มะม่วงไทย มาตรฐาน GAP รุกตลาดโลก ฝ่าวิกฤตโควิดได้สบาย

ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างต่อเนื่อง ในปี 2563-2564 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย รวมทั้งตลาดสินค้าเกษตรของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศต้องปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน ในรูปแบบ New Normal ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งในวันนี้และในอนาคต

“มะม่วง” หนึ่งในไม้ผลส่งออกสำคัญของประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่นเดียวกัน คุณสายันต์ บุญยิ่ง นายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย (โทร. 081-887-1964) กล่าวว่า ชาวสวนมะม่วงยังรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ เพราะเครือข่ายชาวสวนมะม่วงเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการผลิต-ตลาด สามารถบริหารจัดผลผลิตให้เข้าสู่ตลาดในระยะเวลาที่เหมาะสมได้อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม หากชาวสวนมะม่วงได้รับการสนับสนุนด้านระบบโลจิสติกส์และสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากหน่วยงานภาครัฐ ก็เชื่อว่ามะม่วงไทยยังสามารถเติบโตในเวทีตลาดโลกได้อย่างสบาย

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

ภาพรวมมะม่วงไทย

ประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกมะม่วงโดยรวมประมาณ 2 ล้านไร่ โดยพื้นที่รอยต่อจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วยจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย กำแพงเพชร และนครสวรรค์ คือแหล่งปลูกมะม่วงผืนใหญ่ของประเทศไทย เนื้อที่ปลูกโดยรวม 250,000 ไร่ ผลผลิตโดยเฉลี่ย ไร่ละ 1 ตัน

คุณสายันต์ กล่าวว่า ในปีนี้แหล่งปลูกมะม่วงในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง มีผลผลิตป้อนเข้าตลาดไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัน สำหรับผลผลิตมะม่วงที่ปลูกในจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ จะถูกรวบรวมมาขายในพื้นที่อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร ในช่วงฤดูการผลิต เดือนมีนาคม-เมษายน มีรถตู้คอนเทนเนอร์วิ่งรับส่งผลผลิตเข้าออกในอำเภอสากเหล็กไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 ตัน

สวนมะม่วงของ คุณสายันต์ บุญยิ่ง

ทุกวันนี้ อำเภอสากเหล็กเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกในโซนภาคเหนือตอนล่าง โดยผลผลิตส่วนใหญ่ 50-60% ส่งออกไปขายประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีน รวมทั้งส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้รถตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งมะม่วงจากจังหวัดพิจิตรขนส่งผ่านชายแดนไปยังประเทศคู่ค้า

เช่น ประเทศเวียดนาม และ สปป.ลาว ใช้เวลาขนส่งสินค้าประมาณ 10 กว่าชั่วโมง ส่วนประเทศมาเลเซียจะขนส่งสินค้าผ่านด่านสะเดาและด่านสุไหงโก-ลก โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 25 ชั่วโมง ผลผลิตที่เหลืออีก 40% ส่งขายตลาดภายในประเทศ ผ่านช่องทางตลาดค้าส่ง เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ห้างโมเดิร์นเทรด

วางแผนผลิต สู้ปัญหาวิกฤต

คุณสายันต์ กล่าวว่า เกษตรกรชาวสวนมะม่วงมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างชาวสวนมะม่วงทั่วประเทศ ทำให้รู้ข้อมูลข่าวสารว่า มีแหล่งผลิตอยู่ที่ไหน มีผลผลิตออกมาเท่าไรในแต่ละเดือน ทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตได้ว่า ควรมีผลผลิตออกมาในช่วงไหน ให้ขายได้ราคาดีและมีคู่แข่งน้อย

พื้นที่ภาคกลาง มีฤดูมะม่วงปี ประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ในอดีตเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ปลูกมะม่วงนอกฤดู มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดในช่วงเดียวกับจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร ทำให้ขายสินค้าไม่ได้ราคา เพราะลูกค้าไม่อยากเดินทางไกลไปซื้อสินค้าในภาคเหนือ

มะม่วงที่รอการเก็บเกี่ยวในรุ่นต่อไป

เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในจังหวัดเชียงใหม่จึงหันมาปลูกมะม่วงล่าฤดูแทน โดยมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดประมาณช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมแทน อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ ชาวสวนมะม่วงสามารถวางแผนการผลิตให้มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดตลอดทั้งปี สามารถกระจายความเสี่ยงในเรื่องผลผลิตล้นตลาดราคาตกต่ำได้ระดับหนึ่ง

ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา เกษตรกรสามารถขายมะม่วงเกรดส่งออก ป้อนตลาดญี่ปุ่น ยุโรป เกาหลี ฯลฯ ได้ในราคากิโลกรัมละ 50 บาท หากขายผลผลิตในประเทศ จะมีรายได้ลดลงครึ่งหนึ่ง ในปีนี้ตลาดส่งออกได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ทำให้ราคามะม่วงส่งออกเหลือแค่กิโลกรัมละ 25-30 บาท เท่านั้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงราคาขายผลผลิตในประเทศเหลือแค่ 10-12 บาท ต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตมะม่วงโดยเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 11 บาท

หลังการเก็บเกี่ยว ต้นมะม่วงจะได้รับการดูแลตัดแต่งกิ่ง

“ผมมีพื้นที่ปลูกมะม่วง 300 กว่าไร่ ใช้เงินลงทุน 2 ล้านบาท ผลกระทบจากวิกฤตโควิดในปีที่ผ่านมา ทำให้ผมขาดทุนไปแล้วกว่า 1 ล้านบาท ทุกวันนี้ไม่ต้องพูดคุยเรื่องผลกำไร แค่พยายามประคองกิจการให้อยู่รอด ขายผลผลิตหมด มีเงินทุนกลับมาสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในฤดูผลิตต่อไป ก็พอใจแล้ว” คุณสายันต์ กล่าว

วอนรัฐสนับสนุนด้านโลจิติกส์และภาษี

ธุรกิจสวนมะม่วง เป็นอาชีพที่ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้เกษตรกรและแรงงานจำนวนมาก รวมทั้งเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศจำนวนมากในแต่ละปี สินค้ามะม่วงไทยมีคุณภาพดี แข่งขันด้านคุณภาพสู้กับสินค้ามะม่วงของต่างประเทศ เช่น เม็กซิโก ชิลี ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ได้อย่างสบาย เพราะเป็นสินค้าคุณภาพดี มีศักยภาพทางการค้า มีโอกาสเติบโตบนเวทีตลาดโลกได้ในระยะยาว หากมะม่วงไทยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เรื่องระบบโลจิติกส์ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทางการค้าในต่างประเทศ

คุณสายันต์ บุญยิ่ง (ซ้าย)ให้การต้อนรับ อธิบดีอรมน ทรัพย์ทวีธรรม และทีมงานสยามแม็คโคร

“ทุกวันนี้ มะม่วงไทยแบกรับต้นทุนค่าขนส่งสูง และจ่ายภาษีนำเข้าค่อนข้างแพง เมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน เช่น มะม่วงชิลี จ่ายภาษีนำเข้าในประเทศเกาหลีแค่ 6% แต่มะม่วงไทยเจอภาษีนำเข้าสูงถึง 27% ทำให้ราคามะม่วงไทยแพงกว่ามะม่วงชิลี ผู้นำเข้าเกาหลีจึงหันมากดราคารับซื้อมะม่วงไทย ทำให้เกษตรกรมีรายได้และผลกำไรลดลง จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐเปิดการเจรจาการค้ากับประเทศเกาหลี เพื่อขอโอกาสให้สินค้ามะม่วงไทยมีต้นทุนนำเข้าที่ต่ำลง สามารถส่งออกไปขายในประเทศเกาหลีได้เพิ่มมากขึ้น” คุณสายันต์ กล่าว

มะม่วง GAP ขายดี เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ

อาจารย์เขมชาติ มณีรอด เจ้าของสวนเขมชาติ (โทร. 086-926-8910) ตั้งอยู่เลขที่ 124 หมู่ที่ 5 ถนนเนินทองคำ ตำบลวังทรายพูน อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออก กล่าวว่า ปัจจุบัน สวนเขมชาติ ปลูกมะม่วง จำนวน 50 ไร่ ต้นมะม่วงที่ปลูกอายุ 11-12 ปี ให้ผลผลิตปีละ 20 กว่าตัน สวนเขมชาติไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดสักเท่าไร เนื่องจากเน้นผลิตมะม่วงคุณภาพดี เกรดส่งออก มาตรฐาน GAP ทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและส่งออก

อาจารย์เขมชาติ มณีรอด เจ้าของสวนเขมชาติ จังหวัดพิจิตร

ทางสวนเขมชาติ ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ในการยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน GAP การใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการบริหารจัดการผลผลิต จึงสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ ในปีที่ผ่านมา วิกฤตโควิดทำให้ตลาดส่งออกสะดุดตัวลง ก็ได้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนกระทรวงพาณิชย์เข้ามาจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด กระจายสินค้าออกนอกแหล่งผลิต รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรนำสินค้าออกไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าต่างๆ ทำให้ผ่านพ้นวิกฤตมาได้

FTA ช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกมะม่วงไทย

คุณอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกมะม่วงไทยยังสามารถขยายตัวได้ดี แม้เผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีผ่านมา เนื่องจากมะม่วงไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ทำให้ตัวเลขการส่งออกในปีที่ผ่านมาสามารถขยายตัวได้ดีในประเทศจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และกลุ่มประเทศอาเซียน

คุณอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

มะม่วงไทยคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับในตลาดคู่ค้า โดยเฉพาะ 12 ประเทศคู่ค้า FTA ที่ประเทศไทยมีความตกลงการค้าเสรี ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู บรูไน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และฮ่องกง พบว่า FTA มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกผลไม้ของไทยขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งไทยเพิ่งร่วมลงนามไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ส่งผลให้ไทยสามารถผลักดันการลดภาษีเพิ่มเติมในสินค้าผลไม้ เช่น เกาหลีใต้ จะทยอยลดภาษีทุเรียนสดและมังคุดสด และเวียดนามจะทยอยลดภาษีส้ม จนเหลือ 0% ในปีที่ 10 หลังความตกลงมีผลใช้บังคับ เป็นต้น

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของสวนแห่งนี้ ได้มาตรฐาน GAP

“ปี 2563 แม้เกิดวิกฤตโควิด แต่มะม่วงไทยสามารถเติบโตได้ดี ในประเทศคู่ค้า FTA ของไทย เช่น สปป.ลาว ยอดส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 7% มาเลเซีย ยอดส่งออก ปี 2562 ขยายตัวแค่ 9% แต่ปีที่ผ่านมา ส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 300% ตลาดจีนต้องการสินค้าส้มโอและมะม่วงจากไทยมากขึ้น ตัวเลขส่งออกเติบโตถึง 17% ตลาดฮ่องกง ก็เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 72% อยากให้เกษตรกรชาวสวนมะม่วง ใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ให้เต็มที่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดส่งออกมะม่วงไทยในอนาคต” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในที่สุด