ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
เผยแพร่ |
พื้นที่ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เป็นที่เลื่องลือถึงคุณภาพพริกพื้นเมืองที่ปลูกโดยฝีมือเกษตรกรในพื้นที่ ประเมินได้ว่า เป็นพริกพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดใน 14 จังหวัดภาคใต้ เพราะเหตุผลว่า พริกชนิดนี้ เป็นพริกที่มีความเผ็ด เมื่อนำไปปรุงในเครื่องแกงอาหารใต้ จะมีสีสวย ที่สำคัญ เมื่อปรุงเป็นอาหาร จะได้กลิ่นหอมชวนลิ้มรสของพริกในอาหารนั้นๆ
ชาวบ้านเรียกพริกพื้นเมืองของตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ชนิดนี้ว่า “พริกขาวชี” หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ “พริกขาวชัยบุรี”
ที่มาที่ไปของชื่อ ลุงจำรัส สงกลิ่น อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง บอกว่า พริกชนิดนี้เมื่อติดผล แรกเริ่มเม็ดพริกจะเป็นสีขาว จากนั้นค่อยๆ เหลือง ส้ม และท้ายที่สุด คือ ส้มเข้ม และพื้นที่ปลูกพริกมากที่สุดอยู่ที่ตำบลชัยบุรี จึงเรียกพริกชนิดนี้ว่า พริกขาวชัยบุรี
เดิมพื้นที่ตำบลชัยบุรีส่วนหนึ่ง เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก บางส่วนเป็นพรุ จึงยากแก่การทำเกษตร โดยทั่วไปเกษตรกรจำนวนหนึ่งเลือกปลูกปาล์มแบบยกร่อง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่เกิดขึ้นเป็นประจำในฤดูฝน
เกษตรกรผู้ปลูกพริกจึงเลือกปลูกพริกและเก็บเกี่ยวผลผลิตตลอดทั้งปี ยกเว้นช่วงฤดูฝน ที่ตามมาด้วยภาวะน้ำท่วมซ้ำซาก จึงหยุดปลูก แต่มีเกษตรกรบางส่วนมองการณ์ไกล เลือกใช้วิธีปลูกพริกยกร่องหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วม เช่นเดียวกับการปลูกปาล์ม ทำให้มีรายได้จากการปลูกพริกตลอดทั้งปี
คุณอุทัย รัตนชัย ชาวบ้านหมู่ 7 ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เลือกวิธีปลูกพริกแบบยกร่อง เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี
คุณอุทัย เล่าว่า ตั้งแต่บรรพบุรุษก็ปลูกพริกขาวชัยบุรี เมื่อถึงฤดูฝน พริกจะเหลือเก็บขายได้น้อย เพราะเมื่อถูกน้ำฝนพริกจะเน่า ผลออกได้ไม่มาก เกษตรกรจึงเลือกปล่อยทิ้งหรือไถดินตาก เพื่อรอลงกล้าพริกต้นใหม่ โดยเฉพาะระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม ของทุกปี น้ำท่วมสูง ไม่สามารถปลูกพริกได้ เกษตรกรผู้ปลูกพริกจะเริ่มเพาะกล้าพริกไว้ เพื่อลงปลูกในช่วงน้ำลด ประมาณเดือนมกราคม ของทุกปี
พื้นที่ปลูกพริกของคุณอุทัย เป็นพื้นที่ยกร่องสูง หน้ากว้าง 6 เมตร ความยาวตลอดพื้นที่ไร่ที่มี คือ 13 ไร่
การเพาะกล้าพริก เพาะในหลุมเพาะกล้า หลุมละ 3-4 เมล็ด เมื่อกล้าพริกเริ่มเติบโต ให้เลือกต้นกล้าที่แข็งแรงที่สุดไว้เพียงต้นเดียว และปล่อยให้กล้าพริกเติบโตในถาดเพาะกล้า ประมาณ 25 วัน ระหว่างเพาะกล้าพริก ให้เตรียมไถแปลงปลูก เพื่อตากดินไว้
หลังน้ำลด ปลายเดือนธันวาคม หรือ ต้นเดือนมกราคม ของทุกปี เกษตรกรจะนำกล้าพริกลงปลูกยังแปลงปลูก โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพที่หมักจากสมุนไพรในท้องถิ่นรองก้นหลุม หรือ ใช้ขี้วัว ขี้ไก่ ฟางข้าว ตามแต่จะหาวัตถุดิบได้ในท้องถิ่น
ระยะห่างระหว่างต้น อยู่ที่ 50 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างแถว อยู่ที่ 100 เซนติเมตร
เหตุผลที่ไม่ปลูกต้นพริกชิดเกินไป เพราะจะทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงโคนต้น ส่งผลให้ไม่ติดดอกและผล
คุณอุทัย ให้ปุ๋ยเดือนละครั้ง การให้ปุ๋ยเลือกใส่ที่โคนต้น โรยให้รอบ ใช้ปุ๋ยชีวภาพเป็นหลัก หากจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี จะนำมาผสมกับปุ๋ยชีวภาพตามสัดส่วน ปุ๋ยชีวภาพ : ปุ๋ยเคมี ในอัตรา 9 : 1 เพื่อลดต้นทุน และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสารเคมีตกค้าง รวมทั้งช่วยให้ดินปลูกมีสภาพดี ไม่สูญเสียแร่ธาตุในดินไปมากเหมือนกับการใช้สารเคมีทั่วไป
การรดน้ำ ใช้เครื่องรดน้ำทยอยรดน้ำไล่จากต้นแปลงถึงปลายแปลง คุณอุทัย บอกว่า รดน้ำไม่ควรรดให้ชุ่มเกินไป หากดินแฉะมาก จะทำให้รากพริกเน่า ควรรดพอประมาณ เหมือนรดผ่านๆ เพราะรดน้ำทั้งเช้า-เย็น และทุกวัน พริกจึงได้รับน้ำมากเพียงพอแล้ว
เมื่อพริกเริ่มออกดอก ให้ระวังโรคและแมลง โดยเฉพาะเพลี้ยไฟ แอนแทรกโนส และโรคราขาว ซึ่งที่ผ่านมา โรคและแมลงศัตรูพริก ไม่สร้างปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพริกในเขตพื้นที่ตำบลชัยบุรีเลยแม้แต่น้อย เพราะพื้นที่นี้ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ยิ่งเมื่อเกษตรกรลดการพึ่งพิงสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแล้ว ยิ่งทำให้ธรรมชาติดูแลกันเองได้อย่างไม่มีปัญหา
ลุงจรัส ให้ข้อมูลว่า พื้นที่เกษตรกรรมของตำบลชัยบุรี เป็นพื้นที่ที่มีการรณรงค์ลดละเลิกสารเคมีในพื้นที่เกษตรกรรม โดยเลือกใช้สารชีวภาพในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชมาแทน เช่น น้ำหมักสมุนไพร ใช้สำหรับฉีดในช่วงที่พริกขาวชัยบุรีออกดอก และสมุนไพรสามารถนำมาฉีดพ่นเพื่อป้องกันศัตรูพืชได้ตลอดเวลา ไม่มีสารสะสมในเม็ดพริก และประโยชน์ที่ได้รับ คือ ผู้บริโภคได้บริโภคผักปลอดสาร ส่วนผู้ผลิตอย่างเกษตรกรก็ได้ลดต้นทุนการผลิตลง
“พริกขาวชัยบุรี ปลูกง่าย ดูแลง่าย โรคและแมลงศัตรูพริกพบน้อยมาก การใช้สมุนไพรฉีดพ่นเมื่อพริกเริ่มออกดอก ได้ผลดีมาก น้อยครั้งที่ประสบปัญหาเพลี้ยไฟ ซึ่งปัญหาโรคและแมลงชาวบ้านที่ปลูกพริกไม่กังวล แต่ปัญหาที่กังวลมากที่สุด คือ ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งทำให้ขาดรายได้จากการปลูกพริกนาน 2-3 เดือนทีเดียว” คุณอุทัย กล่าว
วิธีแก้ปัญหาของคุณอุทัย ซึ่งคุณอุทัยคาดว่าได้ผล คือ การปลูกพริกแบบยกร่อง เป็นการยกแปลงปลูกให้สูงจากพื้น และสูงจากระดับน้ำท่วมทุกปี โดยความสูงของแปลงอาศัยการประเมินความสูงของระดับน้ำที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การปลูกพริกยกร่องสูง หลายแปลงในตำบลชัยบุรี ประสบความสำเร็จไปแล้ว ส่วนแปลงของคุณอุทัย จะเริ่มในฤดูกาลหน้า
คุณอุทัย อธิบายว่า หลังจากการลงกล้าพริก ประมาณ 90 วัน พริกจะเริ่มติดผล เมื่อเม็ดพริกเริ่มมีสีเหลืองหรือสีส้มจางๆ บนเม็ดพริก แสดงว่าเริ่มเก็บขายได้แล้ว ซึ่งการเก็บพริกในพื้นที่ 13 ไร่ของคุณอุทัย จำเป็นต้องจ้างแรงงานเก็บ 15-20 คน เก็บพริกหมดทั้ง 13 ไร่ ใช้เวลาประมาณ 3 วัน จากนั้นเว้นช่วงให้พริกสุกเก็บจำหน่ายได้ ประมาณ 1-2 วัน ก็เริ่มเก็บพริกจำหน่ายได้ใหม่
“ในการเก็บแต่ละครั้ง ใช้เวลา 3 วัน เก็บเม็ดพริกได้ครั้งละประมาณ 600 กิโลกรัม แบ่งค่าเก็บให้กับแรงงานที่จ้างมา กิโลกรัมละ 10-20 บาท ขึ้นกับราคาพริกที่จำหน่ายได้ในช่วงนั้นๆ สำหรับพริกที่เก็บแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำมาคัดขนาดใหม่ เพราะแม่ค้ารับซื้อทุกขนาดคละกันไป และเข้ามารับซื้อพริกถึงแปลง ให้ราคาขึ้นกับฤดูกาล หากเป็นช่วงที่พริกขาวชัยบุรีให้ผลผลิตจำนวนมาก ราคาพริกอาจตกลง เหลือเพียงกิโลกรัมละ 50 บาท แต่ถ้าพริกขาวชัยบุรี ให้ผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย อาจได้ราคากิโลกรัมละ 220 บาททีเดียว”
ที่ผ่านมา ราคาพริกขาวชัยบุรีในแปลงของคุณอุทัย ให้ราคาต่อกิโลกรัมสูงมาก เนื่องจากคุณอุทัยสามารถทำให้พริกขาวชัยบุรีให้ผลผลิตนอกฤดูกาล จึงจำหน่ายได้ราคาดี ซึ่งพริกขาวชัยบุรี ก็ให้ผลผลิตตลอดปี ทำให้คุณอุทัยมีรายได้ในแต่ละปีหลายล้านบาท
พื้นที่ปลูกพริกขาวชัยบุรี ในพื้นที่ตำบลชัยบุรี โดยเฉพาะหมู่ 2 หมู่ 4 หมู่ 5 และหมู่ 7 เคยมีพื้นที่ปลูกมากเกือบ 2,000 ไร่ แต่จากปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในทุกปี เกษตรกรผู้ปลูกพริกบางรายถึงกับถอดใจ เปลี่ยนไปปลูกปาล์มแทน ทำให้ปัจจุบันเหลือพื้นที่ปลูกพริกประมาณ 600 ไร่เท่านั้น
สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกพริกขาวชัยบุรี พริกพื้นเมืองที่การันตีความเผ็ด หอม ในเครื่องแกงของชาวใต้ ได้ที่ คุณลุงจรัส สงกลิ่น อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง หรือโทรศัพท์สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 087-1071146
เมื่อวันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ.2564