เผยเทคนิคปลูกเงาะโรงเรียน ที่ลำปาง ปลูกอย่างไรให้ได้ผลผลิตดี

แหล่งปลูกเงาะของประเทศไทยอยู่ที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ภาคอีสานมีการปลูกเงาะได้ในบางจังหวัด มีที่ตำบลน้ำสวย อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย ส่วนที่ภาคเหนือมีสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสำหรับการปลูกเงาะ ไม่ใช่พื้นที่สำหรับการปลูกเงาะ จึงไม่มีใครคิดจะปลูกเงาะที่ภาคเหนือ คงมีบ้างในจังหวัดเชียงรายบางพื้นที่ที่อยู่ติดแม่น้ำโขงสามารถปลูกเงาะได้ผลผลิต เช่น อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน เป็นต้น จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน มีการปลูกกันบ้างแซมเป็นจำนวนน้อยรายในสวนผลไม้ ส่วนในจังหวัดอื่นๆ การปลูกเงาะมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

แต่ที่จังหวัดลำปาง มีผู้ประสบความสำเร็จในการปลูกเงาะอยู่รายหนึ่ง ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่มีใครคิดจะปลูกเงาะ นอกจากจะไม่มีประสบการณ์ในการปลูกเงาะมาก่อนแล้ว ยังเชื่อที่ว่าลำปางไม่เหมาะสมกับการปลูกเงาะ จะปลูกอย่างไรก็ตามไม่มีทางออกผล เขาผู้นี้ต้องใช้ความเพียรพยายามอยู่หลายปีกว่าจะประสบความสำเร็จ ถึงแม้ผลผลิตออกมาจะมีอยู่เป็นจำนวนน้อยก็ตาม แต่เป็นผลสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของเขา สามารถลบล้างความเชื่อของใครบางคนที่มีมาแต่เดิมไปได้

ลุงอาษา สาริการ แห่งบ้านห้วยยาง ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็นผู้ประสบความสำเร็จในการปลูกเงาะโรงเรียน

ลุงอาษา กับเงาะสีทองเมืองตราด
ลุงอาษา กับเงาะสีทองเมืองตราด

ลุงอาษา บอกว่า เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ทราบเลยว่า ลุงอาษาปลูกเงาะอยู่ในอำเภอเมือง และไม่เคยมีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเยี่ยมชมสวนเงาะสักครั้ง ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีผ่านมา คงรับทราบกันที่เพียงว่า ที่บ้านแม่เติน ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง มีเกษตรกรผู้หนึ่งปลูกเงาะ ทุเรียน และลองกอง ได้ผลผลิต 

พื้นเพเดิมของลุงอาษา เป็นชาวอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เติบโตมาในครอบครัวทำสวนผลไม้ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลุงอาษาจึงมีประสบการณ์ในการทำสวนผลไม้ เมื่อปี พ.ศ. 2530 ลุงอาษาได้พบรักกับสาวชาวลำปางที่กรุงเทพฯ และเดินทางมาอยู่ที่ลำปางบ้านเดิมของภรรยา จากนั้นได้ซื้อกิ่งลิ้นจี่จำนวนหนึ่งจากจังหวัดเชียงรายมาปลูก ในพื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ปลูกได้ 5 ปี ลิ้นจี่ไม่ให้ผลผลิต บางต้นติดผลพอใกล้จะแก่ผลก็ร่วงหมด จึงตัดสินใจโค่นลิ้นจี่ทิ้งทั้งหมด

เงาะสีทองเมืองตราดผ่าผล
เงาะสีทองเมืองตราดผ่าผล

ในปี พ.ศ. 2537 ได้เดินทางกลับบ้านเกิดที่อำเภอท่าใหม่ นำกิ่งเงาะโรงเรียนเกือบร้อยกิ่งกลับมาลำปาง แล้วปลูกแทนลิ้นจี่ ปลูกเงาะได้ 57 ต้น ในจำนวนนี้มีเงาะต้นตัวผู้มาด้วย 1 กิ่ง มีมังคุด ทุเรียน และสะละ เพื่อปลูกแซมไว้ไม่กี่ต้น ขณะเดียวกันก็ทำไร่สับปะรดไปด้วยหลายไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ ส.ป.ก. เวลาส่วนใหญ่จึงทุ่มเทให้กับไร่สับปะรด ไม่ได้เอาใจใส่กับสวนเงาะมากนัก

ระหว่าง ปี พ.ศ. 2534-2539 ราคาสับปะรดเริ่มตกต่ำมาตลอด จนเหลือกิโลกรัมละ 50 สตางค์ (ปี พ.ศ. 2555 กิโลกรัมละ 2 บาท) จึงเลิกทำไร่สับปะรด เพราะทำไปก็ไม่คุ้มทุน มาปลูกผักสวนครัวในสวนเงาะช่วงที่เงาะยังไม่โต และเอาใจใส่กับสวนเงาะอย่างจริงจัง

เงาะโรงเรียน
เงาะโรงเรียน

การปลูกเงาะในช่วงแรก เนื่องจากเป็นดินที่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงต้องขุดหลุมลึก ประมาณ 1 เมตร กว้างและยาวประมาณ 1 เมตร ใส่ปุ๋ยคอกกับเปลือกถั่วรองก้นหลุม ระยะห่างระหว่างแถว ประมาณ 4 เมตร ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในระยะแรก ในปี พ.ศ. 2542 เงาะเริ่มออกดอกติดผลให้เห็นบางต้น จึงมีกำลังใจขึ้นมาบ้าง คิดว่าน่าจะให้ผลผลิตมากกว่านี้ในฤดูต่อไป

ปี พ.ศ. 2551 เริ่มเก็บผลผลิตขายในหมู่บ้านได้ และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต่อมาๆ ตั้งแต่บัดนั้น ปัจจุบันคงเหลือต้นที่ให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ 48 ต้น แต่ละต้นสูงมากเกิน 5 เมตร มีเงาะพันธุ์ตราดสีทองอยู่ 1 ต้น

ลักษณะเด่นของเงาะโรงเรียนลำปาง เมื่อลุงอาษาส่งเงาะไปให้น้องชายที่จันทบุรีลองชิม ได้รับการยืนยันกลับมาว่า เงาะโรงเรียนลำปาง ผลค่อนข้างกลม ผลใหญ่กว่าเล็กน้อย ขนรอบผลจะสั้นกว่า เปลือกบางกว่า เนื้อแห้ง มีปริมาณน้ำน้อย มีความกรอบ เนื้อล่อนไม่ติดเปลือกหุ้มเมล็ดติดมาหรือมีติดบ้างไม่มากและไม่แข็ง ความหวานจะหวานกว่าเมื่อเทียบกับเงาะโรงเรียนที่จันทบุรี

ส่วนเงาะโรงเรียนจันทบุรี ผลค่อนข้างแบน ขนรอบผลยาวกว่า ล่อนติดเปลือกหุ้มเมล็ดมาด้วย ฉ่ำน้ำ ความหวานน้อยกว่า น้ำหนักจำนวนผลต่อกิโลกรัมของเงาะโรงเรียนลำปาง ประมาณ 27 ผล ต่อกิโลกรัม ส่วนเงาะจันทบุรี ประมาณ 30-32 ผล ต่อกิโลกรัม และข้อได้เปรียบของเงาะโรงเรียนลำปางคือ ผลผลิตออกหล้ากว่า ปกติจะเก็บเกี่ยวได้ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม แต่ปีนี้ (2559) สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง สามารถเก็บเกี่ยวได้ยาวถึงเดือนกันยายน ข้อเสียเปรียบของเงาะที่นี่คือ สีไม่ค่อยสวย สีไม่แดงสดใสเหมือนเงาะจันทบุรี

เงาะตราดสีทอง แม้มีอยู่ต้นเดียวแต่ดก ติดเป็นช่อใหญ่ ติดผลมาก เป็นเงาะที่ติดผลง่าย ผิวสีเหลืองอร่ามสวยงามมาก รสชาติหวานน้อยกว่าเงาะโรงเรียน เนื้อล่อน แต่ฉ่ำน้ำ ลุงอาษาคิดจะโค่นเงาะตราดสีทองทิ้ง แต่ก็เปลี่ยนใจเก็บไว้เพื่อการศึกษาพันธุ์ของผู้ที่สนใจในโอกาสต่อไป

การดูแลรักษาสวนเงาะ ลุงอาษาสามารถดูแลได้ทั่วถึง เพราะพื้นที่ปลูกไม่มาก

การให้น้ำ จะให้มากในฤดูแล้ง ใช้น้ำประปาหมู่บ้านที่มีคลอรีนน้อย ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อต้นเงาะ รดทั่วโคนต้นด้วยท่อยาง

การให้ปุ๋ย ให้ปุ๋ยด้วยสูตรเสมอ 15-15-15 ปีละ 1 ครั้ง จำนวน 2 กิโลกรัม ต่อต้น ไม่ใช้ปุ๋ยเร่งความหวาน ใส่ปุ๋ยหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว โดยทำความสะอาดรอบโคนต้นก่อนใส่ ส่วนต้นที่ไม่ให้ผลผลิตจะใส่ปุ๋ยช่วงต้นฝน เพื่อให้แตกใบอ่อนหลังจากเดือนมีนาคมไปแล้ว

เทคนิคการติดดอกออกผล ลุงอาษาปลูกเงาะต้นตัวผู้ไว้ 1 ต้น อยู่เกือบกลางสวน ลักษณะแตกต่างจากเงาะต้นอื่นที่ลำต้นขึ้นตรงสูงชะลูด แตกกิ่งก้านส่วนบน ไม่แตกกิ่งก้านส่วนล่างโคนต้น ต้นเหมือนกับไม้ป่า เงาะต้นตัวผู้จะออกดอกตั้งแต่ต้นปีและบานอยู่นานเป็นเดือน เงาะต้นตัวผู้มีแต่ดอกอย่างเดียว ไม่ติดผล โดยจะให้น้ำเงาะต้นตัวผู้ก่อนต้นอื่น ประมาณ 1 สัปดาห์ เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมดอกเงาะต้นตัวผู้จะบาน ฝูงผึ้งมาดูดกินน้ำหวานดอกต้นตัวผู้นำละอองเกสรไปยังดอกต้นตัวเมียและเกสรดอกตัวผู้ยังปลิวไปผสมกับดอกเงาะตัวเมีย ทำให้เงาะติดผลง่าย สังเกตได้ว่าต้นที่อยู่ติดกับเงาะต้นตัวผู้จะติดผลดกมาก ดอกตัวเมียบานอยู่ได้ประมาณ 10 วัน

ช่อเงาะสีทองเมืองตราด
ช่อเงาะสีทองเมืองตราด

ลุงอาษา บอกว่าวิธีการนี้ไม่ต้องใช้ฮอร์โมนฉีดพ่นเพื่อให้เงาะติดผล ซึ่งชาวสวนเงาะที่จันทบุรีรู้จักเทคนิคนี้ดี จึงนำเทคนิคนี้มาใช้ และเงาะที่สวนของลุงไม่เคยใช้ฮอร์โมน

การใช้สารเคมี ลุงอาษาใช้สารเคมีที่มีส่วนผสมของกำมะถัน (ไมโครไธออล) ฉีดพ่นเพื่อป้องกันราดำ เมื่อช่อเริ่มติดผล ผลมีขนาดเท่าเมล็ดพริกไทยจึงฉีดพ่น เป็นสารเคมีที่ยังไม่มีจำหน่ายในจังหวัดลำปาง ลุงอาษาต้องไปซื้อที่จันทบุรีเมื่อมีโอกาสไปเยี่ยมบ้านเดิม โดยตั้งใจจะเอาฉลากสารเคมีเป็นตัวอย่าง เพื่อให้ร้านค้าในลำปางสั่งให้ต่อไป กับการใช้สารเคมีกำจัดแมลงพวกไรแดง เพลี้ย เมื่อมีการระบาด และคำนึงถึงการใช้สารเคมีเมื่อจำเป็นเท่านั้น สัตว์ศัตรูมักมากัดกินผลเงาะในช่วงเงาะแก่ เช่น พวกบ่าง กระรอก และนก แต่มีเป็นจำนวนน้อย

การตัดหญ้าในสวน จะตัดด้วยตนเอง หรือจ้างตัดในบางครั้ง ไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดหญ้า ลุงอาษาบอกว่า จะส่งผลกระทบในภายหน้ากับตัวเราเอง

การเก็บเกี่ยว เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เมื่อผลเงาะเริ่มเป็นสีส้มแดง เงาะจะแก่ไม่พร้อมกันทั้งช่อ จะใช้ขอเกี่ยวเลือกเฉพาะผลที่แก่เป็นสีส้มแดง ปล่อยผลที่เหลืองเขียวยังไม่แก่ไว้ก่อน ซึ่งเสียเวลาในการเก็บเกี่ยวอย่างมาก ช่อหนึ่งเกี่ยวได้ 1-3 ผล ไม่ดกเป็นช่อใหญ่หลายผลเหมือนกับเงาะที่จันทบุรี ก่อนที่ผลจะแก่ ประมาณ 30-45 วัน เริ่มเป็นเนื้อแล้ว ผลจะร่วงลงมาอย่างมากเป็นอยู่เช่นนี้ตลอด เหลือติดช่อละ 3-4 ผล ระยะที่เงาะเริ่มเป็นเนื้อนี้ห้ามขาดน้ำเป็นอันขาด ต้องให้น้ำทุกวัน ถ้าระยะนี้ขาดน้ำเปลือกจะแตก เพราะเนื้อภายในขยายออก แต่เปลือกไม่ขยายใหญ่ตาม ตะขอที่ใช้เกี่ยวเงาะซื้อมาจากจันทบุรี ผลผลิตที่ได้ปีหนึ่ง 400-500 กิโลกรัม แม้ไม่มากแต่ก็ทำรายได้ให้พอสมควร

การเก็บเงาะจะเก็บเงาะในช่วงเช้า โดยมีเพื่อนบ้าน 1 คน มาช่วยเก็บ ลุงอาษาปีนขึ้นไปเก็บไม่ไหว ลุงอาษาได้แต่ช่วยเก็บรวบรวมใส่ถุงอยู่โคนต้น ใช้เวลาในช่วงเช้าเก็บประมาณ 3 ชั่วโมง จากนั้นนำไปคัดเลือกขนาด เด็ดขั้วทิ้งบรรจุเป็นถุง วันหนึ่งเก็บได้ประมาณ 20 กิโลกรัม กิจวัตรประจำวันของลุงอาษาในช่วงเช้าจะเข้าสวน ส่วนในช่วงบ่ายจะพักผ่อนอยู่บ้าน เพื่อนบ้านผู้นี้จะนำเงาะไปขายที่หน้าบ้านอยู่ติดถนนริมคลองชลประทาน ขายหมดทุกวัน  ใครที่ได้รับประทานแล้วต่างติดใจ บางวันมีหน่วยงานของลูกชายมาสั่งก็จะไม่ได้ขาย ขายกิโลกรัมละ 50 บาท ถึงสิ้นเดือนกันยายนผลผลิตจึงจะหมด

การตัดแต่งกิ่ง ลุงอาษาจะตัดแต่งกิ่งเมื่อมีเวลาว่าง ตัดกิ่งกระโดง กิ่งแซม กิ่งต่ำๆ ด้านล่างออกให้โปร่ง เพื่อให้อากาศด้านล่างถ่ายเทได้ดี กิ่งใบรับแสงแดดได้มากขึ้น จะช่วยให้ต้นเงาะเจริญเติบโตดีขึ้น

8
ขอเกี่ยวเงาะ

 

7
ต้นสูงใหญ่

 

6
เพื่อนบ้านมาช่วยเก็บ