คนระยอง เริ่มทำสวน 2 ไร่ ทุกวันนี้ ผลิตทุเรียนได้ปีละ 120 ตัน มีปุ๋ยชีวภาพเป็นตัวช่วย

สองสามปีมานี้ ไม้ผลชนิดหนึ่งที่มาแรงเห็นจะได้แก่ ทุเรียน นอกจากเป็นผลไม้รสชาติดีแล้ว การซื้อขายกับต่างประเทศไปได้คล่อง บางปีผลผลิตมีน้อย ส่งผลให้ราคาขายจากสวนดี ถึงขั้นดีมาก ด้วยเหตุนี้ จึงมีเกษตรกรปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น อาจจะโค่นเงาะทิ้ง โค่นยางพาราลง แล้วปลูกไม้ยอดนิยมอย่างทุเรียนแทน

ขณะเดียวกัน เกษตรกรที่ปลูกอยู่แล้ว ก็เอาใจใส่สิ่งที่มีอยู่เป็นพิเศษ เพราะขายผลผลิตได้ จึงมีกำลังซื้อปัจจัยการผลิต ส่งผลทำให้แวดวงที่เกี่ยวข้องพลอยคึกคักไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นต้นพันธุ์ ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช แรงงาน แม้แต่ค่าไฟฟ้าสูบน้ำมารดต้นทุเรียน ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น

ทีมงานนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน อยากดูแปลงทุเรียนเด่นๆ สักแปลง

เมื่อสอบถามไปยัง คุณทรงธรรม ชำนาญ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง ได้รับคำแนะนำให้ไปพูดคุยกับ ลุงเสส ใจดี ที่กองดิน

บ้านลุงเสสไปไม่ยาก

พบหน้าลุงเสส ถามว่าชื่อลุงแปลว่าอะไร “ก็อยู่ดีมีสุข อยากเป็น ส.ส. ก็ตัดสระเอออก…อีกอย่าง ส.เสือ 2 ตัวแข็งแรงดี” ลุงตอบอย่างอารมณ์ดี

เริ่มต้นปลูกทุเรียน 2 ไร่ ทุกวันนี้ มี 68 ไร่

ลุงเสส  อยู่หมู่ที่ 7 บ้านชำสมอ ตำบลกองดิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ตอนเด็กๆ ชีวิตของลุงลำบากมาก มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน เมื่อแต่งงานปี 2507 ได้รับมรดก 2 ไร่ เพราะอยากทำสวน จึงขี่จักรยานไปซื้อพันธุ์ทุเรียนที่สองสลึง อำเภอแกลง ซึ่งอยู่ไกลมาก นำมาปลูก ขณะเดียวกันก็ช่วยทำนาปลูกข้าวในที่นาของครอบครัว

เวลาผ่านไป 7-8 ปี ขายทุเรียนชะนีมีผลผลิตขายได้ 1,700 บาท ต่อต้น ขณะที่ทำนาได้ข้าว 10 เกวียน ขายแล้วเหลือกำไร 3,000 บาท จุดนี้เองที่อยากให้ลุงทำสวน

ทุเรียนหมอนทอง

“ปลูกทุเรียนแทบไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี มีลูกออกมา กระดุมสวยๆ ขายลูกละ 15 บาท ชะนี ลูกละ 5 บาท ต่อมาได้แลกที่ดินกับพี่ชายอีก 2 ไร่กว่าๆ พี่ชายอยากได้ที่ลุ่ม เราเอาที่ดอน รวมแล้วมีที่ดินเกือบ 5 ไร่ ก็ทำสวนแล้วขยายเรื่อยมา ตอนนี้มีหลายแปลง ช่วยรวมหน่อยสิ ตรงนี้ 11 ไร่ ตรงโน้น 22 ไร่ ล่าสุดนี้ 9 ไร่…ที่นั่นอีก…ไร่” ลุงเล่า

รวมแล้วลุงปลูกทุเรียนในพื้นที่ 68 ไร่ พันธุ์ที่ปลูกมี กระดุม 60 ต้น ชะนีดั้งเดิมเหลืออยู่ 10 ต้น พวงมณี 5 ต้น ก้านยาว 2 ต้น ที่เหลือเป็นหมอนทอง เมื่อรวมแล้ว ลุงมีทุเรียนราว 1,300 ต้น

ผสมผสานเคมีและชีวภาพ

ผลผลิตที่สวนของลุง เริ่มเก็บขายได้ ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนมิถุนายน

หลังเก็บเกี่ยว เจ้าของใส่ปุ๋ย สูตร 12-3-3 ให้ต้นละ 1 กิโลกรัม จากนั้นให้อีก 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละเดือน เท่ากับว่า ต้นหนึ่งให้ปุ๋ย สูตร 12-3-3 จำนวน 3 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี

ถึงเดือนกันยายน ใส่ปุ๋ยเตรียมต้นเพื่อออกดอก ใส่สูตร 8-24-24 ต้นละ 1 กิโลกรัม ราวพฤศจิกายน ทุเรียนกระดุมจะเริ่มออกดอกมาก่อน ตามด้วยหมอนทอง ปุ๋ยเคมีจะหยุดอยู่แค่นี้ มีเจ้าหน้าที่เกษตรสำนักงานเกษตรจังหวัดระยองแนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่ม แต่ลุงยังไม่ได้ใส่ ลุงบอกว่า ปุ๋ยชีวภาพช่วยได้มาก

ปุ๋ยชีวภาพพร้อมใช้แล้ว

สูตรเด็ดปุ๋ยชีวภาพมีดังนี้

ผักบุ้ง 3 กิโลกรัม กล้วยน้ำว้าสุกปอกเปลือก 3 กิโลกรัม น้ำอ้อย 2 กิโลกรัม หมักไว้ 16 วัน เก็บไว้ในสภาพร่ม อย่าเปิดฝา

จากนั้นเปิดฝาเติมน้ำ 20 ลิตร หมักไว้อีก 15 วัน นำน้ำที่ได้ 10 ลิตร ผสมกับน้ำ 200 ลิตร ใส่น้ำอ้อย 10 กิโลกรัม หมักอีก 6 เดือน จะได้ปุ๋ยชีวภาพเข้มข้น

นำน้ำปุ๋ยอายุ 6 เดือน 1 ลิตร เทใส่บัวรดน้ำเติมน้ำให้เต็ม จากนั้นนำไปรดขณะที่ให้น้ำทุเรียน โดยรดตามรัศมีสายน้ำเหวี่ยง

สรุปคือ ให้ปุ๋ยแล้วรดน้ำตามนั่นเอง ระยะเวลาที่ให้นั้น ลุงเสส บอกว่า ตอนผลทุเรียนอายุ 2-3 ขีด ถึงครึ่งกิโลกรัม เหมาะสมที่สุด ปุ๋ยชีวภาพให้ปีละครั้งเท่านั้น

หากต้องการฉีดพ่นทางใบ ใช้น้ำปุ๋ยอายุ 6 เดือน ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นให้ในวันที่ไม่มีแดด ลุงเสส บอกว่า การให้ปุ๋ยชีวภาพควรให้แต่เช้าก่อนแดดออก จะได้ผลดีมาก

การดูแลอย่างอื่น ช่วงที่แตกใบอ่อน ได้รับคำแนะนำว่า ต้องระวังเพลี้ยไฟ หากมีควรฉีดพ่นสารเคมีให้ แล้วคอยสังเกต ระยะต่อมา หากไม่มีระบาดก็ไม่ต้องฉีด รวมทั้งไรแดง ที่มักทำลายใบแก่

การให้น้ำก็สำคัญ ทุเรียนขาดน้ำไม่ได้ ปริมาณการให้มากน้อยแค่ไหนนั้น ช่วงก่อนออกดอกให้ไม่มากนัก ช่วงติดผลต้องดูแล เพราะมีผลต่อผลผลิตอย่างมาก

หมักปุ๋ย เห็นอย่างนี้มีกลิ่นหอมมาก

เทคนิคเพิ่มคุณภาพ
การ “ไว้ผล” สำคัญไม่น้อย

เนื่องจากคลุกคลีอยู่กับทุเรียนมานาน มองเห็นสภาพต้นก็รู้แล้วว่า ควรจะไว้ผลต่อต้นเท่าไร

“ผมอยู่กับทุเรียนมากว่า 50 ปี จับทางได้แล้ว ดูจากคุณภาพทุเรียนที่ได้รับค่อนข้างดี แต่ก่อนนี้เอาไว้ทุกลูกที่ติด มองดูเต็มต้นไปหมด ต่อมาเรียนรู้ว่ามันมากเกินไป อาหารไม่พอไปเลี้ยงผล ขนาดของผลทุเรียนจึงเล็ก พูไม่เต็มและผลบิดเบี้ยวไปบางส่วน เดี๋ยวนี้ผมตัดแต่งเอาไว้แค่ ต้นละ 60-80 ผล เท่านั้น ขึ้นกับขนาดของต้นทุเรียน และจะดูจำนวนกิ่งใหญ่ที่จะเอาไว้ผลด้วย

สังเกตไหมว่าทุเรียนหลายต้นที่กิ่งล่างจะไม่มีลูกทุเรียนเลย เพราะถูกตัดแต่งออกไปหมด เนื่องจากลูกไม่สมบูรณ์ ตรงนี้เพื่อให้อาหารส่งขึ้นไปเลี้ยงลูกที่กิ่งข้างบน การตัดแต่งลูกทุเรียนผมจะตัดแต่ง 4 ครั้ง ตามระยะการเติบโตของลูกทุเรียนคือ

ครั้งที่ 1 ระยะที่ผลทุเรียนอ่อนมีขนาดเท่ากับไข่นกกระทา จะตัดผลอ่อนที่มีหางแย้ (ส่วนที่ยื่นจากปลายผลทุเรียนอ่อน ยาวประมาณ 1-2 นิ้ว ดูคล้ายปลายหางแย้) ที่โค้งบิดเข้าหาผลทิ้งไป เลือกเอาไว้เฉพาะผลทุเรียนที่มีหางแย้ตรงเท่านั้น เพื่อจะได้ผลทุเรียนที่สมบูรณ์ พูเต็มทุกด้าน หากเลือกผลอ่อนที่หางแย้บิดเบี้ยวไว้ จะได้ทุเรียนที่มีทรงผลบิดเบี้ยว บางส่วนของผลจะลีบ ไม่มีเนื้อหรือไม่เต็มพู (ทรงแป้ว) ไม่ได้คุณภาพ ขายไม่ได้ราคา”

ทุเรียนกระดุม ต้นนี้เอาไว้ 95 ผล

“ครั้งที่ 2 ตัดแต่งผลหลังจากครั้งแรก ประมาณ 15-20 วัน ดูว่าขนาดผลทุเรียนประมาณไข่ไก่ รูปทรงผลจะเริ่มชัดเจนขึ้นกว่าครั้งแรก ก็ยังคงเลือกตัดผลทุเรียนที่มีหางแย้บิดเบี้ยวออกทิ้งไป คำนวณว่าเอาไว้ 60-80 ลูก ต่อต้น อาจเผื่อไว้อีกนิดหน่อยก็ได้ การเลี้ยงผลจะเลือกไว้เฉพาะกับกิ่งที่ใหญ่ โดยเฉลี่ยก็ราวๆ 2-4 ผล ต่อกิ่ง เท่านั้น

ครั้งที่ 3 ตัดแต่งผลทุเรียนเมื่อมีขนาดของผลเท่ากับกระป๋องนมโดยประมาณ เลือกตัดผลทุเรียนที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไป ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนมากแต่จะมีหลงเหลือมาไม่มากนัก ผลทุเรียนเกือบทั้งหมดค่อนข้างสมบูรณ์ดีแล้ว ครั้งที่ 4 นั้นเป็นครั้งสุดท้ายก็จะเข้าไปดูว่ายังมีผลทุเรียนที่บิดเบี้ยว ทรงไม่ได้คุณภาพหลงเหลืออีกหรือไม่ หากพบก็ตัดทิ้งไป ปกติก็จะมีสัก 1-3 ผล ต่อต้น เท่านั้น แต่หากพอรับได้ก็จะเก็บไว้ตัดขายต่อไป” คุณลุงเสส อธิบาย

ปลูกใหม่

ผลผลิตปีหนึ่งกว่า 100 ตัน

ลุงเสส มีลูก 3 คน แต่ละคนมีครอบครัวแล้ว สมาชิกในครอบครัวช่วยกันทำสวนอย่างแข็งขัน  ลุงมีผลผลิตจำหน่าย 123 ตัน เฉลี่ยขายได้ทั้งปี กิโลกรัมละ 70 บาท

ลูกชายพูดกับลุงว่า ผลผลิตคงไม่ต่ำกว่า 150 ตัน เพราะติดผลผลิตดี ทุเรียนที่ปลูกใหม่ก็ให้ผลผลิตมากขึ้น

ผลผลิตชุดแรกที่ขายได้ เดือนมีนาคม   เป็นทุเรียนกระดุม ราคาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 100 บาท ดีกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งขายได้ราคากิโลกรัมละ 70 บาท

ผลผลิตกระดุม ของลุงมีราว 10 ตัน

“แปลงที่ปลูกกระดุม อยู่ห่างจากบ้านพอสมควร ผลผลิตทุเรียนกระดุมที่นี่ เคยมีคนมาซื้อส่งออกต่างประเทศ เนื้อดีมาก ส่วนหนึ่งเมล็ดลีบ”

ต้นสมบูรณ์มาก

ลุงบอก และเล่าต่ออีกว่า

“ทุเรียนปลูกได้หลายจังหวัด อีสานบางจังหวัดปลูกได้ ทางเหนือก็เช่นกัน แต่ที่ใดหนาวจัดมีน้ำค้างตอนกลางคืน กลางวันร้อนลมแรงใบจะแห้งกรอบ ปลูกไม่ดี”

เป็นประสบการณ์ของผู้ปลูกทุเรียน ที่ทำมายาวนานกว่า 50 ปี ถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่น่าสนใจยิ่ง

จึงไม่แปลกใจว่าขณะที่พูดคุยกับคุณลุง มีคนแวะเวียนมาคุยเรื่องทุเรียน ทั้งที่นัดและไม่ได้นัดหมาย จากระยอง รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงอย่างจันทบุรี ส่วนคณะดูงานจากไกลๆ นั้น ลุงบอกว่า “มาเป็นประจำ”