ณัฐวุฒิ จันทร์เรือง ชาวสวนรุ่นใหม่ ใช้เทคโนโลยี IoT จัดการสวน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

หากพูดถึงการพัฒนาด้านการเกษตรให้ยั่งยืน เขาว่ากันว่า สิ่งที่จะทำให้การเกษตรพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น Agritech คือ คำตอบสำคัญที่จะเข้ามาช่วยยกระดับการเพาะปลูกให้สามารถเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต รวมทั้งทำให้การใช้ทรัพยากรต่างๆ เช่น น้ำ ปุ๋ย พื้นที่เพาะปลูก แรงงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากยิ่งขึ้นกว่าการทำเกษตรแบบดั้งเดิม และนอกจากนี้ ยังส่งผลไปถึงในแง่ของรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนลดลงอีกด้วย

คุณณัฐวุฒิ จันทร์เรือง หรือ คุณณัฐ อยู่บ้านเลขที่ 37 หมู่ที่ 2 ตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์รุ่นใหม่ไฟแรง อดีตวิศวกรเคมี ผันตัวเป็นเกษตรกรสืบทอดมรดกสวนผลไม้จากพ่อแม่ ใช้เทคโนโลยี IoT เข้ามาพัฒนาสวน ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้เข้าสวนได้เป็นอย่างดี

คุณณัฐวุฒิ จันทร์เรือง หรือ คุณณัฐ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์จันทบุรี

คุณณัฐ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำเกษตรว่า ก่อนที่จะมาเป็นเกษตรกรตนเองเคยทำงานเป็นวิศวกรเคมีมานานกว่า 10 ปี ซึ่งเวลา 10 ปี ในการทำงานประจำก็ถือว่าเดินทางมาถึงจุดอิ่มตัวและเป็นจังหวะที่คุณพ่อคุณแม่มีอายุที่มากขึ้น ตนเองเป็นลูกชายคนเดียว จึงมีความคิดที่อยากจะกลับมาสานต่องานสวนของที่บ้าน โดยใช้ประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวได้จากงานประจำที่เคยทำมาปรับประยุกต์ใช้กับงานสวนให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากได้เห็นจุดบกพร่องของที่สวนในหลายจุดที่ควรปรับปรุง จึงอยากเริ่มต้นนำความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีที่เก็บเกี่ยวมาได้นำมาใช้พัฒนาสวนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ใช้เทคโนโลยี IoT จัดการสวน ลดต้นทุน
เพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณณัฐ เล่าว่า หลังจากที่ได้ตัดสินใจกลับมาทำสวนที่บ้านอย่างเต็มตัวนั้น ตนเองเริ่มต้นพัฒนาสวนจากสิ่งที่ตนเองถนัดก่อน ด้วยการนำเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่ผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนรุ่นเก่ามาบริหารจัดการสวนไม้ผลกว่า 50 ไร่ ให้ง่ายและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ในด้านเทคโนโลยี ที่สวนมีการนำเอาเทคโนโลยี IoT หรือ (Internet of Things) มาใช้ และมีการเขียนโปรแกรมควบคุมมอนิเตอร์ค่าต่างๆ ภายในสวน เพื่อให้รู้ทิศทางจัดการสวน ว่าควรจะไปในทิศทางไหน ยกตัวอย่างที่สวน

อุปกรณ์เทคโนโลยีจัดการสวน

1. มีการนำเทคโนโลยีการเปิด-ปิดน้ำ ผ่านสมาร์ทโฟน จากเมื่อก่อนที่รุ่นพ่อแม่ทำ ในขั้นตอนของการรดน้ำจะต้องใช้คนงานเยอะ และที่สวนมีอยู่หลายที่จำเป็นต้องมีแรงงานประจำตามจุดต่างๆ คอยรดน้ำ แต่พอมีระบบตรงนี้ก็สามารถลดจำนวนคนลงได้ 1-2 คน เมื่อลดจำนวนได้ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานไปได้ อย่างน้อยเดือนละ 20,000 บาท…1 ปี สามารถลดต้นทุนค่าแรงงานได้เดือนละกว่าแสนบาท

2. มีการวัดอุณหภูมิความชื้นในดิน และความชื้นสัมพัทธ์ ช่วยในเรื่องของการติดดอกของทุเรียน เนื่องจากถ้าความชื้นสัมพัทธ์สูง จากที่ทุเรียนจะติดดอก ก็มีโอกาสที่จะออกใบอ่อนเยอะกว่า แต่ถ้าเกษตรกรสามารถรู้ได้ล่วงหน้าก็สามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

จอแสดงผลบอกระดับน้ำ อุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลม ทิศทางลม และปริมาณน้ำฝน

3. มีการวัดระดับปริมาณน้ำคงเหลือในสระ ทิศทางลม ความเร็วลม ปริมาณน้ำฝน และใช้แอปพลิเคชั่นดูสภาพอากาศในการทำสวน (windy rain viewer) ซึ่งความเร็วลมก็จะมีค่าบอกว่าในตอนนี้ลมมาทิศทางไหน ลมเป็นลมหนาวหรือเปล่า เหมาะที่จะทำดอกทุเรียนหรือไม่ หรือว่าความเร็วลมประมาณนี้ควรที่จะป้องกันอย่างไรบ้าง

ตัวอย่างการวัดความชื้นสัมพัทธ์ภายในสวน

และนอกเหนือจากการจัดการสวนด้วยระบบ IoT แล้ว ยังมีในส่วนของการพัฒนาต่อยอดในด้านอื่นๆ อีกมากมาย เช่น

รถตัดหญ้าบังคับวิทยุ

1. การนำรถตัดหญ้าบังคับวิทยุ เข้ามาช่วยทุ่นแรงงาน ลดปัญหาความเหนื่อยล้าที่ต้องใช้เครื่องตัดหญ้าในการเหวี่ยง เครื่องเข็นเดินตาม สู้กับอากาศร้อน ปัญหาส่วนนี้จะหมดไป ทำให้คนงานมีกระจิตกระใจในการทำงานมากขึ้น

2. ทำคิวอาร์โค้ดของต้นไม้แต่ละต้น เพื่อไว้บันทึกข้อมูล ปัญหาโรคพืชของแต่ละต้น รวมถึงช่วยบันทึกข้อมูลการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย และช่วยบันทึกข้อมูลการทำดอกทุเรียนได้ด้วยว่าในแต่ละปีต้นทุเรียนแต่ละต้นออกดอกมากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นข้อมูลทำสวนให้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น

รถตัดหญ้าบังคับวิทยุ

3. ใช้โดรนพ่นยาและปุ๋ย แทนการใช้แรงงานคน สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยกับเกษตรกร

โดรนพ่นยา

4. ปลูกพืชเพิ่มความหลากหลายให้มากกว่าเชิงเดี่ยว ด้วยการนำพืชผักสวนครัวและสมุนไพรเข้ามาปลูกแซมลงไปในสวน เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนประจำวัน

5. มีการนำผลไม้เมืองนอก เช่น แบล็คเบอร์รี่ ราสป์เบอร์รี่ และแอปเปิ้ล เข้ามาปลูกเพื่อเพิ่มสีสันให้กับสวน

6. ปลูกพืชในโรงเรือนระบบปิด plant factory เพื่อความปลอดภัยทางอาหาร

ปลูกพืชในโรงเรือนระบบปิด plant factory

7. นำพลังงานทดแทนเข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่ายในสวน เช่น โซลาร์เซลล์ พลังงานลม พลังงานน้ำ

8. ทำต้นกล้าไม้ สมุนไพร ขาย

9. แตกไลน์ ทำขนมเบเกอรี่ โดยใช้วัตถุดิบจากสวน

สินค้าแปรรูปของสวนจันทร์เรือง

ซึ่งจากการที่ได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์กับวัตถุดิบที่มีอยู่ดั้งเดิมในครั้งนี้ ก็นับว่าได้รับประโยชน์มากมายที่หลายคนมองข้าม ทั้งในแง่ของ

1. การลดต้นทุน ค่าจ้างแรงงานได้ ลดต้นทุนปุ๋ยยาได้

2. ผลผลิตดีขึ้น ขายได้ราคามากขึ้น

3. มีความแม่นยำในการผลิตมากขึ้น จากการควบคุมต่างๆ และการแสดงผลออกมาให้เห็นแนวโน้มทิศทางว่าควรจัดการอย่างไร

4. มีอาหารกินตลอด ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อหาอาหาร

ด้วยการจัดการต่างๆ นี้ ทำให้มีเวลามากขึ้นในการทำสิ่งต่างๆ หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยง จากการพึ่งพาแค่ทุเรียนหรือมังคุดอย่างเดียว ซึ่งให้ผลปีละครั้ง มาปลูกผักกินเอง และขายเพิ่มความมั่นคง ช่วยสร้างรายได้รายวัน รายเดือน รายปี ยึดหลักทำมากเพื่อให้สูญเสียน้อยที่สุด และเพื่อให้เห็นว่าอาชีพเกษตรกรรมนั้นเป็นอาชีพที่มั่นคง มีกิน มีใช้ ไปถึงในแง่ของการช่วยฝ่าวิกฤต ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ หรือสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ การทำเกษตรกรรมก็ช่วยทำให้อยู่รอดปลอดภัยได้ บนพื้นฐานที่มนุษย์ต้องการ คือปัจจัย 4 อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย รวมอยู่ในอาชีพนี้ทั้งหมด

อยู่ในช่วงต้องการน้ำ

ยกตัวอย่างการปลูกทุเรียน
กับการนำเทคโนโลยีมาใช้

คุณณัฐ ยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดูแลทุเรียนในสวนให้ฟังว่า ช่วงที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ภายในสวนคือช่วงที่ต้นทุเรียนให้ผลผลิตแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะอยู่ในช่วงของการดูแลรักษา สิ่งที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ก็จะเป็นการวัดค่าและประเมินผลมาเก็บไว้ใช้เป็นข้อมูลในการทำผลผลิตครั้งต่อไป เช่น การวัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ความเร็วลม อันนี้ช่วยให้กำหนดได้ว่าผลผลิตจะได้ปริมาณมากขึ้น และคุณภาพดีขึ้นกว่าปีก่อนๆ ที่เคยทำมา

“เมื่อก่อนตอนยังไม่มีการวัดค่าความชื้นของดิน วัดปริมาณของน้ำ ก็ใช้น้ำไปมากอย่างไม่รู้ทิศทาง แต่พอได้มีการเก็บข้อมูลก็ช่วยให้ลดการใช้น้ำได้น้อยลง แต่ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ มากกว่า 20-30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เริ่มจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มันเริ่มเห็นผล ว่ามันมีผลผลิตจริงๆ คือ อย่างน้อยเราดูในจอข้อมูลแสดงผลที่เก็บข้อมูลไว้แล้วว่า ตอนนี้ลมหนาวกำลังมา หรือว่าลมที่เหมาะในการทำดอกกำลังมา ซึ่งแต่ก่อนเขาไม่ได้มีตรงนี้มาจับ ชาวสวนก็จะกะช่วงเวลากันเอง ซึ่งบางทีช้าไป แต่อย่างผมมีข้อมูลที่แม่นยำ ก็สามารถทำได้ก่อน บางทีก็ไม่ต้องทำสารทุเรียนเลย มันก็จะได้ดอกก่อน ได้ผลผลิตออกมาเร็ว ได้ราคาที่ดีกว่า ปริมาณก็มากขึ้นกว่าเดิม และในด้านคุณภาพก็ได้มากขึ้นคือ พูเต็ม เพราะน้ำถึง ผลผลิตไม่เสียทรง น้ำหนักได้ตามเกณฑ์มาตรฐานส่งออก” คุณณัฐ กล่าว

ตัวอย่างการแสดงผลความชื้นดินเกินความต้องการ สามารถลดการให้น้ำได้

“ทำเกษตรอย่างสมาร์ท”
ตามแบบฉบับคนรุ่นใหม่

“ด้วยรูปแบบการทำสวนของผม ที่ไม่ได้ทำรูปแบบเดิมที่พ่อแม่ทำกันมา เราทำเกษตรแบบคนสมัยใหม่ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ มันก็ทำให้การเกษตรเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และแม่นยำมากขึ้น ทำให้เรารู้ถึงผลผลิตได้ล่วงหน้าว่า จะออกตอนไหน และปริมาณเท่าไร และสามารถกำหนดราคาเองได้ โดยที่ไม่ต้องใช้แรงงานมากเหมือนแต่ก่อน ซึ่งหลังจากที่ได้กลับมาทำประมาณ 4 ปี ก็ยังนับว่าเป็นระยะเวลาที่น้อย ยังคงต้องสะสมประสบการณ์เพื่อพัฒนาต่อยอดสวนไปอีกเรื่อยๆ และยิ่งทำให้เห็นคุณค่าของอาชีพเกษตรว่าเป็นอาชีพที่สุดยอด เพราะจะทำอาชีพนี้ให้สำเร็จได้ไม่ง่าย และต้องผสมรวมทุกศาสตร์ไว้ในอาชีพนี้เลย ทั้ง ชีวะ (โครงสร้างพืช โรคพืช) เคมี (ปุ๋ย ยา ธาตุอาหารพืช) คณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ (การคำนวณต่างๆ ต้นทุน บัญชี ค้าขาย) วิศวกรรม (ไฟฟ้า มอเตอร์ปั๊มน้ำ เครื่องจักรกล) แม้กระทั่งปลูกสมุนไพรรักษาโรค และอยากให้อาชีพนี้เป็นอาชีพหนึ่งที่คนพูดว่าอยากทำ นอกจาก หมอ วิศวะ และจะเป็นอย่างนั้นได้ ไม่ต้องทำเหนื่อยเหมือนคนรุ่นก่อน แต่นำเทคนิคภูมิปัญญาที่คนรุ่นก่อนมีมาผสมกับเทคโนโลยีในคนรุ่นใหม่ ออกมาเป็นผลลัพธ์ที่เจ๋งกว่าเดิม และยิ่งตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยด้วย เพราะฉะนั้นแรงงานรุ่นใหม่ในภาคการเกษตรยังน้อยอยู่ การที่คนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาบ้านเกิดยิ่งเป็นสิ่งที่ควรทำมาก” คุณณัฐ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจติดต่อเข้าเยี่ยมชมสวนได้ที่ เบอร์โทร. 085-697-9594

ป๊อปคอร์นผสมทุเรียนทอด
มังคุด อีกหนึ่งผลไม้เด่นของสวนจันทร์เรือง
ชีสทาร์ตสับปะรด

 

เผยแพร่ออนไลน์ล่าสุด เมื่อวันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564