ปลูก “ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง” เป็นอาชีพเสริม 1 ไร่ ปลูกได้ 200 กอ สร้างรายได้ไม่น้อย

สำหรับพันธุ์ไผ่บง พันธุ์เพชรน้ำผึ้ง ประวัติความเป็นมาของ “ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง” เป็นการพัฒนาพันธุ์ไผ่บงหวานเมืองเลย นำเมล็ดมาเพาะเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ เป็นต้นที่คัดมาจากต้นที่เพาะเมล็ด เมื่อ ปี 2549 และขุดแยกเหง้าจากต้นแม่มาขยายพันธุ์ ทำให้มีอายุอยู่ได้มากกว่า 50 ปี แน่นอน และลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการ

ลักษณะเด่น คือสามารถทำหน่อนอกฤดูได้ หน่อดก หน่อใหญ่เต็มที่มีน้ำหนัก 300 กรัมขึ้นไป สามารถขุดหน่อได้ตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป มีรสชาติหวาน หอม กรอบ อร่อย และที่สำคัญรับประทานสดๆ ได้ ทำให้สามารถนำไปประกอบเมนูอาหารได้อย่างหลากหลาย เช่น ส้มตำ ยำ สลัด ห่อหมก ผัด ชุบแป้งทอด ต้มจืด ไม่มีสารไซยาไนด์ ปลูกง่าย ดูแลจัดการง่าย ไม่มีโรคและแมลงรบกวน

ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง

ปัจจุบัน ได้คัดเลือกออกมาหลายเบอร์ ซึ่งมีลักษณะพิเศษแตกต่างกันออกไป เช่น ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง เบอร์ 1, 2, 3, 9 เป็นต้น

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการปลูกไผ่บงหวานคือ สามารถทำได้ในครอบครัว ไม่ต้องจ้างคนงานเยอะ ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่ทำหน่อไม้นอกฤดู และเป็นช่วงที่มีรายได้ดีมากๆ ในช่วงนี้รายได้ตกอยู่ที่เดือนละแสนกว่าบาท เมื่อหักต้นทุนแล้ว สามารถมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้อย่างมีความสุข อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมเสริมสัมพันธ์ของครอบครัวอีกด้วย 

1 ไร่ ปลูกได้ 200 กอ

ในการปลูกไผ่บงหวานนั้น แนะให้ปลูกระหว่างต้น 2 เมตร ระหว่างแถว 4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 200 ต้น ที่เว้นให้ระยะระหว่างแถวให้กว้าง เพื่อให้เกษตรกรเข้าไปทำงานได้สะดวก เช่น นำขี้เถ้าแกลบไปใส่ได้ง่าย

สำหรับการปลูกก็ไม่ยุ่งยาก ขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกเก่า หลังปลูกเสร็จรดน้ำให้ชุ่ม เคล็ดลับในการปลูกไผ่บงหวาน ถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนแนะนำให้ปลูกเสมอกับดินเดิม แต่ถ้าปลูกในช่วงฤดูแล้งจะต้องปลูกให้ต่ำกว่าดินเดิม หรือทำเป็นแอ่งกระทะ

ระบบน้ำดี จะทำให้หน่อไผ่กอใหญ่และอวบ

หลังจากปลูกไผ่บงหวานเสร็จ จะต้องหมั่นตัดหญ้า ที่สวนไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งจะมีการให้ปุ๋ยและให้น้ำ เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง ปุ๋ยคอกจะใช้ได้ทั้งขี้วัวเก่าหรือขี้ไก่ หรือแม้แต่เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรใช้ได้หมด เช่น ซังข้าวโพด กากอ้อย เปลือกถั่วต่างๆ กากยาสูบ ขี้เถ้าแกลบ

สิ่งที่มีความจำเป็นจะต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกเดือนคือ จะต้องมีการสางลำไผ่ขนาดเล็กที่แตกมาจากตาหน่อเก่าหรือแตกมาจากตาบนลำไผ่เดิมออก โดยใช้มีดพร้าสับออกเลย เพื่อให้ข้างล่างโล่ง ให้ใบไผ่อยู่ส่วนบนเท่านั้น

หน่อไผ่บงหวานมีขนาดใหญ่

เกษตรกรที่ปลูกไผ่บงหวานใหม่ๆ จะมีหน่อเกิดขึ้นข้างใน ประมาณ 5-6 หน่อ ให้ขุดหน่อข้างในไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ ส่วนหน่อที่ออกมานอกกอก็สามารถเก็บขายได้ พอเมื่อเข้าฝนก็ต้องปล่อยให้หน่อนอกกอโตให้มันขึ้นเป็นลำไผ่

ส่วนความต้องการของตลาดโดยทั่วไปแล้ว ตลาดมีความต้องการหน่อไม้ไผ่บงหวานที่มีขนาดน้ำหนักของหน่อ 6-8 หน่อ ต่อกิโลกรัม เนื่องจากเมื่อซื้อเป็นของฝากแล้วจะดูน่าซื้อ คือขนาดไม่เล็กเกินไป จริงๆ แล้วหน่อไม้ไผ่บงหวานจะมีคุณภาพและรสชาติดีที่สุด เมื่อนำมาบริโภคสดๆ และเร็วที่สุด ถ้าปล่อยทิ้งไว้หลายวันความหวานจะลดลงเช่นเดียวกับข้าวโพดหวาน ดังนั้น การเก็บหน่อไม้จะมีการขุดขายกันแบบวันต่อวัน ถึงแม้จะเก็บไว้ในตู้เย็น ความหวานก็จะลดลง แต่ถ้าจะเก็บไว้บริโภคนานวัน ควรจะต้มให้สุกแล้วนำมาแช่แข็งจะดีกว่า

“การให้น้ำ จะใช้วิธีการแบบปล่อยน้ำเข้าร่องก็ได้ แต่ก่อนปลูกเกษตรกรจะต้องมีการปรับพื้นที่ปลูก เพื่อให้ไล่ระดับน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ถ้ามีการติดระบบการให้น้ำอย่างดีและมีประสิทธิภาพ จะมีการวางระบบน้ำแบบแถวเดี่ยวหรือแถวคู่ก็ได้ โดย 1 หัวน้ำ จะได้ 4 ต้น วางให้ห่าง ระยะ 3 เมตร ใช้สปริงเกลอร์หัวสูง”

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ.2559