อดีตสาวแบงค์ เผยเทคนิคปลูกมะเขือเทศ 3 สี ส่งห้าง ฟันรายได้ สัปดาห์ละ 10,000

คุณณัฐวรรณ ทองเกล็ด หรือ พี่แหม่ม ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์เพชรบูรณ์ อยู่บ้านเลขที่ 95 หมู่ที่ 4 ตำบลประดู่งาม อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อดีตสาวแบงค์ หันเอาดีด้านงานเกษตร ปรับปรุงพื้นที่ปลูกพืชไร่ของครอบครัวบางส่วนมาปลูกผักอินทรีย์ โดยมีมะเขือเทศ 3 สี สร้างรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี บนพื้นที่เพียง 2 ไร่ และครั้งนี้เธอจะมาบอกเล่าประสบการณ์การปลูกมะเขือเทศอินทรีย์ยังไงให้ได้มาตรฐานส่งห้าง และขายให้ได้ในราคากิโลกรัมละ 50-70 บาท ตลอดทั้งปี

คุณณัฐวรรณ ทองเกล็ด หรือ พี่แหม่ม เจ้าของไร่มีสุข

คุณณัฐวรรณ ทองเกล็ด หรือ พี่แหม่ม เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำเกษตรว่า อดีตตนเคยทำงานเป็นพนักงานธนาคารมาก่อน แต่เมื่อวันหนึ่งถึงจุดอิ่มตัว ก็ต้องหาอาชีพมารองรับ นั่นก็คือ อาชีพการเป็นเกษตรกร เนื่องจากพื้นฐานที่บ้านเป็นเกษตรกรอยู่แล้ว คุณพ่อเป็นเกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยว บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ และมองว่าถ้าออกมาทำอาชีพดั้งเดิมของที่บ้านก็น่าจะมีหนทางไปได้ดี จึงได้ตัดสินใจปรับปรุงพื้นที่บางส่วนของคุณพ่อมาทำเกษตรในแบบของตนเอง เพราะดูจากประสบการณ์ของคุณพ่อที่ปลูกพืชไร่มาตลอด ก็จะมีรายได้เข้ามาเป็นรายปีอย่างเดียว จึงอยากที่จะปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกพืชแบบใหม่ พยายามเลือกปลูกพืชล้มลุก ที่สามารถสร้างรายได้เป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ได้ ซึ่งสาเหตุที่เลือกปลูกมะเขือเทศอินทรีย์ก็เพราะว่ามีตลาดรองรับอยู่แล้ว จากการที่ได้ร่วมโครงการกรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์ ที่ได้เข้ามาช่วยส่งเสริมผลักดันให้ทำเกษตรปลอดภัย และปรับเปลี่ยนพัฒนาขึ้นเป็นเกษตรอินทรีย์ มีห้างสรรพสินค้าเป็นตลาดรองรับ

ซึ่งเกษตรกรหลายท่านอาจจะมองว่า การทำเกษตรแบบอินทรีย์นั้นมีความยุ่งยากไม่ถนัด แต่จะไปถนัดการผลิตสินค้าในปริมาณมากๆ ผลิตให้ได้มากๆ ซึ่งวิธีการนี้จะเหมาะกับการปลูกพืชไร่ที่ปลูกแล้วไม่ต้องดูแลมาก แต่ถ้าเป็นพืชผักมองว่าทำเยอะแล้วไม่ไหว ในทีนี้ไม่ได้หมายความว่าดูแลไม่ไหว แต่หมายความถึงเรื่องของราคาด้วย เพราะว่าผลผลิตตลาดล่างราคาค่อนข้างผันผวน เกษตรกรไม่สามารถควบคุมระบบหรือราคาได้เอง จึงได้หันมามองตลาดที่แหวกแนวกว่าในพื้นที่ ทำตลาดบนส่งเข้าห้าง หรือตลาดเฉพาะที่มีกลุ่มลูกค้าทางออนไลน์ ที่สามารถควบคุมกำหนดราคาได้เอง และสามารถควบคุมปริมาณการผลิตได้โดยที่ไม่ต้องผลิตล้นเกินความจำเป็น แต่เราผลิตตามความต้องการของตลาดและให้เหลือส่วนที่สูญเสียน้อยที่สุด นี่คือ มุมมองที่แตกต่าง

ไถเตรียมดินปลูก

ปลูกพืชตามวิธีคิดของคนรุ่นใหม่

พี่แหม่ม เผยถึงวิธีคิดและการจัดการแปลงปลูกพืชตามสไตล์คนรุ่นใหม่ว่า ตนได้มีการขอแบ่งพื้นที่ปลูกพืชมาจากคุณพ่อ เพื่อมาทำเกษตรอินทรีย์ จำนวน 18 ไร่ เลือกปลูกมะเขือเทศเป็นพืชสร้างรายได้หลัก มีอ้อยคั้นน้ำ และพืชผักชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิดเป็นพืชเสริม ด้วยอีกหนึ่งเหตุผลนอกจากเรื่องการตลาด เพราะเมื่อก่อนเคยได้ทดลองปลูกพืชผักหลายชนิดแล้ว แต่พอได้ทำจริงๆ จึงได้รู้ถึงปัญหาว่าหากจะผลิตมะเขือเทศให้ได้ผลผลิตหมุนเวียนออกตลอดทั้งปี เราไม่สามารถทำพืช 4-5 ชนิด ในเวลาเดียวกันได้ เพราะการที่จะบริหารจัดการให้ผักทุกชนิดหมุนเวียนออกตลอดทั้งปีค่อนข้างยาก จึงตัดสินใจลดพื้นที่การปลูกพืชผักชนิดอื่นลง และพุ่งเป้าไปที่มะเขือเทศ ปลูกอย่างไรไม่ให้ผลผลิตขาดตลาด ตอนนี้จึงโฟกัสไปถึงการฝึกฝนวิชาการปลูก การดูแล ให้มีความชำนาญขึ้นไปเรื่อยๆ

ยกร่อง ปักค้าง

เทคนิคปลูกมะเขือเทศส่งห้าง

เจ้าของเผยเทคนิคการปลูกมะเขือเทศอินทรีย์ว่า ปัญหาสำหรับการปลูกมะเขือเทศแบบหมุนเวียนตลอดทั้งปีคือ ช่วงฤดูฝน ถ้าไม่มีโรงเรือน แล้วฝนตกลงมาเมื่อไร ต่อให้ที่ผ่านมามีการดูแลประคบประหงมดูแลดีขนาดไหน ผลผลิตก็จะเสียหายอยู่ดี

ยกตัวอย่าง สมมุติว่าพรุ่งนี้ถึงเวลาที่ต้องเก็บผลผลิต แต่ถึงเวลากลางคืนก่อนวันเก็บเกี่ยวฝนเกิดตก ตอนเช้ามาผลผลิตจะแตกเสียหาย เพราะอิ่มน้ำมากเกินไป นี่คือ ปัญหาหลักๆ ของการปลูกมะเขือเทศ ทางสวนจึงได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับฤดูฝนด้วยการทำโรงเรือนสำหรับปลูกมะเขือเทศขึ้นมา โดยลักษณะของโรงเรือนไม่ต้องใช้งบที่แพงมากนัก ขอแค่เพียงบังแดดบังฝนได้ ยังไม่ต้องไปกังวลกับโรคและแมลง ตรงนี้สามารถควบคุมได้ง่ายกว่า โดยมีการจัดสรรแบ่งเป็นแปลงปลูกมะเขือที่ได้รับรองมาตรฐานอินทรีย์ จำนวน 2 ไร่ เลือกปลูกเป็นมะเขือเทศ 3 สี ได้แก่ มะเขือเทศราชินี (สีแดง) มะเขือเทศเชอรี่ (สีเหลือง) และมะเขือเทศเชอรี่สีนิล (สีน้ำตาลแดง) โดยการปลูกจะแบ่งปลูกเป็นคอร์ป ให้มีผลผลิตเก็บได้ทุกสัปดาห์

ขั้นตอนการปลูก

ลักษณะการปลูกมะเขือเทศของที่สวน จะปลูกทั้งในโรงเรือนและนอกโรงเรือน แบ่งตามความเหมาะสมของฤดูกาล ถ้าเป็นฤดูฝนจะปลูกในโรงเรือน ส่วนถ้าเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวที่เป็นฤดูของมะเขือเทศ จะเลือกปลูกนอกโรงเรือนเพราะปัญหาลูกแตกเสียหายจะไม่เกิดในช่วงนี้ 

การเตรียมแปลงปลูกนอกโรงเรือน

อันดับแรก เริ่มที่การเตรียมดิน ไถแปรแล้วหว่านปุ๋ยคอกแล้วไถกลบหมักดินทิ้งไว้ 1 เดือน เพื่อให้หญ้าที่หลงเหลือในแปลงเกิดขึ้น และเป็นวิธีการช่วยกำจัดวัชพืชในแปลงได้ดี เมื่อครบระยะเวลา 1 เดือน แล้วไถพรวนขึ้นร่องเตรียมแปลงปลูก ระยะห่างระหว่างหลุม ประมาณ 50-60 เซนติเมตร ความกว้างระหว่างแถว 1.50 เมตร ซึ่งในระหว่างช่วงที่เตรียมแปลงปลูก ให้เพาะกล้าทิ้งไว้ และในระหว่างการปลูกจะมีการขึงตาข่าย ตอกหลักทำค้างให้มะเขือเทศด้วย

เพาะกล้าก่อนลงแปลงปลูก

การดูแลหลังลงแปลงปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว

ระบบน้ำ…เป็นระบบน้ำหยด เริ่มให้น้ำตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ในช่วงแรกจะใช้วิธีการรดน้ำวันเว้นวัน เพราะมะเขือเทศไม่ชอบน้ำชุ่ม แต่ต้องให้น้ำเรื่อยๆ และปริมาณน้ำที่ให้ในโรงเรือนและนอกโรงเรือนจะแตกต่างกัน ปลูกนอกโรงเรือนจะต้องให้น้ำมากหน่อย ในปริมาณการรดน้ำแต่ละครั้ง ประมาณ 1-2 ชั่วโมง

รอเก็บเกี่ยวผลผลิต

การป้องกันกำจัดศัตรูพืช… หลังจากลงแปลงปลูกก็จะมีการฉีดพ่นน้ำหมักกับสารชีวภัณฑ์ป้องกันแมลงและหนอนชอนใบ โดยใช้เชื้อบิวเวอเรีย และเมธาไรเซียม ในการกำจัดแมลง แล้วใช้ บีที บาซิลลัส ในการป้องกันกำจัดหนอน สลับกับการใช้น้ำหมักและน้ำส้มควันไม้ไล่แมลง โดยมีระยะการฉีดพ่นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สำหรับช่วงที่ไม่มีการระบาด แต่ถ้าถึงช่วงที่เห็นการเข้าทำลายอาจจะเพิ่มการฉีดพ่นเป็น สัปดาห์ละ 2 ครั้ง แล้วใส่น้ำหมักบำรุงไปด้วย

การให้ปุ๋ยทางดิน ทางใบ และในระบบน้ำ ใช้ปุ๋ยสูตรเดียวกัน ต่างกันที่วิธีการและระยะเวลาในการใส่

1. การให้ปุ๋ยในระบบน้ำ…จะใช้ปุ๋ยหมักรกหมู และปุ๋ยหมักนมสดผสมไปพร้อมกับเชื้อไตรโคเดอร์มาให้พร้อมน้ำทุก 15 วันครั้ง เพื่อช่วยเรื่องรากเน่าโคนเน่าในแปลง

2. การให้ปุ๋ยทางดิน… ก็จะใส่ปุ๋ยหมักรกหมู และน้ำหมักนมสด ใส่ทางดินเดือนละ 1 ครั้ง จนถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิต เพียงแต่ให้เว้นระยะห่างของการฉีดพ่นในช่วงติดช่อดอก เพื่อป้องกันการกระตุ้นทำให้ดอกร่วง ซึ่งในส่วนของน้ำหมักนมสดนี้ เป็นสูตรที่สำคัญมากสำหรับการปลูกมะเขือเทศ และมีวิธีการทำที่ไม่ยุ่งยาก โดยมีสูตรการทำ ดังนี้

-นมสด 20 ลิตร

-ผลไม้สุก 40 กิโลกรัม

-น้ำอ้อยสด 30 ลิตร

-พด. 2 จำนวน 2 ซอง (หัวเชื้อจุลินทรีย์จากพัฒนาที่ดิน)

3.การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ… น้ำหมักที่สวนใช้แต่ละสูตรล้วนแล้วแต่ทำเอง มีเพียงน้ำหมักรกหมูที่หาซื้อกับคนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งน้ำหมักรกหมูมีคุณสมบัติที่ดีมากสำหรับพืช ส่วนน้ำหมักนมสดจะหมักเองพร้อมกับผลไม้ที่เสียหายภายในสวนนำมาหมัก วิธีการใช้ฉีดพ่นทางใบไปพร้อมกับสารชีวภัณฑ์ ระยะในการฉีดพ่น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ถ้าเจอการระบาดมากๆ ก็จะเพิ่มการฉีดพ่นเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ส่วนเทคนิคที่ทำให้มะเขือเทศมีรสชาติดีนั้น คือขี้เถ้าแกลบ จะช่วยเรื่องรสชาติของมะเขือเทศให้มีรสชาติที่ดีขึ้น และตัวขี้เถ้าแกลบยังสามารถช่วยไล่เพลี้ยได้ดีอีกด้วย

มะเขือเทศราชินีสีสวยสด

ปริมาณผลผลิต

ที่สวนปลูกแบบอินทรีย์จะไม่มีการเร่งสารเพื่อทำให้ผลผลิตออกมาในปริมาณมาก แต่การปลูกแบบอินทรีย์ผลผลิตจะค่อยๆ ทยอยออกมาให้เก็บ โดยใน 1 รอบการผลิต จะเก็บได้ประมาณ 3-4 เดือน และต้องมีการเตรียมแปลงคอร์ปต่อไปเพื่อให้ผลผลิตมีเก็บอย่างต่อเนื่อง

ราคา…ขายปลีกกิโลกรัมละ 70 บาท สำหรับมะเขือเทศสีแดงและสีนิล ส่วนสีเหลือง ขายปลีกในราคากิโลกรัมละ 100 บาท แต่ถ้าเป็นในส่วนของการทำส่งโมเดิร์นเทรด จะขายในราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-70 บาท ตลอดทั้งปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบราคากับมะเขือเทศที่ปลูกแบบทั่วไปจะต่างกันมาก และนอกจากราคาที่ตกต่ำแล้ว ยังมีคู่แข่งทางด้านการตลาดที่สูง จึงได้มีการชักชวนให้เกษตรกรที่อยากหนีปัญหาเหล่านี้ หันมาปลูกมะเขือเทศอินทรีย์ส่งให้กับสหกรณ์เพื่อส่งให้กับโมเดิร์นเทรดต่อไป ในราคารับซื้อกิโลกรัมละ 50-70 บาท ตลอดทั้งปี แต่มีข้อตกลงในการรับซื้อในแต่ละครั้ง จะรับจำนวนที่มากถึงขนาดหลักตันต่อคน แต่ก็ยังคุ้มค่ากับเกษตรกรแน่นอน ยกตัวอย่าง ที่สวนปลูกมะเขือเทศส่งสหกรณ์ สัปดาห์ละประมาณ 180-200 กิโลกรัม คิดเป็นรายได้สัปดาห์ละ 10,000 บาท 1 รอบการผลิต เก็บได้ 15 สัปดาห์ เฉลี่ยออกมาเป็นรายได้ประมาณแสนกว่าบาทต่อคอร์ป

มะเขือเทศเชอรี่สีเหลืองน่ารับประทาน

แนะนำการตลาด

“อย่างของพี่ที่ได้เข้าตลาดโมเดิร์นเทรด ส่วนหนึ่งมาจากหน่วยงานราชการ เพราะว่าเดี๋ยวนี้ตลาดส่งออก หรือตลาดทั่วไป จริงๆ แล้วเขาต้องการที่จะหาคู่ค้าหรือลูกทีมทุกกลุ่มที่จะสามารถผลิตสินค้าให้เขาได้ และมีความซื่อสัตย์ต่อกัน แต่ติดปัญหาตรงที่ผู้ประกอบการบางรายเขาก็ไม่รู้ว่าในพื้นที่เกษตรกรที่ปลูกแบบนี้อยู่ที่ไหน เขาจึงใช้วิธีการมองหาเกษตรกรผู้ผลิตจากจุดที่เขาสามารถเข้าถึงได้ง่าย และสามารถเชื่อมโยงการตลาดให้เขาได้ นั่นคือ หน่วยงานราชการ เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากแนะนำคือ ให้เกษตรกรพยายามเข้าร่วมโครงการที่ทางหน่วยงานรัฐจัด เข้าไปแล้วอาจจะไม่ได้ตลาดเลยทันที แต่เชื่อเถอะว่าเมื่อเกิดการรวมกลุ่มแล้ว จะเกิดเครือข่ายขึ้นมาเอง ยกตัวอย่าง โครงการยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์อันนี้เป็นโครงการที่ดีมาก เพราะทำให้เราได้ไปเจอเพื่อนๆ จากหลากหลายสาขาวิชาชีพมารวมตัวกัน และบุคคลเหล่านี้ก็จะมีความชำนาญในการหาช่องทางการตลาด บวกกับความคิดที่หลากหลาย บางคนทำงานตรงนั้นตรงนี้ มีช่องทางตรงไหนก็มาแลกเปลี่ยนกัน กลายเป็นการขยายตลาดอีกทางหนึ่ง” พี่แหม่ม กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ เบอร์โทร. 064-164-9965

มะเขือเทศเชอรี่สีเหลืองน่ารับประทาน
ใส่กล่องสวยงามรอลูกค้ามารับ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354