เรื่องหอมๆ ของ “มะพร้าวน้ำหอม” เช็คส่วนไหนว่าหอม แล้วอยู่ดีๆ ทำไมไม่หอม?

“มะพร้าวน้ำหอม” เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่สนใจของเกษตรกร ตลาดที่สําคัญของมะพร้าวน้ำหอม ในต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และตะวันออกกลาง เป็นต้น

มะพร้าว เป็นพืชที่ปลูกและดูแลรักษาง่าย ไม่จําเป็นต้องใช้เทคนิคหรือประสบการณ์เหมือนไม้ผลชนิดอื่นๆ สามารถให้ผลผลิตได้เร็ว คือหลังจากปลูกประมาณ 3 ปี ก็เริ่มเก็บผลผลิตขายได้แล้ว ราคาจําหน่ายผลอ่อนก็อยู่ในเกณฑ์ดี

มะพร้าวอ่อนที่เราบริโภคสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ มะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวน้ำหวาน ซึ่งมีข้อแตกต่างกัน คือ มะพร้าวน้ำหอม จะมีกลิ่นหอมในตัวเองคล้ายใบเตย ส่วนมะพร้าวน้ำหวานจะมีรสหวานเพียงอย่างเดียว

ความหอมของมะพร้าวน้ำหอม

ความหอมในตัวเองของมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งไม่พบในมะพร้าวอ่อนทั่วๆ ไป ทําให้เรานิยมบริโภคมะพร้าวพันธุ์นี้ เมื่อพิจารณาส่วนต่างๆ ของมะพร้าวน้ำหอม จะพบว่า มีส่วนที่เราสามารถทดสอบความหอมได้ เช่น
1. ปลายรากอ่อนของหน่อมะพร้าว
2. กะลาของผลอ่อน
3. น้ำและเนื้อมะพร้าว
นอกจากนี้ อาจมีส่วนอื่นๆ ที่แสดงความหอม แต่ไม่สามารถทดสอบได้ด้วยการดม อาจจะต้องใช้เทคนิคอื่นๆ มาช่วย ตามปกติสารหอมระเหยในพืชจะอยู่ในต่อมหรือในท่อของส่วนใดส่วนหนึ่งของพืช ดังนั้นความหอมจึงเกิดขึ้นได้ในเนื้อเยื่อของส่วนต่างๆ ของมะพร้าวน้ำหอมนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว

สาเหตุที่มะพร้าวน้ำหอมไม่หอม

ปัญหาที่ผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมพบบ่อยๆ คือ ความหอมจะหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ถึงแม้ว่าหน่อพันธุ์ที่ปลูกจะเป็นพันธุ์แท้และเคยหอมมาก่อน แต่บางครั้งก็เหมือนกับบริโภคมะพร้าวน้ำหวานธรรมดา

เพื่อต้องการศึกษาสาเหตุของความหอมที่ไม่คงที่ ได้ทําการทดลองโดยคัดเลือกต้นมะพร้าวน้ำหอมที่เป็น พันธุ์แท้มาจํานวนหนึ่ง แล้วใช้เป็นต้นแม่มาผสมกับละอองเกสรตัวผู้ของมะพร้าวพันธุ์อื่นๆ ได้แก่ มะพร้าว ใหญ่ มะพร้าวน้ำหวาน (หมูสีเขียว) และมะพร้าวน้ำหอมต้นอื่นที่อยู่ในแปลงเดียวกัน นอกจากนี้ ยังได้ผสมตัวเองในจั่นเดียวกันอีกด้วย

ภาพจากหนังสือ “มะพร้าวพืชสารพัดประโยชน์” สำนักพิมพ์มติชน

ผลการทดลองตามตาราง พบว่าละอองเกสรตัวผู้มีอิทธิพลต่อความหอมของเนื้อมะพร้าว (Xenia Effect) มะพร้าวน้ำหอมที่ผสมกับมะพร้าวใหญ่และมะพร้าวน้ำหวาน ผลมะพร้าวจะไม่มีความหอม แต่ถ้าผสมตัวเอง หรือผสมกับมะพร้าวน้ำหอม ผลมะพร้าวที่ได้จะมีความหอมไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังพบว่า ละอองเกสรตัวผู้ ก็มีผลต่อความหวานของน้ำมะพร้าวเช่นเดียวกัน