเลขที่ 62/1 หมู่ที่ 5 ตำบลไม้เค็ด อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เล่าว่า พ่อแม่ทิ้งมรดกที่ดินไว้ให้ 3 ไร่ พื้นที่เดิมพ่อกับแม่ใช้ปลูกทุเรียน แต่ไม่ค่อยได้ผล ดินไม่ดี เป็นกรดเยอะ ไม่สามารถสานต่อสวนทุเรียนได้ หลังเรียนจบจึงเข้าทำงานเป็นเสมียน แต่งงานมีครอบครัวมีลูก แต่เงินเดือนเสมียนกับเงินเดือนสามีรับข้าราชการในสมัยนั้นเลี้ยงลูกไม่พอ จึงตัดสินใจลาออกจากงานกลับมาทำเกษตรลองสู้อีกสักตั้งบนที่ดินมรดก

คุณวันเพ็ญ สนลอย เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน

ล้มมาแล้วหลายครั้ง
ตั้งตัวใหม่ได้ เพราะสารชีวภาพ

“กลับมาสู้อีกครั้ง เริ่มเปลี่ยนจากสวนทุเรียนมาขยายกิ่งพันธุ์ไม้ผลขาย ตลาดไปได้ดี ขายอะไรก็ขายได้ แต่ต้องมาจบด้วยพิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ช่วงนั้นย่ำแย่มาก ค้าขายอะไรก็ไม่ดี จากเคยขายต้นพันธุ์กระท้อน ต้นละ 80 บาท ราคาตกวูบ เหลือต้นละ 8 บาท ยังขายไม่ได้” หมอดินบอก

เมื่อเจอสถานการณ์บังคับแบบนี้จะทำยังไงดี ลูกก็ยังเรียนไม่จบ ต้องกัดฟันเพื่อลูก หาวิธีพาครอบครัวให้รอด ในใจก็ยังคิดจะทำเกษตรต่อไป และคิดว่าทางรอดคือต้องทำแบบลดต้นทุนให้ได้ โชคดีที่เปิดทีวีไปเจอรายการเกี่ยวกับเกษตรพอดี เขาสอนทำเกษตรแบบลดต้นทุน มีการทำสารชีวภาพ เขามาช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยก็เริ่มสนใจ เริ่มศึกษาข้อมูลเพิ่ม ตอนนั้นที่ดูก็ไม่เข้าใจทั้งหมด เขาบอกให้เตรียมโอ่ง 1 ใบ กับน้ำตาลโมลาส เราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ที่จริงมันคือกากน้ำตาล แต่เขาไม่บอก เมื่อไม่เข้าใจไปหาข้อมูลเพิ่มอีก ออกไปหาหนังสือมาอ่าน ซื้อมาอ่านเป็น 10 เล่ม เพื่อทำความเข้าใจ แล้วลงมือปฏิบัติ เริ่มทดลอง ในแปลงเกษตร 3 ไร่ ที่มีอยู่

สูตรน้ำหมักชีวภาพตักไปผสมน้ำปล่อยรดต้นทุเรียน

การทดลองครั้งที่ 1 ใช้วิธีการหมัก นำผลไม้ในสวนหลากหลายชนิดมาผสมหมักลงถัง ขนาด 60 ลิตร ลองผิดลองถูกอยู่ 1 เดือน คิดว่าได้สูตรที่ดีแล้ว จึงนำสารที่ทำไปใช้ที่แปลงทดลอง แรกๆ ต้นก็งามแตกยอดดี ชาวบ้านเข้ามาเห็นต้นไม้ที่สวนแล้วแตกยอดดี เขาก็ถามว่าใช้อะไร เราบอกไปว่าใช้น้ำหมักที่ทำเอง เราก็บอกสูตรไปอย่างไม่หวง พอเขาใช้ไปสักพักเริ่มได้ผล ต้นงามดี เขาก็แถมสูตรใส่เพิ่มเอง ทีนี้ใส่มากไป ใบเริ่มไหม้ เราจึงบอกว่าอย่าใส่เกินสูตร ให้ตัดลงเท่าเดิม แล้วฉีดสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ใช้แล้วได้ผลดี แต่พอเริ่มเข้าปีที่ 4 ปัญหาเริ่มเกิดทั้งของเราและของชาวบ้าน ต้นไม้ไม่ยอมแตกใบอ่อน เพราะใช้สารในอัตราที่มากไป ทั้งฉีดทางใบและรดที่ต้น ทำให้ต้นไม่ยอมแตกใบอ่อน ในที่สุดต้นก็เริ่มตายไปทีละต้น ครั้งแรกถือว่าล้มเหลว

การทดลองครั้งที่ 2 เปลี่ยนจากการหมักเป็นการกลั่น กลั่นเอาแต่น้ำ เอากากไปทำปุ๋ยหมัก แล้วเอาน้ำหมักไปทำฮอร์โมน ได้ผลดี แต่กว่าจะลงตัวก็ต้องทำทิ้งไปเยอะ พอใช้แล้วดี ชาวบ้านเข้ามาขอสูตรกันเยอะ และด้วยความที่เป็นหมอดินออกงานกับทางราชการบ่อย มีคนรู้จักหลายกลุ่ม ทั้งเกษตรกร หน่วยงานราชการ รวมถึงภาคเอกชนที่ติดต่อให้เราทำฮอร์โมนส่ง เดือนละ 2,000 ลิตร ทุกอย่างต้องนิ่ง เริ่มจากทำฮอร์โมนสมุนไพร 2 อย่าง ทำจนตอนนี้มีมากกว่า 20 สูตร แจกเกษตรกรให้ลองใช้ เพราะเราลองใช้คนเดียว เราจะไม่รู้ถึงปัญหา นอกเหนือจากของสวนเรา ถ้าดีเขาต้องกลับมา พอทำแจกเยอะมากๆ เริ่มไม่ไหว เกษตรกรบอกให้ขายสิ เราก็เริ่มทำขาย ลิตรละ 120 บาท พร้อมทั้งตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้อบรมความรู้เผยแพร่สูตรแบบไม่หวง หรือเกษตรกรอยากมากินนอนอาศัยครูพักลักจำก็มาได้

ปลูกทุเรียนให้รอด บนพื้นที่นาดอน

การปลูกทุเรียน ถือเป็นงานเกษตรที่ท้าทาย ค่อยๆ ขยายปลูกมาเรื่อยๆ จาก 30 ต้น ขยายเป็น 20 ไร่ เน้นปลูกหมอนทอง ชะนี พวงมณี และพันธุ์ดั้งเดิมของปราจีนฯ

คุณวันเพ็ญ บอกว่า ดั้งเดิมพ่อปลูกทุเรียนอยู่แล้ว แต่มีปัญหาตรงพื้นที่เป็นนาดอน ดินเป็นกรด ปลูกอะไรก็ไม่งามลงแต่เงิน เราเลยเปลี่ยนจากการปลูกทุเรียนมาทำกิ่งพันธุ์ขาย พอขยายพันธุ์ไม้แต่ก็ยังไม่โค่นต้นทุเรียนทิ้งทั้งหมด ต้นไหนตายก็ปล่อยให้ตาย ต้นไหนรอดก็เลี้ยงตามสภาพ ตอนนั้นจำได้ว่าทุเรียนเหลืออยู่ประมาณ 30 ต้น

แต่สังเกตว่าทุเรียนมีแค่นี้ก็จริง แต่สามารถสร้างรายได้ให้เราได้ต้นละ 20,000-30,000 บาท สร้างรายได้ดีกว่ากิ่งพันธุ์ที่ทำขายเสียอีก นี่จึงเป็นการจุดประกายครั้งใหม่ที่ทำให้เราหันมาปลูกทุเรียนอีกครั้ง แต่ด้วยสภาพดินเป็นกรด เป็นที่นาดอนมาก่อน เราจึงต้องมาปรับปรุงดินใหม่ อย่างตอนนี้เกษตรกรหลายภาคหันมาปลูกทุเรียนกันเยอะ แต่ปลูกแล้วตายหมด เราจะสอนตั้งแต่วิธีการบริหารจัดการพื้นดิน พื้นที่จะปลูกเป็นที่สูงหรือที่ต่ำ ถ้าเป็นที่ต่ำให้ทำเป็นร่องลูกฟูก ถ้าเป็นที่สูงต้องทำลูกฟูกเตี้ย เพื่อเป็นการระบายน้ำลดลงได้ดี

วิธีการปลูก

เริ่มขยายพันธุ์ด้วยวิธีเสียบยอด พอต้นสูงประมาณ 1 เมตร จะเริ่มเสียบยอดในแปลงเลย เคล็ดลับสำคัญจะปลูกทุเรียนให้โตต้องหันต้นไปทางทิศตะวันออก เมื่อลมมาจะพัดปากใบให้เปิดจะได้รับแสงทันที เมื่อฉีดอาหารเข้าไปทางปากใบต้นจะโตไว และสมัยก่อนเกษตรกรชอบใช้ต้นใหญ่ปลูก พอปลูกต้นใหญ่ระบบรากวน ต้นไม่โต ทางที่ดีให้เปลี่ยนจากปลูกต้นใหญ่มาปลูกต้นเล็กสูง 20 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้น 6×6 เมตร หรือ 8×8 เมตร ปลูกพื้นต่ำไม่ต้องขุดหลุม วางต้นไว้เฉยๆ เอาถุงพลาสติกออกแล้วถากหญ้าถมดินขึ้นโคกเป็นลักษณะคล้ายกระทะคว่ำสัก 2 สัปดาห์ หญ้าที่คลุมไว้จะสลาย ดินจะฟูขึ้น รากจะหาอาหารได้เก่ง เพราะดินโปร่ง ไม่ต้องทำร่ม พอกลบต้นเสร็จให้ปล่อยสารชีวภาพที่หมักไว้ใช้แทนปุ๋ยปล่อยไปพร้อมน้ำทุก 2 วัน ต้นทุเรียนจะเจริญเติบโตได้ดี

 

ปลูกทุเรียนปัญหาที่พบบ่อย คือโรครากและโคนเน่า
แก้ได้ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน

เจ้าของบอกว่า ตั้งแต่ปลูกทุเรียนมาปัญหาที่เจอคือ เรื่องโรครากและโคนเน่า เนื่องจากพื้นดินตรงนี้เป็นนายกร่องมาก่อน เราอยู่กับร่องสวนมาแต่เล็ก รู้สึกว่าขี้เกียจกระโดดข้ามร่องไปมา จึงเริ่มปล่อยให้ร่องตื้น แต่การปลูกทุเรียนพอปล่อยให้ร่องตื้นปัญหาเกิดตรงฤดูฝน ระดับน้ำกับต้นเสมอกัน ทีนี้ระบบรากของทุเรียนไม่ชอบแฉะ รากก็เน่า พอฝนหมดต้นสลัดใบ โรคเริ่มเกิดก็ต้องมานั่งคิดอีกว่า จะทำอย่างไร หาอะไรมาแก้ จึงใช้ภูมิปัญญาที่มีมาคิดค้นสูตรแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าอีกครั้ง

สูตรแก้โรครากและโคนเน่า ทำได้ง่ายเห็นผลดี

  1. เตรียมถัง 200 ลิตร
  2. ขี้เถ้าแช่น้ำไว้ 2-3 คืน
  3. ตักน้ำขี้เถ้าใสๆ ใส่ขมิ้นลงไป จะเป็นขมิ้นผง ขมิ้นสด หรือขมิ้นแห้งก็ได้ อัตราการใส่ขมิ้นสด ใส่ 3-5 กิโลกรัม ถ้าเป็นขมิ้นผง ใส่ 1-2 กิโลกรัม
  4. ใส่ปูนกินหมากผสมลงไปอีก 1-2 กิโลกรัม
  5. ผสมกระดูกปลาป่น เพื่อสร้างแคลเซียมให้ต้น
  6. คนส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน น้ำจะออกเป็นสีแดง

วิธีใช้ นำไปฉีดทางใบ หรือรดทางดิน อัตราการฉีดพ่นทางใบ สารชีวภาพ 200 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร อัตราการรดทางดิน สารชีวภาพ 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร ใช้รักษาได้ทั้งโรครากและโคนเน่า หรือพริกเป็นกุ้งแห้งใช้ได้หมด

ฝากถึงเกษตรกร

อยากให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรแบบปลอดสาร เรียนรู้การทำเกษตรแบบลดต้นทุน ถ้าอยากได้สูตรปุ๋ยชีวภาพเพิ่มเติม ให้โทร.มาสอบถามได้ตลอด เพราะตนเคยล้มเหลวมาก่อน ประสบปัญหาค่าปุ๋ยแพง เจ๊งไม่เป็นท่า เมื่อลืมตาอ้าปากได้แล้วก็อยากถ่ายทอดความรู้ช่วยเพื่อนเกษตรกร เพราะตอนนี้ถือว่าตนประสบผลสำเร็จกับอาชีพเกษตรกรรมแล้ว สามารถทำแบบลดต้นทุนได้ ผลผลิตที่ได้เป็นที่น่าพอใจ

อย่างทุเรียนต้นที่มีอายุมากหน่อย ให้ผลผลิตต้นละ 150 ลูก 2 ไร่ เก็บได้เกือบ 5 ตัน รสชาติยิ่งไม่ต้องห่วงเพราะใช้สารชีวภาพ รสชาติหวานมัน เนื้อละเอียด เม็ดลีบ ราคาดี กิโลละ 180 บาท ผลผลิตไม่เคยพอขาย การันตีความปลอดภัย มีเงินเก็บเพิ่มขึ้นทุกปี จากฝากปีละ 2,000 ขยับเป็น 5,000 จนตอนนี้เงินเหลือฝากประจำได้ทุกเดือน เดือนละ 50,000 บาท ด้วยการทำเกษตรแบบลดต้นทุน ใช้สารชีวภาพเข้าช่วย

ปรึกษาข้อมูลการปรับปรุงดินหรือสูตรสารชีวภาพ ติดต่อ คุณวันเพ็ญ สนลอย ได้ที่เบอร์โทร. 081-803-4930

ต้นสูง 20 เซนติเมตร กลบด้วยหญ้าดินผสมกัน ช่วยรากหาอาหารได้ง่าย