“ทุเรียนน้ำกร่อย” ที่สุดของความอร่อย ที่สวน BB จันทบุรี

ตามที่ทาง สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้เปิดเผยข้อมูลว่า พบของดีอำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี มีทุเรียนปลูกในพื้นที่น้ำกร่อย แม้ทุเรียนจะปลูกได้ทุกระดับความสูงจากน้ำทะเลได้ ระหว่าง 0-650 เมตร แต่ปกติทุเรียนไม่ชอบน้ำกร่อยและน้ำเค็ม เพราะจะทำให้ใบไหม้และยืนต้นตาย แต่ในที่สุดก็ได้ค้นพบเกษตรกรผู้ฉีกกฎธรรมชาติ สามารถปลูกทุเรียนในพื้นที่น้ำกร่อยได้อย่างมีคุณภาพ จนกลายเป็นจุดเด่นสร้างเอกลักษณ์ สร้างชื่อเสียงให้กับวงการทุเรียนเมืองจันท์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

คุณบุษบา นาคพิพัฒน์ เจ้าของสวนทุเรียนน้ำกร่อย

คุณบุษบา นาคพิพัฒน์ อยู่บ้านเลขที่ 65/2 หมู่ที่ 14 ตำบลนายายอาม อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี เจ้าของสวนทุเรียนน้ำกร่อย เล่าให้ฟังว่า พื้นที่สวนทุเรียนตรงนี้เป็นที่มรดกตกทอดตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ของสามี ซึ่งตนและสามีเข้ามาเริ่มทำสวนอย่างเต็มตัว เมื่อปี 2540 เริ่มต้นจากงานที่หิน เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้เป็นน้ำกร่อยปลูกทุเรียนไม่ค่อยดี ประกอบกับการตลาดที่ยังไม่กว้างขวาง เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อตอน 20 กว่าปีที่แล้ว ล้งรับซื้อทุเรียนที่จันทบุรียังมีไม่มาก ผลผลิตมีเยอะเกินความต้องการของตลาด จึงต้องดิ้นรนเอาผลผลิตมาขายไกลถึงตลาดสี่มุมเมือง มาเปิดท้ายขายกันเอง ลำบากมากในตอนนั้น ใช้เวลาล้มลุกคลุกคลานอยู่ประมาณ 10 ปี จึงเริ่มมาคิดว่าจะต้องกลับมาปรับเปลี่ยนการตลาดใหม่ ประกอบกับที่พื้นฐานนิสัยเป็นคนชอบคุยชอบสื่อสารกับคนอยู่แล้ว จึงใช้ข้อดีตรงนี้หาลูกค้าคุยต่อเนื่องมาจนได้ลูกค้าประจำตามมาถึงสวน โดยตกลงราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาด

แต่พอนานๆ ไปก็เริ่มรู้สึกว่าในเมื่อผลผลิตของเรามีคุณภาพ ทำไมต้องยอมให้พ่อค้ามากำหนดราคา จึงเริ่มเปลี่ยนมุมมองการตลาดใหม่ มีการเจรจาตกลงราคาซื้อขายกับพ่อค้าคนกลางใหม่ บนเงื่อนไขที่ว่าทางสวนจะเน้นตัดเอาเฉพาะทุเรียนที่มีคุณภาพให้ จะตัดเฉพาะทุเรียนแก่ที่มีอายุประมาณ 120-135 วัน เท่านั้น และถ้าเจอทุเรียนอ่อนสามารถเอามาเปลี่ยนได้เลย แต่ถ้าที่สวนตัดทุเรียนแก่ไปให้ทุกลูก ก็ต้องให้ค่าความแก่ จากเดิมสมัยก่อนทุเรียนราคากิโลกรัมละ 80 บาท ก็ขอขายในราคากิโลกรัมละ 100 บาท และลูกค้าต้องมารับเอง ซึ่งตนยึดหลักความซื่อสัตย์กับอาชีพมาตลอด ใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไปถึงความพิถีพิถันในการเก็บเกี่ยว จึงทำให้มีลูกค้าประจำมายาวนานจากที่เคยมีเจ้าหลักอยู่ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ปากช่อง (นครราชสีมา) ชลบุรี ปราจีนบุรี ถึงปัจจุบันได้ขยายฐานลูกค้าไปถึง 10 จังหวัด และล่าสุดปีที่ผ่านมาที่สวนได้มีการขยายฐานการตลาดไปสู่ออนไลน์อีกด้วย

ทุเรียนน้ำกร่อยเนื้อสุกสีเหลืองอมส้มน่ารับประทาน

เกษตรกรนักสู้
“สู้กับน้ำกร่อยจนได้ดี”

คุณบุษบา เล่าถึงที่มาของการเป็นเกษตรกรนักสู้น้ำกร่อยว่า สืบเนื่องจากพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่มรดกที่คุณพ่อสามียกให้ ซึ่งท่านก็ได้บอกก่อนแล้วว่า “พื้นที่พ่อยกให้ตรงนี้ ต้องระวังกันให้ดีนะ มันมีข้อเสียอย่างหนึ่งคือ เรื่องน้ำ น้ำมันเค็มนะ” ในตอนนั้นตนและสามีก็ยังไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไร ว่าปัญหาน้ำเค็มจะส่งผลกระทบอะไรกับสวนบ้าง เพราะว่าเรายังไม่เคยเริ่มทำสวน จึงยังไม่รู้ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น แต่พอได้เริ่มลงมือทำ ก็ค่อยๆ ได้เรียนรู้แล้วว่าปัญหาน้ำเค็มนั้นจะส่งผลกระทบอะไรกับพืชบ้าง ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปลูกทุเรียนในพื้นที่น้ำกร่อยคือ ทุเรียนเริ่มเกิดใบไหม้และยืนต้นตาย จึงได้มานั่งวิเคราะห์ถึงปัญหาและวิธีแก้ไข ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อต่อสู้กับน้ำกร่อยและอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติให้ได้ด้วยการหมั่นสังเกตและทดลองจนสามารถปลูกทุเรียนในพื้นที่น้ำกร่อยได้ประสบผลสำเร็จ

ขนาดผลได้มาตรฐาน

เทคนิคการปลูกทุเรียนน้ำกร่อย

เจ้าของบอกว่า ที่สวนมีพื้นที่ปลูกทุเรียน จำนวน 2 แปลง ครั้งนี้ขอยกตัวอย่างแปลงปลูกทุเรียนน้ำกร่อย บนพื้นที่ 12 ไร่ ปลูกทุเรียนหลายสายพันธุ์ด้วยกัน เช่น หมอนทอง พวงมณี นกกระจิบ ก้านยาว ชะนี นวลทองจันท์ ปลูกแบบระยะชิด 1 ต้น ไว้ลูกได้ไม่เกิน 70-150 ลูก ต่างจากสวนทั่วไป ที่จะปลูกความห่างที่ 8×8 หรือ 9×9 เมตร ในตอนแรกที่ปลูกไม่ได้คิดว่ามันจะอยู่ได้ไหม แต่ด้วยความที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ แต่อยากปลูกทุเรียนให้ได้เยอะๆ ก็เลยเป็นที่มาของการปลูกทุเรียนระยะชิด ซึ่งการปลูกทุเรียนระยะชิดข้อดีคือได้ต้นที่เพิ่มขึ้น ผลผลิตก็เพิ่มขึ้น ปลูกถี่แต่ไม่เป็นโรครากเน่าโคนเน่า ด้วยที่ปลูกถี่และต้นสูงชะลูดเพื่อหาแสง ทำให้ต้นไม้ทิ้งกิ่งล่างเลย ทำให้แสงเข้ามาใต้ต้นได้เป็นอย่างดีและเกิดการถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่อับแสง

ใช้ลำไม้ไผ่มาพาดยึดกลางต้นทุเรียน เพื่อทำเป็นสะพานเดิน สำหรับไปยังทุเรียนอีกต้นรอบสวน

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นผลดีกับทุเรียนอยู่แล้ว เพราะทุเรียนไม่ชอบที่อับแสงและอากาศทึบ แต่มีข้อเสียคือ ต้นสูงชะลูด ส่งผลให้การปีนขึ้นลงต้นทุเรียนแต่ละต้นต้องใช้กำลังมาก ทำให้เหนื่อยและหมดแรง จึงแก้ปัญหาด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ลำไม้ไผ่มาพาดยึดกลางต้นทุเรียนเพื่อทำเป็นสะพานเดิน สำหรับไปยังทุเรียนอีกต้นรอบสวน เพื่อการเก็บเกี่ยวผลทุเรียนได้ง่ายขึ้น ทำให้มีการปีนขึ้นและลงต้นทุเรียนเพียงครั้งเดียว

ปลูกระยะชิด

วิธีการแก้ไขจัดการน้ำกร่อย

  1. การตรวจวัดความเค็ม …ซึ่งต้องบอกไว้ตรงนี้เลยว่า การปลูกทุเรียนน้ำกร่อยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่เกษตรกรต้องมีความใส่ใจหมั่นศึกษาวัดระดับเป็นประจำ เรื่องน้ำคือต้องรู้จังหวะน้ำด้วยว่า น้ำจะเค็มเมื่อไร การวัดระดับความเค็มจะต้องวัดทุกเดือน โดยเฉพาะในช่วงเดือน   4 เดือน 5 น้ำเค็มจากทะเลจะหนุนเข้ามาจนเป็นน้ำเค็ม ในช่วงนี้ต้องเฝ้าติดตามเป็นพิเศษ

“ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการปลูกทุเรียนในพื้นที่น้ำกร่อยคือ น้ำที่มีความเค็มจะไปบล็อกธาตุอาหารบางส่วน ทำให้พืชไม่สามารถดูดกินธาตุอาหารได้เต็มที่ และด้วยความเค็มของน้ำ จะมีคลอไรด์ มีไนโตรเจนอยู่แล้ว เมื่อใส่ปุ๋ยเข้าไปอีกพืชก็ไม่สามารถที่จะกินอาหารได้อีก ในช่วงแรกตอนที่ยังไม่รู้เราก็ตะบี้ตะบันใส่ปุ๋ยอย่างเดียว แต่พืชมันกินไม่ได้เท่าที่ควรแล้วก็ไม่ได้งามอย่างคนอื่นเขา เพราะว่าเขาถูกบล็อกด้วยน้ำ แล้วพอการบล็อกด้วยน้ำเค็ม ธาตุอาหารต่างๆ ที่เราใส่ไปเขาไม่กินแล้ว เขาจะกินเฉพาะเท่าที่กินได้ ก็เลยทำให้เราเริ่มคิดว่า เอ๊ะ! นี่มันน้ำเค็ม น้ำกร่อย อย่างที่พ่อว่าจริงเหรอ เราก็ไปตรวจวัดค่าน้ำ ช่วงหน้าฝนน้ำไม่มีปัญหา แต่พอเข้าหน้าแล้งค่าความเค็มขึ้นอยู่ที่ 1 ppt ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว น้ำจืดจะมีค่าไม่เกิน 0.5 ppt ทีนี้เราก็ต้องหาวิธีแล้วว่า ทำยังไงที่จะลดความเค็มตรงนี้ไม่ให้ต้นทุเรียนตาย”

ต้นสูงชะลูด

ซึ่งหลังจากที่ทราบถึงปัญหา ก็ทำการศึกษาค่าความเค็มต่อ ว่าต้องอยู่ในระดับไหน ทุเรียนถึงจะอยู่ได้ พื้นที่สวนตรงนี้อยู่ห่างจากน้ำทะเลประมาณ 3 กิโลเมตร ด้วยภูมิศาสตร์ตรงนี้จะเป็นรอยต่อร่องน้ำเค็มพาดผ่าน วัดค่าความเค็มได้ในระดับ 0.12-1 ppt ถือว่าอยู่ในค่าที่ยังสามารถแก้ปัญหาได้ แต่ถ้าเมื่อใดที่ค่าความเค็มขึ้นสูงถึง 3 ppt ตรงนี้ต้นทุเรียนจะไม่สามารถอยู่ได้ หรือถ้าอยู่ได้ก็ต้องมีน้ำธรรมชาติมารด แต่ต้องใช้เวลาฟื้นต้นนานเกือบ 2 ปี ซึ่งจากการที่ได้ศึกษาทดลอง พบว่าระดับน้ำที่ต่ำสุดในสระเป็นน้ำเค็ม ชั้นกลางเป็นน้ำกร่อย ส่วนชั้นบนจะมีสภาพจืดพอใช้ จึงนำมารดต้นทุเรียน แต่สิ่งสำคัญต้องรดน้ำเฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น เพื่อไม่ให้ต้นทุเรียนที่มีระบบรากตื้นและไวต่อสารต่างๆ เกิดปัญหาใบไหม้จากการได้รับเกลือมากไป ซึ่งวิธีคิดนี้เกิดจากการสังเกตจากประสบการณ์ที่เคยทำมา

  1. ใช้ธรรมชาติรักษาธรรมชาติ …คือการเก็บเศษวัสดุเศษกิ่งไม้ใบไม้ เลิกใช้ยาฆ่าหญ้า เปลี่ยนมาตัดหญ้าแทน นำทุกอย่างที่เก็บไว้เป็นอินทรียวัตถุมาสะสมอยู่ในสวนทั้งหมด เศษใบไม้ใบหญ้าจะเป็นตัวช่วยดูดซับความเค็มได้ส่วนหนึ่ง และสิ่งที่ช่วยดูดซับความเค็มได้ดีที่สุดคือ ต้นกล้วย

“เมื่อก่อนที่สวนจะปลูกกล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า เต็มสวนไปหมด และพอตอนหลังก็เริ่มที่จะเอามังคุด ลองกอง เงาะ มาปลูก ให้พืชทุกอย่างอยู่บริเวณเดียวกัน มังคุดจะทนความเค็มได้ และก็ช่วยดูดซับน้ำก่อนที่จะไปถึงรากทุเรียนได้ด้วย และนอกจากนี้บริเวณรอบโคนต้นก็จะปลูกถั่วบำรุงดิน ให้เป็นอินทรียวัตถุคอยดูดซับน้ำอีกทาง แล้วก็ช่วยให้ดินไม่ต้องเอาไนโตรเจนมากไป เพราะถ้าดูดไนโตรเจนมากเกินไป แทนที่ช่วงที่จะได้ผล มันก็จะไม่ได้ผล ก็จะเป็นใบอย่างเดียว”

  1. การเลือกใส่ปุ๋ย …ที่สวนจะใช้ปุ๋ยเคมีน้อยมาก เนื่องจากความเค็มของน้ำจะมีคลอไรด์ มีไนโตรเจนอยู่แล้ว เพียงแค่เติมฟอสฟอรัส กับโพแทสเซียมลงไปเสริม ซึ่งโพแทสเซียมในดินมีมากพอแล้วจากน้ำเค็ม ที่สวนก็จะใส่ปุ๋ยที่มีแคลเซียมไนเตรตอย่างเดียว คือสูตร 15-0-0 ถือเป็นข้อดีของน้ำกร่อย ช่วยประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ยลงไปได้มาก
เศษใบไม้เป็นอินทรียวัตถุ

“จากปกติต้องใช้ปุ๋ยเคมีราคากระสอบละเป็นพันบาท แต่เรามาใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก อย่างมากก็ลิตรละ 50 บาท หรือปุ๋ยหมักก็ถุงละไม่กี่บาท ยิ่งถ้าเราทำเองเศษใบไม้ใบหญ้าเรามีเราก็ซื้อขี้ไก่มาใส่ สมมุติทำปุ๋ยตันหนึ่งเราซื้อขี้วัว ขี้ไก่ มาหมัก เต็มที่ก็ได้ประมาณตันหนึ่งพันกว่าบาท เราทำเบ็ดเสร็จใช้แรงงานเราเอง แต่ถ้าทำเคมีก็ตันละหมื่น ลดต้นทุนไปได้เยอะมาก”

ปริมาณผลผลิต

ก่อนหน้าที่จะประสบวิกฤตใบอ่อน ได้มีการคาดการณ์ผลผลิตของสวนไว้ว่า ปีนี้ทุเรียน 1 ไร่ จะต้องได้ผลผลิตประมาณ 50 ตัน แต่พอเจอวิกฤต คาดว่าผลผลิตอาจจะเหลือเพียง 35 ตัน แต่ถือว่าโชคช่วย เพราะราคาทุเรียนปีนี้แพงแน่นอน ซึ่งราคาทุเรียนในตลาดตอนนี้ หมอนทอง ราคาหน้าสวน กิโลกรัมละ 180 บาท กระดุม ราคากิโลกรัมละ 205 บาท ขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ และถ้าหากท่านใดอยากลิ้มรสทุเรียนน้ำกร่อยอร่อยสุดๆ ของที่สวนผลผลิตจะเริ่มออกช่วงปลายเดือนเมษายน-กรกฎาคม หรือหากท่านใดไม่สะดวกขับรถมาเอง ก็สามารถมากับทริปพิเศษ ตะลุยสวนผลไม้ให้อิ่มพุงกาง 1 ปี มีครั้งเดียว “เทคโนโลยีชาวบ้าน” อาสาพาทัวร์ตะลุยสวน “ชวนชิม & ช็อปผลไม้ จันทบุรี” วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม 2564 นี้

โดยทุกท่านจะได้ลิ้มรสชาติของทุเรียนน้ำกร่อยอันเป็นเอกลักษณ์ ใครได้รับประทานต้องร้องว้าว! กับรสชาติหวานกำลังดี เนื้อเหนียว ฟู เนื้อสุกสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นหอมอ่อนๆ และยิ่งถ้าเป็นพวงมณีน้ำกร่อย กลิ่นจะคล้ายๆ ดอกไม้หอมมาก และนอกจากการที่จะได้ลิ้มรสชาติที่เหนือคำบรรยายแล้ว ผู้บริโภคยังได้รับคุณค่าทางอาหารสูง เนื่องจากดินน้ำกร่อยมีแร่ธาตุที่เป็นกำมะถันสูง ทำให้ทุเรียนน้ำกร่อยผลิตออกมาได้อย่างมีคุณภาพ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร. 080-778-6283 หรือหากท่านใดสนใจมากับทริปพิเศษ ตะลุยสวนผลไม้ให้อิ่มพุงกาง 1 ปี มีครั้งเดียว “เทคโนโลยีชาวบ้าน” อาสาพาทัวร์ตะลุยสวน “ชวนชิม & ช็อปผลไม้ จันทบุรี” วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม 2564 สามารถสมัครจองที่นั่งก่อน แล้วโอนเงินท่านละ 1,800 บาท เข้า ธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนประชาชื่น เลขที่บัญชี 193-079484-5 บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) Fax 02-580-2300 เลขที่ผู้เสียภาษี 0107536001451 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342, 2343 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.technologychaoban.com/what-news/article_176015 หรือ www.facebook.com/Technologychaoban

รอเก็บเกี่ยวผลผลิต

 ขอบพระคุณ คุณวรนุช สีแดง ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดระยอง ที่แนะนำเกษตรกร พร้อมทั้งประสานงานในการสัมภาษณ์

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ.2564