ผักเหลียง พืชผักเศรษฐกิจพื้นบ้าน ปลูกขายรายได้ดี วิถีมั่นคง

ผักเหลียง หรือ ผักเหมียง เป็นพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านที่มีรสจืด รสมัน ไม่ขม ไม่มีกลิ่น เมื่อจัดเป็นผักเครื่องเคียงกินกับขนมจีนน้ำยา หรือกินกับกับข้าวรสชาติจัดจ้านจะช่วยให้เจริญอาหารและได้คุณค่าทางโภชนาการสูง ที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเกษตรกรได้ปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยว ปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางพาราหรือสวนมะพร้าว เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีตลาดรองรับในการซื้อขาย ส่งผลให้ผู้ปลูกมีรายได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและยังชีพได้มั่นคง 

คุณทวิชา คุปต์ทรงคุณ ผู้ปลูกผักเหลียง

คุณทวิชา คุปต์ทรงคุณ ผู้ปลูกผักเหลียง เล่าให้ฟังว่า ผักเหลียง หรือ ผักเหมียง เป็นพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านที่เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ปลูกกันแพร่หลาย มีทั้งปลูกเป็นสวน ปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางพารา สวนมะพร้าว หรือสวนปาล์ม เป็นผักกินใบที่มีรสจืด รสมัน ไม่ขม ไม่มีกลิ่น เมื่อจัดเป็นผักเครื่องเคียงกินกับกับข้าวรสจัดหรือกินกับขนมจีนน้ำยารสจัดจ้านจะช่วยให้ได้ลิ้มรสชาติความอร่อยเป็นพิเศษ หรือนำยอดผักเหลียงไปลวกกินกับน้ำพริก ผัดใส่ไข่ หรือนำไปทำเป็นลาซานญ่า พิชซ่าโรลหรือพายผักเหลียง ก็จะได้ลิ้มลองรสชาติแปลกใหม่ ประโยชน์ที่ผู้กินได้รับจากผักเหลียงคือ มีใยอาหารหรือไฟเบอร์ ช่วยป้องกันอาการท้องผูก ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยลดน้ำหนัก หรือเสริมสร้างให้มีสุขภาพแข็งแรง

ต้นเหลียง… เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ทรงพุ่มสูง 1-3 เมตร ลำต้นมีขนาดเล็ก ลักษณะใบคล้ายใบต้นยางพารา ใบแตกออกมาจากปลายยอดของต้นและกิ่ง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน มีก้านยาว ลักษณะใบเป็นทรงรี ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ ใบแก่มีสีเขียว ยอดอ่อนมีสีแดง ใบอ่อนหรือใบเพสลาดสีเขียวอ่อนเหมาะที่จะนำไปกิน

ดอก…ออกเป็นช่อที่ซอกใบ ก้านช่อดอกสั้น ดอกมีลักษณะทรงกลมเล็กๆ สีเหลืองนวล ผลมีลักษณะทรงกลมรี ผลดิบมีสีเขียว ผลแก่สีเหลืองอมส้ม เปลือกหนา เนื้อในผลสีขาวนวล มีเมล็ดอยู่ภายในเป็นเนื้อสีน้ำตาล

ใบเหลียงหรือใบเหมียงมีลักษณะเป็นทรงรี ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ

การขยายพันธุ์…ทำได้หลายวิธี ดังนี้

  1. การเพาะเมล็ด ด้วยการนำเมล็ดแก่ไปแช่น้ำ เอาเปลือกนอกออก นำไปวางเพาะในกระบะทรายหรือเถ้าแกลบผสมทราย ในราว 4 เดือน เมล็ดจะงอก มีใบ 2-3 คู่ ก็ย้ายมาเพาะเลี้ยงในถุงเพาะชำไว้ประมาณ 1 ปี เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตแข็งแรงก็นำไปลงปลูกที่แปลง
  2. ใช้ไหลหรือรากแขนง จะพบอยู่ระดับผิวดินที่แตกเป็นลำต้น จัดการขุดขึ้นมาใส่ในถุงเพาะชำ แล้วเลี้ยงไว้ประมาณ 6 เดือน เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตแข็งแรงก็นำไปลงปลูกที่แปลง
  3. ใช้กิ่งตอน เป็นวิธีที่ผู้ปลูกนิยมปฏิบัติคือ เลือกกิ่งไม่อ่อน-ไม่แก่เกินไป หรือกิ่งที่ผิวเปลือกเป็นสีน้ำตาลอ่อน จากนั้นตอนกิ่งตามขั้นตอน หลังการตอนประมาณ 2 เดือน กิ่งตอนจะออกรากสมบูรณ์ก็นำไปเพาะเลี้ยงในถุงเพาะชำ 2-3 เดือน เมื่อต้นแข็งแรงก็นำไปปลูกที่แปลง ก็จะทำให้เจริญเติบโตได้ดี ตลาดซื้อ-ขาย 20-35 บาท ต่อกิ่ง
  4. การปักชำ ต้องเลือกตัดกิ่งที่มีขนาดเหมาะสม ทาปลายโคนกิ่งด้วยฮอร์โมนช่วยเร่งราก นำไปปักชำในถุงเพาะหรือกระบะเพาะ เมื่อรากงอกได้ต้นแข็งแรงก็นำไปลงปลูกที่แปลง

ที่สวนปลูกผักเหลียงไว้ 2 ไร่ ปลูกด้วยกิ่งตอน รากแข็งแรงทำให้มีการเจริญเติบโตได้ไวกว่าแบบอื่น การปลูกต้องขุดหลุมปลูกกว้าง ยาว และลึก ด้านละ 30 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 ศอก ขุดหลุมปลูกเป็น  4 หลุม 4 มุม เพื่อให้แตกเป็นกอ ตากแดดหลุมปลูก 10-14 วัน แล้วนำปุ๋ยคอกแห้งผสมกับดินบนใส่รองก้นหลุม วางกิ่งตอนลงปลูก ปักไม้หลักผูกยึดกับกิ่งตอน ป้องกันการโค่นล้ม เกลี่ยดินกลบ ให้น้ำพอชุ่ม จัดระยะปลูกระหว่างหลุมปลูกและแถวห่างกัน 2.5×2.5 เมตร หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่ จะปลูกเป็นพืชแซมระหว่างต้นยางพาราหรือต้นปาล์มก็ได้ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกต้นเหลียงคือต้นฤดูฝน เพื่อให้ต้นผักเหลียงได้รับน้ำจากน้ำฝน มีการเจริญเติบโตได้ดีและช่วยทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงด้วย

ใบอ่อนหรือใบเพสลาดสีเขียวอ่อน นำไปกินกับน้ำพริกได้รสอร่อย

การใส่ปุ๋ย…แต่ละปีได้ใส่ปุ๋ยคอกแห้งหรือปุ๋ยหมัก 2 ครั้ง ในช่วงต้นฝนและปลายฝน ด้วยการนำปุ๋ยมาหว่านให้กระจายรอบทรงพุ่มแล้วให้น้ำแต่พอชุ่ม หลังจากนั้นต้นเหลียงก็จะเจริญเติบโตพร้อมให้ผลผลิต

การให้น้ำ…ต้นเหลียงเป็นพืชที่ทนต่อทุกสภาพอากาศ ไม่ชอบแดดจัดเป็นเวลานาน หลังการปลูกจะต้องให้ต้นเหลียงได้รับน้ำพอเพียง ถ้าฝนตกทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ก็ให้น้ำเพิ่ม 2-3 วัน ต่อครั้ง

การตัดแต่งกิ่งและขยายทรงพุ่มเพื่อให้เกิดการแตกยอดใหม่และเพิ่มผลผลิต…ตัดแต่งให้ต้นเหลียงสูง 1-2 เมตร จะได้ทรงพุ่มเหมาะสม มีความสะดวกในการเก็บเกี่ยวใบอ่อนหรือยอดเพสลาด

การเก็บเกี่ยว…เมื่อปลูกต้นเหลียงอายุได้ 2 ปีขึ้นไป ก็เริ่มเก็บใบอ่อนหรือยอดเพสลาด จะเก็บได้ทุก 7 วัน ต่อครั้ง การตัดเก็บต้องให้ชิดข้อ อย่าตัดเก็บตรงบริเวณกลางข้อ เพราะจะทำให้การแตกยอดครั้งต่อไปช้า นำผลผลิตใบเหลียงไปเก็บรวบรวมไว้ในที่ร่ม พรมน้ำแต่พอชุ่ม จะรักษาความสดได้ 5-6 วัน โดยไม่ต้องนำไปเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น ราคาซื้อขายใบอ่อนหรือยอดเพสลาด อยู่ที่ 70-100 บาท ต่อกิโลกรัม และราคาเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับแต่ละฤดูกาลด้วย

คุณดาวนภา คุปต์ทรงคุณ นำใบอ่อนหรือใบเพสลาดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์

คุณทวิชา ปลูกผักเหลียง เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า ผักเหลียงเป็นผักสมุนไพรพื้นบ้านที่มีการปลูกแพร่หลายในภาคใต้ ได้ชื่อว่าเป็นราชินีของผักพื้นบ้านในภาคใต้ เป็นผักกินใบ โดยเลือกนำใบอ่อนหรือยอดเพสลาดไปปรุงอาหารได้หลายเมนู บ้างก็นำมาทำเป็นแกงเหลือง ทำห่อหมก แกงจืด แกงส้ม นำไปลวกจิ้มกินกับน้ำพริก ใบสดกินพร้อมกับกับข้าวหรือขนมจีนน้ำยาที่มีรสเผ็ดจัดได้รสชาติอร่อยถูกปาก

นอกจากนี้ ก็มีการนำใบอ่อนหรือยอดเพสลาดไปทำเป็นเมนูใหม่อื่นๆ เช่น ลาซานญ่า พิซซ่าโรล หรือพายผักเหลียง ความพิเศษนี้เป็นการนำจุดเด่นของผักเหลียงมาเติมเต็มด้วยความมันกับความกรอบ เมื่อผสมผสานกับเบคอนและชีสที่เป็นชั้นๆ กับซอส พิซซ่าสูตรเข้มข้นก็เกิดเป็นความลงตัวที่แสนอร่อย จึงเกิดคำว่า “ผักเหลียงเมนูไหนก็อร่อย” ด้วยคุณสมบัติของผักเหลียงที่มีแคลเซียมสูง ช่วยบำรุงสายตา เส้นเอ็นและกระดูกที่เสริมให้ผู้กินมีสุขภาพแข็งแรง และช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกมีรายได้และมีวิถีชีวิตในการยังชีพแบบพอเพียงและมีความมั่นคง

จากเรื่อง ผักเหลียง พืชผักเศรษฐกิจพื้นบ้าน ปลูกขายรายได้ดี วิถีมั่นคง เป็นพืชที่เก็บยอดอ่อนหรือยอดเพสลาดไปขาย และนำไปทำอาหารได้หลายเมนู ที่เสริมให้ผู้กินมีสุขภาพแข็งแรง เกษตรกรผู้ปลูกมีการยกระดับรายได้นำไปสู่การยังชีพในแบบวิถีพอเพียง

สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณทวิชา คุปต์ทรงคุณ ที่ 34 หมู่ที่ 1 ศาลเจ้ากวนอู ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 83130 หรือ โทร. 089-728-7710 ก็ได้ครับ

จัดวัสดุปรุงรสใส่ภาชนะก่อนนำเข้าเพื่ออบให้สุก
ลาซานญ่า เมนูรสชาติอร่อยอาหารเพื่อสุขภาพ
พิซซ่าโรล เมนูสไตร์ต่างประเทศแต่รสชาติอร่อยแบบไทย

………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ.2564