สวนมังคุดให้ระวัง “เนื้อแก้ว-ยางไหล” และเพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟทำลายผลอ่อน

ในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อน และมีฝนตก กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนมังคุดที่มักประสบปัญหาอาการเนื้อแก้วและยางไหลและเพลี้ยไฟ มักพบเข้าทำลายในระยะที่ต้นมังคุดติดผลและมีผลแก่กำลังเก็บเกี่ยว สำหรับวิธีป้องกันปัญหาอาการเนื้อแก้วและยางไหล ให้เกษตรกรสังเกตมังคุดจะแสดงอาการเนื้อเป็นสีใส มีลักษณะฉ่ำน้ำอยู่ภายใน หรือพบน้ำยางสีเหลืองไหลอยู่ภายในผล และน้ำยางบางส่วนไหลออกมาภายนอกผล จะเห็นผิวเปลือกผลมังคุดเป็นจุดๆ หากพบอาการรุนแรง บริเวณผิวเปลือกของมังคุดจะมีรอยร้าว

มังคุดผลแก่ยางไหล2

แนวทางป้องกันปัญหาอาการเนื้อแก้วและยางไหล เกษตรกรควรให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอตาม ความต้องการน้ำของต้นมังคุด ทุก 3 วันในกรณีที่ฝนไม่ตก หากมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระบายน้ำออกจากแปลงให้ได้มากที่สุด เพื่อลดการเกิดอาการเนื้อแก้วและยางไหลของมังคุด จากนั้นให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยบำรุงผลมังคุดตามค่าวิเคราะห์ดินและใบพืช หากไม่ได้มีการวิเคราะห์ดินและใบพืช เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 หรือสูตร 12-12-17+2 (MgO) อัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้น เท่ากับ 1 ใน 3 ของเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม เช่น ต้นมังคุดขนาดทรงพุ่ม 3 เมตร ให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมี 1 กิโลกรัมต่อต้น หรือต้นมังคุดขนาดทรงพุ่ม 6 เมตร ให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมี 2 กิโลกรัมต่อต้น โดยให้หว่านปุ๋ยใต้ทรงพุ่มบริเวณที่มีน้ำชลประทานซึมไปถึง และงดการใช้สารเคมีกับผลมังคุดแก่ใกล้เก็บเกี่ยว เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างในผลผลิต

มังคุดผลแก่ยางไหล

ส่วนเพลี้ยไฟ จะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเข้าทำลายดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืช มักพบการระบาดในระยะที่มังคุดออกดอกถึงติดผลอ่อน อาจทำให้ดอกและผลอ่อนร่วง ผลที่ไม่ร่วงเมื่อมีการพัฒนาผลโตขึ้น จะเห็นรอยทำลายชัดเจน เนื่องจากผิวเปลือกมังคุดมีลักษณะขรุขระที่เรียกว่า ผิวขี้กลาก ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ หากพบให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดอิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 3 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งติดต่อกันหลายครั้ง เพราะจะทำให้เพลี้ยไฟสามารถต้านทานสารฆ่าแมลงได้